2 สิงหาคม 2562 มูลนิธิรางวัลรามอน แมกไซไซ ประกาศรางวัลให้แก่อังคณา นีละไพจิตร ในคำประกาศเกียรติยศระบุว่า เธอพิทักษ์ความยุติธรรม ซ้ำแล้วซ้ำอีก ด้วยความเจ็บปวด (Championing justice, case after painful case.)
คณะกรรมการกองทุนฯ ระบุว่า อังคณา นีละไพจิตร มีความกล้าหาญแน่วแน่ในการทำงานเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่เหยื่อความรุนแรงจากความขัดแย้งในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย และยังเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เธอทำงานอย่างเป็นระบบและไม่ย่อท้อ ตลอดเวลาของการเคลื่อนไหวพิสูจน์แล้วว่า สามัญชนคนธรรมดาสามารถสร้างผลกระทบระดับประเทศในการแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้
ในปี 2549 อังคณา เครือข่ายคนทำงานภาคประชาสังคม และครอบครัว ร่วมกันก่อตั้งมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ (The Justice for Peace Foundation (JPF) เพื่อติดตามการทำงานในกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย และจัดงานฝึกอบรมด้านสิทธิมนุษยชนและกระบวนการสันติภาพแก่ผู้หญิง จนต่อมา ในปี 2558 เธอได้รับการเสนอชื่อเป็นหนึ่งในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แต่เพิ่งประกาศลาออกไปเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมาโดยให้เหตุผลว่าระบบการทำงานไม่เอื้อต่อการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
ย้อนไปก่อนหน้านั้น เรื่องราวความเคลื่อนไหวเริ่มต้นจากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ ที่ปะทุขึ้นอีกครั้งนับแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ซึ่งนับจากวันนั้น มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 6,000 ราย มากกว่า 90% เป็นพลเมืองทั่วไป ทนายสมชาย นีละไพจิตร สามีของอังคณา เป็นทนายความที่เข้าไปช่วยเหลือทางคดีให้แก่ผู้ต้องหาหลายคดี ได้เห็นปัญหาการซ้อมทรมาน จึงเคลื่อนไหวเชิงระบบให้ต้องยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ แต่การเคลื่อนไหวเกิดขึ้นได้เพียงไม่กี่วัน ทนายสมชายก็ถูกทำให้หายตัวไปจากย่านรามคำแหง กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 12 มีนาคม 2547
การหายตัวไปของทนายสมชายสร้างบาดแผลลึกให้แก่ครอบครัว และมันก็เป็นจุดเริ่มต้นให้ทำให้อังคณา อดีตพยาบาลซึ่งผันตัวมาเป็นแม่บ้านที่ดูแลลูก 5 คนพร้อมกับมีธุรกิจเล็กๆ ของตัวเอง ต้องก้าวสู่การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมที่เกิดขึ้น เธอเรียกร้องให้มีการติดตามคดีและฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่การต่อสู้คดีไม่เป็นผล กระบวนการยุติธรรมไทยสั่งยกฟ้องเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการหายตัวไปของทนายสมชาย
อย่างไรก็ดี อังคณาไม่ได้จำกัดประเด็นการต่อสู้อยู่แค่กรณีของทนายสมชาย เธอยังเรียกร้องสิทธิมนุษยชนในกรณีอื่นๆ และเสนอให้มีการปฏิรูปกฎหมาย โดยเฉพาะการต่อต้านการซ้อมทรมาน การบังคับให้หายตัวไปในประเทศไทย และสิทธิผู้หญิง
รางวัลรามอน แมกไซไซ ตั้งขึ้นเมื่อปี 1957 เพื่อเชิดชูเกียรติแก่นายรามอน แมกไซไซ อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ในฐานะผู้ที่เป็นตัวอย่างการอุทิศตนเพื่อสังคม ในประเทศไทย ผู้ที่เคยได้รับรางวัลนี้ เช่น ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (1961), นายจอน อึ๊งภากรณ์ (2005), เภสัชกรหญิง ดร. กฤษณา ไกรสินธุ์ (2009) รวมถึง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (1991)
อ้างอิง: https://www.rmaward.asia/awardees/neelapaijit-angkhana/
ขอบคุณภาพจากนิตยสาร a day BULLETIN
Tags: สิทธิมนุษยชน, อังคณา นีละไพจิตร, รามอน แมกไซไซ, รางวัลแมกไซไซ, การซ้อมทรมาน, การบังคับให้หายตัวไป