1

“พวกเรายังคงฉลองอยู่ตอนนี้ ประชาชนทุกข์ยากมากพอแล้ว ฉันไม่เคยแม้แต่จะกล้าฝันเลย ว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นที่ศรีลังกา”

ประชาชนรวมตัวเป็นขบวนการประท้วงบุกเข้าไปยังบ้านพักประธานาธิบดีแห่งศรีลังกา ซึ่งเป็นตึกที่อังกฤษสร้างเอาไว้สมัยศรีลังกาหรือชื่อเดิมซีลอน ยังเป็นอาณานิคมอยู่

ภาพที่ปรากฏไปทั่วโลก คือประชาชนลงเล่นน้ำในสระของทำเนียบผู้นำสูงสุดแห่งประเทศ บางคนจั่วไพ่ นั่งบนเตียงหรูหรา ชมกีฬาคริกเก็ตหน้าทีวีจอใหญ่ ทำกับข้าว ทุกคนล้วนมีความสุข หลังจากทุกข์ทนมานานแสนนาน

ผู้อ่านอาจทราบข่าวกันแล้วว่า การบริหารงานของผู้นำในศรีลังกาพาประเทศสู่ความย่อยยับ ชนิดที่ว่าเหลือพลังงานใช้ในประเทศได้ไม่กี่วัน ความไม่พอใจต่อผู้นำตระกูลราชปักษาที่ปกครองประเทศนี้อย่างยาวนาน แต่งตั้งพี่น้องคนสนิทบริหารงาน จนนำไปสู่การฉ้อฉลละเมิดสิทธิมนุษยชนมาหลายปี

ในที่สุด ศรีลังกาก็ลุกฮือ Uprising

มันหาใช่ความอลหม่าน แต่คือความเกรี้ยวกราดที่ประชาชนสะสมไว้อย่างยาวนาน พวกเขารวมตัวกันประท้วงมากว่า 93 วัน หลังทนการบริหารสุดย่ำแย่ของรัฐบาลมาตั้งแต่เดือนมีนาคมไม่ไหว มีการตั้งเต็นท์ ส่งอาหารน้ำดื่ม จัดตั้งเป็นขบวนการเคลื่อนไหว จากพลเมืองที่มารวมตัวกันกลางกรุงโคลัมโบ เมืองหลวงศรีลังกา กินนอนรวบรวมสรรพกำลังเคลื่อนไหวล้มรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ไม่ชนะไม่กลับบ้าน!

แม้จะถูกทางการบุกเผาบุกจับกุม ล้มเจ็บตาย แต่ประชาชนก็ยังลุกขึ้นสู้ ถึงที่สุดแล้ว ในวันเสาร์ที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา หลังกลุ่มประชาชนเคลื่อนขบวนไปหน้าบ้านพักประธานาธิบดี ไม่ถึง 2 ชั่วโมง คลื่นมหาชนก็บุกเข้ายึดสถานที่แห่งนี้ได้ ประธานาธิบดีต้องบินหนีไปมัลดีฟส์ ชนชั้นนำต่างเอาตัวรอดเพราะกลัวตายอย่างสุดขีด แต่ยังไม่พอสำหรับคนศรีลังกา พวกเขาบุกไปยังทำเนียบนายกรัฐมนตรี ไม่สนใจคำเตือนประกาศเคอร์ฟิว แม้จะเจ็บ ล้มตาย แต่ทุกคนก็ยังสู้

“ผมไม่เชื่อเลยว่ามันจะเป็นจริง พวกเราสามารถเข้ายึดที่นี่ได้ มันถึงเวลาที่เราจะโค่นชนชั้นนำของศรีลังกาลงแล้ว”

2

ทุกอย่างก่อตัวขึ้น เพราะตระกูลเดียว ‘ราชปักษา’

