คนบางคนมีความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตและเวลาอย่างลึกซึ้งยิ่ง

ชีวิตของ ยูเซน โบลต์ (Usain Bolt) มนุษย์ที่วิ่งเร็วที่สุดในโลก ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาเพียงเสี้ยววินาที และในทุกเสี้ยววินาที เขาต้องทำทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบที่สุด ไม่ว่าจะตอบสนองต่อเสียงปืนที่ให้สัญญาณ การกระโจนออกจากบล็อกสตาร์ท การจัดระเบียบร่างกายและท่วงท่าในการวิ่ง มัดกล้าม และกระดูกต้องร้อยรัดเป็นหนึ่งเดียวกัน

เป้าหมายมีเพียงหนึ่งเดียวคือ เส้นชัยข้างหน้า

ส่วนคู่แข่งและโลกเบื้องหลังไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในสายตาของเขาแม้แต่น้อย

เพราะเขารู้ว่าไม่มีทางที่ใครจะไวไปกว่า ‘มนุษย์สายฟ้า’ ได้

Photo: Kai Pfaffenbach, Reuters/profile

แป้งทอด มันเทศ และหมู ต้นกำเนิดพลังสายฟ้า

ด้วยบุคลิกที่มีความมั่นใจถึงขีดสุดเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งพึงจะมี ไม่ใช่สิ่งที่เขาสร้างขึ้นมาในภายหลัง

ยูเซน โบลต์ เกิดและเติบโตมาแบบนี้ตั้งแต่ในวันที่อยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ ชื่อ ‘เชอร์วูด คอนเทนต์’ หมู่บ้านที่อยู่ในอ้อมกอดของผืนป่าและขุนเขา

หมู่บ้านแห่งนี้อยู่ห่างจากคิงสตัน เมืองหลวงของจาเมกา มาทางตะวันตกด้วยระยะเวลาขับรถประมาณ 3 ชั่วโมง

หากคุณตัดสินใจจะเดินทางมาเยี่ยมเยียนหมู่บ้านแห่งนี้ ไม่ต้องกลัวว่าจะหลงและหาบ้านของ ยูเซน โบลต์ ในวัยเด็กไม่เจอ เพราะคุณจะเจอป้ายขนาดใหญ่เท่าบ้านเขียนว่า ‘ยินดีต้อนรับสู่บ้านของมนุษย์ที่เร็วที่สุดในโลก’

และคุณจะได้พบกับ ‘ป้าลิลลี’ ที่ดูแลเจ้าหนูโบลต์ในวัยเด็ก ที่พร้อมจะออกมาให้การต้อนรับทุกคนด้วยรอยยิ้มและไมตรี

พร้อมกับคำพูดที่น่าจะพูดเหมือนเดิมทุกครั้งว่า เจ้าของตำนาน ‘Triple Triple’ (คว้าเหรียญทองครั้งละ 3 เหรียญ ในการแข่งขันโอลิมปิก 3 สมัยติดต่อกัน) มีทุกวันนี้ได้เพราะอาหารที่เธอทำให้กินในทุกๆ วัน

‘แป้งทอด มันเทศ และหมู’

อาหารที่ดูเรียบง่ายนี้คือต้นกำเนิดแหล่งพลังงานของมนุษย์ที่เร็วที่สุดในโลก

ทุกวันหลังเลิกเรียน โบลต์จะแวะมากินอาหารที่บ้านป้าลิลลี ก่อนจะกลับบ้านหรือออกไปวิ่งแข่งขัน

แม้จะยังไม่มีใครห้ามป้าลิลลีไม่ให้เชื่อว่าอาหารจากหัวใจของเธอคือพลังวิเศษของโบลต์ แต่ลึกๆ เธอเองก็เชื่อเช่นกันว่า หลานคนนี้มีอะไรที่พิเศษ

และตำนาน Triple Triple ก็ไม่ใช่เรื่องที่เกินความคาดหมายอะไร

“ฉันรู้ว่าเขาจะทำได้ เพราะเขาบอกว่าเขาจะทำมันให้ได้”

เธอตอบด้วยรอยยิ้มที่ภูมิใจ

ผมจะบอกตัวเองว่า
ถ้าอยากเป็นแชมเปี้ยนก็ต้องไปซ้อม ลุกไปซ้อมได้แล้ว
ถ้าไม่ซ้อมแกจะแพ้ ถ้าไม่อยากจะแพ้ก็ต้องซ้อมให้เสร็จ

Photo: Kai Pfaffenbach, Reuters/profile

น้ำตาและความเจ็บปวดที่ไม่มีใครเคยเห็น

ถึงป้าลิลลีจะมั่นใจว่าหลานชายมีวันนี้ได้เพราะเธอ แต่จริงๆ แล้วโบลต์กลายเป็น ‘มนุษย์สายฟ้า’ ได้ด้วยตัวของเขาเอง

