สมาชิกองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) กว่า 100 ประเทศ บรรลุข้อตกลงคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพในทะเลหลวง (High Seas Treaty) ทำให้พื้นที่ทางทะเลของโลกราวร้อยละ 30 อยู่ภายใต้การคุ้มครองเพื่อปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล หลังดำเนินการหารือเกี่ยวกับสนธิสัญญาดังกล่าวมานานกว่า 15 ปี และจะบรรลุผลภายในปี 2030
อันโตนิโอ กูเตอร์เรส (Antonio Guterres) เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์ว่า ทุกคนต่างรู้ว่าโลกกำลังเผชิญวิกฤตโลกร้อนอย่างรุนแรง และผลกระทบดังกล่าวก็ส่งผลถึงทะเลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการบรรลุข้อตกลงดังกล่าว ไม่ต่างจากชัยชนะของโลก ซึ่งเกิดจากการร่วมมือจากหลากหลายประเทศ เพื่อดูแลรักษามหาสมุทรให้สมบูรณ์ดังเดิม โดยภายใต้ข้อตกลงสนธิสัญญาทะเลหลวง จะมีการจำกัดเส้นทางเดินเรือ การทำประมง และกิจกรรมการสำรวจทางทะเลในทะเลหลวง
“เป็นเรื่องน่ายินดีที่ประเทศต่างๆ ตัดสินใจให้ความร่วมมือกับสนธิสัญญาทางทะเล ซึ่งมีผลผูกพันทางกฎหมาย เพื่อรับประกันว่าทะเลจะได้รับการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ทางทะเลที่อยู่นอกเหนือเขตอำนาจของแต่ละประเทศ นี่จึงเป็นก้าวสำคัญในการปกป้องมหาสมุทรให้คงอยู่ต่อไป”
จากข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทะเลหลวงหมายถึงทุกส่วนของทะเลซึ่งไม่ได้รวมอยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone) โดยเริ่มนับจากเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเลของประเทศต่างๆ เป็นต้นไป กินพื้นที่ในมหาสมุทรมากกว่าร้อยละ 60 ของโลก ซึ่งมากกว่าเกือบครึ่งหนึ่งของพื้นผิวโลกทั้งหมด แต่ปัญหาเรื่องชีวภาพในทะเลหลวงได้กลับได้รับความสนใจน้อยกว่าน่านน้ำชายฝั่งเป็นอย่างมาก เนื่องจากไม่มีประเทศใดเป็นเจ้าของ นอกจากนี้ มหาสมุทรก็เป็นสถานที่สำคัญทางระบบนิเวศซึ่งส่งผลโดยตรงต่อมนุษย์ นั่นคือเป็นผู้สร้างออกซิเจนและดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในเวลาเดียวกัน แต่ทะเลหลวงกลับได้รับความคุ้มครองและดูแลไม่ถึงร้อยละ 1 ของพื้นที่ทางทะเลหลวงทั้งหมด
ทั้งนี้ รีนา ลี (Rena Lee) ประธานการประชุมขององค์การสหประชาชาติในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติในทะเลและกฎหมายทางทะเล ได้ประกาศว่า ‘เรือถึงฝั่ง’ ซึ่งเป็นการประกาศชัยชนะที่สำคัญของมนุษย์ทุกคน ที่สำนักงานใหญ่ขององค์การสหประชาชาติในเมืองนิวยอร์ก โดยสนธิสัญญาฉบับใหม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ โดยลงนามและให้สัตยาบันจากประเทศต่างๆ ให้มีการสร้างพื้นที่คุ้มครองทางทะเลในน่านน้ำสากลร่วมกัน และให้ดำเนินการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจส่งผลกระทบต่อทะเลหลวงอีกด้วย
รีนาเผยอีกว่า ในระหว่างการประชุมดังกล่าวเกิดความตึงเครียดเกิดขึ้น เนื่องจากในน่านน้ำสากลมีเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลทับซ้อนอยู่ด้วย ซึ่งหลายประเทศกังวลว่าจะเสียผลประโยชน์ทางการค้า หากไม่สามารถเดินเรือหรือทำประมงในพื้นที่เหล่านั้น แน่นอนว่าความกังวลดังกล่าวคือสิ่งที่ทำให้ความพยายามในการผลักดันเรื่องนี้ล้มเหลวมาตลอดในทศวรรษที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี สนธิสัญญาฉบับนี้มีการพูดคุยหารือกันมานานกว่า 15 ปี เริ่มตั้งแต่องค์การสหประชาชาติได้มีมติการประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับการปกป้องมหาสมุทรขึ้นครั้งแรกในปี 2004 ต่อมาในปี 2015 ที่ประชุมก็ได้มีมติให้เปลี่ยนจากข้อตกลงกลายเป็นสนธิสัญญาที่มีผลผูกพันทางกฎหมายเพื่อเข้าสู่การผลักดันอย่างจริงจัง ซึ่งมีการประชุมเพื่อหาข้อสรุปของสนธิสัญญาดังกล่าวเรื่อยมา แต่กลับจบลงด้วยความล้มเหลวมาตลอดจนถึงปัจจุบัน
การประชุมถกเถียงตลอด 36 ชั่วโมง จบลงด้วยการหาทางออกในเรื่องการรับรองความเสมอภาคระหว่างกลุ่มประเทศร่ำรวยกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เพื่อเป็นการสร้างความไว้วางใจระหว่างสองกลุ่มประเทศนี้ สหภาพยุโรป (EU) จึงให้คำมั่นว่าจะให้เงินสนับสนุนแก่กลุ่มประเทศที่เสียผลประโยชน์เพื่อช่วยให้เกิดการปฏิบัติตามสนธิสัญญาในช่วงแรกจนกว่าจะสามารถหาเครื่องมือทางเศรษฐกิจที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมทางทะเลมาทดแทน
ด้าน ลอรา เมลเลอร์ (Laura Meller) นักรณรงค์ด้านมหาสมุทรของกรีนพีซ (Greenpeace) กล่าวว่า การบรรลุข้อตกลงดังกล่าวนับเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์สำหรับการอนุรักษ์ทั่วโลก และเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่า การปกป้องและอนุรักษ์ธรรมชาติคือหน้าที่ของมนุษยชาติ ซึ่งเหนือกว่าการแบ่งแยกผลประโยชน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีเส้นเขตแดนมากำหนด
“เราขอยกย่องประเทศต่างๆ ที่ร่วมกันแสวงหาการประนีประนอม ยอมละทิ้งความแตกต่าง และส่งมอบสนธิสัญญาที่เปิดโอกาสให้เราร่วมกันปกป้องดูแลมหาสมุทร รวมถึงรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพื่อปกป้องชีวิตและการดำรงอยู่ของผู้คนหลายพันล้านคน”
อย่างไรก็ตาม การที่โลกได้บรรลุสนธิสัญญาปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพในทะเล ก็ไม่ต่างจากการเปิดประตูบานใหญ่ของการเริ่มต้นในการให้นานาประเทศหันมาช่วยกันดูแลรักษาผืนน้ำและท้องทะเลให้สมบูรณ์ แต่จะสำเร็จมากน้อยเพียงใด คงไม่ได้ขึ้นอยู่กับอำนาจรัฐและประเทศสมาชิกใน UN เพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับคนทุกคนและประชากรโลกด้วยเช่นกัน
ที่มา:
– https://edition.cnn.com/2023/03/04/world/un-oceans-treaty-biodiversity -climate-intl/index.html
Tags: Environment, High Seas Treaty