สิ่งที่อยู่ในวงเล็บสำคัญสำหรับคุณไหม

คงไม่มีใครที่ไม่คุ้นเคยกับ ‘วงเล็บ’ ที่พวกเรารู้จักพอๆ กับการรู้จักภาษา ถึงกระนั้นขณะที่การสื่อสารรุดไปข้างหน้า คนจำนวนมากอาจจะยังไม่เข้าใจว่า วงเล็บสำคัญอย่างไร รวมถึงข้อความที่ถูกห้อมล้อมด้วยกรอบโค้งจำเป็นที่จะต้องสนใจหรือไม่ 

แตกต่างกับ กิติก้อง ติลกวัฒโนทัย ศิลปินภาพพิมพ์ ที่เข้าใจว่า วงเล็บเป็นหัวใจหลักแห่งการเน้นย้ำ และตักเตือนมิให้เขาหลงลืมสิ่งใดไป 

“เวลาสอนเขา (ลูก) อย่าสอนด้วยคำสั่ง ให้เขาได้เล่น” 

 คำพูดสั้นๆ ของจิตแพทย์ที่ให้ไว้กับกิติก้องเมื่อหลายปีก่อน ยังคงตราตรึง และทำให้เขาในฐานะพ่อฉุกคิดว่า ในตอนที่เขายังเด็กก็เติบโตมาพร้อมกับการเล่น ซึ่งเป็นจุดตั้งต้นของการได้เรียนรู้ และทดลองทำสิ่งใหม่ๆ โดยไม่ต้องคำนึงถึงกฎเกณฑ์และกติกา ไม่มีอะไรผิดและถูก ทว่าเขากลับลืมสิ่งนั้นไป นี่คือข้อความในวงเล็บที่เขาลืมนึกถึง

(Brackets) จึงได้รับแรงบันดาลใจจากการเล่นของลูกที่เขาหลงลืมไป รวมถึงการสำรวจและเฝ้ามองลูกชายที่ใช้เวลาแห่งความสนุกร่วมกับผู้เป็นพ่อ เกิดเป็นการทดลองสร้างผลงานศิลปะจนต่อยอดให้เขากลายเป็นศิลปินมาแล้วกว่า 5 ปีจนถึงปัจจุบัน 

ผลงานศิลปะของกิติก้องที่จัดแสดงอยู่ภายในเอสเอซี แกลเลอรี (SAC Gallery) แฝงกลิ่นอายความเป็นของเล่นเด็ก ลักษณะของผลงานแต่ละชิ้นมีรูปร่างเหมือนกับเลโก้และตัวต่อ พื้นผิวทาทาบด้วยสีสันฉูดฉาด บางชิ้นมีสีเดียว ส่วนบางชิ้นมีสีปะปนกันไปไม่เพียงแต่สีพื้นฐาน

ภายในอาคาร ผลงานของกิติก้องวางกระจายไว้ตามมุมต่างๆ ทั้งแนวตั้ง แนวนอน วางไว้ในจุดที่เห็นได้ชัด หรือหลบซ่อนตามมุมที่ต้องเดินลับเข้าไปบ้างจึงจะมองเห็น สิ่งนี้สะท้อนถึงความไร้กฎเกณฑ์ ขาดซึ่งกติกา เพราะการได้เล่นสนุกไม่ว่าจะเป็นกับลูกของเขา รวมถึงตัวเขาในช่วงชีวิตหนึ่งที่ผ่านมานานแล้ว ต่างเป็นไปอย่างไร้กฎเกณฑ์มาควบคุม กติกาอาจมีบ้าง ทว่ากิติก้องบอกกับผู้เขียนเองว่า เราสามารถแหกกติกานั้นได้

แท่งรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าวางตั้งในระยะใกล้กัน ทั้ง 2 แท่งกำลังรับน้ำหนักของคานสี่เหลี่ยมยาวอีกชิ้นหนึ่งที่วางซ้อนทับอยู่ด้านบน มองดูคล้ายกับรูปทรงของประตู ซึ่งกิติก้องคิดให้ผลงานชิ้นนี้มีความหมายไปในทำนองนั้นเช่นกัน เขาอธิบายว่า สิ่งนี้เป็นตัวแทนของประตูบ้าน

ผลงานชิ้นนี้แทนความหมายของการสื่อสาร ลองตั้งคำถามว่า การสื่อสารที่เกิดขึ้นระหว่างมนุษย์กับมนุษย์สามารถเริ่มต้นจากที่ใดได้บ้าง ตอนที่ลูกของผมคลอดออกมา เขายังไม่รับรู้และไม่มีภาษา เราเริ่มเรียนรู้กันจากที่บ้าน บ้านเป็นเหมือนกับจุดเริ่มต้นของการสนทนาทั้งหมด”

ดังนั้น เขาจึงตั้งชื่อผลงานนี้ว่า ‘The Beginning’ ซึ่งหมายถึงจุดเริ่มต้น และใช้แม่สีอะคริลิกแดง เหลือง และน้ำเงินกับผลงาน ที่เขาเปรียบเปรยว่า เป็นโครงสร้างพื้นฐานของบ้าน (จุดเริ่มต้นของบทสนทนาระหว่างมนุษย์) 

ตามที่เคยได้ร่ำเรียนการมีอยู่ของสีเหล่านี้ เมื่อผสมกันจึงจะเกิดเป็นสีใหม่ สอดคล้องกับกิติก้องที่ต้องการนำแม่สีมาใช้กับผลงาน เพื่อให้เห็นถึงจุดเริ่มต้นในการเกิดสิ่งใหม่ เช่นเดียวกันกับสีเหล่านี้ที่อยู่บนผลงานที่สามารถผสมผสานกลายเป็นสีอื่นได้

