‘ความจริง’ กับ ‘ความลวง’ เป็นขั้วตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง น่าสนใจไม่น้อยที่ทั้งสองคำนี้กลับยักย้ายความหมายกลับไปมาอย่างง่ายดายภายในสังคมหนึ่งๆ บางเหตุการณ์ที่ไม่น่าเกิดขึ้นได้ กลับอุบัติขึ้นมาในบ้านนี้เมืองนี้อย่างหน้าตาเฉยด้วยเหตุแห่งรัก หรือสิ่งที่เคยเกิดขึ้นจริงๆ กลับกลายเป็นเรื่องลวงหลอกในสายตาคนบางกลุ่มไปเสียอย่างนั้น บ้างก็ถูกทำให้อันตรธานหายไป เสมือนว่าไม่เคยเกิดขึ้นเลยในหน้าประวัติศาสตร์

สารพันเรื่องพรรค์นี้คล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมสมมติของ รักในลวง ผลงานล่าสุดของ จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ นักเขียนเจ้าของผลงาน ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเศร้าและพิพิธภัณฑ์เสียง หนังสือรวมเรื่องสั้นที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของปุถุชน ซึ่งดำเนินอยู่ท่ามกลางบรรยากาศสังคมเมืองที่เรามักคุ้น คลุ้งไปด้วยเรื่องราวรักใคร่ ทว่าเจือความหลอนสั่นประสาทและผสานความเหนือจริงจนแทบไม่น่าเชื่อ

Lost in Thought สัปดาห์นี้หยิบหนังสือรวมเรื่องสั้นเขย่าขวัญหลากอารมณ์มาปรับโฟกัส มองให้ทะลุความพร่าเลือนว่า สิ่งใดคือความรัก สิ่งใดคือความลวงกันแน่

 

ปฐมบทความเฮี้ยน

“รวมเรื่องสั้น รัก ลวง หลอน สยองขวัญ” 

หลังอ่านคำโปรยหลังปกหนังสือเสร็จก็เกิดความชั่งใจอยู่ครู่หนึ่ง เพราะโดยพื้นฐานฉันเป็นคนที่กลัวผี ดังนั้น เรื่องเหนือธรรมชาติ หรือสิ่งสยองขวัญล้วนเป็นสิ่งต้องห้าม (ชวนขยาด) ในชีวิต แต่ท้ายที่สุดก็ห้ามใจไม่ให้เปิดอ่านหนังสือเล่มนี้ไม่ได้ ก่อนจะพบความจริงหลังอ่านจบว่า ความเฮี้ยน ความหลอน ในเรื่องสั้นทั้งสิบบทนี้ ยังไม่ได้ครึ่งของการถูกเขย่าขวัญมาทั้งชีวิตในประเทศแห่งนี้เลย  

ความจริงแล้ว รีวิวหนังสือเล่มนี้เกิดจากมิตรสหายของฉัน (พณิช ตั้งวิชิตฤกษ์) ที่อ่าน รักในลวง จบแล้วเดินมาบอกว่า “มีใจจะเขียนถึงหนังสือเล่มนี้” พร้อมกับโฆษณาให้ไปอ่านต่อจนท้ายที่สุดเขาก็ส่งต่อเล่มนี้ให้ในราคามิตรภาพ 

แต่น่าเสียดายที่เขาเขียนไม่จบ เนื่องจากประสบอุบัติเหตุ (ตอนนี้สุขภาพแข็งแรงแล้ว) นี่อาจเป็นความหลอนแรก หลังเข้ารักษาพยาบาลและพักฟื้น เขาต้องเจอความหลอนที่สองในรูปแบบของงานที่ถาโถม จนทำให้รีวิวหนังสือที่ขีดเขียนไปมากกว่าครึ่งต้องชะงักลง ดังนั้น ความหลอน ความสยองขวัญ ภายในบทความนี้จึงเป็นการผนวกงานเขียนของเขาและฉันเข้าไว้ด้วยกัน

