นาทีนี้น้อยคนที่จะไม่รู้จักละครเรื่อง เพลิงบุญ ที่เพิ่งลาจอไป ด้วยเรตติงที่สูงถล่มทลาย โดยเฉพาะตัวละคร ‘ใจเริง’ ที่มีคนพูดถึงกันทั่วบ้านทั่วเมือง

เพลิงบุญ เป็นละครที่ดัดแปลงมาจากบทประพันธ์ของ กฤษณา อโศกสิน ผลิตโดยบริษัทเมคเกอร์วายจำกัด และออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 บอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ของสองเพื่อนสนิทคือ ใจเริง (เจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ) และ พิม (ราณี แคมเปน) ที่ขัดแย้งกันเรื่องผู้ชาย

เรื่องเริ่มมาจากว่าในอดีต ใจเริงเคยคบหากับฤกษ์ (ณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์) แต่ตัดสินใจทิ้งเขาเพื่อไปแต่งงานกับ เทิดพันธุ์ (หลุยส์ สก๊อต) เพราะเหตุผลเรื่องเงินๆ ทองๆ นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ฤกษ์มองเห็นความดีของพิม เพื่อนสนิทของใจเริง และไปแต่งงานกับพิมแทน

ในขณะที่ชีวิตของฤกษ์และพิมราบรื่นไปด้วยดี โดยเฉพาะฤกษ์ที่ตั้งเนื้อตั้งตัวได้ แต่ธุรกิจของเทิดพันธุ์กลับล้มละลาย นี่จึงเป็นอีกครั้งที่ใจเริงทิ้งผู้ชายที่เธอคบหา แล้วพยายามกลับมาหาฤกษ์ พร้อมทั้งกีดกันพิมออกไป จนกลายเป็นปมความขัดแย้งในความสัมพันธ์ ในที่สุดใจเริงก็ทำสำเร็จเพราะเธอท้องและให้กำเนิดลูก

ละครที่ผิวเผินดูเหมือนจะพูดถึงเพียงความสัมพันธ์ชายหญิงนี้ ลึกๆ แล้วตอกย้ำบทบาทหน้าที่ของความเป็นชายและความเป็นหญิง ซึ่งเราสามารถ ‘อ่าน’ ผ่านคำพูดและการกระทำตัวละครในเรื่อง และสุดท้ายอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์เชิงอำนาจของทั้งสองเพศ

ที่สุดแล้ว การปลูกฝังและตอกย้ำค่านิยมลักษณะนี้ในสังคมไทย ใครได้และใครเสียประโยชน์?

 

จากความเป็นเมียสู่ความเป็นแม่ : อุดมคติแฝงความรุนแรง

น้าผ่อง: อย่าทำงานให้มันมากนักเลย ปล่อยให้คุณฤกษ์เขาทำไปคนเดียวก็พอแล้ว บำรุงร่างกายให้มากๆ พ่อกับแม่อยากอุ้มหลานเต็มแก่แล้วนะ แล้วถามจริงๆ นะ คุมหรือเปล่า?

พิม: ไม่ได้คุมค่ะ พี่ฤกษ์ก็อยากมีลูกเหมือนกัน

น้าผ่อง: ดีแล้วล่ะ ไม่ต้องคุม มีลูกตั้งแต่อายุน้อยๆ แบบนี้ จะได้มีได้หลายคน แม่ไม่ได้มากดดันใช่มั้ย แม่เป็นห่วง แม่แค่อยากได้หลาน

(ตอนที่ 4 ช่วงที่ 7)

 

เพียงบทสนทนาสั้นๆ ข้างต้น ก็สามารถสะท้อนหน้าที่ในอุดมคติของผู้หญิงคนหนึ่ง ว่าการจะเป็นผู้หญิงเต็มคน จะต้องอาศัยความเป็น ‘แม่’ มาเติมเต็ม โดยมองข้ามความสำเร็จในหน้าที่การงาน ซึ่งไม่ถูกนับว่าเป็นเรื่องสำคัญในความเป็นหญิง

ความพยายามเลื่อนชั้นจาก ‘เมีย’ ไปเป็น ‘แม่’ ของพิม ได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายครอบครัวเธอเองและฝ่ายครอบครัวของสามี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ ‘น้าผ่อง’ แม่เลี้ยงของฤกษ์ ที่พยายามพูดจาหว่านล้อมและบำรุงร่างกายของสองสามีภรรยาด้วยซุปขนานต่างๆ

