Photo: Surapan Boonthamon, Reuters/profile

เมื่อคืน (2 พ.ย. 59) ภาพเปลวไฟที่ลุกโชติช่วงบริเวณปั๊ม ปตท. จากเหตุความไม่สงบหลายจุดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้กลายเป็นประเด็นร้อนที่ปลุกหลายคนให้ผวาตื่นขึ้นจากที่นอน

“ตั้งแต่ 21:30 น. เรื่อยมา เกิดเหตุก่อกวนหลายจุดที่นราธิวาส ปัตตานี เทพา สงขลา เผายาง ยิงปืนใส่หม้อแปลง ระเบิดเสาไฟฟ้า ไฟดับ วางระเบิด ยิงป้อมตำรวจ”

วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวสายทหาร หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ทวิตข้อความในทวิตเตอร์ชื่อ Deep Blue Sea เมื่อคืนวาน

หากไล่เรียงจากรายงานของผู้สื่อข่าวหลายสำนักถึงเหตุการณ์ความไม่สงบดังกล่าว จะพบว่ามีเหตุเกิดขึ้นใน 3 จังหวัด ได้แก่ สงขลา ปัตตานี นราธิวาส รวมทั้งสิ้น 19 จุด มีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต 3 คน และผู้บาดเจ็บ 5 คน

ไม่น่าเชื่อว่า เหตุการณ์ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นภายในคืนเดียว

ด้าน พ.อ. ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน. หรือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ภาค 4 (กองทัพภาคที่ 4 รับผิดชอบพื้นที่ภาคใต้ทั้งหมด) เชื่อว่าทั้งหมดนี้เป็นการสร้างสถานการณ์

ขณะที่สำนักข่าวอิศรา ตั้งข้อสังเกตว่า การก่อเหตุทั้งหมดเกิดขึ้นในวันเดียวกับที่ ‘ครม.ส่วนหน้า’ หรือคณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ลงพื้นที่แบบเต็มคณะ 13 คนเป็นครั้งแรก

นอกจากนี้ ยังเกิดขึ้นหลังเหตุระเบิดอันอุกอาจที่ร้านก๋วยเตี๋ยวเบิ้มนครปฐม ตลาดโต้รุ่ง เมืองปัตตานี จนมีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 18 ราย เมื่อวันที่ 24 ต.ค. ได้เพียง 9 วัน

คำถามคือ เกิดอะไรขึ้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้?

The Momentum ถามคำถามนี้กับ รอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้(Deep South Watch) และผู้ช่วยนักวิจัยคณะทำงานยุทธศาสตร์สันติวิธี ซึ่งเป็นหนึ่งคนในพื้นที่ หลังเหตุการณ์ระเบิดที่ร้านก๋วยเตี๋ยวเบิ้มนครปฐมไม่กี่วัน

คำตอบของรอมฎอนในวันนั้น ได้เปิดไปสู่คำถามอื่นๆ อีกมากมาย ที่ฉายภาพเบื้องหลังของปัญหา จนถึงรากที่หยั่งลึกภายใต้ความรุนแรง

มากกว่านั้น คำตอบของเขาอาจจะบอกได้ว่าเกิดอะไรขึ้นในคืนวันที่ 2 พ.ย. ที่ผ่านมา…

*หมายเหตุ: สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2559

มันจำเป็นที่จะต้องคุยกับศัตรูของตัวเอง
และคนในพื้นที่เองก็ยากที่จะลืมเลือนความทรงจำ ความเจ็บปวดในอดีต
เลยจำเป็นที่จะต้องพูดคุยกับคนที่เห็นต่างด้วย
เพื่อที่จะผ่านจุดตรงกลางที่พอจะรับได้
แล้วค่อยแก้ไขปัญหาต่างๆ ไปพร้อมๆ กัน

เหตุการณ์ระเบิดที่ร้านก๋วยเตี๋ยวเบิ้มนครปฐม (วันที่ 24 ต.ค.) คิดว่าสาเหตุหลักมาจากอะไร และใครเป็นผู้ก่อเหตุ?

