ถ้าเป็นจริงตามรายงานข่าว ที่ว่าจีนไม่ยอมให้ผู้บริหารฮ่องกงตอบสนองข้อเรียกร้องของผู้ประท้วง มิหนำซ้ำยังแนะนำให้กวาดจับนักกิจกรรม นั่นทำให้เกิดคำถามว่า ปักกิ่งบิดพลิ้วหลักความเป็นอิสระของฮ่องกงภายใต้อธิปไตยจีน ใช่หรือไม่

ข้อแคลงใจนี้จะยิ่งปลุกเร้าชาวฮ่องกง โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว ให้แสวงหาความเป็นตัวตนที่ปลีกแยกจากจีนแผ่นดินใหญ่หรือเปล่า กลายเป็นคำถามที่ตามมา

รายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ กับหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ ให้ภาพชัดเจนว่า จีนมีบทบาทอย่างมากในกระบวนการตัดสินใจทางนโยบายของแคร์รี หลำ เราจึงได้เห็นผู้บริหารเกาะฮ่องกงยืนกรานปฏิเสธข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมมาโดยตลอด ขณะที่ตำรวจเปิดปฏิบัติการกวาดจับนักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยเมื่อวันศุกร์ (30 ส.ค.)

ตอนที่ฮ่องกงกลับเป็นของจีนเมื่อปี 1997 รัฐบาลปักกิ่งให้คำมั่นกับหลักการ ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ ที่รับรองว่า ฮ่องกงจะยังคงมีวิถีชีวิตตามสถานะเดิม และเขตปกครองพิเศษของจีนแห่งนี้จะยังคงใช้ระบบทุนนิยมได้ต่อไปอีก 50 ปี

การเข้ายุ่งเกี่ยวในกิจการของฮ่องกง ตอกย้ำข้อวิจารณ์ของฝ่ายประชาธิปไตยที่ว่า รัฐบาลของแคร์รี หลำ เป็นแค่หุ่นเชิดของจีน คำว่า ‘สองระบบ’ ถูกปักกิ่งบิดเบือน

‘อย่าโอนอ่อนผ่อนปรน’

รอยเตอร์อ้างแหล่งข่าววงใน ทั้งในรัฐบาลฮ่องกงและรัฐบาลปักกิ่ง รายงานว่า ผู้บริหารฮ่องกงเสนอแนวคิดที่จะตอบสนองข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมบางข้อตั้งแต่เดือนมิถุนายนแล้ว แต่จีนไม่เห็นด้วย

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า แคร์รี หลำ ได้เสนอรายงานฉบับหนึ่งในการหารือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายจีนที่เมืองเสิ่นเจิ้น โดยชี้ว่า ถ้ารัฐบาลฮ่องกงยอมตามผู้ชุมนุม 2 ข้อ คือ ถอนร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนออกจากสภานิติบัญญัติ และจัดตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นไต่สวนเหตุการณ์ตำรวจใช้กำลังกับผู้ชุมนุม สถานการณ์ประท้วงน่าจะผ่อนคลาย

ส่วนข้อเรียกร้องที่จะต้องมีการแก้ไขกฎหมาย คือ ขอสิทธิเลือกตั้งรัฐบาลอย่างเป็นประชาธิปไตย และข้อเรียกร้องที่เกี่ยวโยงกับการบังคับใช้กฎหมาย คือ ขอให้เลิกเรียกการประท้วงว่า ‘เหตุจลาจล’ กับขอให้ยกเลิกข้อหาต่างๆ ของคนที่ถูกจับกุมหลายร้อยคนนั้น รายงานไม่ได้เสนอให้ตอบรับ

แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของจีน บอกว่า รายงานฉบับนี้นำเสนอต่อกลุ่มประสานงานกลางสำหรับกิจการฮ่องกงและมาเก๊า ที่มี ฮั่นเจิง กรรมการในคณะกรรมการประจำของกรมการเมือง พรรคคอมมิวนิสต์จีน เป็นประธาน ซึ่งประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ได้รับรายงานฉบับนี้แล้ว

