ไวรัสนิปาห์ (Nipah virus) ซึ่งระบาดในเมืองโคซิโคด (Kozhikode) รัฐเกรละ (Kerala) ประเทศอินเดียเมื่อกลางเดือนพฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา ไม่ใช่ไวรัสที่เพิ่งอุบัติใหม่ แม้ว่าชื่อจะไม่คุ้นหูก็ตามที
จากรายงานขององค์การอนามัยโลกเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน มีผู้เสียชีวิตแล้ว 17 ราย จากจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อไวรัสชนิดนี้แล้วทั้งหมด 18 ราย นับว่ามีอัตราตายสูงมากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่การระบาดครั้งก่อนๆ มีผู้เสียชีวิตต่ำกว่า คืออยู่ระหว่าง 40-75 เปอร์เซ็นต์ (ต่ำแล้วใช่ไหม) แต่ก็เป็นข้อดีอย่างหนึ่ง ตรงที่ทำให้สามารถควบคุมการระบาดได้ง่าย
มีรายงานการติดเชื้อรายใหม่ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม และผู้เสียชีวิตรายล่าสุดเมื่อวันที่ 29 เดือนเดียวกัน หากนับต่อจากวันที่ผู้ป่วยเสียชีวิตอีก 45 วัน แล้วยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่อีก ก็จะสามารถประกาศได้ว่าการระบาดสิ้นสุดลงแล้ว
ไวรัสนิปาห์: ประวัติการอุบัติ
ย้อนกลับไป 20 ปีก่อนปลายเดือนกันยายน 2541 โรคไข้สมองอักเสบได้ระบาดที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในรัฐเปรัก (Perak) ทางฝั่งตะวันตกของประเทศมาเลเซียจนถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ปีถัดมา ระหว่างนั้นในเดือนธันวาคม 2541 ก็มีการระบาดของโรคคล้ายกันในรัฐเนอเกอรีเซิมบีลัน (Negeri Sembilan) อีกรัฐหนึ่ง หนึ่งในนั้นคือหมู่บ้านสุไหงนิปาห์ (Kampung Sungai Nipah) (เริ่มคุ้นชื่อแล้วรึยังครับ)
ตอนแรกผู้ป่วยเหล่านั้นได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อไวรัสไข้สมองอักเสบเจอี (JE: Japanese encephalitis) เพราะผลการตรวจเลือดผู้ป่วย 4 ใน 28 ราย พบภูมิคุ้มต่อเชื้อไวรัสชนิดนี้ จึงมีการกำจัดยุงรำคาญซึ่งเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสเจอีมาสู่คน อีกทั้งยังมีการฉีดวัคซีนเจอีให้กับคนที่ยังไม่ติดเชื้อด้วย
ทว่าเหตุการณ์กลับเลวร้ายลง ยิ่งเวลาผ่านไปยิ่งมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ชายวัยทำงาน ต่างจากการติดเชื้อไวรัสเจอีที่มักจะเกิดในกลุ่มเด็ก และอัตราการติดเชื้อในครัวเรือนเดียวกันกลับมากถึง 33 เปอร์เซ็นต์ แทนที่จะเป็น 1 ใน 300 รายในกรณีที่เป็นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเจอี
‘ยุงรำคาญ’ จึงกลายเป็น ‘แพะ’ ในขณะที่ผู้ร้ายตัวจริงคือ ‘หมู’ เพราะเมื่อซักประวัติย้อนกลับไป ผู้ป่วยส่วนใหญ่เคยสัมผัสหมูมาก่อนที่จะป่วย ประกอบกับช่วงนั้นยังมีสัตว์ป่วยตายจำนวนมาก โดยเฉพาะหมูในฟาร์มซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของหมู่บ้านแรกที่เกิดการระบาด
ข้อสังเกตที่สำคัญคือโรคไข้สมองอักเสบชนิดนี้ไม่มีการระบาดในหมู่บ้านของชาวมลายูเลย แม้ว่าจะตั้งอยู่ใกล้กับหมู่บ้านชาวจีนที่ป่วยเป็นโรคระบาดใหม่ก็ตามที ทั้งนี้เพราะคนมลายูนับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งมีข้อห้ามสัมผัสหรือรับประทานเนื้อหมูอย่างเรารับรู้กันดี
