สินค้าหลายอย่างมีวันหมดอายุปรากฏอยู่ที่บรรจุภัณฑ์

แต่สำหรับ ‘ความทรงจำ’ กลับไม่เป็นเช่นนั้น

หลายคนประสบกับการสูญสลายของความทรงจำไปเลยดื้อๆ เช้าสดใสในวันธรรมดา คุณอาจตื่นขึ้นมาโดยคำง่ายๆ ที่พูดมาทั้งชีวิตล่วงหล่นหาย ไร้สัญญาณเตือนก่อนหน้า

สำหรับ แม่แต๋ว-อัจฉรา นรินทรกุล ณ อยุธยา เริ่มต้นมีอาการของโรคนี้ในวัยจะเข้าเลข 7

6 ปีที่แล้ว จากค่อยๆ หลงลืมบางสิ่ง อาการของโรคเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ไปพร้อมกับความทรงจำที่ถดถอย ลูกชายอย่าง นินทร์ นรินทรกุล ณ อยุธยา ช่างภาพสายแฟชั่น เลือกกิจกรรมต่างๆ มาช่วยบำบัด (Occupational Therapy) ผ่าน 70YoungTeaw โปรเจกต์ใน Instagram ที่ชวนคุณแม่มาเขียนไดอารีบันทึกประจำวัน ลุกขึ้นมาแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าสีฉูดฉาดเก๋ไก๋ตามประสาแฟชั่นนิสต้า พาออกเดินเล่น 5-6 กิโลเมตรเพื่อบริหารกล้ามเนื้อ ไปจนถึงแสดงละครเวที เพื่อประคับประคองอาการของโรค

ขวบปีที่เพิ่มขึ้นสวนทางกับความสามารถต่างๆ ของคุณแม่ที่ลดหาย กิจกรรมต่างๆ ที่เคยทำได้จึงจำต้องเปลี่ยน รอบนี้นินทร์ชวนคุณแม่ทำกิจกรรมบำบัดรูปแบบใหม่อีกครั้ง ผ่านการ ‘วาดภาพ’

“คนที่สมองเสื่อม เมื่อเป็นแล้วไม่มีทางย้อนกลับ วิธีการคือทำยังไงก็ได้เพื่อดึงเขาไม่ให้ทรุดลงไปให้มากที่สุด สิ่งที่ทำคือพยายามทำกิจกรรม เป็นการพยายามนอกเหนือจากการรักษา” คือบางส่วนที่ผู้เป็นลูกเล่าให้ฟังในวันเปิดนิทรรศการ ‘สัตว์แม่ม / ANIMOMS’ ที่ Wallflowers Cafe ย่านซอยนานา เยาวราช

สถิติในปี 2564 ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมกว่า 57 ล้านคน โดยมากกว่า 60% อาศัยอยู่ในประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง และทุกปีจะมีผู้ป่วยใหม่เกือบ 10 ล้านคน

ขณะที่ประเทศไทยในวันที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัย (Aging Society) โรคสมองเสื่อมเป็นหนึ่งในปัญหาทางสุขภาพที่สำคัญของวัยเกษียณ ในปี 2565 กรมการแพทย์เผยว่า มีผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมกว่า 7.7 แสนคน และแม้ยังไม่มีสถิติปีล่าสุด แต่หากเทียบอัตราการเกิดโรคแล้วจะประมาณการได้ว่า วันนี้อาจมีผู้ป่วยเกิน 9 แสนคนในบ้านเรา

แม้วันนี้ทางการแพทย์ยังไม่สามารถรักษาโรคสมองเสื่อมให้หายขาดได้ แต่การดูแลอย่างต่อเนื่องและกิจกรรมที่เหมาะสมสามารถช่วยชะลออาการได้

หนึ่งในกิจกรรมที่ได้รับความนิยมในการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์คือ การบำบัดด้วยศิลปะ ผ่านกระบวนการที่ช่วยกระตุ้นความคิด ความจำ และอารมณ์ เพื่อให้ผู้ป่วยได้ขยับมือและฝึกสมาธิ

