กรณีรัฐบาลประธานาธิบดีโรดริโก ดูแตร์เต แจ้งขอยกเลิกข้อตกลงเปิดรับทหารอเมริกันในดินแดนฟิลิปปินส์ ไม่เพียงส่งผลสะเทือนต่อความเป็นพันธมิตรทางทหารระหว่างประเทศทั้งสอง แต่อาจกระทบถึงดุลอำนาจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ท่ามกลางการผงาดของจีน
ในย่านอุษาคเนย์ ฟิลิปปินส์เป็นประเทศเดียวที่มีสนธิสัญญาทางทหารแบบสองฝ่ายกับสหรัฐฯ ขณะที่ไทยเป็นอีกประเทศที่มีสนธิสัญญาป้องกันประเทศร่วมกันกับอเมริกา ทว่าเป็นข้อตกลงแบบหลายฝ่าย
ความเป็นพันธมิตรเหล่านี้ บวกกับสนธิสัญญาทวิภาคีสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ-เกาหลีใต้ รวมถึงความร่วมมือใกล้ชิดด้านกลาโหมระหว่างสหรัฐฯ กับสิงคโปร์ และสหรัฐฯ กับไต้หวัน ถือเป็นเสาหลักค้ำประกันความมั่นคงในภูมิภาคตั้งแต่ยุคสงครามเย็น
ทุกวันนี้ ถึงแม้ภัยคุกคามแบบเก่าพลิกโฉมหน้า สหภาพโซเวียตล่มสลาย จีนแดงเดินเส้นทางทุนนิยม แต่มหาอำนาจสามเส้า อเมริกา รัสเซีย จีน ยังคงปักธงทางภูมิรัฐศาสตร์ในเอเชีย ดำเนินบทบาทลดหลั่นกันไปตามสถานะทางเศรษฐกิจการเมืองที่แปรเปลี่ยน ผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ที่ปรับแปลง
ชาติยักษ์ใหญ่ไม่เคยหน่ายกับการช่วงชิงอิทธิพล การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับความเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯ กับฟิลิปปินส์ จะส่งแรงกระเพื่อมต่อโครงข่ายความสัมพันธ์ด้านการทหารในภูมิภาค กระทบต่อการป้องปรามการขยายอิทธิพลของจีน โดยเฉพาะในแถบทะเลจีนใต้ หรือไม่ แค่ไหน อย่างไร นับเป็นสถานการณ์น่าจับตา
‘ดูแตร์เต’ แก้เผ็ดอเมริกา
เมื่อวันอังคาร (11 ก.พ.) รัฐบาลดูแตร์เตแจ้งไปยังสหรัฐฯ ผ่านสถานทูตอเมริกันในกรุงมะนิลา ขอยกเลิกความตกลงกองกำลังหมุนเวียน ซึ่งฟิลิปปินส์กับสหรัฐฯ ลงนามเมื่อปี 1998
ว่ากันว่า เหตุที่บอกเลิกข้อตกลงวีเอฟเอ (Visiting Forces Agreement) นั้น เป็นเพราะไม่พอใจที่รัฐบาลทรัมป์ยกเลิกวีซ่าของโรนัลด์ เดลา โรซา ผู้สนองนโยบายสงครามยาเสพติดของดูแตร์เตอย่างถึงใจพระเดชพระคุณในช่วงที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติระหว่างปี 2016-2018 พล.ต.อ.โรซาชนะเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิกเมื่อปี 2019 ด้วยคะแนนนิยม 19 ล้านเสียง สูงเป็นลำดับที่ห้าในวุฒิสภา โรซาเป็นพันธมิตรทางการเมืองกับดูแตร์เต
แน่นอนว่า ผู้นำฟิลิปปินส์ไม่ได้ชี้แจงเหตุผลของการบอกเลิกว่า เพราะต้องการเอาคืนต่อกรณีโรซา แต่อ้างว่าสหรัฐฯ อาศัยข้อตกลงฉบับนี้ดำเนินปฏิบัติการลับต่างๆ เช่น ทำจารกรรม เก็บสำรองอาวุธนิวเคลียร์ อีกทั้งยังปฏิบัติแย่ๆ ต่อประเทศ เช่น เมื่อเสร็จสิ้นการฝึก โละอาวุธเก่าให้ ขนอาวุธใหม่กลับบ้าน แถมชอบพูดอย่างทำอย่างในเรื่องสิทธิมนุษยชน
ทางเลือกของ ‘ทรัมป์’
ตามข้อตกลง ฝ่ายที่ต้องการบอกเลิกต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคู่สัญญาล่วงหน้า 180 วัน ดังนั้น ถ้ายังคงต้องการรักษาข้อตกลงไว้ วอชิงตันมีเวลา 6 เดือนที่จะเจรจากับมะนิลา อย่างไรก็ตาม โฆษกของดูแตร์เตบอกว่า ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์จะไม่ขานรับความพยายามของสหรัฐฯ ที่จะกอบกู้ข้อตกลงนี้ และจะไม่ตอบรับคำเชิญให้ไปเยือนสหรัฐฯ
จนถึงขณะนี้ ยังไม่รู้ว่าสหรัฐฯ จะเอาอย่างไร เพราะเจ้าหน้าที่ระดับสูงแสดงท่าทีต่างกันคนละทางสองทาง
รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ มาร์ค เอสเปอร์ บอกว่า การตัดสินใจดังกล่าวของฟิลิปปินส์เป็นเรื่อง “น่าเสียดาย” ถือเป็นการเดินผิดเส้นทางในห้วงเวลาที่วอชิงตันกับบรรดาพันธมิตรกำลังกดดันให้จีนปฏิบัติตาม “กฎกติกาของระเบียบระหว่างประเทศ” ในเอเชีย
