โลกโซเชียลมีเดียจีน เกิดเทรนด์ ‘แกล้งทำงาน’ ตามคาเฟ่และห้องสมุดในหมู่คนรุ่นใหม่ เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญกับครอบครัวเรื่องการงาน หลังปัญหาเศรษฐกิจของประเทศทำให้ Gen Z อยู่ในภาวะตกงาน
ทั้งนี้สำนักข่าวเรดิโอฟรีเอเชีย (Radio Free Asia: RFA) เปิดเผยว่า แอปพลิเคชัน Douyin เกิดแฮชแท็ก #IPretendedToGoToWorkToday โดยปรากฏภาพของวัยรุ่น Gen Z ชาวจีน กำลังทำกิจวัตรที่ไม่มีอยู่จริงตามคาเฟ่และห้องสมุด เพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจว่า พวกเขามีงานทำ แม้ว่าจะตกงานหลังจากเรียนจบ เพราะปัญหาเศรษฐกิจของประเทศก็ตาม
หนึ่งในคลิปไวรัลคือ เด็กผู้หญิงคนหนึ่งซ่อนตัวอยู่บนชั้นบนของอะพาร์ตเมนต์ เพื่อปกปิดครอบครัวว่า เธอไม่มีงานทำ ขณะที่ผู้หญิงนิรนามอีกคน ทำท่าทางชักชวนให้ผู้ชมมาเที่ยวเมืองที่อาศัยอยู่ ด้วยการพาชมสถานีรถไฟ สถานที่ช็อปปิง และจุดเยี่ยมชม แต่ไม่มีใครรู้ว่าเธอเป็นใคร หลังใช้เทคโนโลยีปกปิดตัวตน
ขณะเดียวกันบทความในเว็บไซต์ Banyuetan ยังเปิดเผยเพิ่มเติมว่า Gen Z ที่ตกงานหลายคน ยังนิยมเช่า Co-Working Space เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกซักถามเรื่องการสมัครงานจากพ่อแม่ หลังเกิดวัฒนธรรมเช่าพื้นที่ส่วนกลางในหมู่คนรุ่นใหม่ เพื่อเตรียมสอบรับราชการหรือเรียนต่อในระดับปริญญาโท โดยธุรกิจนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว สะท้อนจากการมีพื้นที่ขยายมากกว่า 10 ล้านแห่งต่อปี
นอกจากนี้บทความยังพูดถึงเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ที่ยังคงอาศัยอยู่กับพ่อแม่ หรือบางครั้งยังได้รับค่าขนมจากครอบครัว ขณะที่บางส่วนตัดสินใจเลือกทางที่แตกต่าง ด้วยการรับจ้างทั่วไป เช่น การทำงานเป็นขนส่งเดลีเวอรี แทนการทำงานตามที่ตนคาดหวังคือ การทำงานออฟฟิศ
เมื่อคำว่า ‘หางเน่า’ กำลังตีตราคนรุ่นใหม่ในจีน
‘หางเน่า’
เป็นคำสแลงในประเทศจีนถึงเด็กที่ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่มีอะไรเป็นของตนเอง หลังคนรุ่นใหม่จำนวนมากอยู่ในภาวะตกงาน นอกจากปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่สืบเนื่องจากโรคโควิด-19 แหล่งข่าวยังเผยว่า คนรุ่นใหม่ยังถูกซ้ำเติมด้วย ‘ระบบอุปถัมภ์’ เมื่อเด็กธรรมดาที่ใช้ความสามารถ แพ้ระบบเส้นสายจากครอบครัวที่ร่ำรวย ซึ่งยิ่งทำให้การแข่งขันสูงขึ้น แต่ตำแหน่งงานน้อยลง
วิกฤตว่างงานของคนรุ่นใหม่ในประเทศถือเป็นวิกฤตครั้งสำคัญ สะท้อนจากสถิติในเดือนกรกฎาคม 2024 พบว่า วัยรุ่น 16-24 ปี ไม่มีงานทำเพิ่มขึ้นถึง 17.1% ด้าน สี จิ้นผิง (Xi Jinping) ผู้นำสูงสุดพรรคคอมมิวนิสต์ เริ่มเคลื่อนไหวในปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมาว่า จะผลักดันประเด็นการจ้างงานในหมู่คนรุ่นใหม่เป็นวาระเร่งด่วน แต่ไม่ได้เปิดเผยวิธีการว่าทำอย่างไร
จี เฟิง (Ji Feng) นักวิจารณ์การเมืองเชื่อว่า รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์มองเห็นปัญหาว่างงานของคนรุ่นใหม่เป็นภัยครั้งสำคัญ เพราะอาจนำไปสู่การสั่นคลอนอำนาจนำทางการเมือง ขณะที่ เฮ่อ เจียงผิง (He Jiangbing) นักเศรษฐศาสตร์ อธิบายความล้มเหลวครั้งนี้ว่า เกิดจากการบริหารราชการแผ่นดินของสี จิ้นผิง เมื่อบริษัทเอกชนยังเป็นแหล่งจ้างงานหลักสำคัญ แต่ก็รับมือกับภาวะชะงักงันทางการเงินที่รัฐไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลจีนฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยการสร้างความสัมพันธ์ทางการค้า และเน้นการส่งออกเหมือนในอดีต
“ตัวสี จิ้นผิงเองที่สร้างปัญหา สาเหตุที่เศรษฐกิจจีนพังและตลาดแรงงานซบเซา เพราะไม่มีเสรีภาพหรือความครึกครื้นในการใช้ชีวิต เมื่อเอกสารธรรมดาอาจทำลายได้ทั้งอุตสาหกรรม หรือแม้แต่คำพูดที่ไม่ถูกใจใน WeChat จากคนธรรมดา อาจทำให้เขาถูกจับเข้าคุกได้” แหล่งข่าวของ RFA ชาวเยอรมันที่มีอิทธิพลในโลกโซเชียลฯ ทิ้งท้ายถึงนโยบายปิดกั้นเสรีภาพของสี จิ้นผิง
อ้างอิง
https://www.rfa.org/english/china/2024/11/16/china-young-unemployed-pretend-work-libraries/
https://www.rfa.org/english/news/china/young-graduates-rotten-tail-kids-08262024134727.html
Tags: สี จิ้นผิง, จีน, คนรุ่นใหม่, ประเทศจีน, ตกงาน, เศรษฐกิจจีน, ทำงาน, Gen Z, เศรษฐกิจ