“สีพื้นฐานก็คือ สีเหลือง สีแดง สีน้ำเงิน เมื่อเป็นแม่สี หากเกิดการผสมผสาน หรือเปรียบเทียบเป็นการสนทนากันก็จะมีบางอย่างที่อยู่ในการสนทนานั้นเกิดขึ้นใหม่” 

กิติก้องพูดพร้อมชี้ไปยังผลงานที่ติดอยู่บนผนัง ลักษณะคล้ายกับกรอบรูปเรียงกัน 5 กรอบ หากแต่เป็นกระดาษที่มีสีระบายอยู่ภายใน จุดที่น่าสังเกตคือ ผลงานของเขาชิ้นนี้ไม่ได้มีเพียงแม่สีเหมือนกับผลงานชิ้นแรก แต่นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากการสนทนากันดังเช่นที่เขาตั้งใจในผลงานชิ้นแรกที่เราเอ่ยถึง เมื่อสีสนทนา (ผสม) กับสีเหลืองจึงเกิดเป็นสีส้ม เมื่อสีเหลืองพูดคุย (ผสม) กับสีน้ำเงินจึงเกิดเป็นสีเขียว และทุกการสนทนาระหว่างสีมีทิศทางมุ่งไปทิศใดทิศหนึ่งโดยไม่ย้อนกลับ หรือการสนทนาเป็นทางตรงนั่นเอง

 ที่สำคัญผลงานของเขาทุกชิ้น แม้จะวางอยู่ห่างกันจนดูเป็นคนละชิ้น ทว่าทั้งหมดกลับสามารถหลอมรวม ประกอบกันและกันได้อย่างสนุกสนาน และมีความหมายในตัวของมันเอง ไม่ว่าจะตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยวหรือประกอบกันจาก 2 เป็น 3 ชิ้น หรือ 4 ชิ้นก็ตาม

“งานทุกชิ้นถูกสร้างให้เป็นจิกซอว์ของกันและกัน ทุกๆ ชิ้นสามารถเอามาประกอบกันอย่างไรก็ได้ มันมีอิสระ

“คุณอาจจะชอบของผมที่มีสีเขียว ขณะเดียวกันก็ชอบผลงานอีกชิ้นหนึ่งที่มีสีแดง คุณสามารถเอาทั้ง 2 ชิ้นมาประกอบเข้าด้วยกันได้นะ นั่นเป็นโจทย์ที่ผมตั้งใจไว้ตั้งแต่แรก เพราะมันพูดไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างผมกับลูก ในบางครั้งเมื่อเราเริ่มโตขึ้น เราเกิดความกังวลกับสิ่งที่เราต้องรับผิดชอบ เมื่ออายุของเรามากขึ้น ความกล้าของเรามันจึงลดน้อยลงเรื่อยๆ แต่ตอนเด็กๆ เราไม่เคยแคร์อะไรเลย อยากทำอะไรก็ทำ เลยมีคำพูดหนึ่งที่เราชอบพูดกันตอนโตคือ อยากกลับไปเป็นเด็ก”

ข้อความที่กิติก้องต้องการจะสื่อ ความกล้าที่จะทำสิ่งใหม่โดยเริ่มจากการ ‘ทดลอง’ ทดลองออกจากกรอบ ออกจากกติกา และกฎเกณฑ์ เพื่อให้ได้พบเจอกับสิ่งใหม่ เหมือนกับการที่เอาผลงานของกิติก้องที่มีสีแตกต่างกันมาหลอมรวมให้เป็นผลงานอีกชิ้นที่มีสีใหม่ หรือการประกอบกันของผลงานที่อาจจะดูไม่เข้ากัน แต่มันกลับลงตัวเมื่อมีคนกล้าที่จะเอามันมาอยู่ด้วยกันได้ 

วันนี้สิ่งที่กิติก้องพยายามใช้งานศิลปะในการสื่อสาร นั่นคือความสลักสำคัญที่สูญหายหรือตกหล่นไปในระหว่างที่ชีวิต และเวลากำลังเดินหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง เหมือนกับกิติก้องที่เมื่อเป็นผู้ใหญ่กลับกังวลถึงความรับผิดชอบอันหนักอึ้ง จนหลงลืมไปว่าในอดีตเคยมีอิสระ ได้เล่นสนุก ได้ทดลองสิ่งใหม่ๆ มากขนาดไหน เช่นเดียวกับลูกชาย ที่ศิลปินคนนี้ต้องให้ความสำคัญไม่มากไปกว่าภาระที่ต้องรับผิดชอบในวัยที่เขาเป็นผู้ใหญ่ 

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่อยู่ภายในวงเล็บ ที่เขามองว่าสำคัญ​ หลายครั้งวงเล็บได้เตือนให้เราอย่าหลงลืม แต่เมื่อเราหลงลืมไปแล้ว บางครั้งมันไม่สามารถที่จะกลับมาแก้ไข หรือกลับมาเป็นแบบเดิมได้แล้ว

Fact Box

  • (Brackets) นิทรรศการล่าสุดของ กิติก้อง ติลกวัฒโนทัย สามารถเข้าชมได้ที่เอส เอ ซี แกลเลอรี (SAC Gallery) ชั้น 1 ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 11 มกราคม 2568 เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป
Tags: , , , , ,