ใน Money Heist (ในชื่อภาษาสเปนว่า La casa de papel หรือ The House of Paper) ภาพยนตร์ซีรีส์ดราม่าอาชญากรรมชื่อดังสัญชาติสเปนที่ถูกนำมาฉายทางเน็ตฟลิกซ์ ที่เล่าเรื่องราวของทีมนักโจรกรรมภายใต้การนำของชายผู้มีฉายาว่า The Professor (ศาสตราจารย์) ที่วางแผนปล้นโรงกษาปณ์และธนาคารกลางแห่งชาติของสเปน นอกจากความลุ้นระทึกและความซับซ้อนลุ่มลึกของกลยุทธในการโจรกรรมอันสมบูรณ์แบบแล้ว ซีรีส์นี้ยังมีจุดเด่นเป็นเอกลักษณ์อีกประการหนึ่งก็คือ ทีมนักปล้นจะสวมใส่ยูนิฟอร์มปกปิดตัวตนและใบหน้าด้วยชุดจั๊มพ์สูทสีแดงสดและสวมหน้ากากรูปใบหน้าของ ซัลบาดอร์ ดาลี นั่นเอง 

การเลือกใบหน้าของดาลีมาใช้เป็นหน้ากากของทีมนักปล้นนั้น นอกจากจะเป็นเพราะดาลีนั้นเป็นภาพจำและสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมอันทรงพลังของสเปนแล้ว ดาลียังเป็นเหมือนตัวแทนของความเป็นขบถและการแหกกฎเกณฑ์อีกด้วย

ด้วยความที่ดาลีเป็นศิลปินคนสำคัญในขบวนการที่สำคัญและทรงอิทธิพลที่สุดในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 อย่าง เซอร์เรียลลิสม์ ที่มุ่งเน้นในการปฏิเสธความเป็นเหตุผล จิตสำนึก ต่อต้านกฎเกณฑ์ ขนบธรรมเนียม ประเพณี เป็นปฏิปักษ์กับทุนนิยม อำนาจรัฐ หรือแม้แต่ศาสนาและคุณค่าทางศีลธรรมอันดีงาม ซึ่งงานของดาลีเองก็เต็มเปี่ยมไปด้วยความพิลึกพิลั่น หลุดโลก ขบถ และไม่ยึดติดกับกฎเกณฑ์และเหตุผลใดๆ แม้แต่กฎเกณฑ์ของขบวนการเองก็ตาม

ทั้งดาลีและเซอร์เรียลลิสม์ ต่างก็เป็นสัญลักษณ์แห่งการเป็นขบถต่อสังคม ไม่ต่างอะไรกับทีมนักปล้นผู้สวมหน้ากากดาลีในซีรีส์ Money Heist ที่เป็นขบถและต่อต้านกฎเกณฑ์ของสังคมด้วยการก่ออาชญากรรม

งานฉายภาพยนตร์ซีรีส์ Money Heist ที่ Piazza Affari มิลาน, อิตาลี ภาพจาก https://medium.com/artupia/the-meaning-of-the-mask-of-dal%C3%AC-in-la-casa-de-papel-fc279dbc8d77

นอกจากหน้ากากดาลีแล้ว ทีมโปรดักชั่นดีไซน์ยังมีแบบสำรองเป็นหน้ากากรูปดอนกิโฆเต้ ตัวละครเอกจากวรรณกรรมเลื่องชื่อของสเปนอย่าง El ingenioso hidalgo don Quixote de la Mancha หรือในชื่อไทยว่า ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน แต่ท้ายที่สุดดีไซน์หน้ากากแบบที่ว่านี้ก็ไม่ถูกเลือกมาใช้ในหนัง

การใช้หน้าดาลีมาทำหน้ากากเองยังก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อันเริ่มต้นมาจาก มูลนิธิ Gala-Salvador Dalí Foundation ผู้ดูแลลิขสิทธิ์ผลงานของดาลี ว่าทางซีรีส์เอาใบหน้าดาลีไปใช้เป็นหน้ากากโดยไม่ได้ทำการขออนุญาตกับทางมูลนิธิอย่างถูกต้องเป็นเรื่องเป็นราวแต่อย่างใด

