ถ้่าเป็นในหนังเรื่องอื่น ยุพิน และผองเพื่อนของเธอจะมีที่ทางเพียงไม่กี่แบบ หนึ่งคือตัวประกอบในหนังตลก ที่เป็นเพียงมุกตลกเดินได้ ของตุ๊ด คนอ้วน สาวร่าน สาวบ้านนอก สาวท้องไม่มีพ่อ ที่เป็นตัวตลกตามพระตามนาง มีหน้าที่มอบความบันเทิงจากความไม่สมประกอบ ทั้งทางกาย ทางชีวิต และทางชาติกำเนิด สองคือบทนิทานสาธกยกมาสอนลูกสอนหลานว่าถ้าบ้าผู้ชาย ริรักในวัยเรียนจะมีจุดจบแบบ เรียนไม่จบก็ท้องไม่มีพ่อ หรือต้องออกมาทำงานหาเลี้ยงตัวเอง เป็นแรงงานชักหน้าไม่ถึงหลัง ถ้าไม่ขยันตั้งใจเรียนเป็นเจ้าคนนายคน ก็ไม่เหลือที่ทางอะไรให้ยืนในสังคมนี้
ราวกับว่าฟังก์ชั่นของคนชั้นกลางระดับล่าง ไปถึงคนชั้นล่างในเรื่องเล่าหลักของประเทศนี้ทำหน้าที่เป็นเพียงภาพวาดที่น่าสยดสยองของชีวิตที่ขยันไม่พอ เก่งไม่พอ ดีไม่พอแบบเดียวกันกับคนชั้นกลาง เป็นเพียงนิทานหลอกเด็กและเรื่องสนุกมุกตลกเหยียดชนชั้น
แต่นี่คือเรื่องของยุพิน และผองเพื่อนแกงค์ผู้สาวขาเลาะวัยมัธยมปลาย ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านก้าวข้ามจากวัยรุ่นไปสู่วัยผู้ใหญ่ เทอมสุดท้ายของมัธยมปลาย หลังจากใช้ชีวิตดิบๆ ดีๆ ตามหน่าฮ่านหมอลำมาตลอด และสัญญากันว่าจะเต้นหน่าฮ่านไปจนกว่าใครสักคนจะมีลูกมีผัวไป ซึ่งก็มีคนมีลูกไปจริงๆ พวกเธอจึงสัญญากันว่าจะไปเต้นหน่าฮ่านเป็นครั้งสุดท้ายก่อนจบม.ปลายที่งานหมอลำใหญ่ในตัวเมืองอุดร
ยุพินนั้นเดิมทีรักชอบอยู่กับ สิงโต หนุ่มขายเครื่องประดับในงาน แต่จู่ๆ หลังจากคุยไลน์กันหลายเดือนเจ้าหนุ่มก็หายตัวไป โทรไม่ได้ ไลน์ไม่ตอบ ยุพินเสียอกเสียใจ แต่ก็ได้หนุ่มสวรรค์หมอแคนประจำวงโรงเรียนมาเป็นคนดามใจ ไอ้หนุ่มสวรรค์ไม่ชอบให้ยุพินไปเต้นตามหน่าฮ่าน พยายามจะพากันเรียนจะได้สอบติดมหาวิทยาลัยไปอยู่นำกัน แต่ไม่มีอะไรจะยับยั้งยุพินได้ เธอและหมู่ แอบหนีโบกรถไปอุดร แต่สวรรค์ดันตามมาเจอ เลยกลายเป็นว่าพวกเธอต้องออกผจญภัยกับอีแต๋นของเขาที่ทิ้งดนตรีมาตามรัก เข้ามานอนวัดรองานหมอลำในอุดร
ระหว่างทาง เติ้ลไม้ แอบแอดไลน์คุยกับหม่ำ หนุ่มที่ตัวเองแอบสนใจอยู่ หม่ำเป็นเพื่อนกึ่งผู้จัดการของสิงโตที่กลายเป็นเนตไอดอลคนดังไปไหนใครรู้จักเสียแล้ว หลังจากเติ้ลไม้หนีเพื่อนไปหาผัวก็กลับมาพร้อมกับหม่ำและสิงโต ทำให้รักสามเส้าของยายยุพินที่ยืนหนึ่งเรื่องความลำไยต้องยืดเยื้อออกไป สิงโตทำเธอเจ็บ สวรรค์ก็ไม่เข้าใจเธอ เธอจึงตัดสินใจด้วยตนเอง และแน่นอนว่านี่บันทึกถึงช่วงเวลางดงาม รื่นรมย์ เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังของเยาว์วัยที่กำลังสิ้นสุดลง