‘ยุงรำคาญ’ จึงกลายเป็น ‘แพะ’ ในขณะที่ผู้ร้ายตัวจริงคือ ‘หมู’ เพราะเมื่อซักประวัติย้อนกลับไป ผู้ป่วยส่วนใหญ่เคยสัมผัสหมูมาก่อนที่จะป่วย
เดือนมีนาคม 2542 นักไวรัสวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยมลายูสามารถเพาะแยกเชื้อไวรัสได้เป็นผลสำเร็จ หน้าตาของมันคล้ายกับไวรัสในวงศ์ Paramyxoviridae กลุ่มเดียวกับเชื้อก่อโรคคางทูม หัด และไวรัสอาร์เอสวี (RSV: Respiratory syncytial virus) ซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับไวรัสเจอีอย่างสิ้นเชิง และได้ตั้งชื่อไวรัสตามชื่อหมู่บ้านแหล่งที่มาของตัวอย่างที่เพาะแยกเชื้อได้ จากการวิเคราะห์ทางพันธุกรรมพบว่ามีความใกล้เคียงกับไวรัสเฮนดรา (Hendra virus)-เชื้อก่อโรคทางเดินหายใจม้า
เมื่อเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าหมูเป็นสาเหตุของการระบาดในครั้งนี้ จึงมีปฏิบัติการกำจัดหมูในฟาร์มที่ติดเชื้อไปกว่าหนึ่งล้านตัว ต่อมาได้มีการสุ่มตรวจหาเชื้อในฟาร์มหมูแห่งอื่นทั่วประเทศ หากตรวจพบไวรัสนิปาห์มากกว่าสามตัวอย่าง หมูในฟาร์มแห่งนั้นและฟาร์มในรัศมี 500 เมตรก็จะถูกกำจัดไปด้วย
ปฏิบัติการนี้กินเวลาทั้งหมด 3 เดือนถึงสามารถควบคุมการระบาดไว้ได้ทั้งหมด ผู้ป่วยเสียชีวิตรายสุดท้ายในเดือนพฤษภาคม 2542 รวมจำนวนผู้เสียชีวิต 105 รายจากจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด 265 ราย
ระหว่างที่ยังมีการแพร่ระบาดของโรคไข้สมองอักเสบในมาเลเซีย ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2542 ที่ประเทศสิงคโปร์ก็มีการระบาดเช่นกัน โดยผู้ป่วยทั้งหมด 11 รายทำงานในโรงชำแหละหมูที่นำเข้ามาจากมาเลเซีย ทางการสิงคโปร์จึงมีคำสั่งงดนำเข้าหมู และเนื้อหมูจากมาเลเซียนับตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน การระบาดสิ้นสุดลงกลางเดือนมีนาคม 2542 โดยมีผู้เสียชีวิตหนึ่งราย สรุปการระบาดของไวรัสนิปาห์ทั้งคาบสมุทรมลายูในครั้งนั้นมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 38 เปอร์เซ็นต์
ในเวลาต่อมา มีการค้นพบว่าค้างคาวแม่ไก่เป็นแหล่งรังโรค (reservoir host) ของไวรัสนิปาห์ในธรรมชาติ สาเหตุที่มีการติดเชื้อในฟาร์มหมูจึงน่าจะเกิดจากการที่หมูกินผลไม้ซึ่งค้างคาวได้กัดแทะมาก่อนนั่นเอง
เงียบหายไป 2 ปีก็เกิดการระบาดของไวรัสนิปาห์อีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2544 ที่เมืองสิลิกุรี (Siliguri) ประเทศอินเดีย แต่ตอนนั้นผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นเชื้อชนิดใด ถัดมาอีก 2 เดือนก็มีการระบาดของโรคไข้สมองอักเสบที่ตำบลเมเหรปุระ (Meherpur) ในประเทศบังกลาเทศ แต่ก็ไม่ได้มีการสอบสวนโรคเลย
