Neilsen Hays Library ห้องสมุดสีขาวสะอาดตาที่วางตัวสงบภายใต้ความร่มรื่นบนถนนสุรวงศ์ เป็นทั้งห้องสมุดที่มีหนังสือภาษาอังกฤษจำนวนมาก เป็นพื้นที่การเรียนรู้สำหรับเด็ก แกลเลอรี่แสดงงานศิลปะ และโอเอซิสที่ตั้งอยู่ท่ามกลางความวุ่นวายของย่านสีลม-สุรวงศ์ ที่สำคัญ สถาปัตยกรรมนีโอ-คลาสสิคหลังนี้ยังเป็นอนุสรณ์แห่งความรักของนายแพทย์เฮส์ เพื่อรำลึกถึงภรรยาที่จากไป
ย้อนกลับในปี1869 สุภาพสตรีชาวอังกฤษและอเมริกันจำนวน 13 คน รวมตัวกันจัดตั้งสมาคมห้องสมุดสตรีกรุงเทพ (The Bangkok Ladies’ Library Association) ให้บริการหมุนเวียนและแบ่งปันหนังสือแก่นักอ่านชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ในช่วงเริ่มต้นมีพนักงานเป็นอาสาสมัครและเปิดให้บริการเพียง 1 วันต่อสัปดาห์ กระทั่งปี 28 ปีต่อมา จึงเริ่มเปิดให้บริการทุกวัน ยกเว้นวันอาทิตย์ และเริ่มมีการว่าจ้างบรรณารักษ์อย่างเต็มรูปแบบ
ในช่วงเวลานั้น หนึ่งในกลุ่มผู้ร่วมก่อตั้งคือ เจนนี เนียลสัน (Jennie Neilson) หญิงสาวชาวเดนนิชที่อาศัยอยู่ในอเมริกาและเดินทางตามมิชชันนารีมายังสยามในปี 1881 ได้พบกับนายแพทย์โธมัส เฮย์วาร์ด เฮย์ส (Thomas Heyward Hays) นายแพทย์ชาวอเมริกันที่เข้ามาเผยแผ่คริสต์ศาสนาในประเทศไทย นายแพทย์โธมัส เฮย์วาร์ด เฮย์ส ที่คนบางกอกเรียกกันว่า ‘หมอเฮย์ส’ เข้ารับราชการและได้เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลทหารเรือกรุงเทพ รวมถึงเป็นอาจารย์สอนวิชาแพทย์คนแรกของโรงพยาบาลศิริราช ทั้งคู่พบรักและแต่งงานกันในปี 1887 โดยเจนนีเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ก่อตั้งที่อุทิศตัวทำงานในห้องสมุดอย่างแข็งขันด้วยความรักหนังสือและการอ่าน จนได้รับคัดเลือกเป็นผู้อำนวยการสมาคมห้องสมุดสตรีกรุงเทพ และดูแลอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 20 ปี
น่าเศร้าว่าในปี 1920 เจนนีถึงแก่กรรมด้วยสาเหตุจากอหิวาตกโรค ด้วยเห็นถึงความรักของภรรยาที่มีต่อหนังสือและงานห้องสมุดที่เธออุทิศตนมาโดยตลอด หมอเฮย์สจึงตัดสินใจสร้างห้องสมุดเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความรักต่อภรรยา โดยบริจาคที่ดินบริเวณถนนสุรวงศ์เพื่อสร้างเป็นห้องสมุดสไตล์นีโอ-คลาสสิก ซึ่งเปิดทำการเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 1922 ในชื่อว่า ห้องสมุดเนียลสัน เฮย์ส (ภายหลังที่หมอเฮย์สเสียชีวิต เขาได้ทำพินัยกรรมบริจาคหนังสืออ่านเล่นจากคอลเลกชั่นส่วนตัวทั้งหมดให้กับห้องสมุดแห่งนี้ ส่วนตำราด้านการแพทย์บริจาคให้คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
ความพิเศษของห้องสมุดแห่งนี้อยู่ที่ตัวสถาปัตยกรรม ที่ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาลี มารีโอ ตามัญโญ (Mario Tamagno) ผู้ออกแบบพระที่นั่งอนันตสมาคม หัวลำโพง สะพานมัฆวานรังสรรค์ ตำหนักปารุสกวัน พระราชวังพญาไท และโปรเจ็คต์ส่วนตัวอีกหลายแห่ง เหตุที่เขาออกแบบสถาปัตยกรรมให้กับสำนักพระราชวังทำให้มีคนเรียกขานห้องสมุดแห่งนี้ว่าเป็น ‘พระราชวังขนาดย่อ’ ทั้งความสมมาตร เส้นสายในการออกแบบ และรายละเอียดตามแบบฉบับอิตาเลียน ห้องสมุดแห่งนี้เป็นอาคารที่ผ่านการออกแบบมาอย่างชาญฉลาด ทั้งการเลือกใช้ตะปูทองเหลืองสำหรับยึดชั้นหนังสือเพื่อไม่ให้เกิดสนิมในภายหลัง เพิ่มความคงทนแก่การตกแต่งภายใน ไปจนถึงการคัดสรรกระเบื้องหลังคา ที่ล้วนแต่เป็นวัสดุที่ดีที่สุดที่จะสามารถหาซื้อได้ในยุคนั้น รวมถึงการใช้ทักษะฝีมือช่างระดับเดียวกับที่ใช้ในการก่อสร้างตำหนัก วัง และสถานที่สำคัญของประเทศ
ฐานรากใช้ระบบคอนกรีตประเภทแผ่ฐานรับน้ำหนัก เพื่อป้องกันความชื้นและระบายลมได้ดี ห้องใหญ่ทั้ง 3 ห้องที่บรรจุชั้นหนังสือสร้างด้วยระบบผนัง 2 ชั้น เพื่อให้อากาศถ่ายเท ช่วยระบายความชื้น ทำให้ภายในห้องแห้งอยู่ตลอดเวลา และป้องกันไม่ให้มอดแมลงเข้ามาทำลายหนังสือซึ่งจำนวนมากเป็นหนังสือหายาก พื้นห้องสมุดเป็นไม้สักขัดเงาอย่างสวยงาม เอื้อแก่การจัดกิจกรรมหลากรูปแบบ
เป้าหมายของห้องสมุดแห่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่สำหรับนักอ่านเท่านั้น แต่ยังตั้งใจให้เป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมสำหรับชุมชน เป็นแหล่งค้นคว้าข้อมูลที่เกี่ยวเนื่องกับประเทศไทยและภูมิภาคศึกษา และโปรแกรมศิลปะวัฒนธรรมต่างๆ อาทิ Story Time ที่จัดทุกเช้าวันเสาร์ นิทรรศการศิลปะ คอนเสิร์ต เวิร์กช็อป ละคร และงาน Annual Book Sales
ภาพ: Neilsen Hays Library
FACT BOX:
- ขณะนี้ ห้องสมุดเนียลสัน เฮย์ส อยู่ระหว่างการบูรณะฟื้นฟูสภาพอาคาร จึงปิดทำการชั่วคราว โดยเปิด NHL Mini-Library ในบริเวณคาเฟ่ริมสวนด้านหน้า ระหว่างวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 09.30-17.00 น.
- ร่วมบริจาคสมทบทุนอนุรักษ์อาคารที่ทรงคุณค่าทางสถาปัตยกรรม และห้องสมุดที่เป็นโอเอซิสของนักอ่านแห่งนี้ ได้ที่ asiola.co.th หรือ Support Neilson Hays Library