งานวิจัยใหม่ชี้ ธารน้ำแข็งใหญ่ 2 แห่งในแอนตาร์กติกาอาจละลายเร็วที่สุดในรอบ 5,500 ปี และผลการศึกษาใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Geoscience ยังระบุว่า การละลายของน้ำแข็งอาจทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นมากกว่า 11 ฟุต (ประมาณ 3.35 เมตร) ในอีกไม่กี่ศตวรรษข้างหน้า
“งานของเราชี้ให้เห็นว่าธารน้ำแข็งที่เปราะบางเหล่านี้ค่อนข้างคงที่ในช่วงพันปีที่ผ่านมา ทว่าอัตราการละลายในปัจจุบันกำลังเร่งตัวขึ้นและเพิ่มระดับน้ำทะเลทั่วโลก” ดีแลน รูด (Dylan Rood) อาจารย์จากมหาวิทยาลัยอิมพีเรียลคอลเลจลอนดอน หนึ่งในผู้ร่วมวิจัยระบุในแถลงการณ์
“อัตราการละลายของน้ำแข็งที่เพิ่มขึ้นในขณะนี้อาจส่งสัญญาณว่าธารน้ำแข็งที่สำคัญ ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดแดงของแผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกตะวันตก (West Antarctic Ice Sheet) กำลังแตกออก นำไปสู่การเร่งไหลลงสู่มหาสมุทร ซึ่งอาจเป็นหายนะต่อระดับน้ำทะเลในอนาคต”
ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาทั้งธารน้ำแข็งทเวตส์ (ชื่อเล่นว่า ‘ธารน้ำแข็งวันสิ้นโลก’ สำหรับผลกระทบที่อาจร้ายแรงหากละลาย) และธารน้ำแข็งเกาะไพน์ที่อยู่ใกล้เคียงทางฝั่งตะวันตกของทวีป ซึ่งทั้งคู่เสี่ยงที่จะละลายจากน้ำอุ่นที่ไหลอยู่ข้างใต้
สำหรับการศึกษาดังกล่าว นักวิจัยได้วิเคราะห์จากกระดูกเพนกวินและเปลือกหอยจากชายหาดแอนตาร์กติกโบราณ โดยใช้การหาคาร์บอนจากกัมมันตภาพรังสีเพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลที่สัมพันธ์กับชายฝั่งตลอด 5,000 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์ยังได้ศึกษาความสูงของแผ่นดินที่เคลื่อนตัวภายใต้ปริมาณน้ำแข็งที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อดูว่าธารน้ำแข็งเคลื่อนไปข้างหน้าและถอยตัวกลับอย่างไร โดยธารน้ำแข็งที่มีขนาดใหญ่และหนักกว่าอาจทำให้แผ่นดินจม และระดับน้ำทะเลสัมพันธ์กับชายฝั่งสูงขึ้น ขณะที่ธารน้ำแข็งที่เบากว่าอาจทำให้แผ่นดินสูงขึ้นและระดับน้ำทะเลสัมพันธ์กับชายฝั่งลดลง
นักวิจัยพบว่า เมื่อประมาณ 5,000 ปีก่อนจนถึง 30 ปีที่แล้ว ระดับน้ำทะเลที่สัมพันธ์กับชายฝั่งลดลงในอัตราคงที่ซึ่งสอดคล้องกับปริมาตรน้ำแข็งที่คงที่ ทว่าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ระดับน้ำทะเลที่สัมพันธ์กับชายฝั่งลดลงเกือบ 5 เท่า น่าจะเป็นเพราะการสูญเสียน้ำแข็งอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้แผ่นดินสูงขึ้นตามการศึกษา ยิ่งไปกว่านั้น เนื่องจากธารน้ำแข็งตั้งอยู่โดยที่ไม่มีระดับความสูงใดๆ จึงไม่มีลักษณะภูมิประเทศใดๆ ที่จะช่วยรักษาเสถียรภาพของธารน้ำแข็งให้อยู่ในที่ที่ควรอยู่ จนอาจนำไปสู่การละลายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์เตือนว่าแผ่นน้ำแข็งที่มีธารน้ำแข็งทเวตส์อยู่นั้นอาจถล่มลงมาได้ภายใน 3-5 ปี และตลอดเวลาที่ผ่านมา การละลายของธารน้ำแข็งมีส่วนทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นประมาณ 4 เปอร์เซ็นต์ต่อปี