เนื่องจากฉันดันรักความสยองขวัญและความเฮี้ยนในเรื่องนี้ไม่แพ้กับเขา และแน่นอนว่าหากงานที่เพื่อนเรามีใจนึกจะเขียนถึงไม่ถูกเผยแพร่ ก็คงเป็นสิ่งที่น่าเสียดายยิ่งนัก

*** นับถัดแต่บรรทัดนี้มีการเปิดเปรยเนื้อหาภายในเล่ม ***

 

I

รักแบบใด

หากเกริ่นอย่างกระชับ รักในลวง คืองานเขียนที่ถ่ายทอดภาพของคนธรรมดาสามัญ พนักงานโรงแรม ไรเดอร์ขับรถส่งอาหาร ครอบครัวเล็กๆ ในคอนโดฯ หน่วยย่อยของสังคมที่พลอยได้รับผลกระทบจากปัญหาต่างๆ ของหน่วยใหญ่แบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยมี ‘ความรัก’ รูปแบบต่างๆ เป็นจุดร่วมของเรื่องสั้นทั้งสิบ ไม่ว่าจะเป็นรักเก่าแสนเศร้า รักแบบครอบครัว รักฉาบฉวยชั่วครั้งคราว รักงมงายอย่างหัวปักหัวปำ รักแบบสรรเสริญเทิดทูน และความรักแบบใด (ไม่อาจนิยามได้) ผ่านตัวละครที่มีพฤติกรรมแปลก และประสบกับเหตุการณ์ประหลาดต่างๆ 

น่าสนใจว่า ในแต่ละรักซุกซ่อนนัยแฝงและสัญญะจิกกัด ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ที่ตัวละครพบเจอ เป็นความตลกร้ายที่เผยออกมาให้ผู้อ่านได้ขบคิด สงสัย และอมยิ้มอยู่เรื่อยๆ แล้วแต่จะตีความตามอัตวิสัย

ขณะเดียวกัน คล้ายกับว่าจิรัฏฐ์กำลังพาผู้อ่านสำรวจระบบระเบียบต่างๆ ในสังคมสมมติที่เขาสร้างขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นระบบศีลธรรมก็ดี หรือระบบชนชั้นก็ตาม

 

II 

ร่วมรัก

“ผมอยากชวนคุณมาร่วมแสดงในฐานะตัวประกอบน่ะ ไม่ต้องมีเซ็กซ์ ไม่ต้องถอดเสื้อผ้า เราจะไม่แม้กระทั่งอยู่ใกล้หรือแตะต้องตัวคุณ คุณแค่มานั่งเฉยๆ ในฉาก สวมหน้ากากปกปิดใบหน้า เพื่อไม่ให้ใครรู้นั่นคือคุณ ทำการแสดงเล็กๆ น้อยๆ แล้วก็ดูพวกเรามีเซ็กซ์ แค่นั้นเลย” (หน้า 109)

รักแรกที่เตะตาและสะดุดใจ คือตอนพนักงานโรงแรมใช้ชีวิตอย่างไรในสถานการณ์โรคระบาด เรื่องราวของ ‘คุณชาย’ และคู่รักแขกของโรงแรมที่ชวนพนักงานกะค่ำหนึ่งเดียวมาร่วมแสดงหนัง (โป๊) สดท่ามกลางโบราณสถานแล้วไลฟ์ให้คนดูทุกค่ำคืน 

ไม่ว่าเมื่ออ่านแล้วจะเกิดภาพคุ้นถึงใครสักคนในความรู้สึกนึกคิดก็ตาม แต่เมื่อกลับมาพิจารณาดีๆ จริงๆ แล้วการมี ‘เซ็กซ์’ ท่ามกลางโบราณสถาน เป็นดั่งสารตรงที่นักเขียนต้องการกระแทกใส่เพื่อตอกย้ำภาพการสำเร็จความใคร่ทางวัฒนธรรมของคนในสังคม ในขณะที่ผู้คนกลุ่มหนึ่งภูมิอกภูมิใจนักหนากับรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ จนใช้เป็นเหตุผลอันหนักแน่นโจมตีคนรุ่นใหม่ ก็ไม่ต่างอะไรกับพวกสำเร็จความใคร่โดยใช้มรดกของชาติเป็นเครื่องมือพิสูจน์ความจงรักและภักดี

