เมื่อความรู้ไม่ได้ถูกจำกัดเพียงรอบรั้วโรงเรียน หากแต่อยู่ทั่วทุกแห่งหนรอบตัว ดังนั้น เพื่อส่งเสริมให้พื้นที่ของเมืองมีส่วนร่วมจุดประกายการเรียนรู้ TKPark จึงจับมือกับ The Momentum ลงพื้นที่เมืองนครศรีธรรมราช ทำงานร่วมกับเทศบาลนครนครศรีธรรมราช กลุ่มมานีมานะ และเครือข่ายในพื้นที่ ร่วมสร้างปรากฏการณ์ใหม่นำทีมครูและนักเรียนเดินลัดเลาะเมืองคอน เปิดพื้นที่การเรียนรู้ ให้เมืองที่เคยเห็น ถนนที่เคยผ่าน ไม่เหมือนเดิมในความนึกคิดอีกต่อไป

เตรียมแผนการ ชี้ชวนน้องมองเมืองคอน 

เด็กและเยาวชนคือ ทรัพยากรสำคัญในการทำหน้าที่ส่งต่ออนาคตของเมือง การรู้จักเมืองในด้านต่างๆ ย่อมบ่มเพาะการเติบโตให้มั่นคงและเข้มแข็ง จากความเชื่อดังกล่าว ส่งผลให้ TKPark และ The Momentum เกิดความคิดอยาก ‘พาน้องมองเมืองคอน’ กิจกรรมที่ต้องอาศัยแรงจากการเดินเพื่อสำรวจ เรียนรู้ รับฟังเรื่องราวต่างๆ จากผู้รู้ในชุมชนและเพื่อให้กิจกรรมในครั้งนี้เกิดประสิทธิผลมากที่สุด แผนการเชิญชวนเครือข่ายเข้าร่วมปฏิบัติการจึงเริ่มต้นขึ้น

สุรเชษฐ์ แก้วสกุล นักวิจัยอิสระ กำลังหลักของการกำหนดเส้นทางและเรื่องราวการเดินในครั้งนี้ โดยเขาวางจุดมุ่งหมายไว้ว่า “ย่านที่เดินสำรวจอยู่ทางทิศเหนือนอกกำแพงเมือง ในระบบการปกครองของเมืองนครสมัยโบราณ เรียกพื้นที่ตรงนี้ว่า ตำบลคลัง ตามระบบการจัดแบ่งพื้นที่เมืองสมัยโบราณที่ประกอบด้วย 4 ตำบล ได้แก่ 1. ตำบลในเมือง คือในเขตกำแพงเมือง 2. ตำบลวัง คือในเขตวังของเจ้าเมืองนคร 3. ตำบลนา คือทั้งแต่ชานกำแพงเมืองนครทางทิศใต้ไปจรดหัวถนน และ 4. ตำบลคลัง กินพื้นที่จากชานกำแพงเมืองฝั่งเหนือไปจรดคลองท่าวัง พื้นที่ตำบลคลังถูกวางไว้ให้เป็นย่านเศรษฐกิจการค้าที่สำคัญของเมืองนครมาแต่โบราณ จึงเป็นย่านที่มีความซับซ้อนของเศรษฐกิจ สังคม และความเชื่อที่หลากหลาย ปัจจุบันได้ถูกแบ่งแยกย่อยเป็นหลายเขต เช่น ตลาดแขก พระเงิน ท่าวัง ท่ามอญ” 

เมืองนครในภาพกว้างๆ ถูกอธิบายว่า เป็นเมืองพระหรือเมืองพุทธ ในความเป็นจริงแล้วมีความซับซ้อนกว่านั้น และการที่เมืองนครเป็นเมืองนครที่เรารู้จักในทุกวันนี้ ก็ประกอบสร้างขึ้นโดยคนหลากหลายกลุ่ม หลากหลายความเชื่อ ทั้งชาวมลายูมุสลิม ชาวคริสต์ ชาวจีน และชาวไทย นอกจากนี้เมืองนครศรีธรรมราชยังเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่ซับซ้อน ดังนั้นเพื่อให้เข้าถึงองค์ความรู้จากผู้ศรัทธา เช่นศาสนาอิสลาม จึงได้รับความร่วมมือจาก สามารถ สาเร็ม นักวิจัยอิสระ ที่เชี่ยวชาญด้านมุสลิม นำผู้ร่วมกิจกรรมเข้าชมมัสยิดสำคัญของเมืองนคร

