ในห้วงเวลาที่ผู้ผลิตรถยนต์ให้ความสำคัญกับรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles – EV) และรถยนต์ไร้คนขับ (Self-Driving Car) คนพุ่งความสนใจไปที่งานด้านวิศวกรรม ทั้งเรื่องเครื่องยนต์และระบบต่างๆ ที่จะรองรับรถยนต์แห่งอนาคต

แล้วงานด้านการออกแบบ บรรดาผู้ผลิตถยนต์ให้ความสำคัญมากน้อยแค่ไหน?

อัลฟอนโซ อัลบายซ่า รองประธานอาวุโส ส่วนงานออกแบบทั่วโลก บริษัท นิสสัน มอเตอร์ จำกัด ซึ่งเพิ่งขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายออกแบบของแบรนด์นิสสันเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว เดินทางมาประเทศไทยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อบรรยายเรื่อง ‘การออกแบบยานยนต์สมัยใหม่และเทรนด์แห่งอนาคต’ (Modern Automotive Design and Future Trends)ให้กับนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งส่วนหนึ่งของบรรยาย เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้สัมภาษณ์และพูดคุยถึงแนวคิดการออกแบบรถนิสสันในอนาคตด้วย

อัลฟอนโซทำให้เราเข้าใจว่า ในฐานะนักออกแบบรถยนต์ มิใช่แค่ความสวยงามเพียงอย่างเดียว แต่ต้องทำงานควบคู่กับส่วนวิศกรรมด้วยเสมอ เพื่อสื่อสารว่ารถคันนี้มีอะไรดี

ในฐานะนักออกแบบรถยนต์ เขายังพูดถึงแนวโน้มการออกแบบรถยนต์ที่อาจเปลี่ยนแปลงไป เมื่อรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไร้คนขับจะมีบทบาทมากขึ้น นอกจากนั้นยังเผยถึงแนวคิดการออกแบบรถยนต์พลังงานไฟฟ้า Nissan Leaf รุ่นที่ 2 ซึ่งกำลังจะเข้ามาขายในไทยไม่เกินฤดูร้อนปีนี้

เอกลักษณ์การออกแบบของนิสสัน

ก่อนอื่นเลย อัลฟอนโซ อัลบายซ่า เล่าถึงสิ่งพื้นฐานในการออกแบบรถยนต์ โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ที่อาจมีปัญหาเวลาที่ไม่รู้จะเริ่มต้นจากอะไรเมื่อต้องออกแบบ

“ปัญหาของเด็กรุ่นใหม่ที่ทำงานในฝ่ายออกแบบ คือไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นจากอะไร เหมือนคุณถามว่าไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน มันยากมากที่จะบอกว่าอะไรเกิดก่อน แต่ในมุมมองของผมคือ ไก่มาก่อน ผมมักจินตนาการว่า ข้อเท้าไก่เหมือนที่เหยียบคันเร่ง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการออกแบบ แล้วค่อยไล่ขึ้นไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นรูปทรงของรถในที่สุด”

“แต่งานออกแบบก็ต้องควบคู่ไปกับงานวิศวกรรม ยกตัวอย่าง ถ้าคุณจะออกแบบรถยนต์ตัวใหม่ ก็ต้องคิดถึงเรื่องเครื่องยนต์ที่อาจมีขนาดเล็กลง หรือไม่มีเลยก็ได้ ระบบการทำงานที่ล้ำสมัยมากขึ้น คุณก็ต้องคิดถึงเรื่องการออกแบบเริ่มจากที่เหยียบคันเร่งแล้วเชื่อมโยงไปสู่ส่วนต่างๆ ช่วงล่าง ห้องโดยสาร มุมมองของคนขับ”

เขายังตั้งคำถามว่า เมื่อรถยนต์ในอนาคตมีโครงสร้างที่ยืดหยุ่นมากขึ้น เครื่องยนต์อาจไม่จำเป็น เกียร์และพวงมาลัยอาจไม่มีอีกต่อไป น้ำหนักของรถก็เบาลง ห้องโดยสารที่กว้างมากขึ้น เป็นสิ่งที่ท้าทายนักออกแบบรถยนต์ว่า จะทำให้รถยนต์มีรูปร่างหน้าต่างอย่างไร

“เมื่อรถยนต์ไม่ได้มีชุดขับเคลื่อนแบบเดิมอีกต่อไป ไม่มีเกียร์ เครื่องยนต์มีขนาดเล็กลง แต่มีสมรรถนะมากขึ้น ในแง่การออกแบบ จะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้อย่างไร ต้องดูเรื่องของรูปทรงที่คำนึงถึงทิศทางลมเพื่อให้รถไปได้เร็วขึ้นหรือเปล่า การออกแบบไฟหน้า และไฟท้ายที่เกี่ยวข้องกับเส้นข้างรถที่ทำให้เกิดความรู้สึกเลื่อนไหล สวยงาม แต่ก็ดูดุดัน แม้กระทั่งภายในรถที่อาจมีจออินเทอร์เฟซ คอนโซลที่อาจเข้าวัสดุอย่างไม้เข้ามาเพิ่มความหรูหรา”

“อย่าลืมว่าเทคโนโลยีมันทำให้รถดูเย็นชาและไม่มีชีวิตชีวา งานออกแบบจะต้องเพิ่มความอบอุ่นและความมีชีวิตชีวาให้กับรถยนต์ในอนาคต”