หากศีลธรรมอันดีเป็นวัตถุศักดิ์สิทธิ์ไว้ยึดเหนี่ยวสังคม เซ็กซ์ก็เป็นดั่งขยะที่ซุกไว้ใต้พรม ห้ามพูดถึงในที่สาธารณะ ในขณะที่เว็บโป๊มีอยู่เกลื่อนกลาด เหล่าคนดีดูชอบพอกับการได้นั่งสังเกตการมีเพศสัมพันธ์ของบุคคลอื่น ไม่ต่างอะไรกับในตอนหอชมเมืองด้านตะวันออก เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง ที่เมื่อใครสักคนมีเพศสัมพันธ์แสดงหนังสดให้ดูอย่างโจ่งครึ่ม เหล่าคนในคอนโดฯ ก็ต่างพร้อมใจมานั่งดูอย่างพร้อมเพรียง

นอกจากการวิพากษ์เรื่องศีลธรรมอันดี ความภูมิใจในรากเหง้าของชาติแล้ว ตอนนี้ยังแสดงให้เห็นอีกด้านหนึ่งของมนุษย์ ที่เมื่อสวมหน้ากากหรือมีสิ่งปิดกั้นอัตลักษณ์ คุณก็สามารถทำในสิ่งที่ไม่เคยคิดจะทำมาก่อน (อาจจะด้วยกับดักบรรทัดฐานสังคม หรือกฎหมาย)

แต่เมื่อใดที่คุณกลายเป็น ‘อื่น’ สิ่งที่ถูกซุกซ่อนไว้ใต้พรมก็พร้อมจะโผล่ออกมาเสมอ 

“เนื่องจากแชนแนลของพวกเขาเป็นรายการสด กระนั้นเธอก็เน้นย้ำอีกครั้งเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว ยืนยันว่าโลกใบนี้จะมีแค่เธอและชายเท่านั้นที่รู้ว่านักแสดงประกอบคือคุณ คุณกำลังจะเอ่ยปฏิเสธ แต่เมื่อชายเสนอค่าเสียเวลาให้คุณด้วยจำนวนเงินเท่ากับเงินเดือนที่คุณหาได้หนึ่งเดือนก่อนช่วงจะเกิดโรคระบาด และเมื่อคิดถึงความมั่นคงของอาชีพในปัจจุบันคุณก็เริ่มคิดหนัก” (หน้า 110)

 

III

บางรักมิควรตั้งคำถาม

“หากเราตาสว่าง เราจะไม่มีทางกลับไปมองทุกสิ่งในประเทศนี้ด้วยสายตาแบบเดิมได้อีกต่อไป”

(หน้า 24)

อ่านจบความชั่วครู่ก็คิดถึงสำนวนที่ได้ยินมานมนานอย่าง ‘ความรักทำให้คนตาบอด’ ซึ่งมีที่มาจากเมื่อมีรักแล้ว คนเรามักจมอยู่กับบุคคลที่รักอย่างหัวปักปำ จนมองข้ามหรือไม่เห็นความผิดบาปที่คนรักกระทำ และเช่นเดียวกัน บางครั้งหากรักมากเกินไปก็อาจทำสิ่งที่ไร้เหตุผลจนกลายเป็นความงมงายได้ง่ายๆ โดยไม่รู้ตัว