การวางกรอบเนื้อหาดำเนินเคียงคู่กับการออกแบบกระบวนการที่เน้นกระตุกต่อมความคิดของผู้เข้าร่วมกิจกรรม ให้เห็นคุณค่าของเมืองและนำฐานทรัพยากรทางภูมิปัญญามาใช้ในการผลิตผลงานสร้างสรรค์ ซึ่ง TK Park ร่วมงานกับ โตมร อภิวันทนากร จากกลุ่มมานีมานะ กระบวนกรมากความสามารถที่คลุกคลีกับงานพัฒนาเด็กและเยาวชน จนได้เครื่องมือที่เหมาะสมสำหรับพาน้องมองเมืองคอน

เดินมองเมือง หาเรื่อง หาราว 

แล้วก็ถึงเวลาพาน้องๆ ไปมองเมืองคอน บนเส้นทางเกือบ 4 กิโลเมตรของการเดิน เพื่อเรียนรู้เรื่องราวเมืองนครในครั้งนี้ มีจุดนัดพบที่ศาลหลักเมือง โดยก่อนออกเดินเพื่อพิชิตเส้นทางที่กำหนดไว้กว่า 10 จุด สุรเชษฐ์ แก้วสกุล เปิดแผนที่ของเมืองนครให้ผู้เข้าร่วมชม พร้อมฟังเรื่องราวความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ โดยเริ่มตั้งแต่แผนที่โบราณจนพัฒนาการมาเป็นเมืองนครเช่นในทุกวันนี้ 

จากนั้นจึงพาพวกเราลัดเลาะไปบนถนนยมราช มุ่งสู่มัสยิดซอลาฮุดดีนหรือมัสยิดท่าช้าง ฟังสามารถเล่าเรื่องราวความเป็นมาของชาวมุสลิมในเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อเห็นภาพในมุมกว้างแล้ว จึงค่อยเจาะลึกถึงเรื่องราวของสถานที่ ซึ่งเล่าโดยอิหม่ามมุสตอฟา โอกฤษ และอาจารย์สุรินทร์ สมจิตต์

การฟังเรื่องราวจากผู้รู้ ทำให้ทราบว่า ย้อนไปตั้งแต่ราวรัชกาลที่ 5 มัสยิดท่าช้างเดิมตั้งอยู่ภายในเขตวัดมเหยงคณ์ เป็นมัสยิดไม้ยกใต้ถุนสูงแบบเรือนภาคใต้ เป็นศูนย์รวมใจของชาวมลายูมุสลิมไทรบุรีและปัตตานีมาช้านาน ต่อมาวัดมเหยงคณ์มีความต้องการใช้พื้นที่วัดเพื่อสร้างโรงเรียน ชาวมลายูมุสลิมจึงตกลงเลือกที่ดินของวัดท่าช้าง (ร้าง) เป็นที่ตั้งของมัสยิดใหม่ตามข้อเสนอของฝ่ายบ้านเมือง จึงได้ช่วยกันยกอาคารมัสยิดไม้หลังเดิมมาตั้งใหม่อยู่ในที่ดังกล่าว ทำให้เป็นที่มาของชื่อมัสยิดท่าช้าง โดยเริ่มก่อสร้างมัสยิดด้วยโครงสร้างก่ออิฐและคอนกรีตเสริมเหล็ก เพื่อทดแทนอาคารหลังเดิมเมื่อปี 2470 เสร็จสิ้นเมื่อปี 2483 พร้อมกับการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่า มัสยิดซอลาฮุดดีน กลายเป็นมัสยิดสำคัญโดดเด่นเป็นสง่าประจำย่านนี้ตราบกระทั่งปัจจุบัน

หลังออกจากมัสยิดซอลาฮุดดีน พวกเราเดินเข้าสู่ถนนราชดำเนิน เพื่อไปยังมัสยิดญาเมี๊ยะ มัสยิดขนาดเล็ก แต่มีความโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมสไตล์เปอร์เซีย-อิหร่าน นอกจากชื่นชมความงามของมัสยิดแล้ว ยังได้รับฟังเรื่องราวของการอยู่อาศัยร่วมกันระหว่างชาวพุทธกับมุสลิมในเมืองนครศรีธรรมราช จาก กิติพงศ์ พงศ์ยี่หล้า หรือหวอกีม อันเป็นประจักษ์พยานสำคัญของการยืนยันว่า ‘นครเป็นเมืองพหุวัฒนธรรมโดยแท้’ ไม่ไกลกันเป็นที่ตั้งของพระเจดีย์ยักษ์ เจดีย์ขนาดใหญ่ซึ่งยอดหักหายไป มีตำนานว่า เจดีย์องค์นี้สร้างขึ้นโดยเหล่ายักษ์แข่งขันกับมนุษย์ในการสร้างพระบรมธาตุเมืองนคร ทว่ามนุษย์สร้างพระบรมธาตุเมืองนครได้ใหญ่กว่าและเสร็จสมบูรณ์ก่อน ยักษ์จึงเตะยอดเจดีย์ที่ตนสร้างกระเด็นไปไกลเกือบถึงทะเล ทำให้เจดีย์ยักษ์เป็นเจดีย์ยอดหักจนปัจจุบัน

