เมื่อผลการวิจัยหลายแห่งระบุว่า การงีบหลับเป็นระยะเวลาสั้นๆ 15-20 นาทีในช่วงบ่าย จะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น ซึ่งมันไม่ได้แปลว่าคุณขี้เกียจ เพราะบางทีไอเดียหรือความคิดสร้างสรรค์มักเกิดตอนที่ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย ฉะนั้นเราจะชวนมานั่งทำงานไปด้วย นอนเล่นไปด้วย ที่ Co-Napping Workspace แห่งแรกในกรุงเทพฯ ที่มีชื่อว่า NapLab ในซอยจุฬาลงกรณ์ 6

บริเวณทางขึ้นไปสู่ NapLab

NapLab เกิดจากการผสมกันของ Co-Working Space และ Nap Cafe จึงทำให้มีส่วนของพื้นที่การทำงาน การนอนหลับ และการเล่นสนุกอยู่ในที่เดียวกัน ซึ่งเจ้าของไอเดียคือ ป๋อง-อาทิตย์ เสมอกาย อดีตเด็กสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ แต่หันมาทำรับเหมาก่อสร้าง และเป็นคนต้นคิดสโลแกนของ NapLab ที่ทำให้เราอดยิ้มไม่ได้อย่าง ‘ที่ทำงานไม่ได้งาน’

“สิ่งที่เราต้องการคือพื้นที่นั่งทำงานที่ดูไม่เป็นออฟฟิศ และ Co-Working Space จนเกินไป ต้องมีความขี้เล่นอะไรบางอย่างอยู่ ถ้าเราบอกว่าที่ทำงานที่มีที่นอนก็น่าสนใจ เลยคิดว่าตั้งชื่อให้มันง่ายและชัด Nap ดูเล่นๆ แต่ Lab ดูจริงจัง ก็กลายเป็น NapLab ส่วนคำว่า ที่ทำงานไม่ได้งาน มันเหมือนชุดนอนไม่ได้นอน (หัวเราะ) เป็นคำที่โคตรดีเลยนะ”

พื้นที่กว่า 1,300 ตารางเมตรของ NapLab ถูกแบ่งเป็นสองโซนได้แก่ Chill Lab และ Active Lab โดยชั้นล่างจะเป็น Chill Lab มีด่านแรกเป็นมุมลงทะเบียนใช้งาน เมื่อขยับเข้าไป ข้างในเล่นสเต็ปด้วยการยกพื้นสูงขึ้นมาเล็กน้อย ให้รู้สึกว่ากำลังเข้าโซนนั่งทำงานแบบสบายๆ และพื้นที่ให้นอนเล่น ส่วนโซนด้านหลังเป็นส่วนของคาเฟ่ ห้องประชุมเล็ก และเขตหนีงานที่มีปิงปองกับเครื่องเกมให้เล่น

ชั้นแรกของ NapLab คือโซน Chill Lab

ขณะที่ชั้นสองซึ่งเป็นส่วนของ Active Lab จะดูเงียบและสงบมากกว่า มีโซนทำงานแบบจริงจัง มีห้อง Spray Room สำหรับนักออกแบบที่ต้องการตัดโมเดล พ่นกาว พ่นสี มีห้องประชุมขนาดใหญ่ และไม่ลืมที่จะมีพื้นที่ให้นอนเล่น แต่ที่สนุกกว่านั้นคือมีสไลเดอร์ที่เรียกว่า ‘ทางหนีงาน’ ถ้าคุณรู้สึกเครียดจากงานหรือคิดงานไม่ออก แค่สไลด์ลงมาก็เจอพื้นที่ปลอดงานที่อยู่ข้างล่างพอดี

จากไอเดียของ ป๋อง-อาทิตย์ ทีม ‘ตื่น ดีไซน์ สตูดิโอ’ เข้ามารับหน้าที่ออกแบบให้เป็นจริง โดยการรีเสิร์ชพื้นที่โดยรอบเพื่อหาอัตลักษณ์ของย่านสวนหลวงที่ยังพอจะหลงเหลืออยู่ หนึ่งในนั้นคือ ‘รั้วเหล็กดัด’

บรรยากาศโดยรวมของ NapLab ที่มีทั้งพื้นที่ทำงาน พื้นที่พักผ่อน และสไลด์เดอร์หนีงานจากชั้นบนลงมาชั้นล่าง

“นอกเหนือจากการทำงานที่มีประสิทธิภาพแล้ว เรามีคำถามว่าพื้นที่แถวนี้ดีอย่างไร มันมีชุมชนเก่าแก่อยู่ แล้วแต่ละคนเห็นของดีที่นี่อย่างไร เราก็ไปถ่ายรูปเก็บมา สิ่งที่ถ่ายมาเหมือนกันหมดเลยคือเหล็กดัดตามบ้านที่ไม่เหมือนกัน ก็เป็นสิ่งที่ยังไม่เห็นดีไซเนอร์เอามาใช้กันเท่าไหร่” โอ๋-ภคชาติ เตชะอำนวยวิทย์ หนึ่งในทีมออกแบบและผู้ก่อตั้งตื่น ดีไซน์ สตูดิโอ เล่าให้เราฟัง