เฟรมผ้าใบกับสี 8 หลอด เป็นชุดอุปกรณ์เริ่มต้นของศิลปินใหม่วัยเก๋า ที่ลูกชายซื้อให้เพื่อนำมาใช้ทดลองในกิจกรรมบำบัดครั้งนี้ ตอนแรกเขาเพียงหวังใจให้คุณแม่ได้จับพู่กันวาดเส้นสายและระบายสี เพื่อดูความเข้าใจในการใช้สี ที่ผลพลอยได้คือการได้ขยับมือบ้างก็ยังดี

เขาชวน SZACK หรือเสกสรรค์ ทุมมัย ผู้เป็นทั้งเพื่อนสนิทและศิลปิน มารับหน้าที่เป็นผู้ช่วยคุณแม่ (อันที่จริง SZACK เคยมาพาแม่แต๋ววาดภาพดอกไม้แล้วรอบหนึ่งเมื่อ 2 ปีก่อนหน้า) โดยมีโจทย์คือ วาดภาพสัตว์อะไรก็ได้สักตัว ส่วนหนึ่งเพราะสัตว์เป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวทั้งในฐานะสัตว์เลี้ยงและพบเจอในชีวิตประจำวัน และแน่นอนว่า ยังคงอยู่ในความทรงจำแม่แต๋วไม่มากก็น้อย 

อีกส่วนหนึ่งคือ ด้วยเหตุผลเชิงกายภาพที่มีหน้า มีตา มีปาก เพื่อที่แม่จะทำความเข้าใจกับสิ่งเหล่านี้แล้วเชื่อมโยงกลับไปสู่อวัยวะของตัวเอง ยามที่ส่องกระจก แปรงฟัน หรือทาลิปสติก กลับกันหากเป็นงานในเชิงนามธรรม ไม่เป็นรูปร่าง ความเข้าใจของแม่แต๋วที่มีต่อสิ่งที่วาดอาจจะมีน้อยมากจนไม่เกิดประโยชน์

“รูปแรกคือรูปหมาป่าที่มีผ้าพันคอ” ลูกชายเล่าย้อนถึงผลงานชิ้นแรกที่สะท้อนให้เขาเห็นว่า คุณแม่ยังมีความเข้าใจถึงองค์ประกอบต่างๆ บนหน้าอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นตาและปาก รวมถึงยังไม่ทิ้งลายสาวแฟชั่นตัวแม่ ทั้งปากสีแดงและผ้าพันคอสุดเก๋ ช่วยจุดประกายความหวังว่า แม่แต๋วน่าจะทำงานลักษณะนี้ต่อได้

จากงานชิ้นเล็กขยายไปสู่เฟรมขนาดใหญ่ขึ้น หลังจากนั้นเหล่าสรรพสัตว์ต่างๆ จากฝีมือของแม่แต๋วจึงคลอดตามมาอีกหลายตัว ทั้งสัตว์ที่อยู่ใกล้ตัวในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงสัตว์ต่างถิ่นที่อยู่ห่างกันคนละซีกโลก

ทว่าหากหมุนเข็มนาฬิกากลับไป การจะชวนศิลปินที่ป่วยอัลไซเมอร์มาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะสักชิ้นไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก ด้วยอาการของโรคที่ทำให้อารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยนไปในแต่ละวัน ไม่อาจคาดเดาได้ล่วงหน้า ตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา กิจกรรมบำบัดนี้จึงต้องขึ้นอยู่กับอารมณ์ของศิลปินเป็นหลัก และนั่นหมายถึงเวลาอันมีค่าที่ต้องรีบคว้าไว้ ซึ่งก็โชคดีที่ผู้ช่วยศิลปินอย่าง SZACK ยินดีมาร่วมทำงานด้วยเสมอ ทันทีที่นินทร์นัดและแม่แต๋วพร้อม 

