สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for the Conservation of Nature – IUCN) เปิดเผยเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. ว่าพื้นที่ในมหาสมุทรกว่า 700 แห่งทั่วโลกมีปริมาณออกซิเจนในน้ำต่ำจนอยู่ในจุดอันตราย เพิ่มขึ้นอย่างมากจากการสำรวจในช่วงทศวรรษที่ 1960 มีเพียง 45 แห่งเท่านั้น หน่วยงานด้านการอนุรักษ์แห่งนี้ยังระบุว่าการลดลงของปริมาณออกซิเจนในมหาสมุทรที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก และปัญหามลพิษ เป็นความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสัตว์ทะเล การประมง และ ชุมชนชายฝั่ง
มินนา เอปส์ (Minna Epps) ผู้อำนวยการโครงการด้านมหาสมุทรและขั้วโลก ของ IUCN กล่าวกับสำนักข่าวอัลจาซีราว่า พบว่าปริมาณออกซิเจนในมหาสมุทรทั่วโลกลดลงร้อยละ 2 ตัวเลขนี้อาจจะดูเล็กน้อย แต่อาจจะส่งผลกระทบต่อเนื่องอย่างมหาศาล เพราะการลดลงของออกซิเจนจะส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ปริมาณของสายพันธุ์สัตว์ทะเลที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ และ สายพันธุ์สัตว์ทะเลที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ซึ่งจะส่งผลกระทบกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ด้วย โดยขณะนี้ได้พบการอพยพของสายพันธุ์สัตว์ทะเลเพราะปัญหานี้
นอกจากนี้ จำนวนจุดที่เรียกกันว่า Dead Zone หรือ จุดที่แทบจะไม่มีออกซิเจนในน้ำเลยยังเพิ่มขึ้นถึงสี่เท่าตัว ในช่วงเวลาเพียงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาด้วย
รายงานระบุว่าการสูญเสียออกซิเจนในมหาสมุทรเป็นภัยคุกคามต่อสายพันธุ์ปลาหลายชนิด ทั้งปลาทูน่า ปลามาร์ลิน และ ฉลาม ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของปริมาณออกซิเจน เนื่องจากเป็นปลาขนาดใหญ่ และต้องใช้พลังงานมาก ทำให้สายพันธุ์เหล่านี้ต้องขึ้นมาอาศัยอยู่ใกล้ผิวน้ำมากขึ้นเพื่อหาออกซิเจน เป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการตกเป็นเหยื่อของการทำประมงเกินขนาด
ด้วยแนวโน้มในปัจจุบัน คาดว่ามหาสมุทรทั่วโลกจะสูญเสียออกซิเจนลงร้อยละ 3-4 ในปี 2100 อย่างไรก็ดี คาดว่าการสูญเสียออกซิเจนจะเกิดขึ้นที่ระดับน้ำ 1,000 เมตร (3,281 ฟุต) ขึ้นไป ซึ่งเป็นระดับน้ำที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุด รายงานยังได้เตือนว่าการลดลงของออกซิเจนในมหาสมุทรยังอาจส่งผลต่อการหมุนเวียนของก๊าซที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตบนโลกอย่างไนโตรเจน และฟอสฟอรัส อีกด้วย
รายงานยังได้สรุปว่า การขาดออกซิเจนส่งผลให้สมดุลของสายพันธุ์สัตว์ทะเลเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยแม้จะไปเพิ่มจำนวนสิ่งมีชีวิตที่อาศัยออกซิเจนน้อย เช่น จุลินทรีย์บางชนิด แมงกะพรุน และปลาหมึกบางชนิด แต่กำลังส่งผลกระทบกับสัตว์น้ำประเภทปลา ซึ่งส่งผลเสียกับทั้งห่วงโซ่อาหาร ทั้งนี้ ระบบนิเวศที่เกื้อหนุนกับการทำประมงถึงหนึ่งในห้าของโลกเกิดขึ้นจากการไหลเวียนของกระแสน้ำในมหาสมุทร ที่กำลังเผชิญกับปัญหาการไหลเวียนของน้ำที่ออกซิเจนต่ำเข้าสู่ชายฝั่ง ซึ่งเป็นบริเวณที่มีความเสี่ยงสูงต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ แม้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของปริมาณออกซิเจนเพียงน้อยนิด
“ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะส่งผลอย่างมหาศาล และกระทบกับชีวิตคนหลายร้อยล้านคน” IUCN ระบุเพิ่มเติม
นอกจากนี้ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกยังระบุว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมนุษย์ยังทำให้มหาสมุทรมีความเป็นกรดมากขึ้นกว่าก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมถึงร้อยละ 26
“การลดลงของออกซิเจนในมหาสมุทรกำลังคุกคามระบบนิเวศของท้องทะเล ซึ่งกำลังเผชิญกับสภาวะโลกร้อน และสภาพการเป็นกรดมากขึ้นอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว การหยุดยั้งการขยายตัวของบริเวณมหาสมุทรที่ขาดออกซิเจน มนุษย์จะต้องมุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง ควบคู่กับลดการปล่อยมลพิษจากการทำเกษตรกรรม และจากแหล่งอื่นๆ” แดน ลาฟโฟเลย์ (Dan Laffoley) ที่ปรึกษาอาวุโสด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลของ IUCN กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา:
ภาพ: David Gray / Reuters
Tags: ทะเล, มหาสมุทร, สัตว์ทะเล, สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง, ออกซิเจน