จุดยืนของจีนก็คือ ปฏิเสธข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อ

นับแต่นั้นมา ปักกิ่งแสดงท่าทีแข็งกร้าวยิ่งขึ้น เช่น กระบอกเสียงของรัฐบาลจีนเรียกการประท้วงว่า ‘การก่อการร้าย’ เน้นเสนอภาพผู้ประท้วงปะทะตำรวจ พร้อมปลุกความรู้สึกชาตินิยมในหมู่ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ขณะเดียวกัน ตำรวจกึ่งทหารของจีนจัดให้มีการชุมนุมพลและการฝึกในเมืองเสิ่นเจิ้น จนกระทั่งถึงเหตุการณ์จับกุมนักกิจกรรม

กวาดจับพวกหัวโจก

นิวยอร์กไทมส์อ้างแหล่งข่าวรัฐมนตรีในรัฐบาลฮ่องกง และบุคคลสำคัญในฮ่องกงที่นิยมจีน รายงานว่า จีนและรัฐบาลฮ่องกงตัดสินใจใช้นโยบายกวาดจับนักเคลื่อนไหวตัวหลักๆ โดยเลือกที่จะใช้กลไกตำรวจ ไม่ใช้ทหาร

เหลา ซิวไค รองประธานสมาคมกิจการฮ่องกงและมาเก๊าของจีน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ปรึกษาที่จีนจัดตั้งขึ้น บอกว่า

ด้วยกลยุทธ์ที่ว่านี้ ทางการคาดหมายว่า การประท้วงจะค่อยๆ ฝ่อลง สาธารณชนจะเห็นคล้อยกับฝ่ายรัฐบาลที่จัดการกับพวกทำผิดกฎหมายที่ทำให้บ้านเมืองเสียหาย

เหลา ซึ่งให้คำแนะนำแก่จีนเกี่ยวกับนโยบายฮ่องกงมานานหลายปี บอกว่า เมื่อจีนส่งสัญญาณสนับสนุนตำรวจฮ่องกงเช่นนี้ ทำให้เจ้าหน้าที่มีกำลังใจขึ้นมาก และพร้อมที่จะปิดฉากการประท้วงลงให้จงได้

นโยบายนี้เป็นที่มาของการจับกุมโจชัว หว่อง แกนนำขบวนการร่มเมื่อปี 2014 , แอกเนส โจว ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคเดโมซิสโตกับหว่อง, แอนดี ชาน แกนนำพรรคฮ่องกงเนชั่นแนล พรรคการเมืองแนวเรียกร้องเอกราชที่มีสมาชิกไม่กี่สิบคน ซึ่งถูกศาลสั่งยุบพรรคเมื่อปีที่แล้ว, ริค ฮุย สมาชิกสภาเทศบาล นักรณรงค์ประชาธิปไตย, และอัลเธีย ซวน อดีตผู้นำนักศึกษา

นอกจากนักกิจกรรมแล้ว ตำรวจยังจับกุมสมาชิกสภานิติบัญญัติอีก 3 คน คือ เช็ง ชุงไต, อ่าว นกฮิน และเจเรมี ทัม โดยบางคนโดนข้อหาขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน บางคนถูกพ่วงข้อหาทำร้ายเจ้าหน้าที่

นับแต่เดือนมิถุนายน มีผู้ประท้วงถูกจับกุมไปแล้วกว่า 900 คน แต่การประท้วงยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติ

กลยุทธ์กวาดจับจะขยายวงออกไปอย่างเป็นระบบหรือเปล่า คดีความและคุกตะราง อย่างที่โจชัว หว่อง เคยถูกคุมขังมาแล้ว จะสามารถสยบคลื่นการประท้วงที่ยกระดับเป็นการเรียกร้องประชาธิปไตย พร้อมกับมีนัยต่อต้านจีนโดยปริยาย ได้หรือไม่

นี่คือ ฉากสถานการณ์ ที่ต้องเฝ้าติดตาม.

 

อ้างอิง:

New York Times, 30 August 2019

Reuters, 30 August 2019

AFP, 30 August 2019

ภาพ: REUTERS/Danish Siddiqui

Tags: , , ,