เวลาเที่ยงวันของวันที่ 20 มกราคมนี้ (เวลา 0:00 น. วันที่ 21 มกราคมตามเวลาบ้านเรา) โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 45 ต่อจากประธานาธิบดี บารัก โอบามา ที่ลงจากตำแหน่งหลังหมดสมัยวาระที่ 2

หลังจบการกล่าวคำปฏิญาณรับตำแหน่ง ประธานาธิบดีทรัมป์จะกล่าวสุนทรพจน์ที่เขาเขียนขึ้นด้วยตัวเอง วจนะที่ออกจากปากผู้นำสหรัฐฯ ถือเป็นการตั้งเป้ารูปแบบและทิศทางการบริหารรัฐบาล โดยหลายฝ่ายต่างเฝ้ารอที่จะฟังถ้อยคำของนายทรัมป์

ทรัมป์ผู้มีท่าทีดุดันไม่ต่างจากถ้อยคำปราศรัยระหว่างการเดินสายหาเสียงเลือกตั้ง พร้อมด้วยสโลแกนอย่าง ‘Make America Great Again’ (ทำให้อเมริกายิ่งใหญ่อีกครั้ง) นอกเหนือไปจากชื่อประเทศตัวเองแล้ว คำที่มีพลังและบทบาทยิ่งใหญ่ในสโลแกนหนีไม่พ้น ‘Great’ เป็นไปได้ที่จะถูกนำมาใช้ในสุนทรพจน์อีกครั้ง

ฝ่ายที่ปรึกษาของทรัมป์เองยืนยันว่า ว่าที่ประธานาธิบดีจะขยี้นัยสำคัญในเรื่องนี้ด้วย ขณะที่ ฌอง สเปนเซอร์ ว่าที่โฆษกทำเนียบขาวเผยอีกว่า ทรัมป์จะใช้สุนทรพจน์ชุดนี้กล่าวถึงมุมมองของเขาต่ออนาคตสหรัฐฯ และบทบาทที่รัฐบาลควรทำ

ในเชิงสถิติ ‘Great’ เป็นคำในสุนทรพจน์ที่ใช้ในพิธีสาบานตนมากเป็นอันดับที่ 6 จากบรรดาถ้อยคำต่างๆ ที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทั้ง 44 คนเคยพูดเอาไว้ โดยถูกใช้ไปถึง 458 ครั้ง หากทรัมป์จะถูกจารึกในแง่ผู้ใช้คำว่า ‘Great’ มากที่สุดในสุนทรพจน์วันรับตำแหน่งประธานาธิบดี เขาต้องกล่าว ‘Great’ อย่างน้อย 30 ครั้ง เพื่อทุบสถิติเดิมที่ประธานาธิบดี เจมส์ มอนโร ทิ้งไว้ในสุนทรพจน์วาระที่ 2 ด้วยการกล่าวถึง 29 ครั้ง ซึ่งแทบไม่ได้ทิ้งห่าง

จากสุนทรพจน์ในเทอมแรกที่กล่าวคำคำนี้น้อยกว่าเพียง 4 ครั้ง แต่น้อยกว่าสุนทรพจน์ประธานาธิบดี วิลเลียม เฮนรี แฮร์ริสัน ใน ค.ศ. 1841 ที่พูดไป 28 ครั้ง

นอกเหนือจาก ‘Great’ แล้ว คำที่มีความหมายหลากหลายอย่าง ‘Will’ ถูกใช้มากที่สุด 872 ครั้ง ตามมาด้วย ‘Nation’ (ประเทศ) 651 ครั้ง ‘Govern’ (ปกครอง) 640 ครั้ง ‘People’ (ประชาชน) 594 ครั้ง และ ‘Can’ (สามารถ) 461 ครั้ง