ทว่าตำนานเรื่องนี้อาจไม่ได้มีอายุยาวนานนัก เพราะในสมัยรัชกาลที่ 1 มีตำนานเกี่ยวกับเจดีย์ยักษ์ที่เก่าแก่กว่า ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมเรื่อง นิพพานโสตร โดยระบุว่า เจดีย์ยักษ์นี้สร้างขึ้นโดยชาวลังกาที่มาร่วมสร้างพระบรมธาตุ แต่มาไม่ทันเพราะเมื่อมาถึงเมืองนครก็พบว่า พระบรมธาตุสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว จึงได้ขอที่ดินทางตอนเหนือของเมืองนครจากพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช เพื่อสร้างเจดีย์ และใช้เรือสำเภาบรรทุกยอดเจดีย์โลหะมาใช้กับเจดีย์องค์นี้แทน นอกจากนี้ยังปรากฏบันทึกในสมัยรัชกาลที่ 2 ถึงการเกิดฟ้าผ่าใหญ่ใส่ยอดเจดีย์ทางเหนือของเมืองนคร ซึ่งเป็นไปได้ว่าหมายถึงยอดเจดีย์ยักษ์ที่ทำด้วยโลหะนี้เอง

เพื่อให้ครอบคลุมอีกหนึ่งความศรัทธาของคนเมืองคอน พวกเราเดินหน้าต่อไปยังโบสถ์เบธเลเฮ็ม โบสถ์คริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ ที่เริ่มเข้ามาในเมืองนครศรีธรรมราชตั้งแต่ปี 2443 และก่อตั้ง American School for Boys ที่เป็นต้นกำเนิดของโรงเรียนศรีธรรมราชศึกษาในปัจจุบัน

สถานที่ถัดไปคือ Norm Space ที่มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบ Art Deco เน้นเส้นลายเรียบง่าย แบบเรขาคณิตที่ดูแข็งแรง โดยพื้นที่เดิมเป็นบ้านของครูน้อม อุปรมัย อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดนครศรีธรรมราช 4 สมัย ในระหว่างปี 2495-2512 ปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนเป็นคาเฟ่ โฮสเทล และเป็นที่ตั้งของ ‘พิพิธภัณฑ์บ้านครูน้อม’ เพื่อเป็นระลึกถึงคุณูปการที่ครูน้อมมีต่อวงการศึกษา ทั้งของเมืองนครศรีธรรมราชและประเทศไทย 

การเรียนรู้ในพื้นที่ถัดไป พาพวกเราเดินเข้าสู่ถนนราชดำเนินอีกครั้ง เพื่อไปยังวัดวังตะวันตก ซึ่งภายในศาลาการเปรียญมีภาพวาดฝาผนังเกี่ยวกับตำนานของพระบรมธาตุเจดีย์เมืองนครศรีธรรมราชซึ่งมีเพียงที่เดียวในโลก วาดโดย อุดร มิตรรัญญา ครูศิลปะโรงเรียนชูศิลป์ในระหว่างปี 2516-2518 โดยใช้คู่สีพาสเทลสวยงาม นอกจากนี้ยังมีกุฏิทรงไทยที่เป็นอาคารทรงเรือนไทยภาคใต้ เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2431 กุฏิทรงไทยแห่งนี้ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นประเภทปูชนียสถานและวัดวาอาราม จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อปี 2535

ต่อจากนั้น จึงข้ามถนนไปยังบวรบาซ่าร์ หรือ ‘ตึกยาว’ หรือตึกยาวบวรนคร ตึกก่ออิฐถือปูนรุ่นแรกๆ ของเมืองนับรวมอายุได้ร่วม 120 ปี ผ่านการใช้งานมาหลายหน้าที่ เช่น สำนักงานของโรงยาฝิ่น โรงไฟฟ้า โรงน้ำแข็ง โรงพยาบาล และโรงเรียน ถือเป็นตึกที่เป็นตัวแทนประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของเมืองนครศรีธรรมราช

ศาลเจ้ากวนอู ซึ่งตั้งอยู่บริเวณสมาคมพาณิชย์จีน คือพื้นที่ลำดับถัดมา การเรียนรู้ในพื้นที่แห่งนี้ทำให้ทราบว่า สมาคมพาณิชย์จีน นครศรีธรรมราช ก่อตั้งในปี 2467 โดยคณะบุคคลประกอบด้วย ท่านขุนวิโรจน์ รัตนากร, เซี่ยงเอง แซ่ลิ่ม, ตัน เกงฮุย, สุ่นง้วน ลิมปิชาติ และซ่ายถ่าย แซ่ฉั่ว ซึ่งมุ่งหวังให้เป็นพื้นที่สร้างความสามัคคีและเกื้อกูลกันในการส่งเสริมพัฒนาธุรกิจการค้า ต่อมายังใช้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนราษฎร์ ตงฮั้ว ศูนย์กลางการเรียนของผู้คนในภูมิภาคทางใต้อีกด้วย แต่น่าเสียดายที่ต้องปิดตัวลงไปด้วยเหตุผลทางการเมือง