ในเรื่องชายผู้ตกลงไปในไดโนเสาร์ ที่เหมือนผู้เขียนกำลังฉายภาพแทนของกลุ่ม ‘อนุรักษนิยม’ ผ่านสัญญะหุ่นไดโนเสาร์ไร้ประโยชน์บนเกาะกลางถนน เพียงเพราะในพื้นที่นั้นขุดเจอโครงกระดูกไดโนเสาร์ ขณะที่บางประเทศส่งจรวดไปสู่อวกาศ กลับกันบางที่ยังเชิดชูเศษซากของอดีตอันล้าหลังถึงขั้นทำเป็นไอคอนประดับประดาทั่วบ้านเมือง ซ้ำร้ายความไร้ประโยชน์ของมันยังทำให้ตัวละครชายหนุ่มในเรื่องตกไปด้านในและหาทางออกไม่ได้จนเสียชีวิต

และที่ยิ่งน่าสนใจเข้าไปอีก คือพื้นหลังของชายหนุ่มโชคร้ายผู้นี้ ที่แตกหักจากคนรักลูกชายของ ‘ลุงพล’ เพียงเพราะใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ที่มีภาพของบุคคลผู้มีชื่อเสียงที่อดีตคนรักเขา ‘ศรัทธาอย่างหมดหัวใจ’ มารองฉี่หมา จนนำเขาไปสู่จุดจบของชีวิตอันแสนพิลึกนี้ในที่สุด

“แม้จะจำวันได้ไม่ชัด เขาก็จำได้แม่นว่าครั้งสุดท้ายที่คุยกันไม่สิ … ไม่ว่าจะเป็นครั้งไหน พ่อจะสวมเสื้อสีเหลืองเสมอ และไม่ว่าเขาจะหาหลักฐานมาอธิบายว่าความตกต่ำจนใกล้ล่มสลายของประเทศในขณะนี้หาได้มาจากความไร้ศักยภาพของรัฐบาลแค่ฝ่ายเดียวอย่างไร พ่อก็ไม่เคยฟัง แกยังเชื่อมั่นและศรัทธาในสีเสื้อสวมจนวันสุดท้าย” (หน้า 25)

หรือความรักของศิษยานุศิษย์ที่มีต่อ ‘องค์พ่อ’ ในตอนการรอคอยเป็นสมบัติของผู้ดี ร่างทรงที่ตอบเรื่องราวในประวัติศาสตร์ (เท่าที่อยากตอบ) ได้ทั้งหมด แต่อยู่ๆ ก็เดินหนีหายวับไปบนฝ้าในแกลเลอรีกลางเมืองแบบงงๆ ปล่อยให้ลูกหาบรอคอยการกลับมาด้วยการมาเฝ้ารอที่ใต้ฝ้าทุกวัน หากมองเพียงผิวเผินคงคิดว่าเกิดจากความศรัทธาของเหล่าศิษย์ แต่ขณะเดียวกัน หากมองให้ลึกลงไป ในสายตาของคนไม่ใช่ศิษย์ นี่อาจถูกมองเป็นรักที่เกินเลยถึงขั้นงมงายไร้เหตุผล ไม่ว่าจะเป็นการเรียกบุคคลนั้นว่าองค์พ่อ หรือการมาเฝ้ารอใต้ฝ้าทุกวันก็ตาม

“ชายหนุ่มก็ผุดลุก-เขาคือคนที่คุยกับเพื่อนตั้งแต่ตอนเริ่มต้นว่าการเข้าทรงในวันนี้เป็นเรื่องแหกตา ชายผู้นั้นถามว่าใครอยู่เบื้องหลังการหายตัวไปของเหล่านักกิจกรรมทางการเมืองในรอบหลายปีให้หลัง และใครคนนั้นเป็นคนคนเดียวกันอย่างที่หลายคนตั้งข้อสงสัยไว้ใช่หรือไม่ ก่อนเขาจะเอ่ยรายชื่อของนักกิจกรรมที่บ้างก็หายตัวไปเป็นปริศนา บ้างก็ถูกพบเป็นศพถูกยัดร่างด้วยแท่งคอนกรีตนอนอืดอยู่ริมแม่น้ำ” (หน้า 182)