20 ปีที่ตระกูลนี้ขึ้นมามีอำนาจ พวกเขาแปรเปลี่ยนศรีลังกาให้กลายเป็นบริษัทส่วนตัวของตระกูลที่จะปู้ยีปู้ยำอย่างไรก็ได้ โดยไม่สนใจว่าประชาชนในประเทศผู้เสียภาษีจะทุกข์ทนแค่ไหน เดิมนั้น ตระกูลราชปักษาเป็นเจ้าของที่ดินในเมืองฮันบันโททา ได้รับมรดกสืบต่อกันมาหลายชั่วรุ่น ในช่วงปี 1950 สมาชิกในตระกูลได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. นับเป็นคนแรกของตระกูลที่ลงสนามการเมือง แต่กลับเป็นลูกชายของเขาที่ทำให้ราชปักษาเฉิดฉาย ชื่อของเขาคือ

มหินทา ราชปักษา

เขากลายเป็นผู้ชักนำตระกูลราชปักษาสู่จุดสูงสุด ทั้งการครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และก้าวไปสู่ผู้นำสูงสุดแห่งประเทศ เป็นประธานาธิบดี 2 สมัย ในช่วงปี 2005-2015

ผลงานชิ้นโบแดงของมหินทาจะเป็นสิ่งใดไม่ได้นอกจากการยุติสงครามกลางเมืองระหว่างคนพุทธเชื้อสายสิงหลกับกลุ่มกบฏพยัคฆ์ทมิฬ ที่ปะทะกันมานานกว่า 26 ปี ในปี 2009 ความขัดแย้งนี้ก็ถึงจุดจบ โดยมหินทาไม่ได้ใช้การเจรจารอมชอมใดๆ ทั้งสิ้น สิ่งที่เขาทำก็คือการใช้กำลังทหารกวาดล้างกลุ่มกบฏแบบสิ้นซาก ถอนรากถอนโคน ชนิดที่เรียกว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างฉาวโฉ่

ในช่วงเวลานั้น โกตาบายา ราชปักษา น้องชายของมหินทาดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหม โดยประเมินว่ามีทหารตายไป 1 แสนนาย ประชาชนประมาณ 2 หมื่นคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเชื้อสายทมิฬที่โดนอุ้มหาย

ขณะนั้นทางสหประชาชาติก็ประณามรัฐบาลมหินทาในการใช้ความรุนแรงจัดการกลุ่มกบฏ ตัวโกตาบายา น้องชายได้รับการยกย่องจากคนเชื้อสายสิงหลว่าเป็นวีรบุรุษผู้ใช้ความเฉียบขาดสยบความรุนแรง แต่เบื้องหลังแล้วมีรายงานว่า หลายครั้งที่ทหารจากกบฏพยัคฆ์ทมิฬได้ยอมแพ้และวางอาวุธ แต่สุดท้ายก็ยังถูกฆ่า ถูกจับกุมอุ้มหายอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงทหารกลุ่มกบฏเท่านั้น สื่อมวลชน นักธุรกิจ หรือใครก็ตามที่อยู่ตรงข้ามกับตระกูลราชปักษา ก็มักถูกอุ้มหายไปด้วย ไม่ได้รอดชีวิตกลับมาบอกเล่าว่าหายไปไหนแม้แต่คนเดียว

รัฐบาลของมหินทาปฏิเสธรายงานนี้ และยืนยันว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด 

หลังปี 2015 ราชปักษาพ่ายแพ้การเลือกตั้ง เหมือนพวกเขาจะถูกกลืนหายไปจากระบอบประชาธิปไตย แต่ 4 ปีที่เธอมาหายจาก ราชปักษาก็กลับมาได้อีกครั้ง คราวนี้โกตาบายา วีรบุรุษนักฆ่าผู้ปราบปรามกบฏ ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยมีนโยบายชาตินิยมแข็งกร้าว เพื่อให้เป็นที่ถูกใจแก่ชาวสิงหล ประชากรหมู่มากในประเทศนี้

โกตาบายาใช้การปลุกเร้าคนศรีลังกา โดยถอนตัวออกห่างจากตะวันตก ที่ต้องการสืบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในการปราบกบฏ โดยเขาพาศรีลังกาหันไปหามิตรใหม่

‘จีน’

