1
“ก่อนที่ศาลสูงสุดจะมีคำตัดสิน เราได้เห็นความพยายามของหลายรัฐที่จะควบคุมเรื่องการทำแท้งมาโดยตลอด เมื่อคำตัดสินออกมา พวกเขาก็จะยิ่งออกมาตรการเข้มงวดเรื่องการทำแท้งเข้าไปใหญ่”
6 ต่อ 3 คือตัวเลขที่ผู้พิพากษาศาลสูงสุดอเมริกามีมติว่า คดีที่องค์กรเพื่อสุขภาพของผู้หญิงยื่นฟ้องรัฐมิสซิสซิปปีที่ออกกฎหมายห้ามทำแท้งในสตรีที่มีอายุครรภ์ 15 สัปดาห์ขึ้นไปนั้นไม่ได้ละเมิดรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่ออาทิตย์ก่อน และถือเป็นประเด็นดุเดือดเถียงกันไปทั่วโลกอย่างมาก
ความซับซ้อนของคำตัดสินนี้ คือการไปคว่ำยกเลิกคำตัดสินเดิมที่ศาลสูงสุดอเมริกาเคยให้ไว้ในปี 1973 ซึ่งเป็นคดีที่หญิงสาวคนหนึ่งยื่นฟ้องต่อรัฐเท็กซัสในกฎหมายที่ห้ามสตรีทำแท้ง ยกเว้นว่าชีวิตแม่จะเป็นอันตรายนั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญอเมริกา (ตามกฎหมายนี้ หากผู้หญิงถูกข่มขืนแล้วตั้งท้องก็ไม่มีสิทธิที่จะทำแท้ง) ตอนนั้นศาลถือว่ากฎหมายนี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะสิทธิในการทำแท้งของแม่เป็นสิทธิส่วนตัวที่กฎหมายสูงสุดรับรองไว้
ผ่านมากว่า 50 ปีที่หลายรัฐในอเมริกายึดถือคำตัดสินนี้เป็นมาตรฐาน ให้ผู้หญิงสามารถทำแท้งได้ โดยหลายรัฐกำหนดอายุครรภ์ขั้นต่ำอยู่ที่ 3 เดือน แต่หลายรัฐก็อนุญาตให้ผู้เป็นแม่ทำแท้งได้ แม้อายุครรภ์จะเกิน 3 เดือนขึ้นไป เพราะมีหลายกรณีที่มีการตรวจพบว่าเด็กในท้องเป็นอันตรายต่อผู้เป็นแม่หลังจากตั้งท้องได้ 3 เดือนขึ้นไป
เมื่อคำตัดสินล่าสุดออกมา ทำให้จากนี้หลายรัฐในอเมริกาสามารถออกกฎหมายห้ามผู้หญิงที่ตั้งท้องไม่ต้องกำหนดว่า 3 เดือน หรือ 15 สัปดาห์แล้ว เพราะนัยแห่งคำตัดสินสามารถออกกฎควบคุมการทำแท้งได้เยอะกว่าเดิม คืออาจกำหนดว่าห้ามทำแท้งทุกกรณีก็ได้
คาดว่าจะมี 20 กว่ารัฐออกกฎหมายต่อต้านการทำแท้งนี้ รวมไปถึงการคุมเข้มยาทำแท้ง ซึ่งในการแพทย์ถือว่ามีประสิทธิภาพดีมากกว่าการไปพบแพทย์อีกด้วย
ความอิหลักอิเหลื่อของเรื่องนี้ก็คือ ศาลสูงสุดไม่ได้บอกว่าการทำแท้งนั้นผิดกฎหมาย แต่พวกเขาแค่บอกว่ารัฐมิสซิสซิปปีออกกฎหมายนี้ได้โดยไม่ผิดหลักรัฐธรรมนูญ ดังนั้นหลายรัฐก็อาจจะใช้กฎหมายเหมือนมิสซิสซิปปีก็ได้ หรือไม่ใช้ก็ได้
แต่ปัญหาคือหลายรัฐที่จะใช้กฎหมายคุมการทำแท้งนี้จะทำให้ผู้หญิงจำนวนมากเดือดร้อน เพราะอำนาจของกฎหมายอาจเลยเถิดไปถึงขนาดที่ว่า หากคุณถูกข่มขืนแล้วตั้งท้องขึ้นมาก็ไม่มีสิทธิจะทำแท้งเด็ดขาด แม้กระทั่งรู้ว่าเด็กในครรภ์อาจเป็นอันตรายต่อผู้เป็นแม่