จะว่าไปแล้ว นัยหนึ่ง องค์พ่อเป็นคำเรียกที่เต็มไปด้วยอำนาจที่แสดงถึงความเหนือกว่า ดังนั้น การถามตอบกับองค์พ่อจึงคล้ายภาพฉายขนาดย่อมของโครงสร้างสังคมแบบจัดลำดับชั้น (Hireachy) ที่ปุถุชนคนธรรมดาสามารถพูด ถาม เท่าที่ท่าน (องค์พ่อ) อนุญาตให้ถาม และจะตอบแต่เรื่องที่อยากตอบเท่านั้น

 

“สรุปว่าไงครับ คนอื่นเขารอฟังคำตอบอยู่ ….” ชายผู้ถามกดเสียงเหมือนยียวน

แล้วจู่ๆ เสด็จพ่อก็ลุกจากที่นั่ง ดวงตาปูดโปน คล้ายจะส่งพลังงานบางอย่างออกมาจากร่าง

[…]

“ไอ่เหี้ย….

พวกมึง… รอ… แค่ห้านาที…สิ…บ

นา…ที…

แค่นี้ยัง…รรร…อ…ไม่ได้…

มึงจงงงง…ออกจากห้อง….นี้ไป…เลย…

ไป!” (หน้า 183) 

และแน่นอนว่า เมื่อใดที่สามัญชนริอาจปริปากพูดในสิ่งที่ดูล่วงล้ำ ก้าวก่าย หรือพูดในสิ่งที่ (ท่านผู้สูงส่งกว่า) ห้าม ก็ดูเป็นการกระทำที่ไร้มารยาท ไม่รู้กาลเทศะ ไม่มีสมบัติผู้ดี เหมือนกับชื่อของเรื่องสั้นตอนนี้ที่มีชื่อว่าการรอคอยเป็นสมบัติของผู้ดี

บางเรื่องจึงถือว่าเป็นสิ่งต้องห้ามในสังคม ที่ห้ามพูด ห้ามถาม ห้ามรู้ และถึงรู้ก็พูดไม่ได้

ชวนให้ฉุกคิดถึงบางรักที่เกิดขึ้นอยู่ในสังคมไทยไม่น้อย

ขณะที่ภาพฉายซ้ำของโครงสร้างสังคม ยังถูกถ่ายทอดชัดในตอนหัวนอนปลายเท้า ที่ดำเนินเรื่องผ่านชีวิตมนุษย์คอนโดฯ ในภาวะโรคระบาด ขณะที่ต้องทนทุกข์กับการกักตัว ซ้ำร้ายยังถูก ‘คนข้างบน’ ที่เปรียบเสมือนผีคอยหลอกหลอน กระทืบเท้าลงมาอยู่ไม่ขาดทุกค่ำคืน

“เสียงกระโดดลงมาจากที่นอน เสียงฝีเท้าพร้อมกันเมื่อถึงบันไดขั้นสุดท้าย ก่อนเป็นเสียงวิ่งไปมาในห้องนั่งเล่นที่อยู่เหนือห้องนอนฉันพอดี ฉันคำรามในลำคอ เด็กเปรตไม่รู้จักหลับจักนอน” (หน้า 48)

มุมหนึ่งไม่ต่างจากการตกอยู่ในภาวะจำยอมของคนในชนชั้นต่ำกว่า คอนโดมิเนียมจึงเสมือนภาพแทนของการจัดลำดับระบบชนชั้นในสังคม ที่คนบนฝ้า (คอนโดฯ) อยากทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ แล้วผลกระทบก็ตกอยู่กับคนที่อยู่ต่ำกว่าอย่างเลี่ยงไม่ได้ ภายใต้ภาวะโรคระบาดที่ไม่มีทางหนีออกไปจากห้องสี่เหลี่ยมขนาดสี่สิบห้าตารางเมตร

 

IV

ที่ทำไปเพราะ… รัก?