พื้นที่การเรียนรู้สำคัญของเมืองนครศรีธรรมราช ที่พวกเราไม่อาจพลาดได้อีกหนึ่งแห่งคือ วัดจันทาราม ที่มีความสำคัญในด้านงานช่างของเมืองนครในอดีต ตามบทกลอนของพระรัตนธัชมุนี (ม่วง) พระเถระรูปสำคัญของเมืองนครที่ว่า “ใครอยากเป็นนายให้ไปอยู่วัดท่าโพธิ์ ใครอยากกินหนมโคให้ไปอยู่วัดวัง ใครอยากเป็นช่างให้ไปอยู่วัดจัน…” แสดงให้เห็นว่า วัดจันทารามเป็นศูนย์กลางของงานช่างศิลป์ที่สำคัญ ซึ่งยังปรากฏหลักฐานหลงเหลืออยู่ในปัจุบันมากมาย เช่นกุฎิไม้หลังใหญ่ 2 หลังอายุกว่า 100 ปี 

นอกจากนี้ยังมีงานสร้างสรรค์ที่มีคุณค่าสูงเป็นพิเศษ นั่นคือ ‘พระลาก’ ซึ่งมีกรรมวิธีซับซ้อนโดยมีโกลนไม้ขนุนทองอยู่ด้านใน ก่อนจะบุหุ้มด้วยแผ่นหลายสิบแผ่น ตีประสานจนแนบสนิทเหมือนเป็นโลหะชิ้นเดียวกัน พระลากวัดจันทารามหลายองค์ยังมีคติการสร้างเพื่ออุทิศแด่ผู้ล่วงลับ โดยเฉพาะผู้ล่วงลับที่เป็นสตรีซึ่งมีคุณงามความดีเป็นพิเศษ มีการจัดสร้างเครื่องนุ่งห่มพระลากให้มีลักษณะเหมือนเครื่องนุ่งห่มสตรีด้วย ซึ่งนับเป็นคติพิเศษที่พบแพร่หลายอยู่ในแถบนครศรีธรรมราชและบางส่วนของลุ่มทะเลสาบสงขลาเท่านั้น

จุดหมายสุดท้ายของการเดินเพื่อเรียนรู้ในครั้งนี้คือ Jill Art Space แกลเลอรีเรือนไม้ติดริมคลองท่าซัก คลองสำคัญเพราะเป็นทางออกสู่ทะเลของเมืองนครฯ แม้ในปัจจุบันคลองท่าซักจะตื้นเขินและเล็กลง แต่ประวัติศาสตร์ยังไม่จางหาย นอกจากนี้ ด้านบนยังจัดแสดงภาพถ่ายเก่าของเมืองนคร ภาพผู้คน ความเจริญที่ช่วยให้เด็กและเยาวชนได้รู้จักนครศรีธรรมราชในวันวาน 

ร้อยเรียงเรื่องราวก้าวเดินต่อไป 

การเรียนรู้เมืองผ่านการเดิน เพื่อซึมซับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ บ้านเรือนและผู้คนจบสิ้นลง แต่กระบวนการพัฒนาความคิดกำลังเริ่มต้นขึ้น โดยโตมรเริ่มให้เด็กและเยาวชนร่วมกันสะท้อนความรู้สึก และเรื่องราวใหม่ๆ ที่ได้เรียนรู้จากการร่วมเดินทางในครั้งนี้ แทบทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การได้สำรวจในย่านนี้เป็นการได้ลงไปทำความเข้าใจความเป็นนครศรีธรรมราช ในแง่มุมที่ถูกพูดถึงน้อย ได้เห็นมิติที่ซับซ้อนของเมืองที่หลอมรวมเอาผู้คนหลากหลายกลุ่มมาไว้ด้วยกัน ช่วยเปิดกรอบความคิดให้ไกลกว่าที่เคยรับรู้มา

จากนั้นจึงร่วมกันออกแบบโครงงานหรือกิจกรรม รวมทั้งสื่อที่จะไปสร้างการเรียนรู้ให้กับกลุ่มเป้าหมายต่างๆ และไปพัฒนาต้นแบบ (Prototype) ที่จะไปนำเสนอในงานเทศกาลการเรียนรู้นครศรีธรรมราช Learning Fest Nakhon 2024 ในธีม ‘คอนNext รากนครเชื่อมต่ออนาคต’ ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 13-15 กันยายน 2567

Tags: , , , ,