ดังนั้นใครที่อยากจะทำแท้งก็ต้องเดินทางไปทำที่รัฐอื่น ซึ่งทำให้คนจนจะหมดโอกาสทันที ความเดือดร้อนนี้จึงทำให้สังคมอเมริกาเดือดดาลต่อคำตัดสินนี้มาก โดยการบังคับใช้กฎหมายเรื่องการทำแท้งนี้ก็น่าสนใจ เพราะก่อนหน้านี้รัฐที่มีผู้นำอนุรักษนิยม เอียงขวาหน่อย ได้พยายามคุมเข้มคลินิกทำแท้งมาโดยตลอด ให้การทำแท้งต้องขออนุญาตวุ่นวาย หรือขู่แพทย์ที่รับทำแท้งทางกฎหมายยิ่งขึ้นไปอีก เรียกได้ว่าก่อนคำตัดสินจะออก รัฐอนุรักษนิยมจำนวนมากพยายามรุกคืบเรื่องการทำแท้งมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงโทษผู้มียายุติการตั้งครรภ์ไว้ในครอบครอง รวมไปถึงเภสัชกรที่ขายด้วย
ในกรณีของยายุติการตั้งครรภ์ หากรัฐที่อนุญาตให้ทำแท้งได้อย่างเสรี การสั่งซื้อยามากินจะไม่ผิดกฎหมาย แต่หากอยู่ในรัฐที่คุมเข้มเรื่องการทำแท้งแล้วสั่งยานี้ จะมีโทษถึงขั้นติดคุกหัวโตเลยทีเดียว
ปัญหาก็คือเภสัชกรที่สั่งยาให้ หากอยู่ในรัฐที่การทำแท้งเปิดกว้าง จะผิดกฎหมายรัฐหรือไม่ และเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบยาที่ส่งมาทางไปรษณีย์อย่างไร จะเปิดกล่องพัสดุของประชาชน ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนตัวอย่างยิ่ง เพียงแค่นี้ก็ดูจะต้องปวดหัวกันใหญ่แล้ว
ยังไม่นับว่าหนทางการบีบบังคับของรัฐที่จะคุมเข้มการทำแท้งก็คงจะมีอะไรมากกว่าเดิม ขณะที่รัฐซึ่งเปิดกว้างเรื่องการทำแท้งก็คงจะออกกฎหมายผ่อนคลายมาตรการทำแท้งมากยิ่งขึ้น นี่คือความแตกแยกที่มีผลจากคำตัดสินของศาลสูงสุดอย่างเห็นได้ชัด
โดยผู้พิพากษาที่ลงมติ 6 เสียงนั้น ทั้งหมดเป็นผู้พิพากษาสายอนุรักษนิยม ซึ่งตีความรัฐธรรมนูญโดยเคร่งครัด ในเมื่อกฎหมายสูงสุดไม่ได้ระบุเรื่องการทำแท้งไว้ ดังนั้นรัฐก็ออกกฎหมายได้ปกติ ไม่ได้ละเมิดแต่อย่างใด ซึ่งแตกต่างจากผู้พิพากษา 3 เสียง ซึ่งเป็นเสียงส่วนน้อย พวกเขาเป็นผู้พิพากษาสายเสรีนิยม เชื่อว่ารัฐธรรมนูญสามารถตีความได้นอกจากตัวบท โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของผู้ร่าง ไม่ยึดติดตามตัวอักษร ซึ่งมีผลให้การกำหนดอายุขั้นต่ำที่จะทำแท้งไว้ที่ 3 เดือนสามารถทำได้ เพราะถือเป็นสิทธิส่วนตัวของผู้เป็นแม่
ครึ่งหนึ่งของเสียงข้างมากจากผู้พิพากษาสายอนุรักษนิยม เป็นผู้พิพากษาที่ได้รับการแต่งตั้งมาจาก โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ประธานาธิบดีคนก่อน ซึ่งแม้เจ้าตัวจะเผยว่าคำตัดสินล่าสุดนี้เป็นผลร้ายต่อพรรครีพับลิกัน ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องอนุรักษนิยมมากกว่า แต่มันก็ทำให้เห็นว่า เหล่าอนุรักษนิยมนั้นฝังใจกับเรื่องการทำแท้งมาอย่างยาวนาน และมุ่งมั่นจะควบคุมมันให้เข้มข้นกว่าเดิมด้วย
ไม่ใช่เพียงแค่ในอเมริกาเท่านั้น แต่การรุกคืบของการคุมสิทธิทำแท้งนั้นสะท้อนผ่านคุณค่าประชาธิปไตยที่ถดถอยอีกด้วย
2