“โอ๊ย คุณยายยังแข็งแรงและมีอะไรต้องทำอีกเยอะ อาหารจากร้านที่เรากินกันทุกวันก็อร่อย

เพิ่งเข้าใจว่าทำไมถึงกินได้ทุกวันไม่เบื่อ คุณยายยังต้องอยู่ไปอีกนาน เชื่อหนู 

ฉันพูดให้กำลังใจ

แต่นั่นเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายที่ฉันโกหกแก…”

(หน้า 137)

เรื่องสั้นตอนพนักงานส่งอาหารใช้ชีวิตอย่างไร ในสถานการณ์โรคระบาด เป็นตอนที่ฉันโปรดปรานที่สุดในเล่ม จากการดำเนินเส้นเรื่องแบบเรื่อยๆ แต่เพียงปลายนิ้วพลิกก็คล้ายกับกำลังดิ่งลงจากรถไฟเหาะความเร็วสูง เมื่อพบว่ากำลังถูกจิรัฏฐ์ลวงหลอกเข้าเต็มเปา 

ในตอนดังกล่าวเป็นเรื่องราวของหญิงสาวไรเดอร์ที่ต้องมาส่งอาหารให้บ้านเศรษฐีนีชราในทุกๆ วัน จนขยับเป็นส่งอาหารทุก 3 มื้อ 

 หากพิเคราะห์จากเนื้อหาที่ยกมาข้างต้น ผู้อ่านคงคิดว่าสิ่งนี้คือการหลอกเพราะรัก เพื่อให้กำลังใจคนแก่ที่ต้องอาศัยอยู่เพียงลำพังในบ้านหลังโต และไร้เพื่อนบ้านใกล้เคียง

แต่เดี๋ยวก่อน เรื่องไม่ได้เป็นอย่างที่คุณคิด หากด้วยเงื่อนไขที่ไรเดอร์สาวต้องใช้ชีวิตในประเทศที่กำลังล่มสลาย หรือจริงๆ อาจล่มสลายไปแล้ว หากด้วยเงื่อนไขที่เธอไร้สมบัติติดตัวและแสนยากจน ดังนั้น เธอจึงช่วยสงเคราะห์ส่งหญิงชราไปสู่ภพภูมิหลังจากเสพสุขและเสพเศร้ามามากมายในชีวิต พร้อมกับช่วยใช้ทรัพย์สมบัติที่เหลืออยู่ให้อีกด้วย

สิ่งที่น่าตั้งคำถามต่อคือ การกระทำดังกล่าวใช่ความรักไหม? หากหลายคนมองว่าเธอเห็นแก่ตัวเอาตัวรอด แต่ท่ามกลางเงื่อนไข ข้อจำกัด และความจน ในประเทศที่ไร้ความเสมอภาคที่คนรวยกระจุก คนจนกระจาย สิ่งนี้สามารถเรียกว่ากระทำไปเพื่อรักได้อยู่หรือไม่? หรือแท้จริงแล้วประเทศที่ไร้รักต่อประชาชนในประเทศต่างหาก ที่เป็นคนบีบบังคับให้ทุกคนต้องหันมารักแต่ตัวเองเช่นนี้ 

 

V

รักในลวง

“พี่ไม่กลัวผมหรอกหรือ กับพี่ไม่กลัวผมหลอกหรือ ออกเสียงเหมือนกัน แต่ความหมายต่างกัน…” (หน้า 161) หนึ่งในตัวละครว่าไว้ คล้ายกับเป็นคำเตือนจากปากนักเขียนตรงเกือบกลางทางของหนังสือ ที่บอกกับผู้กำลังอ่านให้ตระหนักถึงความลวงที่เขากำลังหลอกเราอยู่ทุกบรรทัดโดยไม่ทันรู้ตัว