กล่าวตามจริง เราอาจนับได้ว่านี่คือหนัง road movie ที่บันทึกห้วงชีวิตของวัยรุ่นชาวบ้่านในอีสานยุคร่วมสมัย ในความเป็นหนังเดินทาง หนังมุ่งหมายบันทึกความรื่นรมย์ของชีวิต ความสนุกสนาน บ้าบอและทรงพลังของการเป็นวัยรุ่นซึ่งทุกๆ คนจะเป็นได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น โดยไม่ต้องมีเส้นเรื่องที่มากกว่านั้น ในส่วนนี้ของหนังทำให้นึกถึงหนังไทยที่ถูกมองข้าม อย่างภาคแรกของ อีส้มสมหวัง ที่บันทึกช่วงเวลารื่นรมย์ของการเดินทางของวงดนตรีลูกทุ่งของยอดรัก สลักใจ ตลอดทั้งเรื่อง แทบไม่มีเรื่องมีราวอะไรมากไปกว่าการยิงมุกตลกต่อมุกของตัวละครจำนวนมาก แต่โดยไม่ได้ตั้งใจ หนังกลายเป็นการหวนระลึกถึงวันชื่นคืนสุขของประสบการณ์ลุ่มๆดอนๆของวงลูกทุ่ง (ก่อนที่ภาคสองของหนังจะกลายเป็นหนังจริงจัง หนักหน่วง พูดถึงการล่มสลายของวงดนตรีลูกทุ่งไปจริงๆ) ความรื่นรมย์ที่แตกเป็นเสี้ยวเล็กๆ ของชีวิต ทั้งของยุพิน เติ้ลไม้ เป๊กกี้ หอยกี้ แคลเซียม ในช่วงเวลาที่สุกงอมของวัยรุ่น
หนังที่ปราศจากผู้ใหญ่ หรือคำเทศนาสั่งสอนใดๆ เรื่องนี้ จึงอวลไปด้วยอารมณ์ของวัยรุ่นที่ไม่อาจยับยั้งฮอร์โมนของตน เมื่อนึกจะออกเดินทางพวกเธอก็ไป เมื่อพวกเธอมีความรักพวกเธอก็ถึงเนื้อถึงตัวกันอย่างเต็มที่ และเมื่อเห็นหญิงสำคัญกว่าความรับผิดชอบ ก็ตามหัวใจไปทันที (หนังไม่ได้ทำให้รักในวัยเรียนเป็นรักใสๆ แบบสายตระกูลหนังวัยรุ่น หรือทำให้เซ็กส์เป็นสิ่งที่ต้องได้รับผลตอบแทนอย่างน่าสะพรึงกลัวแบบหนังสอนใจ แต่ในหนังตัวละครวัยรุ่นชายหญิง ชิดใกล้กันในแบบที่ฮอร์โมนพลุ่งพล่านตลอดเวลา) ความไม่คิดหน้าคิดหลังของตัวละครในเรื่องนั้นงดงาม เพราะมันไม่ได้ถูกลงโทษในตอนท้ายว่าเป็นการกระทำของวัยรุ่นขาดสติมันไม่ต้องถูกลดรูปไปเป็นสุภาษิตสอนหญิง แต่เป็นชีวิตที่มีทั้งการไปตามหัวใจที่ไม่ได้มีผลอะไรตามมา กับผลที่ตามมาแบบที่ตัวละครแต่ละคนต้องผเชิญหน้ากับมันด้วยตัวเอง ไม่มีใครช่วยได้ และวิธีแก้ปัญหาของตัวละคร ก็งดงามในฐานะของความนึกคิดเป็นเหตุเป็นผลเท่าที่วัยรุ่นคนหนึ่งจะคิดได้ ทั้งการเลือกของยุพิน การตบและไม่ตบกับแกงค์กะเทยของเป๊กกี้ หรือการแอ๊บแมนของเติ้ลไม้ ทั้งหมดเป็นไปได้ทั้งความทรงจำที่งดงามพอๆ กับที่จะเป็นบาดแผลในอนาคต แต่การที่หนังให้ตัวละครพุ่งไปข้างหน้าแบบหัวปักหัวปำ ทำให้หนังมันงดงามมากๆ