สิ่งที่น่าสนใจคือในบรรดาสุนทรพจน์ต่างๆ ในประวัติศาสตร์การเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังไม่มีคำว่า ‘Cyber’ (ทางไซเบอร์) และ ‘Hack’ (เจาะระบบ) ใช้เลย หากดูจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา อาจเป็นครั้งแรกที่คำนี้ผุดขึ้นในการกล่าวสุนทรพจน์

มากกว่านั้นอาจเป็นครั้งที่ 2 ของคำว่า ‘Russia’ (รัสเซีย) ด้วย หลังร้างราไปจากสุนทรพจน์ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นับ 60 ปี ตั้งแต่ยุคประธานาธิบดี ดไวต์ ดี ไอเซนฮาวร์

ความยาวและสุนทรพจน์ที่มีความซับซ้อนน้อยลง

ว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ขึ้นชื่อในเรื่องการใช้งานทวิตเตอร์ด้วยการทวิตข้อความสั้นๆ ออกสู่โลกออนไลน์ แต่ปกติแล้วสำหรับสุนทรพจน์พิธีสาบานตนนั้นมีความยาวหลายพันคำ โดยเฉพาะในช่วง ค.ศ. 1980-2020 ที่มีค่าเฉลี่ยคำในสุนทรพจน์ตกราวๆ 2,100 คำ

สุนทรพจน์ที่สั้นที่สุดมีขึ้นใน ค.ศ. 1793 ในวาระที่ 2 ของประธานาธิบดี จอร์จ วอชิงตัน ด้วยเนื้อความกระชับเพียง 135 คำ น้อยกว่าสุนทรพจน์ของประธานาธิบดี วิลเลียม เฮนรี แฮร์ริสัน ใน ค.ศ. 1841 ถึง 40 เท่าตัว เพราะคำกล่าวของแฮร์ริสันยาวถึง 5,567 คำ ส่วนสุนทรพจน์ประธานาธิบดีโอบามาใน ค.ศ. 2013 มีความยาวมากกว่า 2,000 คำ และใช้เวลาเดี่ยวไมโครโฟนไปประมาณ 20 นาที

นอกจากประเด็นเรื่องความยาวและคำที่ถูกใช้ในสุนทรพจน์แล้ว ระยะหลังๆ มา สุนทรพจน์ประธานาธิบดีมีความซับซ้อนน้อยลง ผลลัพธ์คะแนนความยากง่ายของการอ่านแบบเฟลช (Flesch Readability Score) มักตกอยู่ที่ระดับความยากง่ายระดับประถมศึกษา บ้างก็ระดับมัธยมศึกษา ทว่าสุนทรพจน์ประธานาธิบดีในยุคศตวรรษที่ 19 นั้นมีคะแนนอยู่ที่ระดับวิทยาลัย ซึ่งถือว่าเข้าใจได้ยาก

จนถึงปัจจุบัน คงมีคนเพียงหยิบมือหรือเพียงแต่ทรัมป์คนเดียวที่รู้แน่ชัดถึงประเด็นและถ้อยคำที่เขาจะสื่อผ่านสุนทรพจน์ครั้งแรกในฐานะประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเพียงไม่กี่ชั่วโมงต่อจากนี้ก็จะทราบกันว่านักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ผู้ผันตัวเข้าสู่วงการการเมืองและคว้าชัยมาได้ จะสามารถ ‘Make His Speech Great’ (สร้างสุนทรพจน์ที่ยิ่งใหญ่) ได้ตรึงใจขนาดไหน?

อ้างอิง:
     – http://www.telegraph.co.uk/news/2017/01/16/do-donald-trumps-favourite-words-fit-inauguration-speeches-history
– http://edition.cnn.com/2017/01/17/politics/donald-trump-inaugural-address
– http://thehill.com/homenews/administration/315055-trump-inaugural-address-to-be-a-philosophical-document-for-america
– http://www.usatoday.com/story/news/politics/2017/01/19/donald-trump-inaugural-address-congress-speech/96736532

Tags: ,