หากตัดเรื่องฝีปากและลายมือที่ปล่อยผ่านตัวอักษร การสร้างตัวละครและฉาก รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยขององค์ประกอบอื่นๆ ที่แทรกอยู่ในแต่ละตอนออกไป ในความเห็นส่วนตัว หนังสือเล่มนี้พาเราหวนกลับมาตั้งคำถามว่า แล้วสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมที่เราให้ค่าและเชื่อถือกันว่าจริงแท้นั้น มุมมองของคนอื่นและคนนอก (รวมถึงคนในที่ตาสว่างแล้ว) มองเห็นเช่นเดียวกับเราหรือไม่ เพราะความจริงที่เรารับรู้ อาจเป็นเรื่องผิดปกติในมโนสำนึกของคนอื่นก็ได้ เพียงแต่เราให้ค่าความจริง เพราะความชินชากับสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยๆ จนมองเป็นเรื่องปกติ

เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้จึงไม่ใช่การสร้างโลกสมมติในวรรณกรรมเพียงอย่างเดียว แต่คล้ายกับเป็นกระจกสะท้อนภาพของบ้านเมืองที่เรากำลังดำรงชีวิตอยู่นี้ สังคมที่ความจริงกับความลวงเคล้าไปด้วยฝุ่นจนพร่าเลือน ไม่ต่างจากแกลเลอรีสี่เหลี่ยมในเรื่องที่คลุ้งไปด้วยฝุ่นมัว และหากมีใครสักคนสงสัยถึงความไม่ชอบมาพากล ก็ต้องโดนกลืนจากบรรดาเครื่องดูดฝุ่นที่ถูกเซตมาพร่ำแต่คำว่า

 “เราเกิดมาเป็นฝุ่น เราจะจากไปอย่างฝุ่น” (หน้า 81) แล้วกลายเป็นส่วนหนึ่งในเศษธุลีที่ลอยคว้างอยู่กลางห้อง

 

VI

ลวงในรัก

ย้อนกลับไปอ่านที่หน้าคำนำ หนังสือเล่มนี้ออกตัวว่านี่คือเรื่องราวสยองขวัญ และหลายครั้งนักเขียนสาดเลือดแดงฉานเต็มหน้ากระดาษไม่ต่างจากหนังฆาตกรรม ทั้งหมดดูเหนือจริงจนไม่มีทางเป็นไปได้ ทว่าเมื่อนำตัวละครและเหตุการณ์ต่างๆ มาทาบทับฉากที่บรรยายภาพในสังคมที่มีหุ่นไดโนเสาร์ตัวใหญ่ไร้ประโยชน์บนเกาะกลางถนน ท่ามกลางเสาไฟกินรีเรียงราย ซุ้มประตูที่ประดับบนสะพานลอยพร้อมรูปประมุขขนาดมหึมา อุทยานประวัติศาสตร์และโบราณสถานของชาติที่ถูกรุกล้ำโดยบ้านเรือน หรือการเผชิญรถติดหนึบบนถนนเส้นลาดพร้าว-โชคชัย 4 ไปจนถึงสถานการณ์ระหว่างโรคระบาด ที่เต็มไปด้วยคนตกงานและภาวะเงียบงันในช่วงเวลาเคอร์ฟิวของเมือง

สิ่งเหล่านี้ยิ่งชวนให้เชื่อโดยสนิทใจว่า คงมีสิ่งเกินจริงพรรค์นี้เกิดขึ้นจริงในซอกหลืบไหนสักแห่งของสังคม – สังคมเดียวกับที่เรากำลังยืนอยู่ตรงนี้และตอนนี้