หนังเป็นเหมือนภาคเควียร์ของ ไทบ้าน เดอะซีรีส์ ด้วยการเปิดให้ผู้หญิงได้แสดงตัวในฐานะของตัวละครหลัก เป็นคนที่เปล่งเสียงความต้องการของตนที่ไม่ต้องเป็นวัตถุทางเพศสำหรับรักและปรารถนาเสงี่ยมเงียบแบบเหล่าสาวสวยของไทบ้าน ผู้หญิงและเกย์ในหนังเรื่องนี้ถูกนำเสนอในฐานะของตัวละครหลักที่เปล่งเสียงของตนเอง พูดถึงความต้องการของตน โดยเฉพาะในภาคของเติ้ลไม้ ที่หนังเล่าการกดข่มความเป็นหญิงของตนไม่ใช่เพื่อสังคม แต่เพื่อผู้ชาย เราอาจบอกว่า เติ้ลไม้กับยุพินเป็นเช่นกัน ค่อยๆ ส่งเสียงความต้องการของตนเองออกมา ภายใต้แรงกดที่จะต้องเลือกทั้งเป็นหญิง เป็นหญิงที่ดี และเป็นชาย แต่เธอเป็นอย่างอื่น เป็นหญิงธรรมดาที่ไม่ต้องพ่วงสร้อยหญิงดี และเป็นตุ๊ดที่เป็นตุ๊ด
อย่างไรก็ดี หนังมีปัญหาของมันอยู่ในการที่มันต้องแบกภาระของการเป็นหนังตลกกระแสหลักไปพร้อมๆ กับเล่าเรื่องที่อยากเล่า ปัญหาของความไม่แม่นจังหวะของหนังทำให้มุกตลกที่หลายมุกตลกมาก และเป็นตลกแบบธรรมชาติมากๆ พอมันถูกบังคับให้อยู่ในกรอบความเป็นหนังตลก ความตลกของมันก็จางลงไป ทำให้หนังทั้งเรื่องสามารถเป็นหนังเล่าเรื่องง่ายๆ รื่นรมย์ ต้องคอยประคบประหงมผู้ชมให้รับรู้ว่ากำลังดูหนังตลกที่รื่นเริงอยู่ สิ่งนี้ลดทอนพลังแรงสูงของหนังลงไปไม่น้อย
ความพยายามประนีประนอมแบบไม่ลงรอยกับการเป็นหนังกระแสหลักของหนัง สร้างแผลอย่างน้อยสองสามแผลที่ทำให้หนังที่ควรไปได้ไกลกว่านี้อ่อนกำลังลง ฉากอย่างการสอบสัมภาษณ์ของยุพินที่ดูเหมือนจะเป็นการโต้กลับของเธอ การยืนยันต่อสิ่งที่ตนเองเป็นโดยไม่ยอมแพ้แก่ระบบ น่าเสียดายที่หนังเลือกทางการสร้างแฟนตาซีให้กับฉากดังกล่าว เพื่อตอบสนองอารมณ์ขบขันของผู้ชม สุดท้ายมันจึงเป็นฉากตลกอิหลักอิเหลื่อมากกว่าที่มันควรจะเป็นไคลแมกซ์ เช่นเดียวกับการเลือกจบของหนังที่ต้อง ‘จบสุข’ มอบความพึงใจให้กับผู้ชมทำให้หนังถูกลากยาวออกจากฉากที่สามารถเป็นฉากจบอันงดงาม ความเข้มแข็งของตัวละครถูกทอนลงรับใช้เรื่องเล่าหลักของสายตระกูลภาพยนตร์วัยรุ่นในทำนองว่าสุดท้ายเธอต้องลงเอยกับใครสักคนในทางใดทางหนึ่ง ยุพินจึงไม่ได้เป็นเพียงเด็กผู้หญิงพ้นวัยรุ่นที่ค้นพบและยืนหยัดเพื่อความสุขและชีวิตของตน แต่ถูกทำให้เป็นเพียงผู้หญิงที่ในที่สุดแค่ได้รับความรักจากผู้ชายสักคนมากกว่า