บทละครแสดงออกอย่างโจ่งแจ้งว่าเพศสัมพันธ์ของสามีภรรยาไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่กลับเป็นธุระของคนอื่นๆ ที่อยู่รายล้อม น้าผ่องห้ามไม่ให้พิมทำงานหนักเพื่อบำรุงร่างกายให้พร้อมสำหรับการมีลูก ในชีวิตจริง การที่พิมละเว้นจากการทำงานเพื่อมามุ่งมั่นกับการเป็นแม่ อาจส่งผลให้เธอต้องตกงาน แม้กระทั่งในละครเอง พิมโดนเพื่อนร่วมงานพูดแซะเสมอ เช่นที่พิชชี่พูดกับพิมบ่อยๆ ว่า “ทำงานแทนพิมจนชินแล้ว” ซึ่งแน่นอนว่าหากเกิดสถานการณ์แบบนี้ในชีวิตจริง คงไม่เป็นผลดีกับอนาคตของผู้หญิงคนหนึ่งในเส้นทางสายอาชีพ

 

บทละครแสดงออกอย่างโจ่งแจ้งว่าเพศสัมพันธ์ของสามีภรรยาไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่กลับเป็นธุระของคนอื่นๆ ที่อยู่รายล้อม

 

ประการที่สอง การโยนเรื่องภาระหน้าที่การงานให้เป็นเรื่องของผู้ชายและหน้าที่ความเป็นแม่ดูแลบ้านให้ผู้หญิง สอดคล้องกับอุดมการณ์ที่ว่าพื้นที่สาธารณะ (public sphere) เป็นของผู้ชายและพื้นที่ในครัวเรือน (domestic sphere) เป็นของผู้หญิง ซึ่งเป็นแนวคิดที่กีดกันผู้หญิงออกจากพื้นที่การเมืองและกักขังให้อยู่แต่ในบ้านมานานนับศตวรรษ แต่อย่าลืมว่านี่คือศตวรรษที่ 21 ซึ่งผู้หญิงหลายคนขึ้นมามีบทบาทในพื้นที่การเมือง หลายบริษัทและหลายประเทศมีผู้นำหญิง และทั่วโลกกำลังถกเถียงเรื่องการกันตำแหน่งในรัฐสภาไว้ให้ผู้หญิง

สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าน้าผ่องเป็นตัวละครที่แสนล้าหลัง ตามไม่ทันโลก แม้จะออกตัวอยู่เสมอว่าไม่ได้มากดดัน แต่สิ่งที่กระทำซ้ำๆ ก็ถือเป็นความรุนแรงที่กระทำต่อผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางจิตใจ ตลอดทั้งเรื่อง พิมแสดงความผิดหวังและท้อแท้ที่ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์สูงสุดของชีวิตความเป็นเมียที่จะเลื่อนขั้นสู่ความเป็นแม่ได้

อุดมคติบิดเบี้ยวไม่ได้ถูกสืบทอดกันภายในฝ่ายหญิงเท่านั้น อีกหนึ่งบทสนทนาที่น่าสนใจคือคำสอนของพ่อที่สอนฤกษ์ ขณะกลุ่มผู้ชายจับกำลังคุยกันในงานเลี้ยง

 

พ่อของฤกษ์: “จำไว้นะไอ้เสือ ผู้ชายเราสุดท้ายก็ต้องการแค่นี้แหละ ผู้หญิงที่อยู่ข้างๆ เคียงบ่าเคียงไหล่ แล้วก็คอยอยู่ข้างๆ เปลี่ยนผ้าอ้อมเวลาเราลุกไปเยี่ยวไม่ไหว”

(ตอนที่ 3 ช่วงที่3)

 

พ่อกำลังสอนลูกชายของเขาแบบนั้น เสมือนสัจธรรมสอนใจผู้ชายด้วยกัน แต่ในมุมมองของผู้ชมละคร บทสนทนานี้สื่อให้ผู้หญิงคิดไปว่า หากตนอยากเป็นคนสุดท้ายในชีวิตของผู้ชายคนหนึ่ง ก็จะต้องเป็นเหมือนน้าผ่อง นั่นคือ ไม่มีอาชีพการงานของตัวเอง อยู่แต่ในบ้านเพื่อคอยเตรียมกับข้าวให้สามีและลูกชาย ถือเป็นรูปแบบของผู้หญิงที่เป็นเบี้ยล่าง (submissive) อย่างเต็มตัว มีหลักยึดเหนี่ยวเดียวในชีวิตคือสามี ซึ่งตนพร้อมจะรับใช้ไปจนตาย

 

