กองทัพพม่ายอมรับว่าทหารและชาวบ้านที่นับถือศาสนาพุทธ คือผู้สังหารชาวโรฮิงญา 10 คน โดยร่างของทั้งหมดถูกพบในหลุมศพขนาดใหญ่ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในรัฐยะไข่
นี่คือการยอมรับอย่างเป็นทางการครั้งแรก นับตั้งแต่กองทัพพม่าปฏิบัติการกวาดล้างชาวโรฮิงญาเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ซึ่งทำให้ชาวโรฮิงญามากกว่า 650,000 คนต้องลี้ภัยไปยังบังกลาเทศ ไซยิด ราอัด อัล ฮุสเซน (Zeid Ra’ad Al Hussein) กรรมาธิการระดับสูงประจำสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติระบุว่านี่คือ ‘ตัวอย่างตำราการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’
การสอบสวนครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากพบหลุมศพที่มีโครงกระดูก 10 โครงเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ในแถลงการณ์ซึ่งเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กของพลเอกอาวุโส มี่นอองไลง์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพพม่าเมื่อวันที่ 10 มกราคม ระบุว่า เหตุสังหารหมู่ครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2560 โดยชาย 10 คนถูกผลักลงไปในหลุมขณะที่ยังมีชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากคมมีดของชาวบ้านที่นับถือศาสนาพุทธ ซึ่งโกรธแค้นจากการสูญเสียญาติพี่น้องในเหตุการณ์ปะทะกับชาวมุสลิม
ก่อนที่ทหารพม่าจะยิงกระสุนเข้าใส่พวกเขา เนื่องจาก “ไม่มีหนทางในการส่งผู้ก่อการร้ายชาวเบงกาลี 10 คนไปยังสถานีตำรวจ ดังนั้น ทหารจึงตัดสินใจฆ่าพวกเขา”
ขณะที่แถลงการณ์อีกส่วนหนึ่งระบุว่า “เป็นเรื่องจริงที่ทั้งชาวบ้านและกองกำลังรักษาความปลอดภัยยอมรับว่าพวกเขาสังหารผู้ก่อการร้ายชาวเบงกาลี 10 คน กองทัพจะจัดการกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสังหารและผู้ที่ฝ่าฝืนกฎการปะทะ”
อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์ดังกล่าวก็ระบุด้วยว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพราะ “ชาวบ้านที่นับถือศาสนาพุทธถูกผู้ก่อการร้ายคุกคามและยั่วยุ”
ที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติและอีกหลายองค์กรกล่าวหากองทัพพม่าว่าปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญาอย่างโหดร้ายป่าเถื่อน ซึ่งรวมถึงการฆ่า การข่มขืน และการเผาบ้านเรือน แต่กองทัพพม่าก็ปฏิเสธข้อกล่าวหาเสมอมา
ทั้งนี้ ร่างของชาวโรฮิงญา 10 คนถูกพบเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ในหลุมฝังศพที่อยู่ใกล้กับสุสานของหมู่บ้านอินน์ดิน (Inn Din) ซึ่ง แมตธิว สมิธ (Matthew Smith) จาก Fortify Rights องค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า นี่คือหลุมฝังศพที่ถูกเปิดเผยโดยผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์สสองคนซึ่งถูกจับตัวเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม และเพิ่งถูกศาลตั้งข้อหาว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.ความลับของทางราชการ
ขณะที่ เจมส์ โกเมซ (James Gomez) จากแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนล (Amnesty International) กล่าวว่าคำสารภาพอันน่าสยดสยองครั้งนี้ผิดแปลกไปจากนโยบาย ‘ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา’ ของกองทัพพม่า
แต่เหตุการณ์นี้ก็เป็นเพียงแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็ง “และเป็นใบรับรองสำหรับการสอบสวนอย่างเป็นอิสระและจริงจังว่ามีความโหดร้ายป่าเถื่อนอะไรอีกบ้างที่เกิดขึ้นในระหว่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”
ที่มาภาพ: Reuters/Soe Zeya Tun
ที่มา:
http://www.bbc.com/thai/international-42640133
http://www.abc.net.au/news/2018-01-11/myanmar-soldiers-rohingya-villagers-killed-mass-grave/9319228
https://www.theguardian.com/world/2018/jan/11/myanmar-military-admits-murder-rohingya-muslims