ถ้าตอบจริงๆ คือ ไม่รู้ครับ แต่สิ่งที่เราอ่านได้จากเหตุการณ์นี้ทั้งในแง่เป้าหมายและเวลา คือเหตุเกิดในคืนก่อนวันที่ 25 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันครบรอบ ‘เหตุการณ์ตากใบ’ เมื่อ 12 ปีก่อน อันเป็นโศกนาฏกรรมที่อยู่ในความทรงจำร่วมของผู้คนในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนมลายูที่รู้สึกว่าพวกเขาถูกกระทำโดยไม่เป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐ  โดยเฉพาะการกวาดจับและสลายการชุมนุมของผู้ชุมนุมในวันนั้นอย่างไร้มนุษยธรรม จนมีผู้เสียชีวิตกว่า 70 คน ซึ่งเป็นความรู้สึกเจ็บปวดที่ยากจะลืม ทีนี้ความหมายในทางวัฒนธรรมอีกอย่างหนึ่งที่ต้องรู้คือ สำหรับคนมุสลิมแล้ว การนับวันเริ่มต้นในช่วงกลางคืน อาจเป็นไปได้ว่า แม้จะก่อการในวันที่ 24 ก็นับว่าเป็นการเข้าสู่วันที่ 25 แล้ว

ส่วนผู้ก่อเหตุ ถ้าให้เดาโดยพิจารณาจากรูปแบบที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะพูดว่า เป็นฝีมือของกลุ่ม BRN (หรือ BRN-C แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี) เพราะว่ามีกองกำลังมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มขบวนการอื่นๆ

และผมเข้าใจว่ากลุ่ม BRN ก็มองเห็นจุดนี้ และพยายามที่จะใช้ความทรงจำตรงนี้ในแง่ที่เป็นเหตุผลรองรับของปฏิบัติการตอบโต้เจ้าหน้าที่เสมอมา

รูปแบบปฏิบัติการของกลุ่ม BRN ที่คุณว่า มีลักษณะอย่างไร

ในระยะสิบกว่าปีที่ผ่านมา ยุทธศาสตร์ที่กลุ่มนี้ใช้คือ การรบแบบกองโจร ซึ่งพัฒนามาจากยุคสงครามเย็น เน้นการโจมตีในเขตเมืองและชุมชนเป็นหลัก โดยมุ่งเป้าโจมตีกองกำลังฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลไทย พื้นที่สาธารณะ และอาจรวมถึงพลเรือนด้วย

ปัญหาคือวิธีคิดของรัฐไทยที่มักจะมองว่า
การปกครองควรจะปกครองเหมือนๆ กัน

เราสามารถมั่นใจได้แค่ไหนว่าเป็นฝีมือของกลุ่ม BRN

อันนี้เป็นสิ่งที่เราตีความ เพราะว่ารูปแบบที่เป็นมาโดยตลอด ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของปฏิบัติการสร้างความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้คือ ไม่มีการประกาศตัว หรือแสดงความรับผิดชอบว่ากระทำโดยใคร ฉะนั้นสิ่งที่เราทำได้คือ ดูจากรูปแบบของปฏิบัติการ และอาศัยข้อมูลรอบนอกในการตีความ

และอีกจุดหนึ่งที่สามารถตีความได้ก็คือ มันเป็นวันเดียวกันกับการพบปะพูดคุยระหว่างคณะกรรมการอำนวยการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลไทย และคณะพูดคุยเพื่อสันติภาพของ มารา ปาตานี ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม โดยมีหมายกำหนดที่จะพูดคุยในรายละเอียดที่เกี่ยวกับประเด็นพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งเป็นข้อเสนอแรกๆ ที่ทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องต้องกัน ทีนี้เป็นไปได้ว่ากลุ่มปฏิบัติการที่ก่อเหตุเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม จงใจที่จะส่งสัญญาณเพื่อที่จะทัดทานกระบวนการที่กำลังดำเนินอยู่

Photo: Damir Sagolj, Reuters/profile

ในมุมของคนที่อยู่ในพื้นที่มานาน เกาะติดกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างรัฐบาลและกลุ่มเจรจาเพื่อสันติภาพ คุณมองเห็นความคืบหน้าบ้างไหม