พล.ร.อ.ฟิลิป เอส. เดวิดสัน ผู้บัญชาการกองบัญชาการอินโด-แปซิฟิก บอกว่า อยากให้ผู้นำฟิลิปปินส์ทบทวนการตัดสินใจ และหวังว่าสหรัฐฯ จะเปลี่ยนใจรัฐบาลของพันธมิตรรายนี้ได้สำเร็จ ถ้ายกเลิกข้อตกลงฉบับนี้ ความร่วมมือในการปราบปรามกลุ่มสุดโต่งในภาคใต้ของฟิลิปปินส์จะเกิดอุปสรรค
แต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กลับบอกกับผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบขาวว่า ยกเลิกเสียได้ก็ดี “ผมไม่ติดใจถ้าพวกเขาจะเอาอย่างนั้น นั่นจะประหยัดเงินไปได้เยอะเลย ผมมองต่างจากคนอื่น” อย่างที่รู้กัน ทรัมป์ชูนโยบายพาทหารอเมริกันในต่างแดนกลับบ้าน และจี้ให้ชาติพันธมิตรแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
ฝ่ายนิติบัญญัติคัดง้างฝ่ายบริหาร
ความตกลงกองกำลังหมุนเวียนเป็นแกนสำคัญที่สนับสนุนข้อตกลงด้านการทหารระหว่างสหรัฐฯ กับฟิลิปปินส์อีก 2 ฉบับ นั่นคือ สนธิสัญญาป้องกันประเทศร่วมกัน ปี 1951 กับข้อตกลงขยายความร่วมมือด้านกลาโหม ปี 2014
ประเทศทั้งสองลงนามข้อตกลงวีเอฟเอหลังจากฟิลิปปินส์ยุติข้อตกลงอนุญาตให้สหรัฐฯ ใช้ฐานทัพเรืออ่าวซูบิกเมื่อปี 1991 ซึ่งส่งผลให้อเมริกาต้องถอนทหารออกจากฟิลิปปินส์ทั้งหมด แต่ในช่วงกลางทศวรรษ 1990 เกิดความกังวลต่อความเคลื่อนไหวของจีนในทะเลจีนใต้ ในขณะที่ฟิลิปปินส์เองปรับปรุงกองทัพได้อย่างเชื่องช้า ทั้งสองฝ่ายจึงทำข้อตกลงดังกล่าวในปี 1998
วีเอฟเอมีเนื้อหารองรับความชอบด้วยกฎหมายของกองกำลังอเมริกันที่สับเปลี่ยนกันเข้าไปประจำการ ครอบคลุมประเด็นหลากหลายตั้งแต่เรื่องหนังสือเดินทาง กระบวนวิธีจัดส่งอาวุธยุทโธปกรณ์เข้าสู่เขตแดนฟิลิปปินส์ จนถึงเขตอำนาจศาลและการลงโทษกำลังพลสหรัฐฯ ที่ละเมิดกฎหมายในดินแดนของพันธมิตร
ฝ่ายที่สนับสนุนบทบาททางทหารของสหรัฐฯในฟิลิปปินส์วิตกว่า ถ้ายกเลิกวีเอฟเอ ข้อตกลงอีกสองฉบับก็จะเสมือนเป็นหมันในทางปฏิบัติ บางเสียงโต้แย้งว่า รัฐบาลไม่มีอำนาจยกเลิกโดยลำพัง ในเมื่อวุฒิสภาเป็นผู้อนุมัติ การยกเลิกก็ต้องผ่านความเห็นชอบของวุฒิสมาชิก
วีเอฟเอจะเป็นชนวนงัดข้อในการเมืองของฟิลิปปินส์หรือไม่ อย่างไร ต้องคอยดูกันต่อไป
ยกเลิกข้อตกลงบั่นทอนดุลอำนาจ
ที่ผ่านมา ฟิลิปปินส์ได้ประโยชน์มากจากข้อตกลงฉบับนี้ วีเอฟเอเปิดทางให้มีการฝึกร่วมระหว่างกองทัพของทั้งสองฝ่ายปีละประมาณ 300 ครั้ง มะนิลาได้รับความช่วยเหลือทางทหารจากวอชิงตันนับแต่ปี 1998 รวมเป็นมูลค่า 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ความเป็นพันธมิตรนี้ยังช่วยป้องปรามจีนในกรณีพิพาทเขตแดนย่านทะเลจีนใต้ เปิดทางให้ฟิลิปปินส์ได้รับความช่วยเหลือในการบรรเทาภัยพิบัติ และรับมือกับกองกำลังติดอาวุธในแถบหมู่เกาะมินดาเนา
ข้างฝ่ายสหรัฐฯ ก็จะสูญเสียผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์เช่นกัน ที่สำคัญคือ การทัดทานต่อการเติบใหญ่ของจีน ทั้งในมิติเศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคง
มองให้กว้างออกไป ความเป็นพันธมิตรที่ลดระดับลงระหว่างประเทศทั้งสอง ยังอาจส่งผลสะเทือนถึงดุลอำนาจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ซึ่งกำลังเป็นสนามคุมเชิงระหว่างอเมริกากับจีน อีกด้วย.
อ้างอิง:
New York Times, 11 February 2020
Bloomberg via Washington Post, 12 February 2020
AFP via ChannelNewsAsia, 13 February 2020
ภาพ: Lillian SUWANRUMPHA / AFP
Tags: สนธิสัญญาทางทหาร, สหรัฐอเมริกา, ฟิลิปปินส์, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้