Nissan Leaf 2 พระเอกรถยนต์ไฟฟ้าของนิสสัน

Nissan Leaf ถือเป็นรถยนต์ไฟฟ้าตัวแรกของนิสสัน แต่เวอร์ชั่นแรกก็ผ่านมาสิบกว่าปีแล้ว ซึ่งเขาเล่าให้ฟังว่า ตอนแรกที่คิดจะทำรถยนต์ไฟฟ้า ยังไม่มีใครพูดถึงมันด้วยซ้ำ

“ตอนนั้นผมอยู่ญี่ปุ่น ลองคิดดูว่าสิบปีที่แล้วไม่มีรถยนต์ไฟฟ้า เรามีวิศวกรอยู่นับหมื่นคน คนออกแบบ 800 คน แต่ทุกคนมุ่งให้ความสนใจแต่เฉพาะรถยนต์สันดาปภายใน”

“นโยบายของนิสสันคือ ทำรถยนต์ไฟฟ้าสำหรับทุกคน ไม่ใช่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และไม่ใช่รถที่นั่งได้แค่สองคนหรือสามคน แต่ต้องเป็นรถที่นั่งได้ห้าคน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะในยุคนั้นยังไม่มีใครทำ แน่นอนเราไม่เคยออกแบบรถยนต์ไฟฟ้ามาก่อน ก็ต้องทำให้ออกมาแล้วลูกค้ามองเห็นว่านี่คือรถยนต์ไฟฟ้า”

สุดท้าย Nissan Leaf 1 ขายไปได้สามแสนกว่าคัน และกำลังก้าวเข้าสู่ยุคที่ 2 ซึ่งคาดว่าจะเปิดขายในประเทศไทยไม่เกิดฤดูร้อนนี้

“การออกแบบ Nissan Leaf 2 จะถ่ายทอดความเป็นนิสสันออกมาได้อย่างชัดเจน ต้องการให้เห็นภาพของความแข็งแกร่ง ดุดัน มีลักษณะคล้ายลูกศรที่วิ่งจากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง ข้างบนหลังคาเป็นสีเข้ม ด้านหน้าจะยังเข้าพวกกับนิสสันรุ่นอื่นๆ และมีแนวเส้นด้านข้างที่จะทำให้ดูกว้างมากขึ้น สมรรถนะดีกว่ารุ่นแรก และให้อารมณ์การขับขี่ที่สนุกกว่าเดิม” อัลฟอนโซ การันตีถึงความดีงามของ Nissan Leaf 2

ขณะที่ในงาน CES 2018 ที่ลาส เวกัส สหรัฐอเมริกา เมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทางนิสสันได้นำเทคโนโลยี Brain-to-Vehicle ไปจัดแสดง โดยเป็นเทคโนโลยีที่เชื่อมต่อสมองขับรถกับรถยนต์ เพื่อช่วยในการวิเคราะห์พฤติกรรมคนขับและสร้างความมั่นใจให้การขับขี่มีความปลอดภัยมากขึ้น

“รถจะตอบสนองตามสิ่งที่เราคิด เข้าใจภาพของเราว่าคิดอย่างไร เทคโนโลยีนี้ไม่ได้หมายความถึงการควบคุม แต่เพิ่มขีดความสามารถและสมรรถนะในการขับขี่ ยกตัวอย่างคนขับมือใหม่ที่ยังไม่เก่งพอ ถ้าไปขับตามถนนที่คดเคี้ยวแล้วเกิดไม่มั่นใจ มีความกังวล เทคโนโลยีนี้ก็จะถ่ายทอดความรู้สึกดังกล่าวไปที่รถเพื่อให้ทำงานตอบสนองสร้างความมั่นใจแก่ผู้ขับขี่ ในทางกลับกัน คนที่ขับรถเก่งแล้ว เมื่อเจอถนนคดเคี้ยวแบบเดียวกัน เทคโนโลยีนี้จะช่วยให้การขับขี่ดีขึ้น”

สุดท้ายแล้ว อัลฟอนโซ ได้เผยความเป็นรถยนต์นิสสันว่า “รถยนต์นิสสันคือเทคโนโลยี และต้องเป็นเทคโนโลยีที่ทุกคนเข้าถึงได้”

Fact Box

อัลฟอนโซ อัลบายซ่า เป็นคนชาวคิวบา-อเมริกัน สำเร็จการศึกษาจากสถาบันแพรตต์ (Pratt Institute) ในนิวยอร์ก เมื่อปี 2531 และศึกษาต่อที่ศูนย์การศึกษาเพื่อการสร้างสรรค์ (Center for Creative Studies) ในดีทรอยต์ มิชิแกน

เขาเริ่มต้นทำงานกับนิสสันเพียงแห่งเดียว โดยทำงานกับนิสสัน อเมริกาเหนือ และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งด้านการออกแบบ ในปี 2547 เป็นผู้อำนวยการฝ่ายการออกแบบของนิสสัน อเมริกาเหนือ

ระหว่างปี 2550 - 2553 เขาเป็นรองประธาน นิสสัน ดีไซน์ ในยุโรป ต่อมาในปี 2555 เป็นผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบ เป็นผู้นำกลยุทธ​์ด้านการออกแบบทั่วโลกของนิสสัน

Tags: , , , , , , , , ,