ในทางกายภาพมีนักวิทยาศาสตร์การกีฬาวิเคราะห์ว่า โบลต์มีรูปร่างของนักวิ่งที่สมบูรณ์แบบและพิเศษกว่าใคร ด้วยส่วนสูง 196 เซนติเมตร แต่มีสะดือที่สูงกว่าคนปกติและขาที่ยาวกว่านักวิ่งทั่วไปถึง 15% ซึ่งทำให้การวิ่ง 100 เมตร เขาจะก้าวเพียง 41 ก้าวเท่านั้น (ก้าวละ 2.4 เมตร!) เทียบกับ 44 ก้าวของนักวิ่งคนอื่น

แต่สิ่งสำคัญกว่าสิ่งที่ฟ้าประทานมาให้ คือความมุ่งมั่นตั้งใจที่ไร้ขีดจำกัด

สิ่งที่ยากที่สุดไม่ใช่การคว้าชัยชนะ แต่เป็นการกระตุ้นตัวเองให้ทำ ‘หน้าที่’

“การกระตุ้นตัวเองคือเรื่องที่ยากที่สุด ผมต้องคอยบอกกับตัวเองเสมอ… โดยเฉพาะเวลาที่ผมอยู่ในช่วงของการฝึกซ้อม และผมไม่อยากจะซ้อมอีกต่อไปแล้ว ถึงตอนนั้นผมจะบอกตัวเองว่า ‘ถ้าอยากเป็นแชมเปี้ยนก็ต้องไปซ้อม ลุกไปซ้อมได้แล้ว ถ้าไม่ซ้อมแกจะแพ้ ถ้าไม่อยากจะแพ้ก็ต้องซ้อมให้เสร็จ’”

และไม่ใช่ว่าคนอย่างโบลต์จะแพ้ไม่ได้ ร้องไห้ไม่เป็น

กว่าจะมาถึงวันนี้เขาเองก็เคยร้องไห้กระจองอแง เป็นเด็กขี้แยเมื่อแพ้คู่แข่งมาก่อน (และมันเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาไม่อยากแพ้) และบางครั้งเขาก็ต้องเจอกับปัญหาอาการบาดเจ็บรบกวน เช่นกันกับความเครียด ความกดดันที่นับวันก็ยิ่งหนักขึ้นเรื่อยๆ

“ผู้คนมักจะพูดกับผมเสมอว่า ‘ยูเซนมันดูง่ายดายจัง’ ความจริงแล้วมันไม่ง่ายเลย… ผมต้องทำอะไรมาเยอะมาก คนทั่วไปแค่ไม่ได้เห็นมันเท่านั้น”

ไม่ใช่ลืมตาตื่น ไปที่สนามแข่ง และวิ่งเข้าเส้นชัยได้เลย

ชีวิตมันไม่ง่ายขนาดนั้น

Photo: Sergio Moraes, Reuters/profile

ชีวิตหลังเส้นชัย

หลายคนสงสัยว่าความรู้สึกของการเป็นมนุษย์ที่เร็วที่สุดในโลกนั้นเป็นอย่างไร?

โบลต์ให้คำตอบอย่างเรียบง่ายในการสัมภาษณ์ล่าสุดกับ BBC Sport ว่า “สุดยอด” (Awesomeness)

ในวัย 30 ปี โบลต์ยังถือว่าดูดีมาก เมื่อดูจากสภาพภายนอก และเชื่อว่าหากลงสนามอีก ไม่ว่าจะกี่รายการเขาก็จะเป็นคนที่เข้าเส้นชัยคนแรกได้เสมอ

เขาคือ ‘คนพิเศษ’ ที่เกิดมาเพื่อเป็นหนึ่งไม่มีสอง เหมือนกับ มูฮัมหมัด อาลี ในวงการมวย, เปเล่ ราชาลูกหนัง, ไมเคิล ‘แอร์’ จอร์แดน นกอมตะแห่งวงการบาสเก็ตบอล

แต่ซูเปอร์สตาร์นักวิ่งชาวจาเมกาก็เตรียมจะประกาศอำลาวงการภายในปีหน้า โดยตั้งใจที่จะลงแข่งในรายการกรีฑาชิงแชมป์โลก 2017 ที่กรุงลอนดอน ที่จะจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม

ส่วนชีวิตหลังจากนั้นถึงความรู้สึกในใจจะยังไม่ชัดเจน และเขาเองก็ยังเฝ้าสอบถามจากหลายๆ คน แต่ก็มีหลายอย่างที่โบลต์อยากทำ

หนึ่งในนั้นคือการเข้าร่วมโอลิมปิกในฐานะผู้ชม

“ผมคงจะร้องไห้” โบลต์แหย่ตัวเองก่อน “ผมจะไปเข้าร่วมแน่ เพราะสิ่งหนึ่งที่ผมเฝ้ารอจะทำในอนาคตก็คือ การเข้าร่วมโอลิมปิกในฐานะผู้ชม ในความหมายของการเป็นผู้ชมจริงๆ ผมจะได้ชมกีฬาหลากหลายประเภท ซึ่งผมเองก็ไม่รู้ว่าความรู้สึกของผมจะเป็นอย่างไร… แต่มีคนบอกกับผมว่าผมคงจะคิดถึงการแข่งแน่”

