คนยิ่งมีรายได้น้อย ก็ยิ่งอยู่ในย่านที่ไว้วางใจกับระบบขนส่งได้ยาก ปัญหาเมืองๆ แบบนี้เกิดขึ้นหลายที่ รวมถึงที่นิวยอร์ก

รถไฟใต้ดินนิวยอร์กเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 1904 หรือ 104 ปีก่อน ระยะหลังมีปัญหาเกิดขึ้นบ่อยๆ โดยเฉพาะเรื่องดีเลย์ ในวันจันทร์-ศุกร์อยู่ ที่ 66% ลดลงจากปี 2012 ที่เคยอยู่ที่ 85% ความล่าช้าที่เกิดขึ้นบ่อยๆ นี้ กลายเป็นภาระแก่ผู้โดยสารที่มีรายได้น้อย

ด้วยระยะทาง 665 ไมล์ 427 สถานี และ 27 สายรถไฟ ทำให้รถไฟใต้ดินเมืองนิวยอร์กเป็นหนึ่งในระบบที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทุกวันนี้ มีชาวนิวยอร์กมากกว่า 5 ล้านคนที่ใช้บริการรถไฟใต้ดิน

เมื่อวันพุธที่ 27 มิ.ย. ธนาคารกลางของรัฐนิวยอร์ก (Federal Reserve Bank of New York) เปิดเผยรายงานว่า รถไฟใต้ดินล่าช้าส่งผลต่อผู้มีรายได้น้อยในนิวยอร์กมากที่สุด เช่น ผู้ที่อาศัยอยู่ในแถบบรองซ์ (Bronx) และบรูคลีน (Brooklyn) ซึ่งระบบรถไฟมักเจอปัญหาบ่อยๆ ขณะที่คนที่รวยกว่าอยู่ในย่านที่เดินทางน้อยกว่า รถไฟขัดข้องน้อยกว่า และต้องต่อรถน้อยกว่า ส่วนคนที่มีรายได้น้อยต้องเดินทางหลายต่อกว่า

“ประชาชนที่มีรายได้ต่ำกว่ามีแนวโน้มที่จะใช้เวลาเดินทางนานกว่า และมีโอกาสเจอกับความล่าช้ามากกว่า” นิโคล กอร์ตัน นักวิเคราะห์อาวุโสของธนาคารกลางของรัฐนิวยอร์กกล่าว

คนมีรายได้น้อยมักอยู่ในตำแหน่งงานที่การมาสายนิดเดียวส่งผลกระทบร้ายแรงต่อพวกเขา เช่น คนที่ได้รับค่าจ้างรายชั่วโมง งานที่ต้องทำเป็นกะ เช่น พนักงานร้านฟาสต์ฟู้ด นอกจากนี้ ความจนไม่เพียงทำให้ต้องเดินทางไกล แต่ยังมีทางเลือกรองรับน้อยกว่าในกรณีที่เกิดปัญหา

จีเซลล์ เบลเทอร์ (Giselle Beltre) ซึ่งอยู่ในย่านบรองซ์กล่าวว่า  เธอเจอรถไฟใต้ดินล่าช้า 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ และกำลังกังวลว่าต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่ม หากไปรับลูกชายวัย 6 ขวบจากศูนย์เลี้ยงเด็กไม่ตรงเวลา “เวลาที่ฉันไปสาย ก็ต้องถูกปรับ”

รถไฟใต้ดินนิวยอร์กดำเนินการโดยองค์การขนส่งมวลชนนิวยอร์ก หลังจากที่ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก แอนดรูว์ คูโอโม (Andrew M. Cuomo) ประกาศว่ารถไฟใต้ดินอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อหนึ่งปีก่อน ก็ยังไม่มีการปรับปรุงการบริการ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา รถไฟหลายสายล่าช้า สาย 7 มีปัญหาสัญญาณขัดข้องที่ควีนส์ ส่วนสาย B และ Q หยุดกลางคันที่บรูคลิน

ทางการรู้ดี จำนวนมากกว่า 50 ครั้งที่รถไฟล่าช้า ถือเป็นอัตราที่สูงมาก เดือนพฤษภาคมมี 85 ครั้ง ขณะที่พฤษภาคมปี 2017 มี 75 ครั้ง อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นมีทั้ง ปัญหาสัญญาณ เส้นทาง ระบบไฟฟ้า และผู้โดยสารป่วย

ฤดูร้อนปีก่อน ทางการเริ่มวางแผนซ่อมแซมระยะสั้นๆ แอนดี ไบฟอร์ด (Andy Byford) ผู้อำนวยการรถไฟใต้ดินคนใหม่เสนอแผนซ่อมระยะยาวที่ต้องใช้งบประมาณ 19,000 ล้านเหรียญสหรัฐใน 5 ปีแรก แผนนี้รวมถึงการติดตั้งสัญญาณใหม่ในเส้นทางที่หนาแน่น เมื่อวันพุธที่ผ่านมา เขาบอกว่าแผนนี้จะฟื้นฟูความเชื่อมั่นต่อระบบกลับคืนมา

เดือนนี้ เมืองนิวยอร์กเพิ่งอนุมัติโครงการบัตรรถไฟใต้ดินครึ่งราคาให้กับผู้มีรายได้น้อยในนิวยอร์ก แต่ปัญหาที่รถไฟใต้ดินล่าช้าก็ยังคงอยู่ ตราบใดที่ยังไม่มีการจัดสรรงบประมาณตามแผนของไบฟอร์ด

รถไฟใต้ดินยังเป็นประเด็นหลักในการหาเสียงผู้ว่าการเมืองนิวยอร์ก ซินเธีย นิกสัน ซึ่งลงแข่งขันในการเลือกตั้งครั้งนี้กล่าวในแถลงการณ์ว่า “รายงานที่ออกมายืนยันถึงสิ่งที่เราต่างก็รู้ดี ผู้ว่าการคูโอโมให้ความสำคัญแต่กับผู้บริจาคเงินให้กับเขาและโครงการเพื่อสัตว์เลี้ยงมากกว่าเรื่องรถไฟใต้ดิน ซึ่งตอนนี้ทำให้ชาวนิวยอร์กกำลังทุกข์ทรมานอยู่”  

โฆษกของคูโอโมกล่าวว่า “ผู้ว่าการนิวยอร์กให้ความสำคัญกับการทำให้ชาวนิวยอร์กทุกคนเข้าถึงการขนส่งมวลชนสาธารณะที่พึ่งพาได้เท่าเทียมกัน” เขาระบุว่าคูโอโมมีแผนที่จะมีเสนอให้เก็บเงินผู้ที่ขับรถยนต์เข้ามาในย่านแมนฮัตตันเพิ่ม เพื่อนำมาใช้ปรับปรุงรถไฟใต้ดิน

“เราเป็นเมืองที่พึ่งพาระบบขนส่ง ยิ่งการเข้าถึงการขนส่งสาธารณะยากสำหรับชาวนิวยอร์กมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้คนถูกผลักออกไปจากชีวิตพลเมืองมากขึ้น” จาคี โคเฮ็น (Jaqi Cohen) นักรณรงค์ด้านการขนส่งสาธารณะในนิวยอร์กกล่าว

 

ที่มา:

Tags: ,