จนกระทั่งอีก 2 ปีต่อมาเมื่อพบการระบาดของโรคไข้สมองอักเสบอีกรอบที่ตำบลนโอคาม (Naogaon) ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านแรกราว 150 กิโลเมตร ผลการตรวจเลือดผู้ป่วยปรากฎว่ามีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสนิปาห์ (Nipha/Hendra IgM and IgG) คล้ายกับที่มีการระบาดครั้งแรกในมาเลเซีย ส่วนการระบาดที่อินเดียก่อนหน้านี้ก็ได้มีการศึกษาวิเคราะห์ย้อนหลังน่าจะเป็นการระบาดของไวรัสนิปาห์เช่นกัน เนื่องจากเมืองดังกล่าวอยู่ติดกับชายแดนบังกลาเทศ
การระบาดที่อินเดียและบังกลาเทศต่างจากการระบาดที่มาเลเซียและสิงคโปร์ตรงที่ ‘หมู’ ไม่ใช่พาหะนำโรคมาสู่คน เพราะชาวบังกลาเทศส่วนใหญ่เป็นมุสลิม จึงไม่มีการเลี้ยงหมูในประเทศ ส่วนในอินเดียถึงแม้จะมีฟาร์มหมูบ้าง แต่ก็ไม่เป็นอุตสาหกรรมหลักอย่างในมาเลเซีย ตรงกันข้ามวัฒนธรรมของชาวบังกลาเทศนิยมเก็บน้ำตาลจากต้นอินทผลาลัมมาบริโภคสดและหมักเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น กระแช่ ไวน์ ซึ่งวิธีการเก็บก็น่าคล้ายกับการเก็บน้ำตาลจากต้นมะพร้าวหรือต้นตาลในบ้านเรา คือมีการตัดยอดหรือบากลำต้นแล้วใช้ภาชนะรองไว้ข้ามคืน จึงทำให้มีโอกาสปนเปื้อนน้ำลาย ปัสสาวะ หรือสารคัดหลั่งของค้างคาวแม่ไก่ที่อาศัยกินน้ำตาลที่ไหลออกมาเช่นกัน
นับตั้งแต่นั้นก็มีการระบาดของไวรัสนิปาห์ที่บังกลาเทศเป็นประจำเกือบทุกปี ซึ่งจากการศึกษาพบว่านอกจากจะเป็นการติดเชื้อจากค้างคาวสู่คนแล้ว เกือบครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยเป็นการติดเชื้อจากคนสู่คนด้วย
ยกเว้นในปี 2557 ที่มีรายงานการระบาดของโรคไข้สมองอักเสบบนเกาะมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ มีผู้ป่วยทั้งหมด 17 คน โดยที่ไม่สามารถตรวจพบเชื้อโรคอื่นเลย ยกเว้นภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสกลุ่มเฮนดรา/นิปาห์ในผู้ป่วย 3 ราย ซึ่งคาดว่าเป็นการติดเชื้อจากการสัมผัสหรือกินเนื้อ “ม้า” ที่ล้มป่วย
ไวรัสนิปาห์: พื้นที่ปีกค้างคาว
แหล่งเพาะพันธุ์เชื้อไวรัสนิปาห์คือค้างคาวแม่ไก่ หรือ “ค้างคาวผลไม้ (fruit bats)” ในภาษาอังกฤษ แต่ด้วยขนาดตัวเมื่อกางปีกยาวถึง 1-2 เมตรและหัวคล้ายหมาจิ้งจอกจึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “หมาจิ้งจอกบินได้ (flying foxes)” ถือเป็นค้างคาวที่ใหญ่ที่สุดในโลก กระจายตัวอยู่ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามแผนที่ด้านล่าง รวมถึงจีน อินเดีย เนปาล ภูฏาน และมาดากัสการ์ (เกาะทางซ้ายมือสุดในแผนที่) ดังนั้นประเทศในวงสีน้ำเงินทั้งหมดจึงมีโอกาสที่ไวรัสนิปาห์จะระบาดได้ ซึ่งมองดูแล้วมีใครจินตนาการว่าคล้ายกับ “ปีกค้างคาว” เหมือนกับผมบ้างมั้ยครับ
สำหรับในประเทศไทยพบค้างคาวแม่ไก่ 4 ชนิดได้แก่ ค้างคาวแม่ไก่เกาะ ค้างคาวแม่ไก่นครสวรรค์ ค้างคาวแม่ไก่ป่าฝน และค้างคาวแม่ไก่ภาคกลาง โดยชนิดหลังเป็นชนิดที่พบกระจายมากในพื้นที่ตอนกลางของประเทศ ตั้งแต่สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี อยุธยา สระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี กรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี ช่วยขยายเมล็ดพันธุ์พืชในระบบนิเวศน์ แต่ก็เป็นศัตรูกับชาวสวนผลไม้ซึ่งค้างคาวใช้เป็นแหล่งเกาะนอน