ผมเห็นการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่เราไม่มีช่องทางในทางการเมืองที่จะต่อรองเลย แม้ว่าก่อนหน้าปี 2556 จะมีการพูดคุยเพื่อสันติภาพก็จริง แต่ก็เป็นไปในทางลับ แต่หลังจากปี 2556 รัฐบาลไทยได้เปิดหน้าพูดคุยสันติภาพกับกลุ่ม BRN ผมคิดว่าผู้คนในพื้นที่ตื่นตัวกันมาก อย่างน้อยที่สุดพวกเขาได้เห็นวิธีการที่ไม่เคยเห็นมาก่อน นั่นคือ การนั่งลงพูดคุยกันของคู่ขัดแย้ง คือรัฐบาลไทยกับกลุ่มติดอาวุธอีกกลุ่มหนึ่ง และมีคนกลางอย่างรัฐบาลมาเลเซียเข้ามาร่วมเป็นผู้อำนวยความสะดวก มีกลุ่มเคลื่อนไหวทั้งในพื้นที่และองค์กรระหว่างประเทศให้การสนับสนุน มันก็ทำให้ผู้คนตั้งคำถามและเริ่มถกเถียงกันถึงอนาคตและสันติภาพที่ตัวเองต้องการ

ในรอบหลายปีที่ผ่านมา มีการพูดคุยถึงสันติภาพกันหลายครั้ง แต่สันติภาพก็ยังไม่เกิดขึ้น อุปสรรคคืออะไร   

เรื่องความไว้วางใจ คุณต้องไม่ลืมว่าเราผ่านความรุนแรงแบบนี้มา 12 ปีกว่า และสูญเสียผู้คนไป 7,000 กว่าคน มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกือบ 20,000 เหตุการณ์ มีคนได้รับบาดเจ็บนับหมื่น ไหนจะญาติของพวกเขาอีก นี่ยังไม่รวมกรณีที่ไม่ได้รับการบันทึกเอาไว้อย่างเป็นระบบ เช่น กรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนจำนวนมหาศาล มีการร้องเรียนทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศเยอะแยะมากมาย ของพวกนี้เป็นต้นทุนในด้านลบที่เราสะสมมา พร้อมๆ กับการใช้ความรุนแรง คิดง่ายๆ เลย คนที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งพวกนี้จะมาเห็นพ้องต้องกันว่า จะต้องคุยกับอีกฝ่ายหนึ่ง นี่คือสิ่งที่ยากที่สุดในช่วงเริ่มต้นของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ

การคิดและการถกเถียงเรื่องเขตปกครองพิเศษ
อันที่จริงมีการพูดคุยกันมาตั้งแต่ปี 47 ด้วยซ้ำ
คนที่นำเสนอคนแรกๆ ในที่สาธารณะคือ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ
ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเดาได้เลยว่าแกถูกด่ายับ

ทีนี้จะพูดคุยถึงสันติภาพเพื่อรักษาแผลเก่า แต่ยังไม่ทันไร ความรุนแรงที่เกิดขึ้นก็สร้างแผลใหม่อีกแล้ว พอสถานการณ์เป็นแบบนี้ จะสร้างความไว้ใจให้เกิดขึ้นได้ยังไง

พูดโดยสรุปคือ เรื่องแบบนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาโดยตบมือข้างเดียวได้อีกต่อไป เราไม่สามารถคาดหวังว่าจะให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแก้ปัญหาได้ มันจำเป็นที่จะต้องคุยกับศัตรูของตัวเอง และคนในพื้นที่เองก็ยากที่จะลืมเลือนความทรงจำ ความเจ็บปวดในอดีต เลยจำเป็นที่จะต้องพูดคุยกับคนที่เห็นต่างด้วย เพื่อที่จะผ่านจุดตรงกลางที่พอจะรับได้ แล้วค่อยแก้ไขปัญหาต่างๆ ไปพร้อมๆ กัน อันนี้พูดโดยหลักการ แต่ความซับซ้อนของตัวกระบวนการนี้ มันก็มีขั้นตอนของมัน เพื่อจะนำไปสู่การพูดคุยที่ลงลึกในเนื้อหา ซึ่งหลายๆ ประเทศที่มีความขัดแย้งคล้ายๆ กับเรา ก็ต้องเผชิญกับขั้นตอนแบบนี้เหมือนกัน

