เพียงไม่กี่วันหลังเข้ารับตำแหน่ง ประธานาธิบดีทรัมป์จรดปากกาเซ็นคำสั่งฝ่ายบริหารเริ่มขั้นตอนวางแผนสร้าง ‘กำแพง’ เพื่อป้องกันชาวเม็กซิกันอพยพเข้าแผ่นดินอเมริกาอย่างผิดกฎหมาย ตามที่เคยปราศรัยหาเสียงเอาไว้ จนพานให้นึกถึงประโยคหนึ่งที่ทรัมป์กล่าวในสุนทรพจน์สาบานตน
“เวลาของการเปลืองน้ำลายสิ้นสุดลง บัดนี้และโมงยามแห่งการลงมือทำได้มาถึงแล้ว”
ทรัมป์ครองชัยชนะเลือกตั้งมาได้ ปัจจัยหนึ่งมาจากการปักหลักหนุนให้คนในประเทศมีงาน และมุมมองที่เห็นชาวเม็กซิกันที่ลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย เป็นกลุ่มคนที่แย่งงานไปจากอเมริกันชน
ในปี 2557 มีคนเม็กซิกันที่เข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาตอยู่ที่ 5.8 ล้านคน และครองสัดส่วนสูงถึง 52 เปอร์เซ็นต์จากจำนวนผู้อพยพผิดกฎหมายทั้งหมดในสหรัฐฯ
จึงไม่ใช่เรื่องประหลาดใจ หากทรัมป์จะลงมือสร้าง ‘กำแพง’ ที่ชายแดนเม็กซิโก ตามสัญญาที่เคยให้ไว้เมื่อครั้งหาเสียง
กำแพงในฝันของประธานาธิบดีสหรัฐฯ
กำแพงที่ โดนัลด์ ทรัมป์ วาดฝัน มีความยาวตั้งแต่รัฐเท็กซัส นิวเม็กซิโก แอริโซนา จบที่แคลิฟอร์เนีย สูง 40 ฟุต ยาว 1,302 ไมล์ งบประมาณโครงการคาดว่าอยู่ที่ 10,000 ล้านเหรียญฯ หรือไมล์ละ 7.4 ล้านเหรียญฯ ขณะที่ฝ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องประเมินว่าอาจสูงกว่าที่ทรัมป์ตั้งไว้
รายงานที่เผยแพร่ใน MIT Technology Review คำนวณว่า ค่าใช้จ่ายอาจพุ่งแตะ 27,000-40,000 ล้านเหรียญฯ ซ้ำร้ายราคากำแพงที่เอ่ยถึงก็ยังไม่รวมค่าที่ดิน ค่าบำรุงซ่อมแซม ค่าดำเนินการวางแผนและซื้อที่ ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 ปี และกระบวนการสร้างอีก 2 ปี
นอกจากนี้ ในคำสั่งยังระบุให้จ้างตำรวจตระเวนชายแดนเพิ่ม 5,000 ตำแหน่ง และเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองอีก 10,000 ตำแหน่ง เพื่อช่วยเสริมศักยภาพการตรวจตราควบคุมชายแดนด้วย
เบื้องต้นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต้องใช้งบที่ผ่านการอนุมัติโดยสภาคองเกรสโปะแผนไปก่อน แต่เงินไม่ใช่ปัญหาที่อเมริกาต้องกังวล ด้วยเหตุที่ผู้นำรายนี้ลั่นวาจาไว้ว่า เม็กซิโกจะต้องเป็นคนจ่ายเงินทุกแดง
ขณะที่ เอนริเก เปนา นีเอโต ประธานาธิบดีแห่งเม็กซิโก ประกาศจุดยืนว่าจะไม่จ่ายเงินค่าสร้างกำแพงเด็ดขาด จากนั้นทรัมป์ก็ทวิตว่า “หากเม็กซิโกไม่เต็มใจจ่ายค่ากำแพง ก็ยกเลิกนัดพบปะเสียดีกว่า”
ไม่นานต่อมา นีเอโตก็ออกประกาศล้มแผนเยือนอเมริกาในวันที่ 31 มกราคมนี้
ถ้าเม็กซิโกไม่จ่าย สหรัฐฯ จะเอาเงินมาจากไหน?