จากการศึกษาการแพร่เชื้อของไวรัสนิปาห์ในค้างคาวแม่ไก่ภาคกลางในพื้นที่ 7 จังหวัดของ ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤกษาดี และ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2552 พบเชื้อไวรัสนิปาห์ในเยี่ยวค้างคาว 0.5-6.7 เปอร์เซ็นต์ โดยสัมพันธ์กับฤดูกาลในระหว่างเดือนมิถุนายน-พฤษภาคม ซึ่งก็ตรงกับช่วงที่มีการระบาดของโรคที่อินเดียในขณะนี้
ส่วนการศึกษาใน ‘ค้างคาวแม่ไก่เกาะ’ บนเกาะสิมิลัน (เกาะสี่) ของ ดร.สุภาภรณ์ หัวหน้าคณะวิจัยท่านเดิมและคณะในระหว่างเดือนธันวาคม 2553 – พฤษภาคม 2554 พบไวรัสนิปาห์ในเยี่ยวค้างคาว 3 ใน 128 ตัวอย่าง คิดเป็น 2.3 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตามจนถึงขณะนี้ในประเทศไทยยังไม่มีรายงานการระบาดจากค้างคาวสู่คนแต่อย่างใด
แหล่งข้อมูล:
- http://www.searo.who.int/entity/emerging_diseases/links/nipah_virus/en/
- https://edition.cnn.com/2018/06/05/health/india-nipah-outbreak-deaths-update-intl
- Ang BSP, Lim TCC, Wang L. 2018. Nipah virus infection. J Clin Microbiol 56:e01875-17. https://doi.org/10.1128/JCM.01875-17
- Emmie de Wit and Vincent J. Munster. 2015. Nipah Virus Emergence, Transmission, and Pathogenesis. Global Virology I – Identifying and Investigating Viral Diseases. https://doi.org/10.1007/978-1-4939-2410-3_7
- https://www.cdc.gov/vhf/nipah/outbreaks/distribution-map.html
- วรพันธุ์ ภู่มณี. 2556. การเลือกพื้นที่เกาะนอนของค้างคาวแม่ไก่ภาคกลาง (Pteropus lylei K. Andersen, 1908) ในพื้นที่ตอนกลางของประเทศไทย. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต (วนศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
- http://www.cueid.org/component/option,com_docman/task,cat_view/gid,52/
- http://app.dnp.go.th/opac/multimedia/research/1007_55.pdf
- http://thaigcd.ddc.moph.go.th/knowledges/view/26
Fact Box
โรคไข้สมองอักเสบจากเชื้อไวรัสนิปาห์ มีระยะฟักตัวระหว่าง 4-2 เดือน แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่เริ่มมีอาการภายใน 2 สัปดาห์หลังจากได้รับเชื้อ โดยผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ตามด้วยอาการซึม-สับสน ชัก และเสียชีวิต ไวรัสนิปาห์สายพันธุ์ที่แพร่ระบาดในบังกลาเทศพบอาการทางระบบทางเดินหายใจร่วมด้วย เช่น ปอดอักเสบ มากกว่าสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดในมาเลเซีย การป้องกันไม่ให้ติดเชื้อคือไม่กินผลไม้ที่โดนค้างคาวแทะ รวมถึงซากสัตว์ที่ตายผิดธรรมชาติ ส่วนการป้องกันการแพร่กระจายจากคนสู่คนเหมือนไวรัสอื่นคือไม่ไอจามรดกัน และไม่สัมผัสสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย