ไม่ว่าจะเป็นอีเมลจากแม่ การโอนเงินทางธนาคาร หรือการสตรีมมิงดูละคร จะต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อใช้งานอะไร ก็จะได้ความเร็วเน็ตที่เท่าๆ กัน เรื่องนี้เป็นหลักการหนึ่งที่เรียกกันว่า ‘ความเป็นกลางทางอินเทอร์เน็ต’ หรือ เน็ตนิวทรอลิตี (Net Neutrality)

เน็ตนิวทรอลิตี ยึดหลักการว่า ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) ต้องปฏิบัติต่อข้อมูลของทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่สามารถเลือกว่าข้อมูลไหนจะส่งได้เร็ว ข้อมูลไหนจะถูกปิดกั้น หรือทำให้ช้าลงกว่าปกติหรือช้ากว่ารายอื่นๆ ตัวอย่างเช่น ไม่มีสิทธิทำให้การดาวน์โหลดหนังของบริษัทคู่แข่งช้ากว่าบริษัทลูกของตัวเอง หรือให้สิทธิเฉพาะคนที่จ่ายเงินมากกว่า

ย้อนไปเมื่อปี 2015 คณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสาร (Federal Communications Commission – FCC) หรือเอฟซีซีของสหรัฐอเมริกา ลงมติเห็นชอบข้อบังคับใหม่ของการกำกับกิจการอินเทอร์เน็ต โดยระบุให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ถือเป็น ‘สาธารณูปโภค’ (public utility) ประเภทหนึ่ง

ภาพจาก https://www.flickr.com/photos/backbone_campaign/16101589983

Ajit Pai ประธาน FCC (ภาพโดย AARON P. BERNSTEIN/ Reuters)

ความหมายของการกำหนดให้บรอดแบรนด์เป็นสาธารณูปโภค ก็คือการไม่ยอมให้มีการปิดกั้นเนื้อหาใดๆ บนอินเทอร์เน็ต และห้ามไม่ให้บริษัทอินเทอร์เน็ตและบริษัทสื่อที่มีกำลังจ่ายสูงกว่า สามารถจ่ายเงินผู้ให้บริการบรอดแบนด์เพื่อให้บริการของตัวเองเร็วกว่ารายอื่น

เราก็ใช้อินเทอร์เน็ตภายใต้หลักการนี้เรื่อยมา แต่ล่าสุด มีคำพิพากษาที่พลิกโลกอินเทอร์เน็ตในแบบที่เราคุ้นเคยกัน โดยเมื่อ 14 ธันวาคม 2017 ที่ผ่านมา FCC เพิ่งลงมติยกเลิกข้อบังคับนี้ ด้วยคะแนนเสียงสามต่อสอง นำโดย Ajit Pai และกรรมการอีกสองคน ซึ่งเป็นสมาชิกพรรครีพับลิกัน  ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากพลเมืองเน็ตจำนวนมากในสหรัฐอเมริกา

ทวิตเตอร์ของ Banksy ศิลปินกราฟิตีระดับโลก ที่ทวีตข้อความแสดงปฏิกิริยาต่อคำตัดสินของ FCC

โดยตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการยกเลิกข้อบังคับนี้ ทั้งในโลกออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ต่างๆ เช่น เรดดิต (Reddit) คิกสตาร์ตเตอร์ (Kickstarter) และมีผู้ชุมนุมที่ด้านนอกของห้องประชุมพร้อมกันจุดเทียนไว้อาลัย #RIPinternet

มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์เผยผลสำรวจออนไลน์ระหว่างวันที่ 6-8 ธันวาคมว่า ในบรรดาผู้ตอบแบบสอบถาม 1,077 ราย มีผู้สนับสนุนเน็ตนิวทรอลิตีกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ และมีเพียงหนึ่งในห้าของผู้ตอบแบบสอบถามที่เห็นด้วยกับการล้มเลิกความเป็นกลางทางอินเทอร์เน็ต

ผู้สนับสนุนเน็ตนิวทรอลิตีส่วนหนึ่งเห็นว่า อินเทอร์เน็ตที่เปิดกว้างสำคัญมากในการสร้างสรรค์โลกออนไลน์ทุกวันนี้ ทำให้บริษัทอย่างสไกป์ (Skype) แข่งกับผู้ให้บริการโทรศัพท์ได้ และทำให้เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) เปลี่ยนภูมิทัศน์ของสื่อ ซึ่งการยกเลิกข้อบังคับนี้จะส่งผลต่อผู้ใช้เน็ตทั่วโลก

ส่วนข้อโต้แย้งจากฝ่ายคัดค้าน ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ให้บริการโครงข่ายที่ต้องลงทุนด้านฮาร์ดแวร์ก็มองว่า อินเทอร์เน็ตก็เป็นบริการแบบหนึ่ง ไม่ใช่บริการสาธารณะ ควรจะปล่อยให้เป็นไปตามระบบตลาดเสรี เพราะธุรกิจก็ต้องทำให้ผู้บริโภคพอใจ แม้จะมีข้อถกเถียงว่า ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่มีอยู่ มีจำนวนน้อยรายจนแทบจะผูกขาดธุรกิจแล้ว

กลุ่มผู้คัดค้านซึ่งประกอบด้วยพลเมืองเน็ตชาวอเมริกัน นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิดิจิทัล และเว็บไซต์ต่างๆ ไม่หยุดเคลื่อนไหวทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ มองว่านี่เป็นการต่อสู้ระยะยาว เตรียมพร้อมจะต่อสู้ทางกฎหมายต่อไป เริ่มจากยื่นอุทธรณ์ต่อศาลเพื่อให้ทบทวนมติของ FCC และเรียกร้องให้สภาคองเกรสกลับมติของ FCC แต่ยังไม่แน่ชัดว่าการต่อสู้ทางกฎหมายจะยาวนานแค่ไหน

อาจฟังดูเหมือนเห็นความหวังเล็กๆ เพราะวุฒิสมาชิกจากพรรคเดโมแครตประกาศว่า สภาคองเกรสสามารถล้มเลิกมติของ FCC ได้ ตามพระราชบัญญัติตรวจสอบกฎหมายโดยคองเกรส (Congressional Review Act) ที่กำหนดให้ทุกองค์กรต้องส่งกฎที่จะตราขึ้นให้สภาคองเกรสตรวจสอบก่อนด้วยการลงมติเสียงข้างมาก ดังที่ใช้ยกเลิกกฎหมายที่จะกระทบความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์เมื่อต้นปีที่ผ่านมา หากแผนนี้ได้ผล เน็ตนิวทรอลิตีก็ยังคงอยู่ต่อไป

เน็ตนิวทรอลิตี ยึดหลักการว่า ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) ต้องปฏิบัติต่อข้อมูลของทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่สามารถเลือกว่าข้อมูลไหนจะส่งได้เร็ว ข้อมูลไหนจะถูกปิดกั้น หรือทำให้ช้าลงกว่าปกติ

เอริค ไชเดอร์แมน (Eric Scheiderman) อัยการรัฐนิวยอร์กยังตั้งข้อสงสัยว่า ผู้ที่แสดงความคิดเห็นในเว็บไซต์เพื่อสนับสนุนการล้มเลิกความเป็นกลางทางอินเทอร์เน็ตของ FCC เป็นบัญชีตัวตนปลอมที่ออกมาสร้างกระแสในอินเทอร์เน็ต หลังตรวจสอบแล้วพบว่าความคิดเห็นปลอมนับแสนรายมาจากหลายรัฐ และมีทั้งความเห็นที่มาจากการขโมยตัวตนด้วย เช่น ความเห็นของคนที่เสียชีวิตไปแล้ว เด็กที่อายุต่ำกว่า 13 ปี ผู้สูงอายุที่ไม่ได้ใช้อินเทอร์เน็ต เขาถึงกับเปิดเว็บไซต์ให้ชาวอเมริกันตรวจสอบได้ว่า ตนเองถูกนำชื่อไปใช้โดยไม่รู้ตัวหรือไม่

มีการวิเคราะห์ว่า ในความคิดเห็นกว่า 22 ล้านความคิดเห็นในเว็บไซต์ของ FCC มี 95 เปอร์เซ็นต์ที่น่าจะเป็นบอต (bot)  เพราะว่าเนื้อหาของความคิดเห็นมาจากการลอกต่อๆ กัน (copy-paste)

นอกจากนี้ ก็มีข้อสังเกตด้วยว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านไอที ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก กูเกิล แอปเปิล ไมโครซอฟต์ หายไปไหนจากความเคลื่อนไหวนี้ ทั้งที่เคยเป็นแนวหน้าในการเคลื่อนไหวครั้งก่อน

ภาพประกอบหน้าแรกโดย ภัณฑิรา ทองเชิด

 

อ้างอิง
https://www.nytimes.com/2017/12/12/technology/net-neutrality-fcc-tech.html
https://www.vox.com/2017/12/14/16774148/net-neutrality-repeal-explained
https://www.theguardian.com/technology/2017/dec/14/net-neutrality-fcc-rules-open-internet
ทวิตเตอร์ของ Banksy https://twitter.com/thereaIbanksy/status/941502737962987520
Net Neutrality: เมื่อผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตถูกคาดหวังให้เป็นกลาง https://ilaw.or.th/node/1590
FactSheet-NetNeutrality https://igf.in.th/wp-content/uploads/2015/07/FactSheet-NetNeutrality.pdf
ความเป็นกลางทางเน็ต https://thaipublica.org/2015/01/energy-and-infrastructure-group-5/
https://www.washingtonpost.com/news/monkey-cage/wp/2017/12/14/there-was-a-flood-of-fake-comments-on-the-fccs-repeal-of-net-neutrality-they-may-count-less-than-you-think
https://motherboard.vice.com/en_us/article/43a5kg/80-percent-net-neutrality-comments-bots-astroturfing

Tags: , , , ,