ฌอน สไปเซอร์ โฆษกทำเนียบขาวเปิดเผยว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ต้องการที่จะใช้การเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากเม็กซิโก 20 เปอร์เซ็นต์
“ซึ่งจะทำเงิน 10,000 ล้านเหรียญฯ ต่อปี และเพียงกลไกนี้อย่างเดียวก็สามารถจ่ายค่าสร้างกำแพงได้สบายๆ”
ข้อมูลเมื่อปี 2558 ชี้ว่าอเมริกานำเข้าสินค้าจากเม็กซิโก 303,000 ล้านเหรียญฯ ต่อปี หากเก็บภาษีจริง จะทำให้อเมริกามีเงินเพิ่มราวๆ 60,000 ล้านเหรียญฯ
อย่างไรก็ตาม แผนเก็บภาษีนำเข้าจากเม็กซิโกอาจละเมิดต่อกฎการตกลงทางการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ที่ลดภาษีศุลกากรสินค้าต่างๆ ให้เป็นศูนย์เกือบหมด เพื่อกระตุ้นการค้าขายระหว่างอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโก
NAFTA ข้อตกลงการค้าสุดห่วยในสายตาทรัมป์
ปัจจุบันการค้าระหว่างอเมริกาและเม็กซิโกสร้างมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านเหรียญฯ ต่อวัน สร้างงานให้ชาวอเมริกัน 6 ล้านตำแหน่ง และงานมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์จากงานทั้งหมดในอเมริกามีความเชื่อมโยงต่อการค้าบริเวณชายแดน แต่ทรัมป์มองว่าทั้งหมดนี้เป็น ‘ข้อตกลงการค้าที่แย่ที่สุดในประวัติศาสตร์’ เนื่องจากทำให้อเมริกาสูญเสียงานภาคการผลิต และทรัมป์ได้พยายามที่จะเสนอเจรจาเปลี่ยนแปลงข้อตกลงกับฝ่ายต่างๆ
แม้อเมริกาอาจสูญเสียงานการผลิตภายใต้กฎเกณฑ์ตามข้อตกลงที่ทำให้หลายบริษัทลงทุนตั้งโรงผลิตในประเทศที่ค่าจ้างถูกกว่าอย่างเม็กซิโก แต่สินค้าต่างๆ ที่ถูกส่งกลับเข้ามาในอเมริกาก็มีราคาถูกเช่นกัน หากทรัมป์ตัดสินถอนตัวออกจาก NAFTA อาจนำไปสู่ผลกระทบต่องานหลายล้านตำแหน่งที่เชื่อมโยงและมีผลมาจากองค์กรเศรษฐกิจนี้ รวมทั้งราคาสินค้าที่จะเพิ่มสูงขึ้นเพราะมีภาษีที่สูงขึ้น (อย่างที่โฆษกทำเนียบขาวเพิ่งประกาศไว้ว่า 20 เปอร์เซ็นต์) เข้ามาพัวพันการนำเข้าและส่งออก
ปัญหาใหญ่ไม่พ้นเรื่องเงิน
ถึงตอนนี้เงินที่ใช้ในการสร้างกำแพงกลายเป็นปัญหาหลักที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ควรให้คำตอบในเร็ววัน หากการเจรจาข้อตกลงใน NAFTA ต้องพังลง คู่กรณีต้องหันมาใช้กฎองค์กรการค้าโลกที่จะเพิ่มภาษีศุลกากรที่เฉลี่ย 3 เปอร์เซ็นต์ ถ้าทรัมป์ไม่สามารถผลักให้สูงขึ้นกว่านี้ได้จริง
ขณะที่ประธานาธิบดีเม็กซิโกมีความประสงค์ในการเจรจา แต่ธงที่ทรัมป์ตั้งไว้อาจบีบให้เม็กซิโกเหลือช่องทางไม่มาก จนอาจนำไปสู่การตัดสินใจฉีกข้อตกลงทิ้ง ซึ่งราคาที่ต้องจ่ายนี้ หลายฝ่ายในเม็กซิโกยอมรับได้ และเริ่มมีกระแสหนุนทางเลือกนี้มากขึ้น
ย้อนกลับไปที่รากเหง้าของปัญหาที่นำมาสู่การสร้างกำแพง แท้จริงแล้วไม่ใช่แค่เพียงการกันคนข้ามมาจากพรมแดนเม็กซิโก แต่เป็นเรื่องตำแหน่งงานที่อเมริกันชนถูกผู้อพยพแย่งชิง จนทรัมป์ประกาศว่า จะส่งตัวคนต่างด้าวผิดกฎหมายทั้งหมดในประเทศที่มีราว 11 ล้านคนกลับประเทศ
ขณะที่อดีตคู่แข่งในพรรครีพับลิกันอย่างเท็ด ครูซ, เจบ บุช และมาร์โก รูบิโอ อ้างอิงสถิติว่า คนต่างด้าวผิดกฎหมายราว 40 เปอร์เซ็นต์เป็น ‘โรบินฮู้ด’ คือนั่งเครื่องบินเข้าอเมริกาโดยมีวีซ่าที่ถูกกฎหมาย ก่อนจะอยู่เกินกำหนดตามที่ระบุไว้
ตามข้อมูลของ American Action Forum ระบุว่า หากทรัมป์จะส่งตัวคนต่างด้าวผิดกฎหมายทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายในสองปี จะต้องจัดจ้างเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้นหลายสิบเท่าตัว ไม่นับรวมพาหนะในการส่งตัวกลับอีกนับหมื่นๆ เที่ยว เฉพาะค่าใช้จ่ายในการค้นหา จับกุมตัว และส่งกลับก็ตกประมาณ 619,000 ล้านเหรียญฯ ซึ่งรัฐบาลต้องหาเงินเพิ่มเพื่อรองรับแผนนี้
ปฏิเสธไม่ได้ว่านโยบายกำแพงเมืองอเมริกันของทรัมป์ มีจุดมุ่งหมายเพื่อปกป้องชาวอเมริกันในด้านความปลอดภัย และรักษางานให้คนในประเทศ
แต่ต้องยอมรับว่า การจะทำ ‘กำแพง’ ให้เกิดขึ้นจริงนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย
คงต้องติดตามกันต่อว่า ทรัมป์จะทำกำแพงแห่งความฝันของเขาให้เกิดขึ้นจริงได้หรือไม่
อ้างอิง:
– http://www.bbc.com/news/world-us-canada-37243269
– https://www.technologyreview.com/s/602494/bad-math-props-up-trumps-border-wall
– https://www.americanactionforum.org/wp-content/uploads/2016/03/2016_Immigration_Update.pdf
– http://www.as-coa.org/articles/get-facts-five-reasons-why-us-mexico-border-critical-economy
– http://www.pewhispanic.org/2015/11/19/more-mexicans-leaving-than-coming-to-the-u-s/
– http://www.pewresearch.org/fact-tank/2016/11/03/5-facts-about-illegal-immigration-in-the-u-s/
– https://www.nytimes.com/2017/01/24/world/americas/trump-mexico-nafta.html?_r=0
Tags: USA, DonaldTrump, Mexico