“เรากำลังเฝ้าดูโลกทำสิ่งที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน และเรากำลังผลักดันสภาพภูมิอากาศให้เป็นไปอย่างสุดขั้วอย่างรวดเร็วด้วยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์” เท็ด สแคมโบส (Ted Scambos) นักธรณีวิทยาจากสถาบันสหกรณ์เพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม กล่าวกับสำนักข่าว Science News เมื่อปีที่แล้วว่า “มันน่ากลัว”
ในอีกด้านหนึ่งที่เมืองฮัสซานาบัด (Hassanabad) ประเทศปากีสถาน เสียงตูมดังขึ้น ทำลายความเงียบ หลังธารน้ำแข็งด้านบนภูเขาละลาย และตามมาด้วยน้ำบ่าลงมาจากภูเขา ทั้งหมดมาจาก ‘คลื่นความร้อน’ ที่กำลังคุกคามเอเชียใต้ ทำลายบ้านไป 9 หลังในหมู่บ้าน และสร้างความเสียหายให้กับบ้านอีก 6 หลัง นอกจากนี้ น้ำที่ลงมาจากภูเขายังทำลายโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กและทำลายสะพานซึ่งเชื่อมหมู่บ้านกับโลกภายนอกไปอย่างยับเยิน
สำนักข่าว Economic Times ให้ข้อมูลว่า ปากีสถานเป็นประเทศที่มีธารน้ำแข็ง หรือกลาเซียร์ มากกว่า 7,000 แห่ง ซึ่งนับว่ามากที่สุดในโลก แต่ในระยะหลัง อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นได้ส่งผลให้บรรดาธารน้ำแข็งทั้งหลายละลายอย่างรวดเร็ว ก่อกำเนิด ‘ทะเลสาบน้ำแข็ง’ หรือ Glacial Lake หลายพันแห่ง
รัฐบาลปากีสถานได้เตือนว่า จากจำนวนนับพันแห่ง ทะเลสาบ 33 แห่ง ซึ่งทั้งหมดตั้งอยู่ในเทือกเขาหิมาลัย ฮินดูกูช และคาราโครัม ที่ตัดกันในปากีสถาน มีความเสี่ยงที่จะระเบิดและปล่อยน้ำ รวมถึงเศษซากหลายล้านลูกบาศก์เมตรในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง เหมือนที่ฮัสซานาบัด
รัฐบาลปากีสถานกล่าวเมื่อต้นสัปดาห์นี้ว่า น้ำท่วมจากทะเลสาบน้ำแข็งละลาย ซึ่งมีสาเหตุเชื่อมโยงกับคลื่นความร้อน เกิดขึ้นแล้ว 16 ครั้งในปีนี้ นับเป็นสถิติที่สูงมากหากเทียบกับค่าเฉลี่ย 5-6 ครั้งต่อปีเมื่อปีก่อน ทั้งนี้ ปากีสถานเป็นประเทศที่เปราะบางที่สุดเป็นอันดับ 8 ของโลกต่อสภาพอากาศสุดขั้วที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามดัชนีความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศโลกที่รวบรวมโดย Germanwatch องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม
ประเทศกำลังประสบกับคลื่นความร้อนก่อนหน้านี้ ร้อนขึ้น และถี่ขึ้น อุณหภูมิสูงสุดพุ่งสูงถึง 50 องศาเซลเซียสในปีนี้ ขณะที่น้ำท่วมและภัยแล้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้คร่าชีวิตผู้คนและพลัดถิ่นหลายพันคน ทำลายวิถีชีวิตและโครงสร้างพื้นฐานที่เสียหาย
จากข้อมูลของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ การขาดข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของธารน้ำแข็งในปากีสถานทำให้ยากต่อการคาดเดาถึงอันตรายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ และทำให้สถานการณ์ในปากีสถานเป็นตัวอย่างที่ดีของสถานการณ์โลกร้อนและสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ที่ถือเป็นภัยคุกคามสำคัญของโลกในขณะนี้
ที่มา:
– https://www.smithsonianmag.com/…/antarcticas-doomsday…/
– https://economictimes.indiatimes.com/…/art…/92714790.cms
Tags: แอนตาร์กติกา, สิ่งแวดล้อม, ธารน้ำแข็ง, ปากีสถาน