หากใครเคยดูซีรีส์เรื่อง Ozark คงจะพอเห็นภาพหลักการพื้นฐานของการฟอกเงิน แต่หากใครยังไม่เคยดู ผู้เขียนขอแนะนำอย่างยิ่งนะครับสำหรับผู้ชอบเรื่องเงินๆ ทองๆ และการหักเหลี่ยมระหว่างนักบัญชีและมาเฟียผู้ค้ายาเสพติด

ลองนึกภาพตามนะครับ หากเราเป็นเจ้าพ่อที่ทำธุรกิจใต้ดิน เจ้าหน้าที่รัฐ หรือนักการเมืองที่รับ ‘ค่าน้ำร้อนน้ำชา’ จากโครงการเมกะโปรเจ็กต์ เงินผิดกฎหมายเหล่านี้ส่วนใหญ่มักอยู่ในรูปเงินสดปริมาณมหาศาลอาจเป็นหลักร้อยล้านหรือพันล้าน เพราะการโอนเงินเหล่านี้ผ่านธนาคาร พร้อมเพย์ หรือจ่ายด้วยบัตรเครดิต อาจนำไปสู่คำถามร้อยแปดพันเก้าว่าทำไมบัญชีของท่านผู้นั้น นายคนนี้ จึงมีเงินสะพัดมากมายอย่างผิดสังเกต อีกทั้งยังสามารถสืบสาวเส้นทางทางการเงินได้ง่ายกว่าเงินสดอีกด้วย

แต่การเคลื่อนย้ายเงินแบบธนบัตรก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหา ความยุ่งยากหลักคือน้ำหนักของเจ้าธนบัตรนี่แหละที่ทำให้การเคลื่อนย้ายเงินสดไม่ค่อยสะดวกดายมากนัก ยกตัวอย่างเช่น ธนบัตร 1,000 บาท จำนวน 1 ล้านบาท จะมีน้ำหนักราว 1 กิโลกรัม แต่หากเป็นธนบัตรยิบย่อย เช่น 100 บาทก็จะยิ่งหนักขึ้นไปอีก ลองคิดสภาพเจ้าพ่อค้ายารายใหญ่ที่มีรายได้เป็นเงินสดธนบัตรใบละ 100 บาทบ้าง 500 บาทบ้าง รวมกันจำนวนวันละหลายสิบล้านหรือร้อยล้านบาท เงินเหล่านั้นจะมีน้ำหนักมหาศาลและสร้างปัญหาในการขนย้ายและพื้นที่เก็บรักษา

หากมีทางเลือก เงินผิดกฎหมายเหล่านี้จะถูกแปรรูปเป็นสินทรัพย์ราคาสูงที่สามารถพกพาได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นนาฬิกาหรู หรืออัญมณีมีค่า ก่อนการส่งมอบเพื่อความสะดวกของทั้งสองฝ่าย

การฟอกเงินถือเป็นอาชญากรรมของคนคอปกขาว (White-Collar Crime) ผู้กระทำผิดมักเป็นบุคคลประวัติหรูหรา เรียกว่าหากยื่นใบสมัครงานที่ไหนก็มีแต่คนอ้าแขนรับ ตั้งแต่เจ้าของบริษัทสตาร์ตอัพที่เตรียมออกหุ้นขายให้สาธารณะ บัณฑิตคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ประธานสภาผู้แทนราษฎรในสหรัฐอเมริกา และล่าสุดคือกลุ่มผู้บริหารธนาคารยักษ์ใหญ่ในประเทศเดนมาร์ก

แน่นอนว่าการฟอกเงินดูจะเป็นเรื่องแสนไกลตัวสำหรับมนุษย์ปุถุชนอย่างเราๆ ท่านๆ แม้แต่นักการเงินการธนาคารบางครั้งยังมองว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายที่ยุ่งยาก แต่ธนาคารคือประตูด่านแรกที่หากเหล่าเงินสกปรกฝ่าเข้ามาได้ ส่วนที่เหลือก็สบายๆ เพราะเงินดังกล่าวได้ถูกทำให้เป็นเงินถูกกฎหมาย และสามารถส่งไปให้ใครก็ได้แค่ปลายนิ้วคลิก ผลกระทบสำคัญของการฟอกเงินต่อสังคมและเศรษฐกิจ คือการทำให้ผู้กระทำผิดกฎหมายมีชีวิตสุขสบายเพราะได้รับค่าตอบแทนมหาศาล

ส่วนผู้ที่ทำงานสุจริตก็ได้แต่มองตาปริบๆ และก้มหน้าก้มตาทำงานกันต่อไป!