แม้ปัจจุบันสิทธิการทำแท้งจะได้รับการยอมรับหลายประเทศทั่วโลก แม้กระทั่งในอเมริกาก็ตาม คนเห็นด้วยเรื่องการทำแท้งมากยิ่งขึ้น แต่สิ่งที่ถกเถียงกันนั้นก็คือ เราควรนับอายุครรภ์เท่าไรถึงจะห้ามทำแท้ง อย่างไรก็ดี การต่อต้านเรื่องการทำแท้งนั้นเกิดขึ้นมาอย่างยาวนานแล้ว
ข้อห้ามสำคัญที่สุดในเรื่องการทำแท้งก็คงหนีไม่พ้นความเชื่อทางศาสนา ซึ่งความเชื่อส่วนนี้มีผลให้สตรีที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมต้องเผชิญกับการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย ได้รับความเจ็บปวด และถึงขั้นเสียชีวิต
จากสถิติพบว่า ประเทศที่อนุญาตให้ทำแท้งจะมีผู้หญิง 1,000 คน ทำแท้งอยู่ที่ 36-47 ราย ขณะที่ประเทศซึ่งห้ามทำแท้งจะมีผู้หญิง 1,000 คน ทำแท้งอยู่ที่ 31-51 ราย ถือเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกันมาก
ดังนั้นความเชื่อที่บอกว่าหากเปิดให้มีการทำแท้งเสรีแล้ว คนจะไปทำแท้งกันมากขึ้น เป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง ที่สำคัญก็คือ ในประเทศที่อนุญาตให้ทำแท้ง ผู้หญิงนั้นได้รับการศึกษาเรื่องเซ็กส์ปลอดภัย มีการใช้ถุงยาง ยาคุมกำเนิด ซึ่งทำให้อัตราการทำแท้งไม่สูงมากนัก โดยอยู่ที่ 53-66 รายต่อผู้หญิง 1,000 คน นับช่วงอายุ 15-49 ปี เมื่อเทียบกับตัวเลขในประเทศห้ามทำแท้งซึ่งอยู่ที่ 70-91 รายต่อผู้หญิง 1,000 คน ในช่วงอายุเดียวกันนี้
คำตัดสินของศาลสูงสุดอเมริกาชี้ให้เห็นว่า ช่วงแรก ผู้หญิงในรัฐที่คุมเข้มการทำแท้งจะมีการแอบทำแท้งน้อยลง แต่จะเป็นในช่วงสั้นๆ เพราะในระยะยาว พวกเธอก็จะหาวิธีเอาได้ แต่อาจเป็นอันตราย ต้องเสียค่าใช้จ่าย ต้องเดินทางไกล ซึ่งเป็นสิ่งที่ลำบากมาก
ประเทศที่มีรัฐบาลขวาจัดขึ้นมาปกครองมักจะมีนโยบายต่อต้านการทำแท้งสูงมาก อย่างเช่นในโปแลนด์และรัสเซีย ซึ่งมีการคุมเข้มเรื่องนี้ และจากสถิติ การห้ามทำแท้งไม่ช่วยลดอัตราการทำแท้งแต่อย่างใด
นโยบายการคุมเข้มเรื่องทำแท้งของฝ่ายขวาจัดทั้งในหลายรัฐของอเมริกาและหลายประเทศทั่วโลก จะลุกลามไปยังเรื่องความหลากหลายทางเพศ เรื่องโลกร้อน ทุกอย่างเกี่ยวข้องกันหมด เพราะนโยบายเหล่านี้คือการให้คุณค่าทางเสรีนิยมและเปิดกว้างในทางประชาธิปไตย การพยายามคุมเข้มเรื่องนี้ชี้ให้เห็นได้ว่า กลุ่มขวาจัดพยายามรุกคืบโต้กลับคุณค่าประชาธิปไตยอย่างเห็นได้ชัด
ไม่เพียงแต่กลุ่มอำนาจนิยมที่พยายามลดทอนความชอบธรรมของประชาธิปไตย พวกเขายังลดทอนสิทธิอันชอบธรรมของผู้หญิงและกลุ่มหลากหลายทางเพศ การทำแท้งถือเป็นเครื่องมือโต้กลับในประเทศเผด็จการหลายแห่งทั่วโลก หลายที่ถึงขั้นใช้คำว่า พวกเราสู้กับพวกเขาด้วย (ทั้งที่ ‘พวกเขา’ นี้ก็คือคนในประเทศเดียวกัน)
