เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน รัฐสภานิวซีแลนด์ผ่านกฎหมายที่อนุญาตให้ประชาชนทำการุณยฆาต หรือการตัดสินใจจบชีวิตตัวเองได้แล้ว หลังจากถกเถียงมาตลอดระยะเวลา 2 ปี จากนี้มาถึงขั้นตอนที่จะจัดทำประชามติระดับชาติ ฟังความเห็นประชาชนอีกรอบ

จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ สนับสนุนกฎหมายนี้ ความจริงเธอต้องการให้รัฐสภาออกกฎหมายไม่ต้องผ่านการลงประชามติ เพราะถือว่าเสียงของประชาชนสะท้อนผ่านตัวแทนของพวกเขาอยู่แล้วแต่เรื่องนี้มีความเห็นแตกต่างหลากหลาย รัฐสภาลงมติผ่านกฎหมายด้วยเสียง 69 ต่อ 51 เสียง ซึ่งคะแนนที่ออกมาแสดงให้เห็นว่า ส.ส. ไม่ได้ลงมติตามพรรค 

เช่น ส.ส. พรรคฝ่ายค้านบางส่วน ลงมติเห็นชอบกับกฎหมายนี้ ขณะที่ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลบางคนก็ไม่เห็นด้วยบอกว่า อาจไม่เป็นธรรมกับชาวเมารี ที่ตอนนี้ก็เผชิญกับความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุขหลายด้านอยู่แล้ว บางส่วนกังวลว่า ผู้ป่วยสูงอายุจะเจอความเสี่ยง ที่ถูกบังคับให้จบชีวิตตัวเอง

ร่างกฎหมายระบุว่า อนุญาตให้ทำการุณยฆาตเฉพาะผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย ซึ่งเผชิญกับ ‘ความทุกข์ทรมานที่ทนไม่ได้’  และได้รับการประเมินว่ามีชีวิตอยู่ได้อีกไม่เกิน 6 เดือน ผู้ป่วยต้องยื่นขอคำแนะนำจากแพทย์ก่อน จากนั้นต้องมีแพทย์สองคนเห็นชอบ โดยผู้ป่วยได้รับข้อมูลครบถ้วน 

ฝ่ายที่เห็นด้วยอย่าง เดวิด เซมอร์ ส.ส. พรรคเอซีที กล่าวว่า กฎหมายนี้ทำให้เขาภูมิใจในชาติที่สามารถถกเถียงเรื่องนี้ได้ ถือเป็นความก้าวหน้าและเป็นสังคมที่มีเสรีภาพและมีความกรุณามากกว่าเดิม นี่เป็นเรื่องของการมีตัวเลือก

ด้าน แม็กกี แบรี ฝ่ายค้านจากส.ส. พรรคเนชั่นแนล ไม่เห็นด้วย มองว่ากฎหมายนี้อันตราย เป็นการทำตามใจ รวมทั้งทำให้รัฐมีส่วนสนับสนุนการฆ่า จำเป็นต้องยุติกฎหมายนี้ผ่านการลงประชามติ

ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปเรื่องวันลงประชามติ แต่ดูเหมือนเป็นไปได้ว่าจะเป็นวันเดียวกับการเลือกตั้งทั่วไปในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2020 พร้อมกับการลงประชามติเรื่องอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อความบันเทิงถูกกฎหมาย

ตอนนี้ การการุณยฆาตโดยความช่วยเหลือจากบุคคลากรทางการแพทย์เป็นเรื่องถูกกฎหมายในหลายประเทศแล้ว เช่น เบลเยียม แคนาดา โคลอมเบีย เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก สวิตเซอร์แลนด์ และหลายรัฐในสหรัฐอเมริกา

 

ที่มา:

ภาพ: DAVID ROWLAND / AFP

Tags: , ,