3

ตระกูลราชปักษากลับมามีอำนาจครั้งนี้ พวกเขาแปรเปลี่ยนประเทศศรีลังกาเป็นทรัพย์สินส่วนตัว แต่งตั้งคนในครอบครัวดำรงตำแหน่งต่างๆ อย่างไม่ต้องอายฟ้าดินกันอีกแล้ว โกตาบายาเป็นประธานาธิบดี เขาก็เอามหินทาพี่ชาย อดีตประธานาธิบดีมาเป็นนายกรัฐมนตรี (เพราะพี่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้แค่ 2 สมัยตามรัฐธรรมนูญ)

ลูกของมหินทา 2 คน เอามานั่งหัวหน้าเจ้าหน้าที่สำนักนายกฯ กับ รมว.กีฬา เอาพี่น้องมานั่ง รมว.คลัง รมว.ชลประทาน เอาหลานมานั่ง รมว.เกษตร การเอาพวกพ้องมานั่งตำแหน่งแบบนี้ เปิดทางให้การคอร์รัปชันดำเนินได้อย่างสะดวกโยธิน ในช่วงมหินทาเป็นประธานาธิบดีนั้น เสียงร่ำลือเรื่องการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงก็หนาหูอยู่แล้ว พอมาครั้งนี้ ทุกอย่างชัดแจ้งกระจ่างยิ่งกว่าเดิม ทุกอย่างถูกโกงเข้ากระเป๋ากันอย่างชื่นบาน ภายใต้คนในตระกูลที่เรียกเก็บส่วยกันอย่างสนุกสนาน สามัคคีแน่นแฟ้นในการฉ้อฉลอย่างถ้วนหน้า

อย่างไรก็ดี โกตาบายา ประธานาธิบดีนั้น เข้าดำรงตำแหน่งด้วยเสียงชื่นชมจากประชาชนชาวสิงหล เพราะเขามีภาพลักษณ์ของแม่ทัพผู้ชนะสงคราม ยิ่งชูประเด็นชาตินิยม ไม่เอาตะวันตก มุ่งเข้าหาจีน กู้ยืมเงินหลายชาติจนเป็นหนี้ แต่ตอนนั้นราษฎรแทบทุกคนในศรีลังกาต่างฝันอย่างสวยหรู เมื่อมีอภิมหาโครงการที่จะก่อสร้างขึ้นในศรีลังกา ทั้งท่าเรือแห่งใหม่ สนามบิน สนามคริกเก็ต จนดูเหมือนว่าศรีลังกาอาจเอื้อมไปเป็นดูไบแห่งที่ 2 ในเอเชียก็เป็นได้

แต่ฝันนั้นก็สลายลงไปในพริบตา

โกตาบายาไม่ได้นำเงินของประเทศมาเนรมิตโครงการยิ่งใหญ่เหล่านี้ แต่เขากู้เงินจากบริษัทของประเทศจีน ประมาณ 4.46 หมื่นล้านบาท ที่จริงมันเด่นชัดตั้งแต่สมัยมหินทาเป็นประธานาธิบดี โดยมีการให้สิทธิจีนเช่าพื้นที่ก่อสร้างถมทะเลสร้างเมืองใหม่ถึง 43 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 99 ปี แถมท่าเรือที่ก่อสร้างก็ยังอยู่ในการครอบครองของจีนด้วย

ดูเหมือนมิตรใหม่รายนี้จะแสบใช่ย่อย 

แม้จะมีคนชี้ว่าการยกเว้นและลดภาษีในเมืองที่จีนเนรมิตขึ้นนั้น จะไม่เป็นผลดีต่อศรีลังกาเลย เพราะรายได้ก็จะเข้ากระเป๋านักธุรกิจมากกว่า

แต่ศรีลังกาเผชิญสงครามกลางเมืองมาหลายปี งบประมาณถูกใช้ไปในเรื่องการปราบปราม เมื่อสงครามสงบ ผู้นำชาตินิยมอย่างตระกูลราชปักษาก็อยากสร้างอะไรให้ประเทศ (และหาเงินเข้ากระเป๋าตัวเองด้วย) เขาจึงสร้างสิ่งใหญ่โตโอฬารเป็นหน้าเป็นตาของศรีลังกา