รั้วเหล็กดัดจึงกลายเป็นจุดตั้งต้นในการออกแบบพื้นที่นอนสีเหลืองที่ตั้งอยู่ตรงกลางของ Naplab มันถูกออกแบบให้เป็นแกนกลางเชื่อมต่อกับทุกพื้นที่ สามารถมองเห็นได้จากทุกทิศทุกทาง ประกอบกับการเลือกใช้สีเหลืองที่สะดุดตา กระตุ้นความรู้สึกให้แอกทีฟ และผ่อนคลายในเวลาเดียวกัน ขณะที่รั้วเหล็กดัดลายต่างๆ ถูกนำมาใช้พรางสายตาคนภายนอก โดยที่คนข้างในไม่รู้สึกอึดอัดจนเกินไป แถมยังชวนให้นึกถึงอดีตของย่านนี้ได้เป็นอย่างดี

ป๋อง-อาทิตย์ เสมอกาย เจ้าของไอเดีย NapLab

“คนที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ มันเป็นการตั้งคำถามกับรูปแบบการทำงานทั้งออฟฟิศ และ Co-Working Space ว่ามันเวิร์กจริงไหม ท้ายที่สุดไอเดียดีๆ มักจะมาตอนที่ใจสบาย ผ่อนคลาย เช่น ตอนอาบน้ำ วิ่ง หรือตีปิงปอง เลยทำสเปซที่ให้คนได้นั่งผ่อนคลายมากกว่าทำงาน แต่เราไม่ได้ปฏิเสธการนั่งโต๊ะ แต่ต้องมีส่วนผสมที่กลมกล่อม มีส่วนที่เปลี่ยนอารมณ์ให้สนุกบ้าง”

แล้วคิดว่ามันจะเกิดเป็นกระแสไหม? ป๋อง-อาทิตย์บอกกับเราว่า “ผมอยากให้มันเป็นกระแส เพราะเมืองไทยยังขาดพื้นที่สาธารณะ อย่างตลาดรถไฟ ช่างชุ่ย คนไปกันเยอะมาก แสดงว่าคนโหยหาสิ่งนี้อยู่ แม้แต่สวนสาธารณะ เราก็มีไม่พอ เดินทางไปก็ลำบาก เราทำตรงนี้เพื่อเป็นจิ๊กซอว์หนึ่งตัวที่อยากให้คนได้เข้ามาใช้กัน ถ้ามีคนทำตาม เราก็ยินดี”

เขตหนีงาน ที่มีโต๊ะปิงปอนให้เล่นหย่อนใจ

นับว่า NapLab เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่คุณควรจะแบกโน้ตบุ๊กไปนั่งทำงาน โดยภาพรวมให้บรรยากาศแบบสบายๆ เป็นกันเอง แตกต่างจาก Co-Working Space ทั่วไป สิ่งอำนวยความสะดวกก็ครบครัน สามารถอยู่ได้ทั้งวัน ไม่ใช่แค่ที่ทำงานไม่ได้งาน แต่น่าจะเป็นสถานที่ที่จะทำให้งานของคุณสำเร็จโดยเร็ว

FACT BOX:

  • ตื่น ดีไซน์ สตูดิโอ เกิดจากการรวมตัวกันของคนสามคน ได้แก่ ภคชาติ เตชะอำนวยวิทย์ (โอ๋) ภัทราวุธ จันทรังษี (เต๊นท์) และภาสพงศ์ มณีวัฒนา (น่อง) พวกเขาเป็นทีมสถาปนิกนักออกแบบและนักฝันในยามตื่น ที่มีความฝันอยากจะใช้คุณค่าของงานสถาปัตยกรรม และงานออกแบบทุกแขนงในการเป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างสรรค์และส่งเสริมชีวิต คน สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม
  • NapLab ตั้งอยู่ที่ซอยจุฬาลงกรณ์ซอย 6 สำหรับบุคคลทั่วไปราคา 150 / 4 ชั่วโมง และนักเรียน นักศึกษา ราคา 100 / 4 ชั่วโมง แต่ข่าวดีช่วงนี้มีโปรโมชั่นลด 50% เปิดบริการตั้งแต่ 10.00 – 22.00 น. และจะเปิดแบบ 24 ชั่วโมงในเดือนกันยายนนี้ ดูรายละเอียดได้ที่ www.facebook.com/NapLab โทร. 08-1734-5147
Tags: , , ,