เชื่อว่าหลายคนคงเคยตั้งคำถามถึงความสำคัญของหนังสือเล่มในยุคดิจิทัลกันอยู่บ้างว่ามันยังจำเป็นแค่ไหนในโลกที่เราค้นข้อมูลกันได้ง่ายๆ เพียงแค่คลิกเมาส์ไม่กี่ครั้ง? ทว่าการเกิดขึ้นของร้านหนังสือ ‘Open House Bookshop by HARDCOVER’ ซึ่งตั้งอยู่ในโครงการ Open House บนชั้น 6 ของศูนย์การค้า Central Embassy ก็เหมือนกับเป็นการตอบคำถามดังกล่าว และยืนยันถึงความสำคัญของหนังสือเล่มผ่านคอนเซ็ปต์ของร้านหนังสือแห่งนี้ — ‘Celebration of Print Culture’

เซฮันโด (Seihandō)—หนังสือเก่าหายากจากทั่วโลก

เมื่อได้พูดคุยกับ เชน สุวิกะปกรณ์กุล เจ้าของร้านผู้คัดเลือกหนังสือแต่ละเล่มมาจัดวางและจำหน่ายในพื้นที่ดังกล่าวด้วยตัวเอง ก็ทำให้เรามองเห็นคุณค่าและมูลค่าของหนังสือเล่มมากขึ้น โดยเฉพาะหนังสือหายากในโซนพิเศษของร้าน ซึ่งคุณเชนตั้งชื่อมันว่า ‘เซฮันโด’ (Seihandō, 精版堂) แปลว่า The Hall of Hardcover Books อันเป็นที่รวมของหนังสือหายากซึ่งนักสะสมต่างขวนขวายหามาครอบครอง

ชุดหนังสือเซฮันโดนั้นประกอบด้วยหนังสือหลายประเภท ไล่เรียงมาตั้งแต่หนังสือวิชาการอ่านยาก หนังสือศิลปะ หนังสือประวัติศาสตร์ ไปจนถึงหนังสือภาพถ่ายแฟชั่น โดยหนังสือทุกประเภทมีจุดร่วมเดียวกัน คือมีเนื้อหาเป็นที่ต้องการของวงการต่างๆ สามารถใช้เป็นหนังสืออ้างอิง (Reference Book) ได้ เป็นข้อมูลเชิงลึกที่ส่วนใหญ่ไม่สามารถเสิร์ชหาได้ในโลกออนไลน์

“เป้าหมายหลักของพื้นที่ตรงนี้คือเราอยากยืนยันว่าวัฒนธรรมสิ่งพิมพ์ไม่เคยหายไปและจะไม่ตาย มีแต่จะยิ่งดีขึ้นด้วยซ้ำ เพราะเทคโนโลยีการพิมพ์พัฒนาอยู่ตลอด” คุณเชนย้ำก่อนจะหยิบหนังสือบางเล่มบนชั้นส่งให้เราดู

คุณค่าของหนังสือเก่าหายากคือความประณีตในระดับงานฝีมือ

หนังสือปกแข็งสีน้ำเงินแก่ พิมพ์ชื่อด้วยตัวอักษรสีทองว่า Chinese Characteristics โดย Arthur Henderson Smith ตีพิมพ์ในปี 1894 นอกจากอายุอานามที่มากโข ความพิเศษของหนังสือเล่มนี้ยังอยู่ที่ความประณีตของการจัดทำเนื้อหา ซึ่งเป็นการรวบรวมวัฒนธรรมของชาวจีนเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ถ่ายทอดผ่านมุมมองของชาวอเมริกันที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินจีนออกมาเป็นตัวหนังสือสองภาษา ทั้งอังกฤษและจีน สอดแทรกด้วยภาพประกอบวาดด้วยมือในทุกหน้า

คุณเชนชวนให้เรานึกถึงสมัยที่ยังไม่มีคอมพิวเตอร์ ผู้พิมพ์ต้องจับตัวอักษรทีละตัวมาวางต่อเป็นคำ จนครบประโยคและกลายเป็นหน้า แล้วจึงนำไปพิมพ์บนกระดาษต้นฉบับก่อนนำมาเข้าเล่มเป็นหนังสือ ยิ่งหากเป็นหนังสือสองภาษา ผู้พิมพ์จะต้องสลับการเรียงตัวอักษรแต่ละภาษาในทุกหน้า ซึ่งต้องใช้เวลาและสมาธิคูณสอง

เขาเสริมด้วยว่าสาเหตุที่สำนักพิมพ์ยุคก่อนนิยมพิมพ์หนังสือปกแข็งมากกว่าปกอ่อนก็เพราะมันเก็บรักษาได้นานและเรียกคืนต้นทุนการพิมพ์ได้เร็วกว่า หนังสือเก่าหายากส่วนมากจึงเป็นหนังสือปกแข็งดีไซน์สวยดังตัวอย่างที่เรียงรายอยู่ตรงหน้าของเรา

คุณค่าของหนังสือเก่าจึงไม่ได้มีเพียงแค่ ‘อายุ’ แต่ยังมีความใส่ใจในการผลิตเพื่อส่งต่อองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งบางครั้งอาจไม่สมบูรณ์แบบเหมือนกับการใช้เครื่องจักร ทว่าเต็มเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ของงานฝีมือและศาสตร์ของการพิมพ์ ซึ่งไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย หนังสือเก่าก็ยังเป็นสิ่งที่น่าหลงใหลไม่เสื่อมคลาย

Tags: , ,