หลังเหตุการณ์ความรุนแรงในเดือนพฤษภาคม 2535 จบลงไม่ถึง 5 เดือน รัฐบาล อานันท์ ปันยารชุน ซึ่งเข้ามาขัดตาทัพ ภายหลัง พลเอก สุจินดา คราประยูร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป เพื่อคืน ‘ประชาธิปไตย’ ให้กลับมาเต็มใบอีกครั้ง

การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งแรก หลังจากคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) คณะทหารซึ่งยึดอำนาจเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 พ่ายแพ้อย่างหมดท่า จากการลากอาวุธหนักออกมายิงประชาชนในเดือนพฤษภาคม 2535 การเลือกตั้งรอบนี้เป็นเรื่องของ ‘นักการเมือง’ โดยสมบูรณ์ โดยเฉพาะการแบ่งขั้วโดยใช้ ‘แนวคิด’ ว่า พรรคไหนเคยสนับสนุนการให้พลเอกสุจินดา เป็นนายกฯ พรรคนั้น เป็น ‘พรรคมาร’ และพรรคไหนสนับสนุนประชาชนในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 พรรคนั้นเป็น ‘พรรคเทพ’

สำหรับพรรคมาร นำโดยพรรคชาติไทย ซึ่งมี พลตำรวจเอก ประมาณ อดิเรกสาร เป็นหัวหน้า พรรคประชากรไทยของ สมัคร สุนทรเวช รวมถึงพรรคกิจสังคม และพรรคราษฎร ส่วนฟากฝั่งพรรคเทพ นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ พรรคความหวังใหม่ พรรคพลังธรรม และพรรคเอกภาพ

แน่นอน เมื่อพรรคเทพต้องแข่งกันเอง พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมี ชวน หลีกภัย เป็นหัวหน้าพรรค ได้ชูภาพชวน พร้อมกับคำขวัญ “ผมเชื่อมั่นในระบอบรัฐสภา” ซึ่งแปลอีกนัยหนึ่งได้ว่า ไม่เห็นด้วยกับการเมืองที่ต้อง ‘ลงถนน’ ในแบบของ พลตรี จำลอง ศรีเมือง หัวหน้าพรรคพลังธรรม ซึ่งนำมวลชนจำนวนมากไปขับไล่พลเอกสุจินดา กระทั่งเกิดความรุนแรง มีผู้คนบาดเจ็บ-ล้มตายจำนวนมาก ขณะที่วลี “จำลองพาคนไปตาย” ก็ไม่ได้เกิดจากที่อื่น หากแต่เกิดจากเวทีหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์นั่นเอง

ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้รับเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 ด้วยจำนวน ส.ส. 79 คน เฉือนชนะพรรคชาติไทยไป ที่ได้ ส.ส. 77 คน ไป 2 เสียง พรรคชาติพัฒนา ซึ่งแยกตัวจากพรรคชาติไทย และมี พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นหัวหน้า ได้ ส.ส. 60 คน พรรคความหวังใหม่ของ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ได้ ส.ส. 51 คน และพรรคพลังธรรมได้ ส.ส. 47 คน

ที่น่าสังเกตก็คือ พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส. เพิ่มขึ้นทุกภาค โดยมี ส.ส.ในกรุงเทพฯ เพิ่มจาก 1 ที่นั่ง เป็น 9 ที่นั่ง ภาคกลางได้ 9 ที่นั่ง ภาคเหนือจาก 5 เป็น 8 ที่นั่ง ภาคอีสานจาก 12 ที่นั่ง เป็น 17 ที่นั่ง ภาคใต้จาก 26 ที่นั่ง กลายเป็น 36 ที่นั่ง แทบจะยึดทั้งภาคใต้ สะท้อนปรากฏการณ์ ‘ชวนฟีเวอร์’ ได้เป็นอย่างดี

ประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคความหวังใหม่ พรรคพลังธรรม พรรคเอกภาพ และพรรคกิจสังคม แต่ดำรงสถานะรัฐบาลได้เพียง 2 ปีเศษ ก็เกิดปัญหาจากการจัดสรรที่ดินตามโครงการ สปก.4-01 ซึ่งผู้ที่ได้รับที่ดินควรจะเป็น ‘เกษตรกร’ ที่นำที่ดินไปเพาะปลูก ทำการเกษตร แต่ผู้รับผิดชอบโครงการในเวลานั้นอย่าง สุเทพ เทือกสุบรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กลับนำที่ดินไปจัดสรรให้กับผู้มีอิทธิพล-เศรษฐี โดยเฉพาะเศรษฐีในจังหวัดภูเก็ต 10 ตระกูล

เดือนพฤษภาคม 2538 ฝ่ายค้าน นำโดยพรรคชาติไทยเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลชวน ระหว่างวันที่ 16-17 พฤษภาคม 2538 และตามมาด้วยการถอนตัวออกจากรัฐบาลของพรรคพลังธรรม เพราะเห็นว่ารัฐบาลตอบข้อกล่าวหาได้ไม่ชัดเจน ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2538 ชวนจึงประกาศ ‘ยุบสภา’ ทันที

หลังจากนั้น พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่เคยชนะการเลือกตั้งอีกเลย…

– การเลือกตั้งในปี 2538 พรรคชาติไทยชนะประชาธิปัตย์ไปได้ 92 ต่อ 86 เสียง

– การเลือกตั้งในปี 2539 พรรคความหวังใหม่ชนะไปได้ 125 ต่อ 123 เสียง

– การเลือกตั้งในปี 2544 พรรคไทยรักไทยชนะพรรคประชาธิปัตย์ 248 ต่อ 128 เสียง

– การเลือกตั้งในปี 2548 พรรคไทยรักไทยชนะพรรคประชาธิปัตย์ 377 ต่อ 96 เสียง

– การเลือกตั้งในปี 2550 พรรคพลังประชาชนชนะพรรคประชาธิปัตย์ 233 ต่อ 68 เสียง

– การเลือกตั้งในปี 2554 พรรคเพื่อไทยชนะพรรคประชาธิปัตย์ 265 ต่อ 159 เสียง

– การเลือกตั้งในปี 2562 พรรคประชาธิปัตย์กลายเป็นพรรคอันดับ 4 ได้รับเลือกตั้งเพียง 53 คน

ภายหลังจากพลเอกชวลิตประกาศ ‘ลาออก’ จากตำแหน่งนายกฯ ภายหลังเกิดเหตุการณ์ ‘ลดค่าเงินบาท’ และเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 ชวนก็มีโอกาสกลับมาเป็นนายกฯ อีกรอบ

ตอนนั้น พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับ 2 แข่งกันจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคชาติพัฒนา ซึ่งอยู่ในขั้วรัฐบาลเดิม ทว่าเสียงของประชาธิปัตย์ก็ยังไม่เพียงพอ เสียงของฝ่ายรัฐบาลเดิมอยู่ที่ 197 เสียง และเสียงของฝ่ายค้านอยู่ที่ 196 เสียง

ด้วยเหตุนี้ พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ เลขาธิการพรรค จึงไปดึง ส.ส.จากพรรคประชากรไทย ซึ่งอยู่ในขั้วรัฐบาล และกำลังจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคชาติพัฒนามา 13 คน เป็นผลให้ประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ และเป็นต้นกำเนิดของคำว่า ‘งูเห่า’ ในสารบบการเมืองไทย

นั่นทำให้ประชาธิปัตย์ในสมัยของชวนนั้น แม้จะเลือกตั้งชนะเพียงครั้งเดียว แต่ก็ทำให้เขาได้เป็นนายกฯ ถึง 2 รอบ

จนถึงวันนี้ ผ่านมา 29 ปี ก็ยังคงไม่มีครั้งไหนที่พรรคประชาธิปัตย์ใกล้เคียงกับชัยชนะในสนามเลือกตั้งใหญ่แม้แต่ครั้งเดียว และหากดูจากคะแนนเสียงที่แล้วมา ก็ไม่เคยมีครั้งใดใกล้เคียงกับคำว่า ‘ชนะ’ เสียด้วยซ้ำ…

Tags: , , ,