3 ขั้นตอนฟอกเงินสกปรกให้สะอาด

หลังจากได้เงินสดกองใหญ่มาจากการกระทำผิดกฎหมาย เหล่านักฟอกเงินก็ต้องดำเนินการ 3 ขั้นเพื่อแปลงเงินสดเหล่านั้นให้เป็นเงินสะอาด โดยมีขั้นตอนดังนี้

1. นำเงินเข้าระบบ (Placement) ขั้นนี้เป็นขั้นที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด เพราะเกี่ยวข้องกับการนำเงินสดมูลค่ามหาศาลไปเข้าในบัญชีสถาบันการเงินที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยในหลายประเทศ ธนาคารจะมีหน้าที่รายงานกรณีพบธุรกรรมเงินสดที่มีมูลค่าสูง เช่น ในประเทศไทย ธนาคารจะต้องทำรายงานธุรกรรมฝากเงินสดเกิน 2 ล้านบาทต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เป็นต้น

การนำเงินเข้าสู่ระบบมีมากมายหลายวิธี ตั้งแต่การทยอยหรือแบ่งกันฝาก (Smurfing) โดยใช้ช่องว่างทางกฎหมายที่กำหนดปริมาณเงินขั้นต่ำที่ต้องรายงานต่อองค์กรกำกับดูแล เช่นตัวอย่างข้างต้น เหล่านักฟอกเงินก็จะแบ่งหรือทยอยกันนำเงินสดไปฝาก 1,999,999 บาททุกวัน เพื่อนำเงินสกปรกเข้าระบบ

อีกทางเลือกหนึ่งที่ได้รับความนิยมคือฟอกเงินผ่านการตั้งบริษัทเปลือก (Shell Company) ซึ่งหมายถึงบริษัทที่ตั้งขึ้นเพื่อฟอกเงินโดยเฉพาะ หรือบริษัทที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยมักเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเงินสด เช่น บ่อนการพนัน หรือผับ โดยนักฟอกเงินจะสร้างใบเสร็จรับเงินปลอมๆ ขึ้นมา แล้วนำเงินสกปรกเข้าสู่ระบบโดยใช้บริษัทเป็นฉากหน้า เสมือนว่าเงินเหล่านั้นมาจากการทำมาหาได้แบบสุจริต

ทางเลือกสุดท้าย หลายคนอาจคุ้นหูถึงการเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารในประเทศที่ชื่อแปลกประหลาดอย่างปานามา หรือหมู่เกาะเคย์แมน ประเทศเหล่านี้มีกฎหมายคุ้มครองความลับของธนาคารที่เอื้อให้เหล่านักฟอกเงินทำธุรกรรมแบบนิรนามได้ นอกจากนี้ การเปิดบัญชีในประเทศเหล่านี้ยังเป็นช่องทางเลี่ยงภาษีของเหล่าเศรษฐีและบริษัทข้ามชาติอีกด้วย

2. กลบเกลื่อนร่องรอย (Layering) ขั้นตอนนี้มีเป้าหมายเพียงอย่างเดียวคือทำให้หน่วยงานป้องปรามการฟอกเงินตามหาแหล่งที่มาของเงินเหล่านั้นไม่เจอ โดยการโอนเงินหลายต่อหลายครั้ง เปลี่ยนแปลงยอดการโอน เปลี่ยนชื่อบัญชี ธนาคาร แม้กระทั่งประเทศ และสกุลเงิน (รวมถึงสกุลเงินเข้ารหัสอย่างบิตคอยน์) บางครั้งอาจรวมถึงการซื้อสินทรัพย์มูลค่าสูง เช่น บ้านและที่ดิน นาฬิการาคาแพง หรืออัญมณีมีค่า ก่อนจะแปลงกลับมาเป็นเงินฝากธนาคารอีกครั้ง

3. เกิดใหม่ในฐานะเงินสะอาด (Integration) ขั้นตอนสุดท้าย คือการนำเงินที่ผ่านการกลบเกลื่อนร่องรอยแล้วเข้ามาสู่กระเป๋าของเจ้าของที่แท้จริง ผ่านการทำธุรกรรมที่มีเอกสารถูกต้องตามกฎหมาย เช่น การจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการแต่ไม่มีการส่งมอบจริง โดยผู้ซื้อจะเป็นนักฟอกเงิน ส่วนผู้ขายจะเป็นเจ้าของเงินที่แท้จริง เงินสกปรกเหล่านั้นก็จะเกิดใหม่ในฐานะเงินสะอาด และเป็นเรื่องยากอย่างยิ่งที่จะเอาผิดกับเจ้าของเงินได้ หากไม่มีร่องรอยทางการเงินที่ชัดเจนเพียงพอ

เราจะต่อกรการฟอกเงินได้อย่างไร?

