ข่าวครึกโครมในชั่วโมงนี้คงหนีไม่พ้นการที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา ออกคำสั่งห้ามประชาชนจาก 7 ประเทศมุสลิมเข้าประเทศเป็นเวลาอย่างน้อย 90 วัน
คำสั่งนี้ตามมาด้วยการประท้วงทั่วสหรัฐฯ ความอลหม่านในสนามบิน ไปจนถึงปฏิกิริยาตอบโต้จากมหาอำนาจทั่วโลก
ท่ามกลางเสียงโต้แย้งจากรอบทิศทาง ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ยังคงยืนกรานว่า “ต้องการกำจัดการก่อการร้ายให้หมดไปจากสหรัฐอเมริกา”
แม้จะยังสรุปไม่ได้ว่า คำสั่งเช่นนี้คือทางออกของการป้องกันการก่อการร้ายหรือไม่ แต่แน่นอนว่าวิสัยทัศน์นี้ได้สะท้อนว่า ความหลากหลายทางศาสนาและเชื้อชาติที่เคยได้รับการยอมรับและการเคารพในโลกสมัยใหม่ กำลังถูกท้าทายและถูกทดสอบจากภัยก่อการร้าย และส่งผลให้บางประเทศอย่างเช่น อเมริกา เลือกที่จะหันหลังให้กับความหลากหลาย และเราอาจจะได้เห็นปฏิกิริยาเช่นนี้ในอีกหลายประเทศจากฝั่งยุโรป
สิ่งนี้อาจจะเป็นเป้าหมายของกลุ่มก่อการร้ายที่ต้องการเห็นความแตกแยก ไม่ว่าพวกเขาจะมีเป้าหมายต่อศาสนาใดก็ตาม และอาจกำลังกลายเป็นมะเร็งร้ายที่ลุกลามไปยังประเทศที่ได้ชื่อว่า ประเทศที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนามากที่สุดในโลก
ดังเช่นเหตุการณ์กราดยิงมัสยิดระหว่างพิธีละหมาดในเมืองควิเบก ประเทศแคนาดา เมื่อคืนวันที่ 29 มกราคม 2017 ที่กำลังท้าทายนายกรัฐมนตรี จัสติน ทรูโด ว่าเขาจะนำพาความหลากหลายในประเทศดำเนินไปอย่างไร ในยุคที่โลกกำลังอยู่ในความสับสนอลหม่าน
เหตุกราดยิงมัสยิดในเมืองควิเบก – ความเกลียดชังชาวมุสลิมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เมื่อคืนวันที่ 29 มกราคม 2017 เกิดเหตุอุกอาจที่คนร้ายบุกกราดยิงชาวมุสลิม ขณะที่พวกเขากำลังทำพิธีละหมาดในคืนวันอาทิตย์ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 คน และอีกกว่า 20 คนได้รับบาดเจ็บ
ทางการได้จับกุมตัว อเล็กซานเดรีย บิสซิออนเนตต์ (Alexandre Bissionnette) วัย 27 ปี นักศึกษาชาวแคนาดา-ฝรั่งเศส แม้จะยังไม่ทราบแรงจูงใจในการก่อเหตุ แต่สันนิษฐานว่าเกิดจากความเกลียดชังชาวมุสลิม
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ชาวมุสลิมในแคนาดาเจอกับการต่อต้าน เมื่อเดือนมิถุนายน 2016 ชายชาวมุสลิมเจอหัวหมูที่ถูกนำมาวางหน้ามัสยิด ในเมืองควิเบกเช่นกัน โดยหัวหมูถูกจัดวางไว้ในกล่องของขวัญพร้อมกับการ์ดที่เขียนข้อความว่า ‘Bon Appetit’ (กินให้อร่อยนะ) นอกจากนี้หัวหมูยังอยู่ในสภาพที่เต็มไปด้วยคราบเลือด และเป็นที่ทราบกันว่าหมูคือเนื้อสัตว์ต้องห้ามในศาสนาอิสลาม
โมฮัมเหม็ด ยานกุย (Mohamed Yangui) โต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิดนี้ให้สัมภาษณ์กับ CBC เหตุการณ์ลักษณะนี้จะเกิดขึ้นประมาณปีละครั้ง ซึ่งเขาคิดว่ามัสยิดนั้นเป็นที่เคารพในชุมชน “เรารักทุกคน เราไม่เคยมีปัญหากับใครเลย เราเคารพประชาชน เราหวังว่าทุกคนจะทำสิ่งนี้เหมือนกัน เราต้องการให้ศาสนาอิสลามมีภาพลักษณ์ที่ดีเสมอในเมืองควิเบก”