แต่เมื่อหนี้ที่ต้องจ่ายจีนสูงขึ้น ผสมโรงกับการบริหารแบบมุ่งลุยอลังการ จนไม่สนสี่สนแปดอะไร นั่นทำให้มันกลายเป็นการบริหารที่ผิดพลาด เพราะอย่าลืมว่าศรีลังกาอยู่ได้ด้วยธุรกิจท่องเที่ยว เมื่อโควิด-19 มา ใครจะมาเที่ยว เมื่อเกิดการรุกรานยูเครนทำให้เกิดเงินเฟ้อไปทั่วโลก อาหารหายาก และการส่งออกก็วุ่นวาย

บาดแผลแห่งความเลินเล่อของตระกูลราชปักษาก็ปรากฏออกมา ภาวะขาดแคลนเกิดขึ้น ถึงขั้นประชาชนต้องเข้าคิวซื้ออาหาร น้ำมันเชื้อเพลิงขาดแคลน เศรษฐกิจประเทศล่มสลาย ทุกอย่างทำให้คนโกรธแค้น และชี้นิ้วมาที่พวกเอ็ง

ตระกูลราชปักษา หมดเวลาแล้ว… เธอ (มึง!) คงต้องไป

4

การชุมนุมประท้วงก่อตัวขึ้นในเดือนมีนาคม คนชูป้ายขับไล่ประธานาธิบดี แม้จะมีการช่วงชิงลาออกของคนในตระกูล เช่น มหินทาประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกฯ แต่ในวันที่เขาลาออกนั้น รัฐบาลกลับส่งกำลังตำรวจเข้าสลายการชุมนุมกลางเมืองโคลัมโบ มีคนเจ็บเสียชีวิตกันมาก แต่ประชาชนก็ไม่ยอมแพ้ พวกเขารวมตัวกันใหม่ และในที่สุดคลื่นแห่งราษฎรก็ประจักษ์ให้โลกเห็นว่า คนศรีลังกาเกินทนกับตระกูลราชปักษาแล้ว

การบุกทำเนียบบ้านพักประธานาธิบดีถือเป็นเรื่องใหญ่ เป็นความสำเร็จ เป็นสิ่งที่ผู้ชุมนุมรู้สึกได้ว่าชัยชนะแห่งประชาชนนั้นเป็นจริงได้

หญิงสาวคนหนึ่งยอมเดินเท้าเป็นระยะทาง 24 กิโลเมตร เพื่อร่วมชุมนุมประท้วง โดยเล่าว่า เธอกับสามีกู้เงินธนาคารมา 2 ปีก่อนเพื่อเปิดร้านขายของชำ เป็นรายได้เสริมจากงานพ่นสีรถของสามี และหาเงินมาจ่ายค่าเทอมให้ลูกด้วย แต่เมื่อวิกฤตถาโถม เศรษฐกิจล่มสลาย พวกเขาต้องหาเงินมาจ่ายหนี้ พร้อมกับหาของมาเติมร้าน ราคาน้ำมันที่สูงทำให้การเดินทางไปซื้อของแทบจะทำให้ไม่ได้กำไรจากการขายสินค้าเลย

แถมลูกค้าก็น้อย เงินเฟ้อก็ยิ่งทำให้สินค้าสูงขึ้น ลูกทั้งสองคนก็ลำบากในการหาอะไรกิน

“พวกเรากินอาหารกันแค่ 2 มื้อ พวกเราไม่กล้าคิดถึงปลาและเนื้อด้วยซ้ำ”

ราคาน้ำมันที่พุ่งทะยาน ทำให้ตระกูลราชปักษาบอกให้ข้ารัฐการทำงานที่บ้าน 2 สัปดาห์ และอย่างที่รู้กัน สิ่งที่มาคู่กับน้ำมันแพงก็คือข้าวของที่ขึ้นราคา สหประชาชาติประเมินว่า มีคนศรีลังกา 5 ล้านคนต้องการอาหารอย่างเร่งด่วน ภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจ คนต่อคิวเติมน้ำมันเพื่อจะไปหาเลี้ยงชีพ ทุกอย่างอลหม่านกันมาก