องค์การสหประชาชาติคาดว่าการฟอกเงินมีมูลค่าราว 800 พันล้าน ถึง 2 ล้านล้านล้านในแต่ละปี หรือคิดเป็นราวร้อยละ 2 ถึง 5 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลก ตัวเลขมหาศาลดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในแง่การเก็บภาษี ความมีเสถียรภาพทางการเงิน รวมถึงการแข่งขันของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพราะบริษัทที่เปิดเพื่อฟอกเงินนั้นสามารถขายสินค้าหรือบริการในราคาต่ำแสนต่ำจนบริษัททั่วไปไม่สามารถแข่งขันได้

แต่ผลกระทบหลักจากการฟอกเงินคือการสร้างบรรทัดฐานว่า ‘ทำผิดกฎหมายแต่ได้ดี’ เป็นการสร้างแรงจูงใจให้เหล่านักธุรกิจใต้ดิน การก่อการร้าย รวมถึงนักการเมืองคอร์รัปชันทำเรื่องผิดกฎหมายต่อไป เพราะไม่มีใครสามารถย้อนกลับมาเอาผิดได้ด้วยกระบวนการฟอกเงิน แน่นอนว่าเราคงไม่อยากอยู่ในสังคมที่คนทำงานสุจริตกลับยากจน ในขณะที่เหล่าคนทุจริตกลับรวยวันรวยคืน

ส่วนการรับมือการฟอกเงินนั้น หลายประเทศเลือกใช้มาตรการเชิงป้องกัน เช่น การยืนยันตัวตนของผู้ใช้บริการธนาคารที่เข้มข้นขึ้น มีกระบวนการทำความรู้จักลูกค้า (Know Your Customer) ที่รัดกุม เพื่อป้องกันไม่ให้ธนาคารถูกใช้เป็นเครื่องมือของเหล่านักฟอกเงิน อย่างไรก็ดี มาตรการดังกล่าวก็ไม่ประสบความสำเร็จนัก ส่วนหนึ่งเพราะเหล่านักฟอกเงินมีหลากหลายวิธีที่ทำให้เงินดูสะอาด รวมถึงตลาดการเงินโลกที่ขยับใกล้กันมากขึ้นจนนักฟอกเงินสามารถไปใช้ช่องว่างทางกฎหมายในประเทศกำลังพัฒนา ยังไม่นับช่องทางใหม่ๆ อย่างสกุลเงินเข้ารหัส (Crypto Currency) ที่อาจเป็นช่องทางใหม่ให้กับเหล่านักฟอกเงิน

นอกจากมาตรการเชิงป้องกัน ธนาคารยังใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยในการ ‘ประเมิน’ ธุรกรรมที่น่าสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน เช่น การฝากเงินเป็นตัวเลขกลมๆ ในสาขาที่ห่างไกล จำนวนบ่อยครั้ง หรือการจ่ายเงินซื้อสินค้าโภคภัณฑ์จากต่างประเทศแต่กลับไม่มีเรือขนส่งออกจากท่าในช่วงเวลาดังกล่าว บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์สัญชาติอเมริกันอย่าง SAS ถึงขั้นใช้เทคโนโลยีตรวจสอบภาพต่างๆ ในโซเชียลมีเดียเพื่อระบุบุคคลที่มี ‘ไลฟ์สไตล์หรูหราจนน่าสงสัย’ แล้วส่งรายงานให้หน่วยงานกำกับดูแลเพื่อตรวจสอบต่อไป

แน่นอนครับ เทคโนโลยีข้างต้นช่วยให้การตรวจหาธุรกรรมที่มีความเสี่ยงมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ธนาคารก็ต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมหาศาลเพื่อจ้างกองทัพนักวิเคราะห์มาตรวจสอบว่าสัญญาณเตือนจากซอฟต์แวร์นั้นมีความเสี่ยงจริงหรือไม่ ซึ่งต้นทุนดังกล่าวก็ย่อมถูกส่งผ่านมายังผู้บริโภค นอกจากนี้ บางธนาคารยังหลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมที่มีความเสี่ยงสูง เช่น การโอนเงินให้กับมูลนิธิในประเทศกำลังพัฒนา นำไปสู่คำถามที่ว่าการกระทำดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ เพราะบางครั้ง เงินจำนวนดังกล่าวอาจหมายถึงชีวิตหลายชีวิต

การฟอกเงินเป็นโครงสร้างสำคัญที่ค้ำจุนการกระทำผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงินๆ ทองๆ แต่การแก้ไขปัญหาก็เหมือนแมวจับหนู ยิ่งโลกเคลื่อนเข้าสู่ยุคดิจิทัลมากขึ้นเท่าไร ความซับซ้อนในการสืบสาวเส้นทางการเงินก็ยุ่งยากเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว การเกิดขึ้นของสินทรัพย์ใหม่ในโลกดิจิทัลก็ทำให้เหล่าองค์กรกำกับดูแลหนาวๆ ร้อนๆ เพราะนี่คือโอกาสของเหล่านักฟอกเงิน ในขณะเดียวกันก็เป็นอุปสรรคในการกำกับดูแล

แต่ความพยายามในการแก้ปัญหาดังกล่าวก็ถือว่าคุ้มค่า เพราะการสกัดเส้นทางการเงิน ก็เหมือนความพยายามตัดเส้นเลือดใหญ่ของเหล่าธุรกิจผิดกฎหมาย ถ้าจัดการได้ สุดท้ายธุรกิจก็จะค่อยๆ ล้มหายตายจากไปเอง

 

เอกสารประกอบการเขียน

THE CONSEQUENCES OF MONEY LAUNDERING AND FINANCIAL CRIME

How Money Laundering Works

How financial firms help catch crooks

Tags: , ,