แล้ว ครม.ส่วนหน้า ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รัฐบาลตั้งขึ้นมา จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ไหม

หน่วยงานนี้ประกอบด้วยคนจำนวนหนึ่งที่เป็นอดีตข้าราชการชั้นสูงที่เคยปฏิบัติการในพื้นที่ ซึ่งเป็นข้อต่อสำคัญที่จะนำนโยบาย งบ การบริหารคน การบริหารงานของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นไปในทางเดียวกัน นี่คือภารกิจแกนกลางของ ครม.ส่วนหน้า ซึ่งผมว่าเป็นการแก้ปัญหาความเป็นเอกภาพภายในหน่วยงานรัฐเองมากกว่า ส่วนจะมีผลต่อภาพรวมของสถานการณ์อย่างไร ก็อาจจะมี แต่ว่าอย่างที่ผมพูด การแก้ปัญหาที่นี่ไม่อาจใช้มือข้างเดียวตบได้เสมอไป ก็ต้องดูกันต่อไปว่ามาตรการต่างๆ ที่ ครม.ส่วนหน้า มีส่วนผลักดันเพื่อแก้ปมปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น จะทำให้ทิศทางในการแก้ปัญหาไปในทางไหน ถ้าเกิดทิศทางยังเน้นการใช้กำลัง หรือการบริหารงบประมาณเพื่อให้คงสถานการณ์เอาไว้ โดยไม่มีความคืบหน้าในการเปิดพื้นที่ในทางการเมือง ก็อาจจะไม่ได้ส่งผลอะไร

Photo: Surapan Boonthamon, Reuters/profile

ภายใต้สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น อะไรคือรากของปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

พูดอย่างสรุปที่สุดก็คือ มันเป็นเรื่องของปัญหาว่าจะปกครองที่นี่ยังไง โดยใคร ในฝ่ายรัฐบาลข้ออ้างหนึ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ดินแดนส่วนนี้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทยมานานแล้ว และมีภารกิจที่จะต้องพิทักษ์ปกป้องอำนาจอธิปไตย ขณะที่ข้ออ้างของอีกฝ่ายคือการพูดถึงประวัติศาสตร์คนละชุด การถือว่าดินแดนแถบนี้ถูกผนวกรวมเข้าสู่สยามอย่างไม่ชอบ และประวัติศาสตร์ของพวกเขาคือการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อที่จะเป็นอิสระจากสยามมาโดยตลอด

ปัญหาคือวิธีคิดของรัฐไทยที่มักจะมองว่า การปกครองควรจะปกครองเหมือนๆ กัน หมายความว่าทุกอณูของประเทศควรจะทำเหมือนกัน คิดเหมือนกัน ดังนั้นการเสนอให้มีการปกครองที่มีลักษณะเฉพาะ ที่ให้ความสำคัญและเคารพต่อศาสนา วัฒนธรรม และภาษาท้องถิ่น จึงเป็นข้อเสนอที่ถูกปฏิเสธจากรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย

บาดแผลที่ฉกรรจ์และหนักที่สุดในประเด็นนี้ก็คือ ข้อเสนอ 7 ข้อเพื่อความเป็นธรรมและสอดคล้องกับวิถีชีวิตชาวมุสลิมของ หะยีสุหลง ผู้นำของชาวมุสลิมไทยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เสนอกับรัฐบาลไทยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งข้อเสนอนั้นก็ถูกบอกปัดจากรัฐบาลทหารในช่วงปี 2490 และนำไปสู่การตีความว่า การเคลื่อนไหวของผู้นำศาสนาในยุคนั้นเป็นกบฏ มีการฟ้องร้องกัน จนกระทั่งหลายปีต่อมา หะยีสุหลงก็ถูกอุ้มหายไป เรื่องนี้เป็นตราบาปอันหนึ่งที่ผู้คนในพื้นที่เล่าต่อๆ กันมาจากรุ่นสู่รุ่นว่า รัฐบาลไทยกระทำต่อผู้นำพวกเขาอย่างไร ซึ่งมันก็ง่ายต่อการที่ขบวนการติดอาวุธจะหยิบยกเรื่องเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อย้ำเตือนว่า จำเป็นที่จะต้องต่อสู้กับรัฐบาลไทย เพื่อปลดปล่อยปัตตานีให้เป็นเอกราช พร้อมกับอ้างถึงสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตัวเอง จนกลายเป็นพันธกิจที่สานต่อมาจนถึงปัจจุบัน

