เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2018 ผู้ว่าการเกาะบาหลี วายัน คอสเตอร์ ประกาศยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทั้งหมดบนเกาะบาหลี โดยให้เวลาห้างร้าน ธุรกิจต่างๆ ปรับตัวเป็นเวลา 6 เดือนจนถึงเดือนมิถุนายนปีนี้ และในวันที่ 23 มิถุนายน 2019 ที่ผ่านมา เกาะบาหลีก็ได้ประกาศยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทุกชนิดอย่างเป็นทางการ ทั้งหมดนี้เกิดจากสองสาววัย 15 และ 13 ปีชาวบาหลี เมลาตีและอิซาเบล วิจเซน กับองค์กร Bye Bye Plastic Bags ที่เธอสองคนก่อตั้งขึ้นในปี 2013 เพื่อรณรงค์ให้มีการยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในบาหลี เพื่อหาดทรายและท้องทะเลที่สวยงามไร้ขยะพลาสติก 

ในปี 2013 เมลาตีและอิซาเบลได้เรียนประวัติศาสตร์บุคคลสำคัญที่เปลี่ยนแปลงโลก ไม่ว่าจะเป็นเนลสัน แมนเดลา, มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ หรือมหาตมะ คานธี หลังจบคาบเรียนเธอทั้งสองกลับบ้านและเฝ้าแต่คิดว่าแล้วจะทำอะไรเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกได้บ้าง สิ่งหนึ่งที่พวกเธอทั้งสองคนเห็นตรงกันก็คือ พวกเธอไม่อยากรอจะทำสิ่งนั้นเมื่ออายุมากแล้ว พวกเธออยากทำตั้งแต่ตอนนี้ ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก อยากจะทำเพื่อตัวเธอเองและเด็กๆ ทุกคนบนเกาะบาหลี และคำตอบที่พวกเธอได้มาจากชายหาดหน้าบ้านของเธอเองบนเกาะบาหลี  

ฉันคิดได้ตอนช่วงสุดสัปดาห์ ตอนเราไปชายหาดที่เรามักไปเล่นตั้งแต่เรายังเป็นเด็ก ทุกครั้งที่เราลงเล่นน้ำ ถุงพลาสติกก็จะลอยมาเกี่ยวกับแขนเรา ฉันก็เลยรู้สึกว่า เอาละ พอกันทีเมลาตีกล่าว

จากนั้นเธอทั้งสองคนเข้าไปค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตแล้วพบว่ามีกว่า 40 ประเทศที่แบนการใช้ถุงพลาสติก หรือไม่ก็เก็บภาษีถุงพลาสติก พวกเธอรวบรวมเพื่อนได้จำนวนหนึ่งและร่วมกันทำแคมเปญทางออนไลน์เรียกร้องให้มีการหยุดการใช้ถุงพลาสติก ซึ่งเพียงวันแรกเธอก็ได้ผู้ร่วมลงชื่อในแคมเปญนี้กว่า 6,000 รายชื่อ จากนั้นก็เริ่มกระจายข่าวสารในโรงเรียน ท้องถิ่น ต่างประเทศและนักการเมืองในประเทศ แล้วเธอก็คิดว่าจะอดอาหารประท้วงโดยได้ไอเดียนี้มาจากมหาตมะ คานธี ซึ่งเธอเรียนเรื่องราวของเขาในชั้นเรียน

เราตัดสินใจว่าจะใช้วิธีอดอาหารประท้วง เราได้แรงบันดาลใจมาจากมหาตมะ คานธี เขาอดอาหารประท้วงอย่างสันติเพื่อเรียกร้องในสิ่งที่เขาต้องการ มันเป็นการสร้างความสนใจอย่างสันติ มหาตมะ คานธีคือแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ในการตัดสินใจครั้งนี้ของเราเมลาตีกล่าว

เมื่อตัดสินใจว่าจะอดอาหารประท้วง เธอกระจายข่าวนี้ลงในโซเชียลมีเดีย จนสื่อท้องถิ่นให้ความสนใจ และได้ติดต่อนักการเมือง อิ มาเด มังกุ ปาสติกา เพื่อดูว่าเขาจะทำอย่างไรหากต้องพบกับเด็กสาวสองคน และไม่ถึง 24 ชั่วโมงดีทั้งเมลาตีและอิซาเบลก็ได้รับการติดต่อจากผู้ว่าการเกาะบาหลี (ในขณะนั้น) อิ มาเด มังกุ ปาสติกา ยินดีให้เข้าพบ