พื้นที่สาธารณะ (public sphere) เป็นของผู้ชายและพื้นที่ในครัวเรือน (domestic sphere) เป็นของผู้หญิง

 

บกพร่องในหน้าที่คือใบเบิกทางสู่การนอกใจ

หลายครั้งพิมปฏิเสธที่จะตอบสนองความต้องการผลิตลูกของฤกษ์โดยอ้างว่าอายบ้าง เหนื่อยบ้าง ง่วงบ้าง ซึ่งทำให้ฤกษ์ ผู้ดูเชื่อมั่นในความรักแบบผัวเดียวเมียเดียวกลับไปคิดถึงใจเริงและมีสัมพันธ์อย่างลับๆ กับเธอ

ละครจะกำลังบอกเป็นนัยว่าผู้หญิงไม่ควรพร่องเรื่อง ‘การบ้าน’ มิฉะนั้นจะเป็นช่องว่างให้สามีไปคิดถึงคนอื่น ราวกับการฝืนใจทำการบ้านเป็นทางเดียวที่จะผูกมัดเขาไว้ได้

เรากำลังปล่อยให้อุดมการณ์ชายเป็นใหญ่ข่มขืนเราอยู่หรือเปล่า เป็นไปได้ว่าละครเรื่องนี้พยายามชี้ให้เห็นว่าความเจ้าชู้และสัญชาตญาณความเป็นชายเป็นสาเหตุที่บ่อนเซาะอุดมการณ์ความรักแบบผัวเดียวเมียเดียว ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญของสถาบันครอบครัวด้วยเช่นกัน

แต่ในขณะเดียวกัน การดำเนินเรื่องทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่า หากพิมเติมเต็มฤกษ์ได้อย่างเต็มที่ หายนะต่างๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น เมื่อฝ่ายหญิงเองยอมรับชะตากรรมว่าความเจ้าชู้ต้องมาคู่กับความเป็นชายโดยธรรมชาติ

 

พิม: พี่พิชชี่อะทั้งสวยและแซ่บ พี่เขาอาจจะแว่บไปขำขำ

(ตอนที่ 4 ช่วงที่ 2)

 

ประโยคนี้คือสิ่งที่พิมพูดกับพิชชี่เพื่อนร่วมงานของเธอ เนื่องจากพิชชี่มาปรึกษาว่าเธอกำลังสงสัยว่าแฟนของเธอกำลังจะมีเมียน้อย คำปลอบประโลมของพิมที่ดูเหมือนจะติดขำ แต่กลับพูดออกมาง่ายๆ ราวกับว่านี่คือความจริงที่ผู้หญิงเองจะต้องเข้าใจ

ความสัมพันธ์ของพ่อกับลูกในเรื่องก็น่าสนใจไม่น้อย พ่อของฤกษ์จะเรียกฤกษ์ว่า ‘ไอ้เสือ’ การเปรียบเทียบผู้ชายว่าเป็นเสือในฐานะของผู้ล่า ผู้เลือก ฝ่ายรุก ฯลฯ ขณะเดียวกันก็เป็นการนิยามผู้หญิงว่าเป็น ‘เหยื่อ’ ซึ่งทำให้ละครเพลิงบุญไม่ได้พาตัวเองไปไกลกว่าคู่ตรงข้ามเดิมๆ ที่ฉุดให้ผู้หญิงเป็นรอง การนอกใจในฐานะ ‘เสือ’ จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจและยอมรับกันได้ในหมู่ ‘เหยื่อ’

 

ละครจะกำลังบอกเป็นนัยว่าผู้หญิงไม่ควรพร่องเรื่อง ‘การบ้าน’ มิฉะนั้นจะเป็นช่องว่างให้สามีไปคิดถึงคนอื่น

 

ความเชื่อนี้ถูกย้ำอีกครั้ง ตอนที่รายการโทรทัศน์ของพิมเชิญผู้เชี่ยวชาญทางด้านครอบครัวมาพูดคุยเพื่ออธิบายสาเหตุของการนอกใจของผู้ชาย

 

ผู้เชี่ยวชาญ: ต้นตอของปัญหาการนอกใจของผู้ชายที่มีครอบครัวแล้ว ผู้ชายมักจะมั่นใจในตัวเองมากเกินไป การแต่งงานของผู้ชายจะมีโอกาสจะได้เจอมารเข้ามาทักทายเป็นระยะๆ วิธีที่ดีที่สุดที่รับมือกับมารก็คือ ให้วิ่งหนี หนีให้ไกลที่สุดเท่าที่จะไกลได้ เพราะคุณไม่มีทางจะชนะมารด้วยตัวของคุณเองได้

