ย้อนกลับไปวันนี้เมื่อปี 2451 ที่บ้านท่าโรงยา ตลาดพาหุรัด กรุงเทพมหานคร พันตรีหลวงเรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนะรัชต์) และจันทิพย์ ธนะรัชต์ ได้ให้กำเนิดเด็กชายสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ชายผู้อยู่ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย ในฐานะจุดเริ่มต้นของอำนาจเผด็จการที่กินเวลานานถึง 16 ปี

เรื่องราวเริ่มขึ้นในยุครัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งในขณะนั้นได้ใช้ยุทธศาสตร์การเมืองแบบ 3 เส้า มีจอมพล ป. เป็นทัพหน้า และมีมือซ้าย-มือขวาอย่าง พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ และจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก คอยทำงานอยู่ข้างกาย แต่ก็เป็นที่รู้โดยทั่วกันว่ามือซ้ายและขวาของรัฐบาลชุดนี้นั้น ‘ไม่กินเส้นกัน’

จนเมื่อ จอมพล ป. ดูเหมือนจะเลือกฝั่งพลตำรวจเอกเผ่ามากกว่า ถึงขั้นให้ ‘ซอยราชครู’ กลุ่มการเมืองเก่าแก่ ซึ่งเป็นญาติของพลตำรวจเอกเผ่า ไปตั้งพรรคเสรีมนังคศิลา เตรียมรับการเลือกตั้งในปี 2500 พร้อมส่งจอมพล ป. ขึ้นเป็นนายกฯ ตามวิถีทางประชาธิปไตย จึงกลายเป็นความขัดแย้งระหว่าง จอมพล ป. กับจอมพลสฤษดิ์ขึ้นมา

แม้พรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล ป. จะได้รับ ส.ส. มากเป็นอันดับหนึ่งในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 คือ 83 ที่นั่ง แต่ก็ได้รับการจารึกในประวัติศาสตร์ไว้ว่าเป็น ‘การเลือกตั้งสกปรก’ ส่งผลให้เกิดการเดินขบวนประท้วงของนิสิต-นักศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ก็เห็นดีเห็นงามกับขบวนประท้วงครั้งนี้ ถึงขั้นเปิดประตูทำเนียบรัฐบาลให้ม็อบเดินเข้าไป จนสามารถพูดได้เต็มปากว่า ณ ช่วงเวลานั้น เขาคือขวัญใจของประชาชนที่ต่อต้าน จอมพล ป. ไปโดยปริยาย

จนในวันที่ 15 กันยายน 2500 มีการชุมนุมประท้วงใหญ่ที่สนามหลวง เรียกร้องให้จอมพล ป. ลาออก และจบลงด้วยการเดินขบวนไปยัง ‘บ้านสี่เสาเทเวศร์’ ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ใช้เป็นบ้านพักอยู่ในเวลานั้น เพื่อให้จอมพลสฤษดิ์ออกมา ‘แก้วิกฤต’ ในวันต่อมา (16 กันยายน 2500) จอมพลสฤษดิ์เข้าทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจอย่างเป็นทางการ

ในช่วงแรก มีการประกาศให้ พจน์ สารสิน นักการทูต ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนจะให้มือขวาอย่าง พลโท ถนอม กิตติขจร ขึ้นเป็นนายกฯ แทน แต่ท้ายที่สุดจอมพลสฤษดิ์ก็ยึดอำนาจมาบริหารเองทั้งหมด และเป็นนายกฯ ยาวนาน 4 ปี จวบจนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมคาตำแหน่งในปี 2506

ตลอด 4 ปีของจอมพลสฤษดิ์ นอกจากจะมีการรวบอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ ผ่านการใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 17 ที่ให้การกระทำของนายกรัฐมนตรีเพื่อปราบปรามการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรหรือเพื่อรักษาความสงบ ให้ถือว่าเป็นไปโดย ‘ชอบด้วยกฎหมาย’ เสมอ ที่สำคัญ คือมีการเปลี่ยนวันชาติไทย จากวันที่ 24 มิถุนายน 2475 มาเป็นวันที่ 5 ธันวาคม วันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เพื่อลบมรดกของ ‘คณะราษฎร’ ฟื้นคืนอำนาจให้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นฝ่ายตรงข้ามของจอมพล ป. อีกครั้ง

และถึงแม้ จอมพลสฤษดิ์จะถึงแก่อสัญกรรมไปแล้ว ประเทศไทยยังคงตกอยู่ใต้การปกครองในระบอบเผด็จการอีกนานถึง 10 ปี และแม้จะมีการเลือกตั้งในปี 2512 แต่ในที่สุด จอมพลถนอมก็รัฐประหารตัวเอง เมื่อเกิดความขัดแย้งกับสภาผู้แทนราษฎร

โดยประชาชนต้องรอจนถึงวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ประเทศไทยถึงได้หลุดพ้น ‘การเมืองแบบจอมพลและการเมืองแบบเผด็จการ’ ในวันที่จอมพลถนอมและบริวารต้องเดินทางออกนอกประเทศ ซึ่งกินเวลานานถึง 16 ปี

Tags: , , ,