ในซีรีส์นี้ยังมีการกล่าวว่า ยูนิฟอร์มจั๊มพ์สูทสีแดงสดและหน้ากากซัลบาดอร์ ดาลี ของทีมนักปล้นนั้น ถูกนำไปใช้ในการประท้วงไปทั่วโลก ทั้งใน รีโอเดจาเนโร, บัวโนสไอเรส, โคลอมเบีย, โรม, ปารีส, ฮัมบูร์ก, และซาอุดิอาระเบีย ถึงแม้จะเป็นเรื่องราวสมมติในหนัง แต่ชุดและหน้ากากที่ว่านี้ก็บังเอิญถูกนำมาใช้จริงๆ โดยผู้ชุมนุมที่เดินขบวนประท้วงเพื่อเรียกร้องให้ ริคาร์โด รอสเซลโล ผู้นำเปอร์โตริโก ลาออกจากตำแหน่ง ในปี 2019 อีกด้วย 

ดาลี กับหนวดโง้งอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเขา, ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Salvador_Dal%C3%AD

ดาลีและเซอร์เรียลลิสม์

เซอร์เรียลลิสม์ (Surrealism) หรือที่เรียกในภาษาไทยว่า ‘ลัทธิศิลปะเหนือจริง’ เป็นกระแสเคลื่อนไหวและขบวนการศิลปะที่ถือกำเนิดขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 แรกเริ่มเดิมทีได้รับอิทธิพลมาจากขบวนการศิลปะหัวก้าวหน้าของยุโรปที่เรียกว่า ดาดา (Dada) ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในราวปี 1916 โดยมีสมาชิกที่ประกอบด้วยจิตรกร นักเขียน กวี อาทิเช่น ทริสตร็อง ท์ซารา (Tristan Tzara), กีโยม อาโปลิแนร์ (Guillaume Apollinaire), หลุยส์ อารากง (Louis Aragon), อองเดร เบรอตง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาร์แซล ดูชองป์ ฯลฯ ด้วยความที่เป็นกระแสเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ยุโรปเพิ่งบอบช้ำจากสงครามโลกครั้งที่ 1 มาหมาดๆ ดาดาจึงมีแนวคิดปฏิเสธความเป็นเหตุผลและจิตสำนึก ค่านิยม ตรรกะ รวมถึงต่อต้านลัทธิทุนนิยม อุดมการณ์ชาตินิยม ลัทธิล่าอาณานิคม รวมถึงปฏิเสธสุนทรียะและความงามตามขนบเดิมๆ อย่างสิ้นเชิง เพราะพวกเขามองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นต้นเหตุที่พาผู้คนไปสู่ความทุกข์ยาก งานของพวกเขาจึงละทิ้งเหตุผลทั้งมวล แต่ใช้สัญชาตญาณและความบังเอิญ และความเหลวไหลไร้สาระ ซึ่งพวกเขาถือว่าเป็นอิสระและเสรีภาพ และใช้มันในการกระตุ้นผู้คนให้คิดถึงมุมมองและหนทางใหม่ๆ ซึ่งขบวนการศิลปะนี้เองที่กลายเป็นต้นธารของขบวนการศิลปะเซอร์เรียลลิสม์นั่นเอง

เซอร์เรียลลิสม์เริ่มต้นอย่างเป็นทางการในปี 1924 จากการนำของ อองเดร เบรอตง (André Breton) และ หลุยส์ อารากง (Louis Aragon) กวี นักวิจารณ์ศิลปะ และนักประพันธ์ชาวฝรั่งเศส ที่ต้องการก้าวพ้นจากร่มเงาของดาดา เพราะเขามองว่าพวกดาดานั้นมองโลกในแง่หดหู่สิ้นหวัง และไม่ให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์อะไรขึ้นมาใหม่ 

โดยในเดือนตุลาคม 1924 เบรอตงออกแถลงการณ์เซอร์เรียลลิสม์ฉบับแรก (Manifeste du surréalisme) ขึ้น โดยนิยามว่าเซอร์เรียลลิสม์คือ “การแสดงออกอย่างอัตโนมัติของจิตในสภาวะบริสุทธิ์ดั้งเดิม ที่ถ่ายทอดออกมาด้วยคำพูด การเขียนถ้อยคำ หรือด้วยวิธีการใดก็ตาม เป็นการทำงานที่แท้จริงของความคิดที่ควบคุมตัวมันเองโดยปราศจากการควบคุมของเหตุผล ละเว้นไปจากความงามหรือความคำนึงทางศีลธรรมอันใดก็ตาม” 

คำว่า เซอร์เรียลลิสม์ เป็นศัพท์ที่ กีโยม อโปลิแนร์ เป็นผู้ให้กำเนิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1917 โดยอยู่ในบทละครล้อเลียนเสียดสีที่มีชื่อว่า Les mamelles de Tirésias (เต้านมของทีรีไซอัส) จนกระทั่งเบรอตงและพวกหยิบมาใช้ตั้งเป็นชื่อกลุ่ม คำคำนี้จึงเกิดความสำคัญและรู้จักกันเป็นที่แพร่หลายในวงกว้าง

นอกจากเซอร์เรียลลิสม์จะได้รับแนวคิดในการต่อต้านความเป็นเหตุเป็นผล ตรรกะ จิตสำนึก และสุนทรียะแบบเดิมๆ มาจากพวกดาดาแล้ว พวกเขายังคัดค้านความเชื่อทางศาสนาและความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างสิ้นเชิง เพราะมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดสงคราม ซึ่งทำให้ผู้คนตายไปนับล้านและนำพาความทุกข์มาสู่ผู้คน ทางเดียวที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้มันเกิดขึ้นอีกก็คือการสำรวจเส้นทางของความคิดใหม่ๆ ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าอยู่ในเวลาที่จิตสำนึกและเหตุผลของเราหลับใหล หรือตอนที่เรากำลังฝันอยู่ นั่นเอง ความฝันสำหรับพวกเซอร์เรียลลิสม์จึงเหมือนเครื่องมือที่ปลดปล่อยเราออกจากกรงขัง เพราะในความฝันเราจะทำอะไรก็ได้ ไม่มีเหตุผล ไม่ต้องมีคำอธิบาย และเป็นแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ให้กับศิลปินและคนทำงานสร้างสรรค์ทุกยุคสมัย พวกเขาเชื่อว่ามีแต่ในความฝันเท่านั้นที่คนเราจะเป็นอิสระอย่างแท้จริง

ประจวบกับในช่วงเวลาเดียวกันกับที่นักจิตวิเคราะห์ชื่อดังอย่าง ซิกมุนด์ ฟรอยด์ ได้ค้นพบสิ่งที่เรียกว่า ‘จิตไร้สำนึก’ (Unconscious mind) ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นสภาพดั้งเดิมของจิตใจที่ไร้การควบคุม ไตร่ตรอง และไร้เหตุผล ซึ่งมีตั้งแต่ความต้องการพื้นฐานอย่างความหิว ความอยากขับถ่าย ไปจนถึงความต้องการทางเพศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็มีอยู่ในตัวคนทุกคน เพียงแต่ส่วนใหญ่เรามักจะเก็บกดมันเอาไว้ในส่วนลึกของจิตใจไม่ยอมแสดงออกมาเต็มที่ แต่พอถูกเก็บสะสมเอาไว้มากๆ มันก็แอบถูกระบายออกมาในรูปของความฝัน แต่ความฝันก็เพียงแค่่บรรเทาความต้องการเหล่านั้นลงชั่วคราว ตามสำนวนของฟรอยด์ว่า “การกวาดเศษแก้วแตกเอาไปซุกไว้ใต้พรม” และถ้าความต้องการเหล่านั้นไม่ได้รับการตอบสนองในชีวิตจริง มันก็จะตกค้างในจิตใจและสะสมจนกลายเป็นความป่วยทางจิตในที่สุด ไม่ต่างกับเศษแก้วที่แทงทะลุพรมออกมา ซึ่งฟรอยด์เชื่อว่าวิธีการบำบัดทางหนึ่งคือการทำงานศิลปะนั่นเอง ซึ่งแนวคิดที่ว่านี้โดนใจชาวเซอร์เรียลลิสม์อย่างจังจนนำเอามาใช้เป็นแนวทางหลักของกลุ่มเลยทีเดียว 

