มีการเปิดเผยว่าเด็กปากีสถานกว่า 700 คนติดเชื้อเอชไอวี (HIV) จากความพยายามในการรักษาโรคอื่นๆ อย่างท้องร่วงหรือการติดเชื้อทางเดินหายใจ ด้วย ‘เข็มฉีดยา’ หรือ ‘เลือดสำรองที่ไม่ได้มาตรฐาน’
แม้ว่าจะมียารักษาโรคแบบรับประทานที่สามารถทดแทนกันได้ แต่การฉีดยาค่อนข้างแพร่หลายในปากีสถานมากกว่าและผู้ปกครองส่วนใหญ่เชื่อมั่นในประสิทธิภาพการรักษาด้วยการฉีดยามากกว่าการรับประทาน ทำให้เด็กจำนวนมากในปากีสถานได้รับผลกระทบจากเข็มฉีดยาที่ผ่านการใช้ซ้ำและปนเปื้อน
วารสารทางการแพทย์ที่ชื่อ เดอะ แลนเซท (The Lancet) ได้เผยแพร่งานวิจัยทางการแพทย์จากการสำรวจตัวอย่างเลือดของประชากรกว่า 30,000 คนในเมืองราโทเดโร หลังจากเกิดการระบาดของเชื้อเอชไอวีอย่างชัดเจนในเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบว่าจากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดมีผู้ติดเชื้อเอชไอวี 930 คน และในจำนวนนั้นมีผู้ติดเชื้อที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปีกว่า 763 คน และที่น่าตกใจที่สุดคือเกินกว่า 60% ของผู้ติดเชื้อมีอายุต่ำกว่า 5 ปี
นอกจากนั้น 1 ใน 4 ของเด็กที่ถูกพบว่าติดเชื้ออยู่ในช่วงที่พึ่งได้รับเชื้อในระยะเวลาไม่นาน และมีเพียง 2 ใน 3 เท่านั้นที่สามารถเริ่มต้นการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวีได้ทันที เนื่องจากมียาและเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการฝึกอบรมมาไม่เพียงพอ ทำให้มีเด็ก 9 คนที่เสียชีวิตไปแล้วและอีกหลายคนถูกพบว่าติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี
การค้นพบดังกล่าวส่งผลให้ผู้เชี่ยวชาญถูกเรียกตัวมาทำการวิจัย ก่อนที่รัฐบาลจะสั่งปิดธนาคารเลือดกว่า 300 แห่ง เพราะในอดีตธนาคารเลือดในปากีสถานมักจะไม่มีการลงทะเบียนและไร้การควบคุมในระดับที่เรียกว่า ‘เอาแน่เอานอนไม่ได้’ รวมถึงผู้ให้เลือดมักได้รับเงิน ซึ่งธนาคารเลือดมีส่วนสำคัญในการติดเชื้อ
ดร. ฟาติมา เมียร์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย Aga Khan ในปากีสถาน เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาปากีสถานประสบปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีหลายครั้งในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา จากปัญหาการใช้เข็มฉีดยาที่อันตรายที่สุดในโลกที่แพร่หลายไปทั่วประเทศ ทำให้ผู้ปฏิบัติงานด้านการรักษาสุขภาพจะใช้การรักษาด้วยเข็มฉีดยาเฉพาะในกรณีที่จำเป็น
เช่นเดียวกันในรายงานของโปรเฟสเซอร์ มาร์ค คอตตอน จากมหาวิทยาลัย Stellenbosch ประเทศแอฟริกาใต้ รายงานว่า การควบคุมการติดเชื้อไม่ดี การใช้เข็มที่ไม่ปลอดภัย ผู้ปฏิบัติงานที่ไม่มีใบอนุญาต และการรับรู้เกี่ยวกับเชื้อเอชไอวีที่ต่ำ เมื่อรวมเข้าด้วยกันจะเป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุด
อย่างไรก็ตาม ในช่วงทศวรรษที่ 1950 และ 1960 มีการพัฒนาเข็มฉีดยาแบบใช้แล้วทิ้งที่ทำจากพลาสติกในระดับอุตสาหกรรมและมีจำหน่ายทั่วโลก แต่การฉีดยาปฏิชีวนะบางประเภทที่มีความเจ็บปวดในการฉีดสูงทำให้คนจำนวนมากหันไปพึ่งหมอและการแพทย์แบบดั้งเดิม
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดเส้นตายสำหรับการเปลี่ยนไปใช้เข็มฉีดยาแบบใช้ครั้งเดียวที่มีความปลอดภัยสูงในปี 2020 แต่จนกว่าจะถึงตอนนั้นสิ่งสำคัญสำหรับปากีสถานคือพวกเขาจำเป็นที่จะต้องจำกัดการฉีดยาอย่างเคร่งครัด
โดยผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่ายารักษาโรคในช่องปากควรเป็นตัวเลือกแรกในการรักษา นอกจากนั้น พวกเขายังเรียกร้องให้มีการดำเนินการเร่งด่วน เพื่อปรับปรุงการควบคุมการติดเชื้อ การทำงานของธนาคารเลือด และกฎระเบียบของคลินิกจำนวนมากในปากีสถาน
ที่มา:
ภาพ: Reuters/Akhtar Soomro