ผ่านไปแล้วกับกิจกรรม World Oral Health Day ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดให้ทุกวันที่ 20 มีนาคมของทุกปีเป็น ‘วันสุขภาพช่องปากโลก’ เพื่อรณรงค์ให้ประชากรโลกดูแลช่องปากของตัวเอง และในปีนี้ทันตแพทยสมาคมรวมภาคีเป็นต้นว่า ทันตแพทยสภา, กรมอนามัย และกระทรวงสาธารณสุข จัดกิจกรรมอย่างยิ่งใหญ่ เป็นการคิกออฟปี 2567 ในฐานะปีแห่งการขับเคลื่อนทันตกรรมไทย ดันกิจกรรมของบรรดา ‘หมอฟัน’ ให้ก้าวกระโดดไปอีกปี โดยมุ่งหมายให้เรื่อง ‘สุขภาพช่องปาก’ เป็นเรื่องใหญ่ และเป็นศูนย์กลางของการรณรงค์ตลอดทั้งปี

แต่สุขภาพช่องปากนั้นสำคัญขนาดไหน?

ตามข้อมูลของสมาพันธ์ทันตแพทย์โลก (Fédération Dentaire Internationale: FDI) ระบุว่า ปัจจุบันมีประชากรโลกที่ป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับช่องปากราว 3,500 ล้านคนทั่วโลก หรือครึ่งหนึ่งของประชากรโลกทั้งหมด การดูแลช่องปากยังเป็นเรื่องที่ทำยากลำบาก และยังเข้าไม่ถึงประชากรในชนบท ในพื้นที่ห่างไกล หรือประชากรยากจน  

ประเด็นก็คือ หากมีสุขภาพในช่องปากไม่ดี ย่อมหมายความถึงสุขภาพทางกาย-สุขภาพจิตใจไม่ดี นำไปสู่โรคภัยไข้เจ็บ ไม่ว่าจะเป็นโรคเกี่ยวกับฟัน เหงือก หรือโรคติดเชื้ออื่นๆ อีกมาก ฉะนั้นการรณรงค์ผ่านทั้งการให้ประชาชนดูแลสุขภาพช่องปาก แปรงฟันให้ถูกวิธี ให้บริการด้านทันตกรรมอย่างทั่วถึงย่อมเป็นเรื่องที่จำเป็น และควรรณรงค์อย่างแพร่หลาย

เมื่อปี 2561 องค์กร FDI จึงออกแคมเปญ Be Proud of Your Mouth หรือจงภูมิใจในปากของคุณ โดยรณรงค์ตลอด 3 ปี และเมื่อถึงปี 2566 ในการประชุมสภาทันตแพทย์โลก มีการออกแคมเปญใหม่ภายใต้สโลแกนว่า A Happy Mouth Is หรือ ‘ช่องปากที่มีความสุขคือ…’ เพื่อให้วงการทันตกรรมทั่วโลกเติมคำในช่องว่างให้สมบูรณ์ โดยในปีนี้ (2567) สโลแกนสำคัญคือ A Happy Mouth, Is a Happy Body หรือ ‘ช่องปากที่มีความสุข หมายถึงร่างกายที่มีความสุข’ 

แน่นอนว่าวงการทันตกรรมไทยก็เดินตามการรณรงค์นี้ ทันตแพทย์ อดิเรก ศรีวัฒนาวงษา นายกทันตแพทยสมาคมฯ กล่าวว่า สิ่งที่ FDI รณรงค์ก็คือชวนให้ทุกประเทศทั่วโลกทำประโยชน์เกี่ยวกับสุขภาพช่องปาก ไม่ว่าจะผ่านการรณรงค์อย่างเป็นทางการโดยทันตแพทยสมาคมฯ หรือผ่านการสนับสนุนของภาคีต่างๆ

“สำหรับประเทศไทย เราล้วนคาดหวังให้ทุกคนมีสุขภาพช่องปากที่ดี ไม่ว่าจะผ่านทั้งการแจกโปสเตอร์ แจกใบปลิว หรือแจกแปรงสีฟัน ยาสีฟัน ในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งหลายคนอาจเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่ได้ผลนัก

“แต่สำหรับผม กลายเป็นว่าการแจกแปรงสีฟัน ยาสีฟันนั้น เป็นเรื่องที่มีประโยชน์มาก โดยเฉพาะการแจกให้ในพื้นที่ห่างไกล ผมเจอคุณยายหลายคนบอกว่า ข้าวยังไม่มีจะกิน จะเอาเงินจากไหนไปซื้อแปรงสีฟัน ยาสีฟัน เพราะฉะนั้น การรณรงค์จากภาคีเครือข่าย ทำงานนี้ให้สำเร็จ จะช่วยพวกเขาได้มาก ให้มีสุขภาพที่ดี สำหรับทันตแพทย์เองก็ไม่ต้องลำบากกับการดูแลผู้ป่วยในตอนที่สายไปแล้ว”

สำหรับประเทศไทย ปัญหาสุขภาพช่องปากเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน ตัวเลขเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมาพบว่า เด็กไทยวัยเรียนกว่า 52% มีโรคฟันแท้ผุ ขณะที่วัยทำงานพบภาวะปริทันต์ที่พบการอักเสบของเหงือกมากกว่า 51% และโรคฟันผุที่ยังไม่ได้รับการรักษากว่า 43% ขณะที่ผู้สูงอายุมีฟันถาวรใช้งานได้อย่างน้อย 20 ซี่ เพียง 56% เท่านั้น

การเข้าถึงบริการทันตกรรมที่มีคุณภาพจึงยังเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับหมอฟันไทย…