เซอร์เรียลลิสม์นิยมความไร้ระเบียบ ยกย่องจินตนาการเหนือเหตุผล มองว่าความฝันและจิตไร้สำนึกคือช่องทางในการบรรลุความจริงที่ถ่องแท้ ซึ่งสูงส่งกว่าความเป็นจริงที่มาจากตรรกะเหตุผลและหลักคิดทางวิทยาศาสตร์ การเปิดโอกาสให้ศิลปินแสดงออกถึงแรงขับทางเพศอย่างเสรี และการปฏิเสธตรรกะและเหตุผลของศิลปินกลุ่มเซอร์เรียลลิสม์ที่ว่านี้เอง ก็ถือเป็นการขบถต่อค่านิยมของสังคมในเรื่องศีลธรรม จารีตประเพณี และจริยธรรมทางการเมืองของชนชั้นกลางเกี่ยวกับสถาบันครอบครัวและความมุ่งมั่นต่อภาระหน้าที่การงาน ซึ่งเป็นเสาหลักในการดำรงไว้ซึ่งสังคมอันดีงามในยุคสมัยนั้นนั่นเอง

ถึงลัทธิเซอร์เรียลลิสม์จะถูกยุบลงในปี 1969 แต่แนวคิดของพวกเขาก็ยังคงส่งอิทธิพลและสร้างแรงบันดาลใจต่อวงการศิลปะรุ่นหลังอย่างสูง

และหนึ่งในศิลปินคนสำคัญและถูกจดจำในฐานะสัญลักษณ์และภาพจำของกระแสเคลื่อนไหวเซอร์เรียลลิสม์ก็คือ ซัลบาดอร์ ดาลี (Salvador Dalí) นั่นเอง

ดาลีเป็นสมาชิกที่มีบทบาทสำคัญและมีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดของลัทธิเซอร์เรียลลิสม์ ด้วยเทคนิควิธีการทำงานที่เขาคิดค้นขึ้นที่เรียกว่า ‘วิธีจิตตาพาธ – วิพากษ์’ (Paranoiac-critical method) หรือวิธีการอันฉับพลันที่ทำให้ได้มาซึ่งความรู้อันไม่ยึดติดกับเหตุผล ด้วยการวิเคราะห์ ตีความอาการเพ้อที่เกิดจากสภาวะหลงผิดหวาดระแวงอย่างเป็นระบบ ด้วยวิธีการนี้ ดาลีกระตุ้นให้ศิลปินกลุ่มเซอร์เรียลลิสม์ปรับความเป็นจริงของโลกภายนอกให้สอดคล้องกับแรงปรารถนาหรือจินตนาการของพวกเขา ด้วยความที่กลุ่มเซอร์เรียลลิสม์ในระยะแรก มีจุดอ่อนในการมัวแต่มุ่งเน้นการแสดงออกอย่างอัตโนมัติของจิตบริสุทธิ์และการถ่ายทอดความฝันตรงๆ จนทำให้ขาดการสื่อสารกับโลกภายนอก 

ดาลีเชื่อว่าวิธีการของเขาสามารถทำให้ศิลปินเซอร์เรียลลิสม์สื่อสารกับโลกภายนอกได้ ในขณะเดียวกันก็สามารถแสดงออกถึงความไร้เหตุผลภายในจิตได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น อุปมาเหมือนศิลปินเป็นผู้ป่วยโรคจิตเภทประเภทหลงผิดหวาดระแวงที่เพ้อคลั่ง มองเห็นภาพลวงตา หรือภาพหลอนซ้ำซ้อน หากแต่นำเสนอภาพลวงตาและภาพหลอนเหล่านั้นออกมาอย่างน่าติดตาตรึงใจด้วยทักษะทางศิลปะอันเชี่ยวชาญนั่นเอง

เบรอตงชื่นชมและยกย่องวิธีการนี้ของดาลีอย่างมาก และกล่าวว่ามันมีศักยภาพในการนำไปปรับใช้กับงานจิตรกรรม บทกวี ภาพยนตร์ และการสร้างสรรค์วัตถุในแบบเซอร์เรียลลิสม์ทุกสิ่งอัน ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่น ประติมากรรม ประวัติศาสตร์ศิลป์ หรือแม้กระทั่งใช้ในการอธิบายหรือตีความข้อเขียนทุกประเภทก็ตาม

