“จังหวะนั้นเองผมรู้สึกว่า โลกรอบตัวคือสิ่งใหญ่ยักษ์มหึมา ไม่ว่าผืนดินโล่งกว้างซึ่งแปรเป็นทุ่งนาท้องฟ้าปกคลุมด้วยเมฆเทา ถนนหนทาง หรือกระทั่งอากาศ ที่ไม่เคยมองเห็นด้วยตา ต่างคงดำรงอยู่ด้วยความมหึมาและทรงอำนาจยิ่งใหญ่ ท่ามกลางความกว้างใหญ่ไพศาล โลกปล่อยทิ้งผมโดยไม่ไยดี ต่อให้ผมทุ่มเทตัวตนจนหมดหน้าตัก ก็ไม่อาจทำให้โลกนี้สะเทือนแม้เศษเสี้ยว”
คุณเคยรู้สึกแบบคนขับแท็กซี่ในนวนิยายเรื่อง เด็กชายใต้ผืนดิน The Boy In the Earth วรรณกรรมจากปลายปากกาของ ฟุมิโนริ นากามุระ (Fuminori Nakamura) นักเขียนนวนิยายสาย Noir ชาวญี่ปุ่น บ้างหรือไม่ ที่รู้สึกว่าโลกใบนี้ช่างกว้างใหญ่ไพศาล ขณะที่เราเป็นเพียงเศษเสี้ยวหรือฝุ่นละอองเล็กๆ ที่ไม่ส่งผลดีร้ายต่อโลกใบนี้เลย หรือบางคนอาจคิดไปถึงขั้นว่า ถ้าขาดเราไปอีกสักคน โลกก็คงไม่แยแสอะไร
เด็กชายใต้ผืนดินเป็นเรื่องราวของชายหนุ่ม 2 คน ณ เส้นขอบของชีวิต คนขับแท็กซี่ผู้มีหลุมลึก อันปวดร้าวในอดีตที่ไม่สามารถปีนกลับขึ้นมาได้ ชีวิตสามัญสิ้นสูญ มีเซ็กซ์อันไร้ความรู้สึกไปวันๆ กับหญิงสาวผู้ด้านชา ส่วนอีกคนเป็นชายเร่ร่อนไร้บ้านอาศัยอยู่ใต้สะพานในสภาพจิตใจที่เราไม่อาจจะรู้ได้ว่า ความจริงเป็นเช่นไรกันแน่ แม้จะมีแมงมุมมาบอกก็ตาม
นวนิยายเล่มนี้พาเราไปสำรวจเรื่องราวแต่ละคนที่มีปูมหลังแตกต่างกัน หรือบางคนเราก็ไม่อาจรู้ได้ว่า ความจริงเป็นเช่นไรกันแน่ พร้อมกับชวนตั้งคำถามว่า หากมนุษย์เกิดมาด้วยจิตใจที่บอบช้ำ มีอดีตที่เจ็บปวดบาดลึกจนไม่อาจปีนป่ายขึ้นมาได้ แถมอดีตยังตามหลอกหลอนในปัจจุบัน พวกเขาเหล่านี้จะสามารถเลือกอนาคตได้จริงไหม เหมือนที่หลายคนชอบพูดว่า
“ต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก่อน เพื่อที่จะสามารถเลือกชีวิตตัวเองได้”
แล้วหากเราเป็นบุคคลที่เติบโตมาจากรากฐานที่เน่าเสีย เราจะสามารถเจริญเติบโตเป็นต้นไม้ที่แข็งแรงงดงามได้หรือไม่
ขณะเดียวกันนวนิยายเล่มนี้ยังชวนเราตั้งคำถามว่า นี่เรากำลังใช้ชีวิตที่ดีหรือยัง แล้วแบบไหนที่เรียกว่าการใช้ชีวิตกันแน่ อย่างเช่นช่วงหนึ่งของหนังสือ คนขับแท็กซี่ได้เปิดเปรยปูมหลังของเขากับผู้อ่านว่า เขาเติบโตมาอย่างยากลำบาก ทั้งการถูกพ่อแม่ทิ้ง ต้องไปอาศัยกับญาติห่างๆ ถูกซ้อมทุบตีทำร้ายร่างกายจนปางตาย จนท้ายที่สุดเหมือนเขาจะได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ที่สถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า แต่ในวินาทีที่สามารถหลุดพ้นจากครอบครัวใจร้ายได้ เขากลับตั้งคำถามกับตัวเองว่า
“สิ่งนี้หรือคือรางวัลที่ผมได้รับจากการกัดฟันสู้ทนมาตลอด ผมอุตส่าห์เล็ดลอดจากบ่วงโซ่แห่งความรุนแรง ตะเกียกตะกายขึ้นจากหลุมใต้ดินดั้นด้นลงจากเขา เพียงเพื่อมาเจอชีวิตอันธรรมดาสามัญเช่นนี้หรือ พวกเขาหัวเราะทำไม ผมไม่เห็นเข้าใจสักนิด มันน่าจะมีสิ่งอื่นนอกจากนี้หรือเปล่า อย่างเช่นวินาทีที่ความยินดีแผ่ซ่านทั่วทุกอณูของรูขุมขน เมื่อรู้ว่าตัวเองรอดชีวิตมาได้ ทำให้จิตวิญญาณทั้งหมดของผมสั่นสะท้านไม่หยุด ความยินดีสุดประมาณ ซึ่งมากพอจะชดเชยให้เหยื่อที่เคยผ่านความรุนแรงอย่างผมควรมีอยู่ในโลกนี้เช่นกันไม่ใช่หรือ”
มากไปกว่านั้นหนังสือเล่มนี้ยังนำเสนออีกด้านของมนุษย์ที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงบ่อยนัก แต่สิ่งนี้ล้วนเป็นสัจธรรมของชีวิต อาจจะถูกซุกซ่อนไว้ในซอกหลืบใดซอกหนึ่ง
ขณะเดียวกันนวนิยายเล่มนี้ยังฉายภาพการพยายามดิ้นรนใช้ชีวิต ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ที่พวกเขาล้วนพยายามในแบบของตนจนทำให้เห็นว่า การที่เกิดปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง เราไม่สามารถตัดสินได้เพียงสิ่งที่เห็น หรือโทษเพียงเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งในชีวิตเท่านั้น บางครั้งเบื้องหลังการกระทำมากมาย อาจเต็มไปด้วยปมหรือปัญหายุ่งเหยิงที่เราไม่อาจเข้าใจได้ และแม้แต่เจ้าตัวเองก็ไม่อาจจะสะสางได้เช่นกัน
ส่วนคำตอบของคำถามที่ว่า เราสามารถเลือกชีวิตตัวเองได้จริงไหม ก็คงเป็นเปรียบดังหนังสือชื่อปราสาทที่คนขับแท็กซี่กล่าวว่า “ผมหยิบปราสาทมาเปิดอ่านซ้ำ เฝ้าวนเวียนรอบทลงเอย ซึ่งตลอดกาลไม่มีวันได้พบเจอ”
Fact Box
- เด็กชายใต้ผืนดิน THE BOY IN THE EARTH, ผู้เขียน: ฟุมิโนริ นากามุระ, ผู้แปล: พรพิรุณ กิจสมเจตน์, สำนักพิมพ์กำมะหยี่, จำนวนหน้า 144 หน้า, ราคาปก 190 บาท
- หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัล Akutagawa Prize 2005