ผู้ว่าการเกาะบาหลีได้ลงนามบันทึกความเข้าใจในข้อตกลงกับเด็กหญิงทั้งสองคนเพื่อกำจัดถุงพลาสติกให้หมดไปจากเกาะบาหลีภายในปี 2018 แต่แล้วเมื่อถึงปี 2018 ทุกอย่างไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

สิ่งหนึ่งที่ฉันได้เรียนรู้อย่างมากก็คือการดีลกับนักการเมือง มันเหมือนการเต้นชะชะช่า เราต้องก้าวไปข้างหน้าก่อนเขาบ้าง บางครั้งก็อาจจะต้องก้าวถอยกลังบ้าง ฉันได้เรียนรู้เยอะเลยเมลาตีกล่าว

แต่นั่นก็ไม่ทำให้เธอหยุดทำในสิ่งที่เธอ น้องสาว และเพื่อนๆ ร่วมกันทำมา เธอต้องหยุดเรียนทุกวันอังคารเพื่อไปเรียนเพิ่มเติมในประเด็นที่เธอรณรงค์ เธอต้องใช้ชีวิตอยู่บนถนนเป็นร้อยคืนเพื่อเดินทางไปพูดรณรงค์ในประเด็นนี้ตามที่ต่างๆ สร้างกลุ่มเยาวชนเพื่อเคลื่อนไหวในประเด็นนี้ในนาม Bye Bye Plastic Bags และความพยายามอย่างไม่ย่อท้อของเธอก็ทำให้เมลาตีและอิซาเบลได้ขึ้นพูดบนเวที TED Talk เดินทางไปพูดที่ที่ประชุมสหประชาชาติที่กรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พูดในที่ประชุม IMF World Bank Forum ที่จัดขึ้นที่บาหลี ซึ่งเธอทั้งสองพี่น้องได้รับการขนานนามจากนิตยสาร Forbes นิตยสาร Time Magazine และ CNN ว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่ทรงอิทธิพลระดับโลก 

และในที่สุดเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2019 ที่ผ่านมา สิ่งที่สองพี่น้องต่อสู้รณรงค์มากว่า 5 ปีก็สัมฤทธิ์ผล เมื่อเกาะบาหลีก็ได้ประกาศยกเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทุกชนิดอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว ไม่เพียงแค่นั้นบาหลียังกำหนดแผนยุทธศาสตร์เพื่อลดปริมาณขยะในท้องทะเลให้ได้ถึง 70% ภายในปี 2025 อีกด้วย

ฉันดีใจที่ได้รับทราบข่าวนี้ แต่เราก็ยังมีงานที่ต้องต่ออีกเยอะมากเลยเมลาตีกล่าว

Bye Bye Plastic Bags เป็นองค์กรความร่วมมือของวัยรุ่นคนรุ่นใหม่ทั่วโลก ซึ่งในขณะนี้มีถึง 28 ประเทศ เพื่อร่วมรณรงค์เคลื่อนไหวหยุดยั้งการใช้ถุงพลาสติกทั่วโลก และกำลังขยายไปยังเยาวชนในอีกหลากหลายประเทศเพื่อร่วมในภารกิจนี้

เราได้พิสูจน์แล้วว่า เด็กก็สามารถทำสิ่งนี้ได้ Bye Bye Plastic Bags กลายมาเป็นแพลตฟอร์มที่ทำให้เด็กรู้สึกว่าเสียงของพวกเขานั้นจะถูกได้ยินเมลาตีกล่าว

ตอนนี้เมลาตีเรียนจบมัธยมปลายแล้ว ในขณะที่อิซาเบลยังคงเรียนชั้นมัธยมปลายอยู่ แต่เธอทั้งสองคนบอกว่าสิ่งที่พวกเธอได้ทำและกำลังทำต่อไปนั้นคือสิ่งหลักในชีวิต แม้ว่ามันจะไม่ง่ายทั้งเรื่องการเรียนไปด้วยทำแคมเปญรณรงค์ไปด้วย หรือการขยายสิ่งที่ทำไประดับโลก ทั้งในประเทศอินโดนีเซียและประเทศอื่นๆ แต่พวกเธอจะยังคงทำมันต่อไป เพื่อโลกใบที่น่าอยู่ทั้งในเจเนอรเชั่นของเธอเองและในเจเนอเรชั่นต่อๆ ไป

อ้างอิง

https://www.npr.org/sections/goatsandsoda/2019/01/26/688168838/how-teenage-sisters-pushed-bali-to-say-bye-bye-to-plastic-bags 

https://edition.cnn.com/2017/08/16/asia/melati-isabel-wijsen-bali/index.html 

https://thehoneycombers.com/bali/bali-plastic-bag-ban-2019/ 

 

ภาพ : TED Talk 

Tags: , , ,