ผลงานในลักษณะนี้ของดาลีที่เป็นที่รู้จักดีและคุ้นตาคนทั่วๆ ไปก็คือภาพเขียนรูปทิวทัศน์กว้างไกลสุดลูกหูลูกตาที่มีบรรยากาศอันพิสดารและองค์ประกอบอันขัดแย้งลักลั่น พิลึกพิลั่นเหนือจริง อย่างภาพที่มีรูปนาฬิกาหลอมละลายเหมือนเนยเหลวหยดย้อยกำลังโดนฝูงมดรุมตอมอยู่ โดยเขาได้แรงบันดาลใจมาจากการเห็นก้อนเนยแข็งกามองแบร์กำลังละลายย้อยหลังจากกินอาหารเย็น 

ตอนที่เขาวาดภาพนี้เสร็จ เขาถามความเห็นของ กาล่า (Gala) ภรรยาผู้เป็นทั้งผู้สนับสนุนและแรงบันดาลใจของเขาว่าเป็นอย่างไร เธอตอบว่า “มันเป็นภาพที่ทุกคนจะไม่มีวันลืม” ดาลีจึงตั้งชื่อภาพนี้ว่า The Persistence of Memory (1931) หรือ ‘ความทรงจำมิรู้ลืม’ นั่นเอง 

The Persistence of Memory (1931), ภาพจาก https://www.wikiart.org/en/salvador-dali/the-persistence-of-memory-1931

เมื่อถูกจัดแสดงในนิทรรศการ ภาพวาด ‘นาฬิกาเหลว’ ภาพนี้ได้รับความนิยมถล่มทลาย และผลักให้ชื่อเสียงของดาลีโด่งดังคับฟ้าและกลายเป็นศิลปินเนื้อหอมในแวดวงศิลปะและปัญญาชนในยุคนั้นอย่างมาก ภาพวาดนี้กลายเป็นสัญลักษณ์และภาพจำของงานศิลปะแนวเซอร์เรียลลิสม์ มันถูกต่อยอด ทำซ้ำและเลียนแบบนับไม่ถ้วนจนถึงปัจจุบัน

แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะชื่นชมไปกับชื่อเสียงและความสำเร็จของดาลี ด้วยความที่เขาชอบเล่นกับความขัดแย้งทั้งในผลงานและพฤติกรรมของตนเองเพื่อยั่วยุและเรียกร้องความสนใจ ด้วยบุคลิกเพี้ยนๆ การพูดการจาอันแปลกประหลาดพิลึกพิลั่น และความเป็นนักประชาสัมพันธ์ตัวเองชั้นยอด ยกตัวอย่างเช่นครั้งหนึ่งในนิทรรศการเซอร์เรียลลิสต์นานาชาติที่ลอนดอนในปี 1936 ดาลีปรากฏตัวโดยสวมชุดประดาน้ำรุ่นโบราณมีหมวกโลหะครอบแก้วใหญ่โตเทอะทะ เขาอ้างว่าที่แต่งตัวแบบนี้ก็เพื่อให้มีชีวิตรอดอยู่ในก้นทะเลของจิตใต้สำนึกได้ แต่สุดท้ายเขาก็เกือบหมดสติอยู่ในนั้นจากการขาดอากาศหายใจ ถ้าไม่ได้เพื่อนมาช่วยเอาไว้เสียก่อน พฤติกรรมเหล่านี้ก่อให้เกิดความไม่พอใจแก่สมาชิกในกลุ่มเซอร์เรียลลิสม์อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจ้าลัทธิผู้เป็นเสมือน สันตะปาปาแห่งเซอร์เรียลลิสม์อย่าง อองเดร เบรอตง ที่เริ่มรู้สึกว่าดาลีกำลังแย่งความโดดเด่นไปจากพวกเขา

ดาลีสวมชุดประดาน้ำโบราณในนิทรรศการเซอร์เรียลลิสต์นานาชาติที่ลอนดอนปี 1936, ภาพจาก https://www.theguardian.com/artanddesign/2016/jun/01/dali-exhibition-surreal-encounters-edinburgh