แต่ทั้งหมดที่กล่าวไปก็ไม่ได้ทำให้ประกายของการขบถของหนังหายไป หนังฉายความสัมพันธ์ที่งดงามหลายๆรูปแบบซึ่งไม่สามารถทำความเข้าใจได้เลยเมื่อมองจากมาตรฐานกระแสหลัก ตั้งแต่การยอมรับได้เรื่องการท้องไม่มีพ่อของหอยกี้ ความสัมพันธ์คลุมเครือไม่แน่ชัดแบบแมนๆ คุยกันของเติ้ลไม้กับหม่ำ ความคลั่งผู้ชายของแคล การไปเป็นเน็ตไอดอลของสิงโต ไปจนถึงทางเลือกของยุพินในการที่จะมีชีวิตเป็นสาวเสิร์ฟขายครีม ซึ่งกล่าวตามสัตย์ ทั้งหมดที่พูดไป คือชีวิตจริงๆ ของผู้คนจำนวนมากในประเทศนี้ ที่ไม่ได้ ‘เลือก’ ที่จะประสบความสำเร็จตามขนบของความสำเร็จแบบสูตรสำเร็จ การได้เลือกที่จะประสบความสำเร็จแบบอื่น หรือการไม่ได้เลือก หรือเลือกไม่ได้ หรือแม้แต่การเลือกที่จะไม่ประสบความสำเร็จ ก็เป็นทางเลือกหนึ่ง สำคัญที่สุดคือการเลือกด้วยตัวเองให้เหมาะกับตัวเอง ซึ่งนี่คือสิ่งที่สวรรค์อาจจะเป็นคนเดียวที่ไม่เข้าใจ
สวรรค์กลายเป็นภาพแทนของชนชั้นกลางตัวอย่าง เป็นนักเรียนเรียนดี ความสามารถด้านดนตรีและมีความรักแบบหนุ่มสาว ความพยายามของสวรรค์ในการเปลี่ยนยุพินให้เป็นคนใฝ่เรียน ไปจนถึงการติดตามไปดูแลยุพินถึงที่แม้ชีวิตตัวเองจะไม่มีอะไรตรงกันกับยุพินเลยก็ตาม ในท้ายที่สุด สวรรค์ไม่อาจเข้าใจทางเลือกของยุพิน และไม่มีทางเข้าใจได้เลยว่ามันเป็นทางเลือกของคน ‘ธรรมดา’ เหมือนกับทางเลือกของสวรรค์ เพียงแต่ยุพินไม่เลือกเส้นทางสาย ‘ระบบการศึกษา’ แบบเดียวกับสวรรค์ (ฉากที่งดงามมากๆ ฉากหนึ่งในหนังคือการขี่มอเตอร์ไซค์ของยุพินผ่านหน้าราชภัฏเพื่อไปทำงาน) สำหรับสวรรค์ อีกไม่นานเธอจะกลายเป็นเพียง ‘รักแรก’ ที่ผ่านพ้น ที่ตัวเขาเองในวัยทำงานมองย้อนกลับไปแล้วยิ้มหัวว่าตัวเองเคยหัวปักหัวปำอย่างนั้นได้อย่างไร และดีใจที่ไม่ได้ร่วมหัวจมท้ายไปกับเธอ ยุพินจะถูกลดรูปเป็นวันชื่นคืนสุขก่อนเก่า แต่ยุพินมีชีวิตของเธอเอง ทางเลือกของเธอ และของเพื่อนๆ ของเธออาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ถูก แต่สิ่งสำคัญคือการยืนยันที่จะเลือกและยอมรับผลที่ตามมา ความไม่พูดของยุพินในการพบกับสวรรค์ช่วงท้ายเรื่องจึงเป็นการต่อสู้และยืนยันหนักแน่นชนิดหนึ่งเท่าที่เธอจะทำได้
หน่าฮ่านจึงเป็นหนังที่เคลื่อนออกจากการเป็นหนังตลกวัยรุ่นสู่หนังที่คุกรุ่นอัดแน่นไปด้วยพลังของการฉายภาพชีวิตผู้คนตลาดล่าง ในฐานะของคนที่ไม่ได้ดีหรือเลวร้ายไปกว่าคนตลาดบน เพียงแค่พวกเขา เชื่อ ใช้ชีวิต และมีรสนิยมที่ไม่เหมือนกันกับคนที่ครอบครองเรื่องเล่ากระแสหลักของสังคมนี้เท่านั้นเอง
Tags: ภาพยนตร์ไทย, หน่าฮ่าน