สิทธิการทำแท้งที่จะเปิดกว้างหรือเสรีจึงไม่ใช่เพียงแค่การถกเถียงทางกฎหมาย ทางศาสนา หรือทางวิทยาศาสตร์ (ว่าตัวอ่อนอายุครรภ์เท่าใดถึงจะถือว่าเป็นมนุษย์) ไม่ใช่การเถียงกันของกลุ่มโปรชอยส์ (หนุนการทำแท้ง) กับกลุ่มโปรไลฟ์ (ค้านการทำแท้ง) แต่ภายใต้การถกเถียงที่ดูเหมือนจะยุติธรรมนี้กลับเจือด้วยกลิ่นอายทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัด และสะท้อนการทำลายคุณค่าของประชาธิปไตยจากฝ่ายอำนาจนิยมขวาจัดคลั่งศาสนาเอียงไปทางเผด็จการ ที่ทำทีอ้างชีวิตเด็ก แต่ละเลยชีวิตของแม่
ยิ่งบีบเรื่องเสรีการทำแท้งให้เหลือช่องเพียง ‘ผู้เป็นแม่ถูกข่มขืน’ กับ ‘เด็กเป็นอันตรายต่อแม่’ ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกใช้กันอยู่ ยิ่งปิดกั้นสิทธิของผู้หญิงมากๆ เพราะมันต้องใช้หลักการพิสูจน์ที่จะต้องทำแท้ง ผลของการท้องไม่พร้อมจะเกิดปัญหาสังคมตามมาอีกเยอะ เพราะเด็กจะโตมาโดยที่แม่ไม่ได้ตั้งใจจะให้เกิด การมีวัยเด็กที่ควรได้รับการดูแลก็จะกระทบไปด้วย และเขาจะเติบโตมาเป็นปัญหาสังคม แทนที่จะได้เป็นพลเมืองที่มีคุณค่าสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้กับประเทศ
นี่จึงทำให้เหล่าผู้หญิงที่ค้านเรื่องการคุมเข้มการทำแท้งโวยวายว่า “คุณเป็นห่วงเด็กในครรภ์ที่ยังไม่เกิดมา มากกว่าหญิงสาวที่มีชีวิตอยู่ตรงหน้า”
3
อย่างไรก็ดี รายงานข่าวชิ้นเยี่ยมของสื่อนิกเคอิ (The Nikkei) ได้เปิดเผยเรื่องราวการทำแท้งในเอเชียที่น่าสนใจมาก ขณะที่หลายแห่งทั่วโลกเถียงกันเรื่องความเชื่อ หลักกฎหมาย การต่อสู้ที่แฝงระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตย แต่ในประเทศเอเชียหลายที่ การทำแท้งไม่ได้ขาวดำขนาดนั้น
ขอยกตัวอย่างญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่อนุญาตให้มีการทำแท้งได้อย่างเสรี จุดประสงค์หลักไม่ใช่เพื่อปกป้องผู้หญิงในเรื่องการท้อง แต่เพราะญี่ปุ่นต้องการคุมประชากรหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะทหารผ่านศึกกลับมาบ้าน ส่งผลให้มีคนเยอะ แต่ทรัพยากรขาดแคลน จึงมีการผลักดันให้คุมประชากรผ่านการทำแท้งอย่างแพร่หลาย ซึ่งเหตุผลตรงนี้ไม่ตรงกับที่โลกตะวันตกถกกันแน่นอน
ที่น่าสนใจคือในญี่ปุ่น ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วหากอยากทำแท้ง จะต้องได้รับความยินยอมจากสามี แต่แพทย์ที่รับทำแท้งนั้นก็ปล่อยให้ผู้หญิงที่มาใช้บริการปลอมลายเซ็นสามีได้ แล้วทำกันอยู่หลายสิบปี จนรัฐบาลเห็นว่ายอดประชากรเริ่มตก เกิดน้อยลงแล้ว จึงเข้มงวดเรื่องการทำแท้งมากกว่าเดิม