ขณะที่ นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เรื่องสำคัญอย่างการยกระดับการเข้าถึง 30 บาททุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลนั้น หมายรวมถึงการเข้าถึงการบริการด้านทันตกรรม ทั้งการป้องกันไม่ให้เกิดโรคทางช่องปาก และการรักษาทั้งระดับปฐมภูมิ-การรักษาขั้นสูง โดยในที่สุดก็คือการเข้าถึงบริการได้ครบถ้วน

อีกส่วนหนึ่งก็คือนโยบาย IGNITE THAILAND ของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ที่เห็นว่าเรื่องสาธารณสุขจะเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศ 2 โจทย์ ก็คือเรื่องการยกระดับการบริการสุขภาพให้กับประชาชน และการส่งเสริมอุตสาหกรรมบริการด้านสุขภาพ ทั้งเรื่อง Dental Hub คือการเป็นฮับด้านทันตกรรม

“จริงๆ ประเทศไทยเป็น Dental Hub ที่ดีมาก เป็นแหล่งที่ชาวต่างชาติชอบมาทำฟันมาก โดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยวทั้งหลาย โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ต เรื่องนี้จึงต้องจัดวางระบบให้ดี” ปลัดกระทรวงสาธารณสุขระบุ

ฉะนั้น โจทย์ใหญ่คือการสื่อสารทั้งกับประชาชน เริ่มจากการทำให้ประชาชนดูแลสุขภาพช่องปากให้ดี โดยเน้นเรื่องการป้องกัน ส่งเสริม และ Primary Care ให้กับประชาชนด้านทันตกรรม และอีกส่วนคือสร้าง Dental Hub ดึงดูดคนจากต่างประเทศเข้ามา

แต่ข้อท้าทายอีกเช่นกันก็คือ ณ วันนี้ ในปี 2567 การให้บริการด้านทันตกรรมกับคนไทยและคนต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยรวม 70 ล้านคน ซึ่งควรได้รับบริการทันตกรรมขั้นต่ำปีละ 2 ครั้งนั้น ตัวเลขการเข้าถึงจริงๆ อยู่ที่ไม่ถึง 10% หรือมีการให้บริการทันตกรรมเพียง 12 ล้านครั้งต่อปี ทั้งที่ตัวเลขเต็มๆ ควรจะเป็น 140 ล้านครั้ง

ด้วยเหตุนี้ การรณรงค์เรื่องการให้บริการสุขภาพช่องปากจึงเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องท้าทาย และเป็นเรื่องที่ต้องออกแรงอย่างหนัก เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพช่องปากที่ดี โดยกระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าว่า จะสร้าง ‘โรงพยาบาลทันตกรรม’ เป็นศูนย์กลางในแต่ละเขตสุขภาพ เพื่อให้หมอฟันมีบทบาทมากขึ้นในการดูแลสุขภาพช่องปากประชาชน ลดคิวการรับบริการทันตกรรม และส่งเสริมให้ประชาชนสนใจสุขภาพช่องปากมากขึ้น

ขณะเดียวกัน อีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือการทำงานเชิงรุก ติดอาวุธให้กับบรรดาหมอฟันทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ขึ้น 

สำหรับปีนี้ ทันตแพทยสมาคมฯ เตรียมจัดกิจกรรมหลากหลาย ทั้งดูแลผู้ป่วยให้สมบูรณ์ขึ้น และติดอาวุธหมอฟันให้ทำหน้าที่ในแง่การสื่อสารกับสังคม ในแง่การสร้างเครือข่าย และสร้างพันธมิตรกับต่างประเทศ ผ่านกิจกรรม เช่น Thailand World Oral Health Day ที่จัดไปแล้วเมื่อเดือนมีนาคม 2567 จากนั้นจะตามมาด้วยการประชุมครบรอบ 50 ปี ของสมาพันธ์นักศึกษาทันตแพทย์แห่งเอเชียในเดือนสิงหาคม, การเฉลิมฉลอง 30 ปี ทันตแพทยสภา, 85 ปี ทันตแพทยสมาคมฯ ในเดือนกันยายน, การประชุม WHO Global Oral Health Meeting ระหว่างวันที่ 7-10 ธันวาคม และการประชุมวิชาการนานาชาติ Thailand International Dental Congress 2024  ในระหว่างวันที่ 11-13 ธันวาคม 2567  

ถึงตรงนี้ ทันตแพทยสมาคมฯ ให้ข้อมูลว่า วงการทันตแพทย์ไทยมี ‘คนเก่ง’ อยู่จำนวนมาก ที่ออกไปสร้างชื่อทั่วโลก แต่ไม่ได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับหมอฟันไทยด้วยกัน จึงต้องอาศัยการประชุมวิชาการนานาชาติรอบนี้เป็นตัวขับเคลื่อน จุดพลังให้กับบรรดาหมอฟันไทย

หากในปีนี้การจัดกิจกรรมทั้งหมดทำได้สมบูรณ์-ครบวงจร ทั้งในส่วนของการขยายบริการสุขภาพช่องปาก การจัดกิจกรรมเสริมความรู้และสร้างเครือข่ายให้กับบรรดาทันตแพทย์ ปีนี้จะเป็นปีที่ประเทศไทยสามารถดูแลผู้ป่วยทันตกรรมได้ดี เพิ่มการเข้าถึงบริการได้มากขึ้น

และจะทำให้หมอฟันไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดดในเวทีโลกได้แน่นอน

ภาพ (จากซ้ายไปขวา):แพทย์หญิง อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย, ทันตแพทย์ สุชิต พูลทอง นายกทันตแพทยสภา,  นายแพทย์ โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, ทันตแพทย์ อดิเรก ศรีวัฒนาวงษา นายกทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, ทันตแพทย์หญิง วรางคนา เวชวิธี รักษาการทันตแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านทันตสาธารณสุข

Tags: