หากยารักษาโรคคือหนึ่งในปัจจัยสี่ ปัจจุบันคงเปรียบได้กับโรงพยาบาลที่เต็มไปด้วยบุคลากรและเครื่องมือทางการแพทย์ที่คอยรักษาโรคต่างๆ ให้แก่ประชาชนอยู่เสมอ

แต่จะทำอย่างไร หากโรงพยาบาลและบุคลากรไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นอย่างทุกวันนี้

สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ อาจเป็นอีกหนึ่งความหวังของคนไทย เพราะนอกจากจะเป็นทั้งโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาคแล้ว อีกด้านหนึ่ง ยังเป็นโรงเรียนแพทย์และสถาบันวิจัยที่ผลิตแพทย์รุ่นใหม่เพื่อออกไปดูแลประชาชนมากยิ่งขึ้น

 

บริการสุขภาพอย่างครบวงจร

“เนื่องจากแถวนี้ไม่มีศูนย์การแพทย์ของรัฐบาลขนาดใหญ่ ประกอบกับมีโรงงานอยู่เยอะ มีคนจากทั่วประเทศมาทำงานที่นี่ แต่กลับไม่ได้รับการดูแลสุขภาพที่ดีพอ” ศ. นพ.พงษ์ศักดิ์ โค้วสถิตย์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์

นิคมอุตสาหกรรมเปรียบเสมือนจังหวัดเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยผู้คนจากหลากหลายพื้นที่ที่เดินทางเข้ามาทำงาน ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เป็นอีกหนึ่งนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยผู้คนหนาแน่น แต่ในบริเวณนี้หรือจังหวัดใกล้เคียงกลับขาดโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่

ยิ่งไปกว่านั้น การทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมมีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุค่อนข้างสูง รวมไปถึงโรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงาน นั่นเป็นที่มาของโครงการสร้างสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ครอบคลุมการรักษาประชาชนในจังหวัดสมุทรปราการ รวมไปถึงจังหวัดใกล้เคียงอย่าง ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และสระแก้ว โดยทางโรงพยาบาลได้พัฒนาระบบบริการสุขภาพอย่างครบวงจร รองรับการรักษาผู้ป่วยทุกระดับ ให้สอดคล้องกับความต้องการของคนในบริเวณนี้ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาโรคหัวใจ ผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ ห้องอภิบาลเด็ก รวมไปถึงศูนย์รองรับอุบัติเหตุหรือภาวะฉุกเฉินต่างๆ

 

มากกว่าโรงพยาบาล เพราะที่แห่งนี้เป็นแหล่งความรู้

นอกจากโรงพยาบาลจะเป็นพื้นที่รักษาผู้ป่วยแล้ว ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ชั้นดีของนักศึกษาแพทย์ที่กำลังพัฒนาตัวเองเพื่อออกไปรับใช้สังคมในอนาคต แต่ในปัจจุบันกลับขาดบุคคลากรทางการแพทย์ เนื่องจากพื้นที่ผลิตบุคลากรนั้นมีอยู่อย่างจำกัด

สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์จึงจัดตั้งขึ้นโดยมีแนวคิดหลักอีกหนึ่งอย่าง นอกจากให้บริการรักษาประชาชนแล้ว ยังเป็นสถาบันการวิจัยและพื้นที่การศึกษา โดยเฉพาะในระดับปริญญาตรีของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เนื่องจากโรงพยาบาลรามาธิบดี พญาไท นั้นมีผู้ป่วยหนักที่มีอาการค่อนข้างซับซ้อนจำนวนมาก ต้องอาศัยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในการดูแลรักษา จึงไม่เหมาะแก่การศึกษาในระดับปริญญาตรี

“เราอยากจะสร้างบัณฑิตที่จบไปในวงการแพทย์ให้เป็นผู้นำที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชนและสังคมที่บัณฑิตเหล่านั้นไปอยู่ ซึ่งอันนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงเรื่องสาธารณสุขของประเทศได้” ศ. นพ.พงษ์ศักดิ์ กล่าว

แม้ผู้ป่วยที่รักษาในสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์จะเป็นผู้ป่วยที่มีอาการไม่ซับซ้อนมากนัก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะด้อยขีดความสามารถในการรักษา เนื่องจากทั้งสองโรงพยาบาลนี้ไม่ได้แยกส่วนกันชัดเจน หากผู้ป่วยที่มีอาการซับซ้อนมากๆ ก็สามารถส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี พญาไทได้

 