เช่นเดียวกับจีน ในช่วงบังคับใช้นโยบายลูกคนเดียวเพื่อคุมประชากรนั้น ปรากฏว่ามีการทำแท้งอย่างมาก เพราะกลัวเรื่องตั้งท้องลูกคนที่ 2 รัฐบาลจีนเลยให้การทำแท้งเป็นเรื่องทำได้ เพราะหากคุณท้องลูกคนที่ 2 จะมีโทษหนัก จึงมีการบังคับทำแท้งไปกลายๆ (เข้มกว่าญี่ปุ่น) เฉลี่ยแล้วมีคนจีนถึง 9.5 ล้านคน ไปทำแท้งเมื่อปี 2021 แต่จีนก็ยังให้การทำแท้งถูกกฎหมายได้ต่อไป
สถิติชี้ว่าจีนเป็นประเทศที่มีการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมสูงสุดในทวีปเอเชีย อันดับรองลงมาคืออินเดีย ส่วนไทยเรานั้นอยู่อันดับ 4 รองจากเวียดนาม
มาที่อินเดีย การทำแท้งเกิดขึ้นเพราะครอบครัวอยากได้เด็กชายมากกว่าเด็กหญิง ซึ่งการทำแท้งในอินเดียนั้นถูกกฎหมาย แต่มีการระบุอายุครรภ์ไว้ที่ 24 สัปดาห์ โดยมีกฎหมายห้ามหมอบอกเพศเด็กในครรภ์ต่อพ่อแม่ด้วย เพราะเกิดปัญหาการทำแท้งจากความเชื่อลูกชายดีกว่าลูกสาวในประเทศ
เช่นเดียวกับเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่มีการทำแท้งสูงสุดติด 3 อันดับโลก นอกจากปัญหาชอบลูกชายมากกว่าลูกสาว ยังมีเรื่องการยุติการตั้งครรภ์เพราะแม่ได้รับผลกระทบจากฝนเหลือง ซึ่งอเมริกาใช้เป็นอาวุธ โปรยสารเคมีในช่วงสงครามเวียดนาม ทำให้กลัวว่าเด็กที่เกิดมาจะพิการจากสารพิษตรงนี้
หลายประเทศเผชิญความเชื่อ หลายประเทศห้ามการทำแท้งเพราะต้องการเพิ่มจำนวนประชากร หลายประเทศแม้การทำแท้งจะถูกต้อง แต่สิทธิของผู้หญิงก็ยังถูกละเมิด ไม่ได้รับประโยชน์ ถูกให้การทำแท้งยากกว่าเดิม
จากบทสรุปที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่าปัญหาเรื่องการทำแท้ง นอกจากจะเป็นการเมืองของกลุ่มอนุรักษนิยมและเสรีนิยมแล้ว มันยังเป็นการต่อสู้ระหว่างพลังประชาธิปไตยกับพลังเผด็จการ ไม่เพียงเท่านี้ ยังผูกมัดกับนโยบายของประเทศ ดังนั้นการคุมเข้มการทำแท้งจึงมีความหลากหลายที่ต้องถกเถียงกันต่อไป
อย่างไรก็ดี สิทธิที่จะทำให้การทำแท้งปลอดภัยนั้นสำคัญต่อผู้หญิงอย่างมาก และแม้เรื่องการคุมเข้มทำแท้งจะวุ่นวายซับซ้อนเพียงใด ก็คงเป็นดังที่นิกเคอิสรุปไว้อย่างน่าสนใจว่า
“แม้มันจะซับซ้อน แต่ก็ยังดีกว่าไม่สามารถเข้าถึงการทำแท้งได้เลย”
อ้างอิง
https://www.bloomberg.com/opinion/articles/2022-05-05/abortion-rights-falter-as-democracy-slides
https://time.com/6173229/countries-abortion-illegal-restrictions/
https://edition.cnn.com/2022/04/19/politics/abortion-laws-red-states-republicans/index.html
https://www.bbc.com/news/world-us-canada-54513499
https://www.bbc.com/news/world-us-canada-61928898
https://asia.nikkei.com/Spotlight/The-Big-Story/Abortion-in-Asia-The-limits-of-choice
https://nickkristof.substack.com/p/how-can-this-be-pro-life?utm_source=email
Tags: การทำแท้ง, The Politician in Crime, ทำแท้งเสรี, สหรัฐอเมริกา, เอเชีย