ขณะที่ชาวมุสลิมบางส่วนเริ่มรู้สึกเหนื่อยหน่ายกับสิ่งที่เกิดขึ้น “ฉันเหนื่อย หมดแรง เจ็บปวด และผิดหวัง ส่วนหนึ่งของฉันไม่อยากยอมแพ้ เพราะถ้าฉันยอมแพ้ ฉันก็จะหมดหวัง และไม่ต้องการออกมาสู่สาธารณะอีก” ซาเลฮา คาน (Saleha Khan) เจ้าหน้าที่ประจำสภาชาวมุสลิมในแคนาดาให้สัมภาษณ์กับ CBC
ความท้าทายของนายกรัฐมนตรี จัสติน ทรูโด ผู้นำประเทศที่เชิดชูความแตกต่าง
ส่วนใหญ่เวลาเกิดเหตุโจมตีประชาชนลักษณะนี้ เรามักจะเห็นผู้นำบางประเทศเลี่ยงที่จะใช้คำว่า ‘ก่อการร้าย’ หรือต้องใช้เวลาสักพักถึงจะออกมาประกาศว่าเป็นเหตุก่อการร้าย แต่หลังจากเหตุกราดยิงมัสยิดที่เมืองควิเบกครั้งล่าสุด นายกรัฐมนตรี จัสติน ทรูโด ออกมาประกาศว่า
“พวกเขาคือกลุ่มคนบริสุทธิ์ ที่ถูกโจมตีระหว่างทำพิธีกรรมตามความเชื่อ พวกเขาไม่ได้ทำผิดอะไร ดังนั้นนี่คือการก่อการร้าย
“คนที่ก่อเหตุครั้งนี้จงใจทดสอบเรา และบ่อนทำลายคุณค่าของเรา พวกเขาต้องการทำให้เราแบ่งแยก หว่านเมล็ดแห่งความแตกแยก และปลูกฝังความเกลียดชัง”
จัสติน ทรูโด ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีในปลายปี 2015 เขาคือนักการเมืองรุ่นใหม่ที่สามารถนำพรรคเสรีนิยมให้กลับมาชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง หลังจากพรรคเสรีนิยมได้รับความนิยมลดลงมาตลอด 40 กว่าปี วิสัยทัศน์ที่ทำให้เขาได้รับการยอมรับจากประชาชนทั่วแคนาดาคือ การเคารพความหลากหลายของคนในชาติ และการพยายามหาจุดร่วมของคนในชาติเพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปด้วยกันได้
เขาคือผู้นำที่ได้รับการเลี้ยงดูมาให้เห็นโลกกว้าง และเคารพความแตกต่าง เขาจึงพยายามบ่มเพาะคนในชาติให้ใจกว้างเช่นเดียวกับเขา
ความใจกว้างของ จัสติน ทรูโด ได้เอาชนะใจประชาชนแคนาดาทั่วประเทศ ที่มีมากกว่า 200 เชื้อชาติอาศัยอยู่ในแคนาดา และใน 13 เชื้อชาตินั้นมีประชากรมากกว่า 1 ล้านคน ขณะที่จำนวนประชากรที่เกิดในต่างประเทศและย้ายมาอาศัยอยู่ที่แคนาดามีประมาณกว่า 6,770,000 คน คิดเป็น 20.6% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งมีจำนวนมากที่สุดในบรรดาประเทศสมาชิก G8 และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จำนวนผู้อพยพเป็นชาวเอเชีย และชาวตะวันออกกลางมากที่สุด นอกจากนี้ผู้อพยพชาวแอฟริกา แคริบเบียน รวมถึงอเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้ ยังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
ผู้อพยพมักจะอาศัยอยู่ใน 4 เมือง ได้แก่ ออนแทรีโอ, บริติช โคลัมเบีย, อัลเบอร์ตา และควิเบก โดยส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในย่านกลางเมือง
2 ใน 3 ของชาวแคนาดา หรือประมาณ 22.1 ล้านคน นับถือศาสนาคริสต์ ขณะที่ประมาณหนึ่งล้านคน หรือ 3.2% ของประชากรทั้งหมดนับถือศาสนาอิสลาม และมากกว่า 7.8 ล้านคน หรือเกือบ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมดไม่นับถือศาสนาใด
นายกรัฐมนตรี จัสติน ทรูโด มองว่าความหลากหลายคือ ‘ความแข็งแกร่ง’ ไม่ใช่ ‘อุปสรรค’ ของประเทศ และนี่คือสิ่งที่ทำให้นโยบายของเขาต่อเรื่องผู้อพยพสวนกระแสมหาอำนาจอื่นๆ ในโลก