One Stop Service

“โรงพยาบาลรัฐทั่วไป ส่วนใหญ่โครงสร้างจะแบ่งเป็นแผนก ทำให้การทำงานอาจจะไม่ถนัด เราจึงเห็นอุปสรรคตรงนี้ โดยโครงสร้างของสถาบันเราจึงจะไม่แบ่งแผนก เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นหมอสาขาไหนก็สามารถทำงานร่วมกันเป็นทีมได้ง่ายขึ้น” ศ. นพ.พงษ์ศักดิ์ อธิบายถึงอีกหนึ่งจุดเด่นของโรงพยาบาล ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า คลินิกแบบบูรณาการ โดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง

เนื่องจากปัญหาใหญ่อีกหนึ่งอย่างของผู้ป่วยคือ ไม่ได้เป็นเพียงโรคเดียว เพราะนอกจากจะมีภาวะแทรกซ้อนแล้ว บางครั้งโรคโรคหนึ่งอาจจะนำไปสู่อีกโรคหนึ่งก็เป็นได้ ทำให้ผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์เฉพาะทางหลายครั้ง ซึ่งอาจจะไม่สะดวก โดยเฉพาะคนต่างจังหวัดที่ต้องเข้ามารักษาในกรุงเทพฯ

One Stop Service คือการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม โดยสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์จะจัดตั้งคลินิกเฉพาะโรค เช่น กลุ่มคลินิกของผู้ป่วยเบาหวานและโรคข้างเคียงที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการตรวจผู้ป่วยกลุ่มนี้ ทางโรงพยาบาลจะมีทั้งหมอเบาหวาน หมอโรคไต หมอสมอง หมอหัวใจ และนักโภชนาการมาคอยตรวจร่วมกัน ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องมาโรงพยาบาลหลายครั้ง

อีกทั้งการตั้งคลินิกแบบนี้ยังเป็นประโยชน์แก่นักศึกษาแพทย์ที่จะได้เห็นผู้ป่วยในภาพรวม ตั้งแต่มีอาการน้อยไปจนถึงมาก รวมทั้งภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่เกิดขึ้นอีกด้วย

นวัตกรรมใหม่เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น

เวชศาสตร์ฟื้นฟู คือ สาขาทางการแพทย์สาขาหนึ่งเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพในด้านต่างๆ ของผู้ป่วย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาขาที่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ให้ความสำคัญ โดยทางโรงพยาบาลได้นำเข้านวัตกรรมใหม่จากสวิสเซอร์แลนด์ที่เรียกว่า ‘หุ่นยนต์ฝึกเดิน (G-EO System)’

อ.นพ.ธนิษฐ์ วีระพงษ์

หุ่นยนต์ฝึกเดินตัวนี้ จะช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการเดิน ไม่ว่าจะเกิดจากกล้ามเนื้ออ่อนแรง อัมพฤต หรืออัมพาตให้กลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติเร็วขึ้น ซึ่งความพิเศษของเจ้าหุ่นยนต์ตัวนี้ที่ไม่เหมือนใครก็คือ สามารถจำลองการขึ้นลงบันไดได้

อ.นพ.ธนิษฐ์ วีระพงษ์ แพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ได้พูดถึงปัญหาหลักของผู้ป่วยที่กลับไปใช้ชีวิตหลังจากการทำกายภาพว่า

“ปัญหาใหญ่ที่เวลาคนไข้มาฝึกกายภาพตามโรงพยาบาลแล้วกลับไปบ้านคือ ปัญหาในการขึ้นลงบันได ต้องให้ญาติหลายๆ คนช่วยพยุง แต่เครื่องนี้จะสามารถจำลองการขึ้นลงบันไดเพื่อให้เขากลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้”

“เราศึกษากล้ามเนื้อที่ใช้ในการขึ้นลงบันไดและการเดิน แล้วก็นำมาเทียบกับเครื่องนี้ เราพบว่ากล้ามเนื้อที่คนไข้นำมาใช้กับเครื่องนี้กับกล้ามเนื้อในการเดินจริงๆ มันใกล้เคียงกัน เพราะฉะนั้น เราคิดว่าเราฝึกเดินโดยใช้เครื่องนี้ จะช่วยให้คนไข้ฟื้นฟูการเดินในชีวิตประจำวันได้เร็วขึ้น”

นอกจากนี้ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับกลุ่มผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ซึ่งปกติจะเห็นว่า ผู้ป่วยโรคนี้จะเดินช้า และก้าวสั้นๆ หลังจากฝึกกับเครื่องนี้แล้วพบว่าผู้ป่วยกลุ่มโรคพาร์กินสันสามารถเดินได้ยาวขึ้น เร็วขึ้น และทรงตัวได้ดีขึ้น