ทั้งหมดนี้เป็นใจกลางของปัญหาที่เรากำลังเผชิญกันอยู่

พูดโดยสรุปก็คือ คนที่เข้าไปร่วมเป็นกองกำลังในขบวนการต่างๆ เกิดจากความรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรมจากรัฐบาล?

ใช่ อันนั้นเป็นข้ออ้างหลักเลยครับ

วันนี้เรากำลังเดินมาถึงจุดที่การใช้กำลังเข้าแก้ปัญหา
แสดงให้เห็นแล้วว่า มันมีชีวิต ต่อยอด
และหล่อเลี้ยงให้ความขัดแย้งดำเนินต่อไป

จากกรณีหะยีสุหลง รวมถึงทนายสมชาย นีละไพจิตร ที่เชื่อกันว่าโดนอุ้มหายไปอย่างไร้ร่องรอย จนทุกวันนี้ก็ยังไม่รู้สาเหตุ กลายเป็นที่มาของความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้น ถ้าอย่างนั้นอะไรคือปัญหาใหญ่ที่ทำให้รัฐบาลไทยไม่สามารถให้ความยุติธรรมกับคนในพื้นที่ได้

อันนี้เป็นคำถามที่ดีมากครับ และไม่ใช่แค่กรณีทนายสมชาย หรือหะยีสุหลง แต่ยังมีหลายกรณีก่อนหน้านั้นในประวัติศาสตร์เยอะแยะมากมาย แต่ในความทรงจำของผู้คนในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา ผมคิดว่าเหตุการณ์ตากใบเป็นเหตุการณ์ใหญ่เหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งยังไม่รวมการวิสามัญฆาตกรรมผู้นำศาสนาที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้

ส่วนเหตุผลที่รัฐไทยไม่สามารถให้ความยุติธรรมได้ ผมคิดว่าเรื่องใหญ่คือ รัฐไทยยังไม่อนุญาตให้มีทางเลือกทางการเมืองอื่นๆ นอกจากการปกครองแบบรวมศูนย์ อย่างเช่น เขตปกครองพิเศษ หรือการแชร์อำนาจบางอย่างให้กับคนท้องถิ่นในการจัดการกิจการสาธารณะของตนเอง นี่เป็นสเตจหนึ่งของกระบวนการพูดคุยสันติภาพ และในหลายที่ นี่คือสเตจสุดท้าย เพียงแต่ว่ารูปแบบและแพตเทิร์นต่างๆ ขึ้นอยู่กับการต่อรอง

การคิดและการถกเถียงเรื่องเขตปกครองพิเศษ อันที่จริงมีการพูดคุยกันมาตั้งแต่ปี 47 ด้วยซ้ำ คนที่นำเสนอคนแรกๆ ในที่สาธารณะคือ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเดาได้เลยว่าแกถูกด่ายับ และถ้าคุณย้อนกลับไปดูความเคลื่อนไหวประเด็นเหล่านี้ บิ๊กจิ๋วแกนำเสนอแทบจะทุกปีในช่วงที่แกมีอำนาจ และก็โดนด่ายับกลับมาเสมอ ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่าแม้จะอยู่ในอำนาจก็ไม่สามารถทำได้ เพราะโครงสร้างของรัฐที่เน้นทางการทหารแบบไทยไม่สามารถจะยอมรับหลักการดังกล่าวได้ เพราะในมุมมองของกลุ่มผู้มีอำนาจในสังคมไทย ถือว่าการคิดเรื่องการกระจายอำนาจเท่ากับเป็นการแบ่งแยกอำนาจ ซึ่งละเมิดมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญไทย ซึ่งมุมมองเช่นนี้ได้ครอบงำวิธีคิดในการแก้ปัญหาการเมืองในลักษณะนี้มาโดยตลอด