ความคิดเสรีนิยมของ จัสติน ทรูโด ที่สวนกระแสโลกหันขวา
แม้ว่านโยบายแนวเสรีนิยมของสหรัฐอเมริกาและบรรดาประเทศยุโรป จะถูกสั่นคลอนด้วยปัญหาผู้อพยพ และภัยการก่อการร้ายในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จนทำให้ผู้นำในหลายประเทศเองก็เริ่มสงสัยและไม่มั่นใจว่านโยบายแนวเสรีนิยมจะสามารถนำประเทศรอดพ้นจากปัญหาต่างๆ ได้หรือไม่
แต่นายกรัฐมนตรี จัสติน ทรูโด กลับเลือกที่จะประกาศชัดเจนว่า แคนาดาจะรับผู้ลี้ภัยที่ถูกปฏิเสธจากสหรัฐอเมริกา และยังเตรียมที่จะพูดคุยกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เกี่ยวกับความสำเร็จในการรับผู้อพยพของแคนาดาอีกด้วย
เขาได้ทวิตข้อความบนทวิตเตอร์ส่วนตัวหลังประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ สั่งห้ามคนจากประเทศมุสลิม 7 ประเทศเข้าสหรัฐฯ ว่า
“สำหรับคนที่อพยพหนีการถูกทำร้าย การก่อการร้าย และสงคราม ชาวแคนาดาจะต้อนรับคุณ ไม่ว่าคุณจะมีความเชื่ออะไร ความหลากหลายคือความแข็งแกร่งของเรา #WelcomeToCanada”
จัสติน ทรูโด ทราบดีว่า เหตุการณ์กราดยิงครั้งนี้ต้องการสร้างความเกลียดชังให้เกิดขึ้นในสังคมแคนาดาที่เคยอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน คำพูดของเขาหลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้จึงเป็นการพยายามให้ประชาชนรู้สึกว่า ทุกคนรู้สึกเสียใจร่วมไปด้วยกับชาวมุสลิม และแม้ว่าแคนาดาจะเผชิญกับความโหดร้าย แคนาดาจะยังคงใจกว้าง และเปิดกว้างเช่นเดิม
“ถึงชาวมุสลิมในแคนาดาที่มีมากกว่าหนึ่งล้านคน ผมต้องการพูดกับพวกคุณว่า เราอยู่กับคุณ หัวใจของชาวแคนาดา 36 ล้านคน แตกสลายไปพร้อมกับพวกคุณ
“แคนาดาเป็นประเทศที่ยอมรับความหลากหลายมายาวนาน เราใจกว้าง เรามีน้ำใจ และเราอยู่ร่วมกันด้วยความรัก ไม่ใช่เพราะเราต้องลบเลือนความต่าง แต่เพราะเราต่างกัน เราจึงรักกัน
“เราจะไม่ปิดหัวใจของเรา แต่เราจะเปิดหัวใจของเรา”
ภาพชาวแคนาดาจำนวนมากที่ออกมาไว้อาลัยให้กับชาวมุสลิมที่เสียชีวิต และชูป้ายต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติและศาสนา อาจยังเป็นสัญญาณที่ดีที่บ่งบอกว่าความเกลียดชังยังไม่ลุกลามในสังคมแคนาดา
แต่ในสภาวะที่โลกกำลังเผชิญกับความแบ่งแยกที่ฝังรากลึกมากขึ้นเรื่อยๆ การเปิดรับความแตกต่างไปพร้อมๆ กับรักษาความปลอดภัยของประชาชนในประเทศอาจจะทำให้การหาจุดร่วมบนความแตกต่างของประชาชนอย่างที่เขาเคยหาเสียงนั้นยากกว่าที่เคย
อ้างอิง:
– จัสติน ทรูโด. (2559). ก้าวใหม่ที่แตกต่างบนทางเดียวกัน. นงนุช สิงหเดชะ (แปล). สำนักพิมพ์มติชน.
– globalnews.ca/news/3214488/justin-trudeau-statement-quebec-city-attack-mosque
– www12.statcan.gc.ca/nhs-enm/2011/as-sa/99-010-x/99-010-x2011001-eng.cfm
– www.foxnews.com/world/2017/01/29/prime-minister-justin-trudeau-says-canada-welcomes-refugees.html
– www.bbc.com/news/world-us-canada-38805163