(ตอนที่4ช่วงที่7)

 

การที่ผู้หญิงอีกคนถูกเปรียบเทียบว่าเป็น ‘มาร’ มีเจตนาที่จะยกผู้ชายให้เป็นศูนย์กลาง เป็นผู้บริสุทธิ์ในตัวเอง เป็นพระพุทธเจ้าที่จะมีมารมารังควานเป็นระยะ ก่อนที่จะบรรลุธรรมสูงสุด ซึ่งดูเหมือนว่าคำกล่าวของผู้เชี่ยวชาญนี้มีแนวโน้มกล่าวโทษผู้หญิงฝ่ายเดียวด้วยซ้ำ และสุดท้าย ปัญหาทั้งหมดนี้เป็นหน้าที่ของเมียที่ต้องหาวิธีรับมือกับมาร ไม่ใช่ผู้ชาย

ความบกพร่องของผู้หญิงถูกตอกย้ำอีกครั้งในความสัมพันธ์ของเทิดศักดิ์และใจเริง

 

เทิดศักดิ์: ถ้าผมไม่มีเมียเลวๆ อย่างคุณ ผมก็คงไม่คิดนอกใจหรอก

(ตอนที่ 4 ช่วงที่ 1)

 

เทิดศักดิ์กล่าวโทษใจเริงเนื่องจากเธอเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เขาต้องล้มละลายและเป็นหนี้จำนวนมหาศาลเพราะใจเริงชอบความหรูหรา อีกทั้งไม่ได้ทำหน้าที่เป็นภรรยาที่ดีในการแบ่งเบาหน้าที่การงานในบ้าน

จากสองความบกพร่องของทั้งพิมและใจเริงนี้ ทำให้เราน่าจะเข้าใจอุดมการณ์ที่ละครเรื่องนี้ตั้งอยู่ได้ไม่ยาก สื่อว่าสาเหตุของความล้มเหลวในความรักมาจากความบกพร่องของตัวละครผู้หญิง พวกเธอจึงไม่สามารถต่อสู้เพื่อขจัดสัญชาตญาณความเป็นชายที่มีอยู่ในตัวของฤกษ์และเทิดศักดิ์ได้

 

ผู้ชาย = ความสำเร็จ?

กลับมามองนิยาม ‘ความสำเร็จ’ ในชีวิตของผู้หญิง เราจะพบว่า เพลิงบุญ ให้แง่คิดเกี่ยวกับความทะเยอทะยานของผู้หญิงไปในทางลบ ผ่านบทเรียนชีวิตของใจเริง

 

ใจเริง: พิม อย่ายอมให้ใครมาบังคับ ชีวิตเรา เราต้องเป็นใหญ่

ฤกษ์: คิดแบบนี้ไง เพราะคิดแบบนี้ สามีคุณถึงหนีไปมีเมียน้อยไง ทำตัวให้ตกต่ำก็อย่ามาดึงเมียผมให้ตกต่ำไปด้วย

(ตอนที่ 5 ช่วงที่ 6)

 

เพราะฉะนั้น ถ้าไม่อยากให้ชีวิตเป็นเหมือนใจเริงก็จงอย่าคิดจะเป็นใหญ่ ให้คิดเล็กๆ แบบน้าผ่อง ถึงจะมีโอกาสที่จะเป็นผู้หญิงคนสุดท้ายของชีวิตผู้ชายสักคน

ซึ่งนั่นดูเหมือนจะเป็น ‘ความสำเร็จ’ สำหรับละครเรื่องนี้

น่าแปลกที่สำหรับวงวิจารณ์วรรณกรรมและภาพยนตร์ กรอบคิดแบบสตรีนิยมนี้นับเป็น ‘แว่น’ ที่ดูจะเก่าและล้าหลังไปทุกที เพราะเรื่องเพศทุกวันนี้ไปไกลถึงอัตลักษณ์ทางเพศที่ซับซ้อนและหลากหลายกว่านั้นแล้ว

แต่ในละครไทย เรายังคงย้ำอยู่กับที่กับประเด็นผัวๆ เมียๆ และศีลธรรมจรรยาของการเป็นคู่ครองที่ดี และเราก็ยังคงรีเมกละครเก่า ขุดเอาชุดค่านิยมที่เราเชื่อกันว่าดีมาปิดหูปิดตาเราอยู่ร่ำไป

 ภาพประกอบจาก ช่อง 3
Tags: , , ,