แต่จุดเปลี่ยนมันก็มีเหมือนกัน เพราะว่าในช่วงหลังมีเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่และกรุงเทพฯ ผลักดันเรื่องเขตปกครองพิเศษ จนมีเวทีในพื้นที่ มีงานวิจัยเชิงปฏิบัติการเยอะแยะมากมาย หรือผลการสำรวจของหน่วยงานทางวิชาการเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ที่มีการตั้งคำถามกับคนในพื้นที่ประมาณ 1,500 คน ว่าถ้าให้คิดถึงทางเลือกในอนาคต ระหว่างการปกครองแบบเดิมกับการปลดปล่อยเป็นเอกราช อะไรคือทางเลือกที่เหมาะสม มีคะแนนที่ตอบไม่ยอมรับการแบ่งแยกดินแดนสูงมาก ขณะเดียวกัน สิ่งที่ยอมรับได้คือ การให้กระจายอำนาจในบางรูปแบบ พูดง่ายๆ ก็คือผู้คนในพื้นที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองบางอย่างที่มีลักษณะเหมาะกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ซึ่งข้อเสนอนี้ก็ยังเป็นข้อเสนอที่ยังมีชีวิตชีวาอยู่ในปัจจุบัน และอาจช่วยปลดเงื่อนไขหลายข้อของปัญหาออกไปได้ แต่เท่าที่ผมทราบในกรอบของรัฐบาลประยุทธ์ เรื่องการกระจายอำนาจแบบนี้ยังเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้

คุณคิดว่ามีโอกาสถึงขั้นจะแบ่งแยกดินแดนไหม?

โอกาสนั้นมีเสมอ แต่ความเป็นไปได้น้อยลงเรื่อยๆ เหตุที่น้อยลงเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่ารัฐไทยเข้มแข็ง แต่เพราะปฏิบัติการที่ใช้กำลังเกินเลยขอบเขต โดยเฉพาะการโจมตีพลเรือน มันยากที่จะได้รับการสนับสนุนจากประชาคมนานาชาติ

วันนี้เรากำลังเดินมาถึงจุดที่การใช้กำลังเข้าแก้ปัญหา แสดงให้เห็นแล้วว่า มันมีชีวิต ต่อยอด และหล่อเลี้ยงให้ความขัดแย้งดำเนินต่อไป ขณะที่ ครม.ส่วนหน้า และรัฐบาลจะต้องคิดเรื่องการยอมรับสถานภาพหรือสิทธิทางการเมืองบางอย่างมากกว่าการใช้กำลังเข้าแก้ไข

เพราะถึงที่สุดสิ่งนี้จะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ให้ดีขึ้นได้

Photo: Surapan Boonthamon, Reuters/profile

คำถามสุดท้าย ในฐานะคนที่อยู่ในพื้นที่และใช้ชีวิตท่ามกลางความขัดแย้ง คุณอยากให้คนทั่วไปตระหนักถึงปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในมุมไหน

ผมว่าต้องเห็นใจคนในพื้นที่ เรื่องความเห็นใจนี้เป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดที่คนจะแชร์ความรู้สึกกันได้ แม้ว่าคุณอาจจะไม่เข้าใจความเป็นไปอะไรต่อมิอะไร แต่กรุณาเห็นใจผู้คนอันหลากหลายในพื้นที่แห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นคนไทยพุทธจำนวนหนึ่งที่ประสบชะตากรรมและถูกกระทำโดยกลุ่มติดอาวุธ ชาวมลายูที่ถูกกระทำจากรัฐไทยที่เป็นอำนาจนิยมและใช้กำลังมาโดยตลอด หรือแม้แต่ตัวเจ้าหน้าที่รัฐเองที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่เสี่ยงภัย

หรือถ้าจะมากกว่านั้นสักหน่อย ผมอยากให้คนทั่วไปเข้าใจถึงความขัดแย้งที่เรากำลังเผชิญอยู่ เพื่ออย่างน้อยจะได้ร่วมกันคิดหาทางออกร่วมกันและผลักดันให้เกิดขึ้นจริง ผมคงหวังเพียงเท่านี้ ขอบคุณครับ