บางคนต้องเดินไปกลับเกือบ 5 กิโลเมตรทุกวัน ระบบเศรษฐกิจของศรีลังกานิ่งเงียบไปหมด นักวิเคราะห์เผยว่ามันมีคำเตือนล่วงหน้าหลายปีแล้วว่าจะเกิดวิกฤตแบบนี้ แต่ตระกูลราชปักษาก็ยังไม่สนใจ มุ่งมั่นบริหารประเทศผิดพลาด จนวิกฤตมันรุนแรงขึ้นอย่างมหาศาล จนคนทนไม่ไหว พอกันที ลุกขึ้นต่อต้าน จนสุดท้าย โกตาบายา อดีตวีรบุรุษสงครามกลางเมืองแห่งตระกูลราชปักษา ประกาศลาออกจากประธานาธิบดี หลังบ้านโดนประชาชนยึด ต้องหนีตายออกนอกประเทศ ขณะที่รัฐบาลชั่วคราวก็เตรียมประกาศจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เร่งนำความสงบกลับคืนสู่ประเทศให้เร็วที่สุด

อนาคตต่อจากนี้ยังไม่มีใครทราบ แต่การบุกยึดทำเนียบประธานาธิบดี ประวัติศาสตร์จะจารึกและกลายเป็นสัญลักษณ์จุดจบแห่งราชปักษาที่ครอบงำศรีลังกามาอย่างยาวนาน

ในที่สุดประชาชนเจ้าของประเทศตัวจริงก็ชนะ

ชัยชนะในการยึดบ้านประธานาธิบดีนี้ ทำให้คนศรีลังกาหลายคนยอมลงทุนเดินเท้ามาหลายสิบกิโลเมตร เพื่อมาเห็นสถานที่หรูหราแห่งนี้ แน่นอนว่าวิบากกรรมของศรีลังกายังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะเศรษฐกิจยังแย่ เงินตราก็บริหารกันแบบหมดเกลี้ยงท้องพระโรง ชนิดที่ไม่มีใครคิดว่าประเทศหนึ่งจะล้มละลายได้ขนาดนี้

แต่ความหวังก็ยังคงมีอยู่ทุกที่ และคราวนี้ บางทีตระกูลราชปักษาอาจต้องเจอวิบากกรรมต่อเนื่องเช่นกัน หลังสร้างหายนะให้กับศรีลังกามายาวนานหลายทศวรรษ

แกนนำที่ร่วมจัดชุมนุมประท้วงยืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะต่อหน้าสื่อมวลชนต่างชาติเลยว่า

“นี่แค่จุดเริ่มต้น มันแค่บันไดขั้นแรก จะมีอะไรดีๆ ต่อจากนี้ ตามมาอีกเยอะแน่นอน”

 

อ้างอิง

https://www.bbc.com/news/world-asia-51184085

stimson.org/2021/buddhist-nationalism-and-burgeoning-alignments-sri-lankas-transitional-justice-dilemma/

https://www.bbc.com/thai/international-61405608

https://www.bbc.com/thai/international-60026987

https://www.nytimes.com/live/2022/07/09/world/sri-lanka-protests-rajapaksa

https://www.nytimes.com/2022/03/25/world/asia/sri-lanka-economic-crisis.html

https://www.nytimes.com/live/2022/07/09/world/sri-lanka-protests-rajapaksa

https://www.nytimes.com/2022/07/09/world/asia/sri-lanka-fuel-shortage-food.html

https://www.nytimes.com/live/2022/07/10/world/sri-lanka-protests

https://www.nytimes.com/2022/07/10/world/asia/sri-lanka-president-pool.html

https://www.nytimes.com/live/2022/07/10/world/sri-lanka-protests

Tags: , , , , ,