ปัจจุบัน หุ่นยนต์ช่วยเดินนี้มีทั้งหมดประมาณ 90 เครื่องทั่วโลก โดยประเทศไทยมีทั้งหมดสองเครื่อง แต่ที่นี่ถือว่าเป็นเครื่องแรกของโรงพยาบาลรัฐซึ่งทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น ในอนาคตทางโรงพยาบาลมีโครงการที่จะร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการพัฒนาเครื่องของโรงพยาบาลเอง โดยอาศัยหลักการจากเครื่องนี้ แล้วนำมาประยุกต์เพื่อลดต้นทุนการนำเข้า

นอกจากนี้แล้ว ยังมี ‘ธาราบำบัด (Hydrotherapy)’ หรือการออกกำลังกายในน้ำ อีกหนึ่งทางเลือกในการทำกายภาพบำบัด เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บเท้า ข้อเท้า เข่า หรืออาการปวดเมื่อยต่างๆ รวมไปถึงผู้ป่วยที่มีปัญหาในการเดินหรือทรงตัวด้วย โดยอาศัยแรงลอยตัวจากน้ำในการช่วยพยุง อีกทั้งยังลดแรงกระแทกต่างๆ ระหว่างการรักษา

สระธาราบำบัดมีการควบคุมอุณหภูมิอยู่ที่ 33 องศา เนื่องจากน้ำอุ่นจะช่วยให้หลอดเลือดขยายตัวทำให้เลือดสามารถไปเลี้ยงกล้ามเนื้อได้ดีขึ้น รู้สึกผ่อนคลายและช่วยลดอาการปวดต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการนำระบบ Jet Stream หรือแรงดันจากน้ำมาติดตั้งตามจุดต่างๆ ของสระพร้อมทั้งเครื่องออกกำลังกาย (Strider) เพื่อให้ผู้ป่วยได้ออกแรงต้าน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยได้ใช้กล้ามเนื้อมากขึ้น

โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ ตั้งอยู่ที่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ

ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2555 และจะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดสถาบันฯ อย่างเป็นทางการในวันจันทร์ที่ 25 ธันวาคมศกนี้ ซึ่งในช่วงแรกนี้ จะเปิดโรงพยาบาลเพื่อทดสอบระบบต่างๆ โดยเริ่มให้บริการทุกวัน เวลา 8.00-16.00 น. แล้วจะขยายเวลาไปจนถึง 19.00 ในเดือนมกราคมปีหน้า โดยศักยภาพในการให้บริการในช่วงแรก อาจรับได้เพียงผู้ป่วยที่มีอาการทั่วไป ในจำนวนไม่มากนักประมาณ 50-100 เตียงจาก 550 เตียง เนื่องจากในหลายๆ แผนกยังไม่พร้อม ตัวอย่างเช่น แผนกเกี่ยวกับการคลอดบุตร หอผู้ป่วยวิกฤตเด็กและทารกแรกเกิด การสวนหัวใจ ไตเทียม ห้องส่องกล้อง จะเปิดให้บริการได้อย่างเต็มรูปแบบในเดือนมีนาคม 2561

ถึงแม้โรงพยาบาลจะใกล้เสร็จเต็มทีแล้ว แต่ก็ยังอยู่ในช่วงการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์พร้อมทั้งขยายส่วนต่างๆ เพิ่มเติมเพื่อความสะดวกสบายแก่ผู้ที่มารักษาพร้อมทั้งรองรับประชาชนในบริเวณนั้น โดยมูลนิธิรามาธิบดี ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังคงทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการระดมทุน เพราะนอกจากจะ ‘ให้’ เครื่องมือการแพทย์เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยแล้ว ยัง ‘ให้’ นักศึกษาได้เรียนรู้เพื่อนำไปรักษาชีวิตผู้อื่นต่อไปอีกเป็นจำนวนมาก

สามารถบริจาคสมทบทุนเข้ามูลนิธิรามาธิบดีฯ ได้ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ บัญชีกระแสรายวัน สาขารามาธิบดี เลขที่บัญชี 026-3-05216-3 ธนาคารกรุงเทพ บัญชีกระแสรายวัน สาขาศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (รพ.รามาธิบดี) เลขที่บัญชี 090-3-50015-5 เข้าชมรายละเอียดเพิ่มเติมได้ www.ramafoundation.or.th หรือ โทร. 02 201 1111

 

Tags: , , , , ,