หากเป็นผลงานของนักเขียนคนอื่น เราอาจไม่คิดถึงความ (บังเอิญ) เชื่อมโยงกันของกาลเทศะระหว่างโลกวรรณกรรมกับประเทศสารขัณฑ์เช่นนี้ แต่สำหรับนักเขียนจากเชียงใหม่ผู้เคยฝากผลงานนิทรรศการศิลปะแนวเสียดสีสังคม อย่าง ‘คิดถึงคนบนฝ้า’ (Our Daddy Always Looks Down on Us) และ ‘ฝ่าละออง’ (From Dawn Till Dust) มาแล้ว นี่จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก กลับกันยิ่งทำให้ต้องเพิ่มความจดจ่อในการอ่านระหว่างบรรทัดและตัวอักษรให้มากขึ้นกว่าเดิม

บรรดาความเหนือจริงต่างๆ ที่เกิดกับบุคคล ซึ่งฉายบนฉากสถานที่จริงต่างๆ จึงเป็นจุดเด่นอีกประการหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ จนอาจกล่าวได้ว่า บรรดาเรื่องสั้นต่างๆ มีกลิ่นอายของงานวรรณกรรมแบบสัจนิยมมหัศจรรย์ (Magical Realism) อวลอยู่ไม่น้อย และการผสานความเซอร์เรียลของตัวละครต่างๆ กับความเป็นจริงของฉากสถานที่ในตัวบทนี่เอง เป็นอีกเสน่ห์หนึ่งที่ยิ่งเชื้อเชิญให้เปิดอ่านหน้าถัดไปจนจบในแต่ละตอน

ก่อนรู้ตัวอีกทีว่าโดนลวงให้พลิกหน้าสุดท้ายไปแล้ว 

 

VII

สุดท้ายก็ยอมให้เธอหลอกโดยดี

I love him!

I love him!

 I love him!

And where he goes

 I’ll follow!

 I’ll follow!

 I’ll follow!

I Will Follow Him – เพ็กกี้ มาร์ช (Peggy March)

บทเพลงที่จิรัฏฐ์เลือกใช้ในช่วงวาระสุดท้ายของยายแก่จากตอนพนักงานส่งอาหารใช้ชีวิตอย่างไรในสถานการณ์โรคระบาด ช่างเป็นบทเพลงที่แทนความรู้สึกหลังโดนเจ้าของหนังสือรักในลวงหลอกหลอนตลอดทั้งเล่มได้เป็นอย่างดี เพราะหลังจากอ่านเรื่องรักใคร่ลวงหลอกจบ ก็ได้ข้อสรุปกับตัวเองว่าหลังจากนี้จะติดตามผลงานของคุณจิรัฏฐ์แบบ Where he goes, I’ll follow!

แน่นอนว่าเรื่องสั้นเขย่าขวัญตลอดสิบตอนทำเอาหัวตลบไม่น้อยกว่าสิบครั้ง หลายสิ่งยังตีกันในหัวและทำงานกับความคิดอย่างทันที ขณะที่หลายอย่างก็ค่อยๆ ตกตะกอน จนมาถึงขณะนี้ ขณะที่ยังเขียนบทความนี้อยู่ ก็ยังหยุดคิดไม่ได้เสียที

 ฉันและสหายเชื่อว่า คนอ่านแต่ละคนย่อมมองความลวงความหลอกของจิรัฏฐ์ต่างกันออกไป  แต่ก่อนที่เราจะมองเห็นและเข้าใจรายละเอียดแต่ละสิ่งได้ เราต้องหลุดจากความลวงหลอกที่มาในนามของความรักเสียก่อน

แต่อย่างไรก็ตาม ฉันรักที่ถูกจิรัฏฐ์ลวงหลอกตลอดทั้งเล่มจริงๆ 

Fact Box

  • หนังสือรวมเรื่องสั้นรักในลวง เขียนโดย จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์
  • นักเขียนผู้สนับสนุนแนวทางสาธารณรัฐ เจ้าของผลงาน ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเศร้า และพิพิธภัณฑ์เสียง
  • จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์แซลมอน 
  • จำนวน 216 หน้า, ราคา 295 บาท
Tags: , , , ,