ความไม่พอใจนี้ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดก็ถึงจุดแตกหัก เมื่อดาลีแสดงการสนับสนุนผู้นำเผด็จการของสเปนอย่าง ฟรานซิสโก ฟรังโก อย่างออกนอกหน้า และแสดงความเลื่อมใสต่อผู้นำเผด็จการของเยอรมนีอย่าง อดอฟล์ ฮิตเลอร์ ว่า “ไม่มีอะไรเซอร์เรียลไปกว่าผู้นำเผด็จการ” รวมถึงใส่ภาพฮิตเลอร์ลงในภาพวาด The Enigma of Hitler (1939) หรือ ‘ปริศนาของฮิตเลอร์’ ของเขา

The Enigma of Hitler (1939), ภาพจาก https://www.museoreinasofia.es/en/collection/artwork/enigma-hitler

เมื่อมีการแสดงนิทรรศการเซอร์เรียลลิสม์นานาชาติที่นิวยอร์กในปี 1942 เบรอตงก็ไม่ยินยอมให้ดาลีนำผลงานเข้ามาร่วมแสดง เพราะถือว่าเขาไม่มีคุณสมบัติในการเป็นสมาชิกของกลุ่มอีกต่อไป โดยกล่าวหาว่าเขา “แสวงหาชื่อเสียงและความสำเร็จทางการค้ามากเกินไป (Avida Dollars)” จากการที่เขาเริ่มรับงานจ้างวานที่ได้รับค่าตอบแทนสูง อีกทั้งยังสร้างผลงานที่เลียนแบบความสำเร็จของตัวเอง รวมถึงข้อหาที่ร้ายแรงอย่างการ “ฝักใฝ่ในลัทธินาซีและเผด็จการ” เบรอตงประกาศขับดาลีออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มอย่างเด็ดขาด สมาชิกในกลุ่มบางคนเองก็กล่าวถึงดาลีราวกับเป็นบุคคลในอดีตที่ตายจากไปแล้ว บางคนถึงกับสาบส่งดาลีอย่างเกรี้ยวกราดจวบจนกระทั่งตอนที่เขาตายไปแล้วก็ตาม (แต่ก็ยังมีสมาชิกบางคนในกลุ่มโต้แย้งว่า ถ้าเซอร์เรียลลิสม์คือการสำรวจความฝันและเรื่องต้องห้ามโดยไม่มีการจำกัดความคิดหรือเซ็นเซอร์ ดาลีก็มีสิทธิทุกประการที่จะฝันเกี่ยวกับฮิตเลอร์เหมือนกัน)

และถึงแม้จะถูกขับออกจากกลุ่ม แต่ท้ายที่สุดแล้ว ดาลีก็ยังเป็นศิลปินที่เป็นเสมือนตัวแทนผู้ถูกจดจำมากที่สุดของกลุ่มเซอร์เรียลลิสม์อยู่ดี ถึงขนาดที่ว่า ถ้าพูดถึงเซอร์เรียลลิสม์ คนก็จะนึกถึงงานของดาลีเป็นอันดับแรกนั่นเอง.

ข้อมูล

https://screenrant.com/money-heist-salvador-dali-mask-red-jumpsuit-explained-2/ 

https://www.oprahmag.com/entertainment/tv-movies/a28434016/la-casa-de-papel-money-heist-costume/ 

https://advanced-television.com/2020/04/09/analysis-money-heist-1-tv-show-in-the-world/ 

https://medium.com/artupia/the-meaning-of-the-mask-of-dal%C3%AC-in-la-casa-de-papel-fc279dbc8d77  

https://en.wikipedia.org/wiki/Salvador_Dal%C3%AD 

https://en.wikipedia.org/wiki/Money_Heist 

วารสารหนังสือใต้ดินลำดับที่ 14 : เซอร์

วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาศิลปมหาบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร เรื่อง ค่านิยมเทียมส่วนบุคคลในสังคมสมัยใหม่ หน้า 15 โดย อานนท์ ลุลิตานนท์ https://goo.gl/Ab1IN5 

หนังสือ Art is Art, Art is Not Art อะไร (แม่ง) ก็เป็นศิลปะ

Tags: , , ,