อย่างไรก็ดี โบลต์ไม่คิดว่าเขาตัดสินใจผิด เพราะเขาเชื่อในสิ่งที่ ไมเคิล จอห์นสัน อดีตนักวิ่งชื่อก้องที่กล่าวไว้ว่า ทุกคนจำเป็นจะต้องหยุด หากพบว่าไม่มีอะไรหลงเหลือให้ทำอีกต่อไป ซึ่งสำหรับเขา ไม่มีอะไรเหลือให้ท้าทายอีกแล้วบนลู่วิ่ง

แต่ความท้าทายนั้นยังมีเหลืออยู่เต็มเปี่ยมในสนามฟุตบอล

ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ชนะในการแข่งขันเสมอไป
เพราะเพียงแค่การเอาชนะตัวเองให้ได้ก็นับว่า ‘สุดยอด’​

ความฝันในสนามฟุตบอลและการส่งต่อแรงบันดาลใจ

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา โบลต์พยายามเสนอตัวจะเล่นให้ทีมในฝันอย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มาโดยตลอด หลายครั้งเขาได้เข้าไปใกล้ชิด มีการให้คำแนะนำเรื่องการวิ่ง แต่ยังไม่มีโอกาสได้ร่วมลงเล่นอย่างเป็นทางการ

ล่าสุด โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ สโมสรดังในเยอรมัน เปิดเผยว่ามนุษย์สายฟ้าจะมาร่วมฝึกซ้อมกับทีม

แต่ตัวเขาก็ยังยืนกรานหนักแน่นว่าเขายัง ‘ฝัน’ ถึงการลงเล่นในชุด ‘ปีศาจแดง’ เหมือนเดิม

โบลต์จะทำได้หรือไม่เป็นเรื่องของความฝันที่ต้องติดตามเอาใจช่วยครับ เพราะมันก็ไม่ง่ายนักสำหรับคนที่เป็นนักวิ่งมาตลอดชีวิต แล้วจะไปเล่นกีฬาประเภทอื่นในช่วงท้ายของชีวิตการเล่นกีฬา แม้กระทั่ง ไมเคิล จอร์แดน เองก็ไม่ประสบความสำเร็จกับการเล่นเบสบอล (จนต้องหวนกลับมาเล่นบาสเก็ตบอลอีกครั้ง)

นอกเหนือจากนี้ยังมีอีกหนึ่งภารกิจสำคัญที่เขาต้องการจะทำ และสำหรับผมเรื่องนี้สำคัญและมีความหมายมากกว่า

ภารกิจดังกล่าวคือการส่งมอบ ‘แรงบันดาลใจ’ ให้แก่ทุกคนบนโลกผ่านเรื่องราวของเขาที่จะถูกบอกเล่าในสารคดีชีวประวัติ I Am Bolt ซึ่งจะเข้าฉายตามโรงภาพยนตร์รวมถึงการจำหน่ายในรูปแบบต่างๆ ในช่วงปลายเดือนนี้

เขาอยากเห็นทุกคนทำทุกอย่างให้ดีที่สุด เท่าที่จะสามารถทำได้

ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ชนะในการแข่งขันเสมอไป เพราะเพียงแค่การเอาชนะตัวเองให้ได้ก็นับว่า ‘สุดยอด’​ (Awesomeness) แล้ว

DID YOU KNOW?

นักทำลายสถิติมืออาชีพ

ยูเซน โบลต์ ทำลายสถิติโลกมาแล้วตลอดชีวิตนักวิ่งถึง 7 ครั้ง โดยเป็นการทำลายสถิติการวิ่งของตัวเองถึง 2 ครั้ง สถิติที่ทุกคนจดจำคือ สถิติโลกการวิ่ง 100 เมตร ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2008 ที่กรุงปักกิ่ง โบลต์เข้าเส้นชัยด้วยเวลา 9.69 วินาที (ทำลายทั้งสถิติโลกและสถิติโอลิมปิก) และในการวิ่ง 200 เมตร เข้าเส้นชัยเวลา 19.30 วินาที (ทำลายสถิติคู่เช่นกัน)

จากนั้นในปีต่อมาเขาทำลายสถิติวิ่ง 100 เมตรอีกครั้ง ในการแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์โลก ที่ประเทศเยอรมนีด้วยเวลา 9.58 วินาที ก่อนจะทำลายสถิติวิ่ง 200 เมตรด้วยเวลา 19.19 วินาที ซึ่งยังเป็นสถิติโลกที่ไม่มีใครทำลายได้จนถึงวันนี้

To Di World

ท่าดีใจอันเป็นเอกลักษณ์ของโบลต์ที่ทุกคนจดจำได้นั้น คนจาเมกาเรียกท่านี้ว่าท่า ‘To Di World’ โดยเป็นการทำท่าเหมือนง้างคันธนูมาจากด้านข้าง ขณะที่ชาวโลกจะเรียกว่าท่า Lighting Bolt หรือ Bolting โดยโบลต์ทำท่านี้เป็นครั้งแรกหลังคว้าชัยชนะในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงปักกิ่งในปี 2008
โดยที่มาที่ไปของท่านี้ไม่มีอะไรมาก ก็แค่เป็นท่าที่คนจาเมกาเต้นกันเท่านั้น