SZACK เล่าว่า เขาตั้งต้นโดยการใช้วิธีหยิบเรื่องราวของสัตว์ต่างๆ มาสร้างบทสนทนากับแม่แต๋วก่อนจะเริ่มลงมือร่างภาพและระบายสี ตั้งแต่คำถามง่ายๆ เพื่อกระตุ้นความทรงจำที่ยังพอหลงเหลืออยู่ เช่น

“อันนี้คือตัวอะไร”

“เคยเที่ยวสวนสัตว์ไหม”

“ชอบสัตว์อะไร”

“อยากได้สีอะไร”

“วันนี้ไปแอฟริกากันเถอะ ทวีปแอฟริกามีสัตว์อะไร มีสิงโต มียีราฟ แล้วยีราฟคอยาวไหม แม่ชอบอะไร”

เพื่อเป็นกุญแจในการปลดล็อกความทรงจำบางอย่างออกมา

ด้วยหน้าตาผลงานของแม่แต๋วที่ดูมินิมอล ทำให้นินทร์มองต่อไปว่า ในเฟรมยังสามารถเพิ่มเติมสัตว์และเรื่องราวของคนอื่นๆ เข้าไปได้อีก ประกอบกับเสียงจากคนรอบข้างว่าน่ามีคนอื่นๆ มาทำงานด้วย เขาจึงชวนเพื่อนๆ มาร่วมวาดรูปสัตว์ล้อไปกับงานของแม่แต๋วในโปรเจกต์นี้

ทั้ง สโรชพันธุ์ สุภาวรรณ์ เจ้าของร้านกาแฟย่านปากคลองตลาดที่แม่แต๋วปลื้ม กับผลงานรูปยีราฟสองตัวของเขากับแม่แต๋ว พร้อมบันไดวนและตัวเลขที่แทนถึงอายุที่เพิ่มขึ้น

พลอย จริยะเวช นักเขียน-นักแปล คอลัมนิสต์ และศิลปิน ที่มาแจมในผลงานเต่ากับกระต่ายแม่ม ด้วยการวาดเต่าตามสไตล์ของเธอเข้าไปอยู่คู่กับกระต่ายของแม่แต๋ว

รวมถึง กะตัง-ภพสรรค์ ธำรงค์พิพัฒน์ ศิลปินที่เคยทำงานนิทรรศการเรื่องผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ซึ่งเขาชวนคุณยายที่ป่วยเป็นโรคเดียวกันมาสร้างผลงานด้วย โดยการแต้มแต่งเจ้าเต่าทองแสนน่ารัก สัญลักษณ์ของความโชคดีจำนวน 70 ตัวเท่ากับอายุของแม่แต๋ว ลงไปในส่วนต่างๆ ของงาน

จนทำให้นิทรรศการครั้งนี้มีสัตว์มาแสดงด้วยกันถึง 12 ตัว เช่น หมาป่า ไก่ งู ยีราฟ เต่า กระต่าย เต่าทอง ไปจนถึงฮิปโปฯ หมูเด้ง แปรสภาพ Wallflowers Cafe จากคาเฟ่และที่แฮงเอาต์ กลายเป็นสวนสัตว์ขนาดย่อมที่แวดล้อมไปด้วยสัตว์นานาชนิด ออกมาวิ่งเล่นจากการฟื้นเสี้ยวความทรงจำของแม่แต๋ว

ถึงความทรงจำจะค่อยๆ สูญเสียจนอาจหมดไปไม่วันใดก็วันหนึ่ง แต่ภาพวาดสัตว์ต่างๆ ของแม่แต๋ว ก็เป็นเสมือนบันทึกช่วงเวลาอันมีความสุขที่ลูกได้ใช้เวลาร่วมกันในวันที่ยังพอหลงเหลือความจำ และเช่นกันกับนิทรรศการนี้ที่จะถูกบรรจุไปอยู่ในความทรงจำอันอบอุ่นของใครหลายคนที่มีโอกาสได้ชม

Fact Box

นิทรรศการ สัตว์แม่ม / ANIMOMS จัดแสดงที่ Wallflowers Cafe ย่านซอยนานา (เยาวราช) ตั้งแต่วันนี้ถึง 4 พฤษภาคม 2568 

Tags: , , , , , ,