นับแต่วันที่จักรพรรดินิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย (Tsar Nicolas II of Russia) เสด็จขึ้นครองราชย์ในปี 1894 ไม่มีใครล่วงรู้ว่า หลังจากนั้นอีก 23 ปี ชะตากรรมของราชวงศ์โรมานอฟจะดำเนินมาถึงจุดสิ้นสุด 

ในช่วงเวลาที่พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ขึ้นครองราชย์ สถานการณ์โลกเต็มไปด้วยความปั่นป่วน ทั้งการกระทบกระทั่งกันระหว่าง อังกฤษ รัสเซีย และเยอรมนี หรือการเผชิญกับสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ทำให้สภาพเศรษฐกิจของประเทศดิ่งลงเหว ไปพร้อมกับความวุ่นวายทางการเมืองทั้งภายนอกและภายใน ที่ทำให้ชาวรัสเซียต้องซื้อข้าวของอุปโภคบริโภคในราคาที่สูงกว่าปกติ ไหนจะสภาพเงินเฟ้อที่ยากจะควบคุม อัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่รัฐบาลยังคงยืนยันจะทำสงครามต่อไป 

การยืนยันสู้ต่อทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่พอใจรัฐบาลของตัวเอง ประกอบกับพรรคบอลเชวิกที่ปราศรัยโจมตีรัฐบาลอยู่ตลอดเวลา ทำให้ผู้คนออกมาประท้วงและเกิดการจลาจลตามเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ สหภาพแรงงานพยายามประสานงานกับเครือข่ายเพื่อนัดกันหยุดงาน มีมวลชนมาเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปรัฐบาล จนกลายเป็นชุมนุมใหญ่ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1917 ที่เรียกกันว่า ‘เหตุการณ์ปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์’ (February Revolution) 

เมื่อคนไม่พอใจมารวมตัวกันมากขึ้นเรื่อยๆ การประท้วงของพวกเขาทำให้รัฐบาลตัดสินใจสลายการชุมนุมด้วยวิธีการที่รุนแรงและเด็ดขาด เพื่อที่จะให้เรื่องนี้จบลงอย่างเร็วที่สุด แต่กลายเป็นว่าเมื่อรัฐใช้กำลัง ประชาชนที่ตกงานและเผชิญกับชีวิตที่ยากแค้นยิ่งโกรธเคืองมากกว่าเก่า พวกเขาคิดคำขวัญขึ้นมาใหม่และใช้เป็นสโลแกนการเคลื่อนไหว โดยมีคำว่า ‘ซาร์จงพินาศ’ (Down with the Czar) ที่มาจากความรู้สึกว่าชนชั้นสูงตัดสินใจโดยฟังแต่คำแนะนำของพรรคพวกกับรัสปูติน (Rasputin) แต่ไม่ฟังเสียงประชาชน และคำว่า ‘ขนมปัง’ (Bread) ซึ่งมาจากการเรียกร้องให้รัฐหยุดปันส่วนอาหาร หยุดทำให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหาร และถอนตัวออกจากสงครามเสียที 

การประท้วงทวีความรุนแรง ประชาชนเริ่มบุกยึดสถานที่ราชการ สถานีรถไฟ และคลังเก็บอาวุธของกองทัพ สาเหตุที่เข้าถึงสถานที่ราชการหลายแห่งได้ เป็นเพราะข้าราชการ ตำรวจ และทหาร หลายคนอยู่ในการชุมนุมประท้วง จนสามารถยึดเมืองเปโตรกราดได้สำเร็จ 

มีข่าวลือหนาหูว่าข้าราชบริพารบางคนเรียกร้องให้พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 จัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ วางแผนนโยบายการเมืองการปกครองใหม่เพื่อสยบความโกรธของประชาชน แต่พระองค์ยังคงเชื่อว่าการปราบปรามจะทำให้เหตุการณ์สงบลงได้ แต่ทุกอย่างไม่เป็นไปตามการคาดการณ์ จนทำให้คณะปฏิวัติบอลเชวิกและสมาชิกสภาดูมา ถวายคำแนะนำให้สมเด็จพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 สละราชสมบัติ

วันที่ 15 มีนาคม 1917 พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 สละราชสมบัติให้ ชาเรวิช อะเล็กเซ (Tsarevich Alexei) พระโอรส ก่อนเปลี่ยนใจมอบบัลลังก์ให้กับ แกรนด์ดยุก ไมเคิล อะเล็กซานโดรวิช (Grand Duke Michael Alexandrovich) พระอนุชา แต่ อะเล็กซานโดรวิช วิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยมองว่าประชาชนยังคงเกลียดชังราชวงศ์ จึงปฏิเสธราชบัลลังก์ ทำให้การปกครองของราชวงศ์โรมานอฟสิ้นสุดลง 

สมเด็จพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 และพระบรมวงศานุวงศ์ถูกกักบริเวณที่พระราชวังอะเล็กซานเดอร์ และนำตัวไปไว้ยังจวนผู้ว่าในเมืองโตบอลสก์ ก่อนย้ายไปยังเมืองเยคาเตรินบุร์ก และถูกกราดยิงทั้งครอบครัวในช่วงตี 1 ของวันที่ 17 กรกฎาคม 1918 เป็นอันสิ้นสุดราชวงศ์โรมานอฟ 

 

ภาพ: AFP

 

ที่มา:

https://www.theguardian.com/world/2017/mar/08/womens-protest-sparked-russian-revolution-international-womens-day 

https://www.smithsonianmag.com/history/russias-february-revolution-was-led-women-march-180962218/ 

Tags: , , , , , ,