นี่คือเรื่องราวของฮัลจาผู้รักหนังสือและการอ่านเป็นชีวิตจิตใจ แต่ทำงานเป็นคนอัดกระดาษ เพชรฆาตผู้ทำลายหนังสือ ฟังแล้วอาจดูย้อนแย้ง เมื่อคนรักหนังสือและการอ่านแบบเขาต้องทำงานที่ทำลายความรักของตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นระยะเวลากว่า 35 ปี เขาอธิบายอาชีพการทำลายหนังสือไว้ว่า เป็นอาชีพที่บาปหนักหนาเทียบได้กับการคร่าชีวิตเด็กแรกเกิดที่ปิเอเตอร์ บรูเกล
โบฮุมิล ฮราบัล (Bohumil Hrabal) แต่งหนังสือเรื่อง ความเปลี่ยวดายอันกึกก้องเกินต้าน หรือ Příliš hlučná samota ขึ้นมาเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของคนสามัญผู้ไร้อำนาจ ไม่มีปากมีเสียง ในยุคสมัยที่สาธารณรัฐสังคมนิยมเชโกสโลวัก (ค.ศ. 1948-1990) เซ็นเซอร์งานเขียนและงานศิลปะ ที่ขัดต่อวาทกรรมการเมืองและอุดมการณ์ของผู้มีอำนาจ
กว่า 35 ปีที่ฮัลจาบีบอัดหนังสือดีๆ เล่มแล้วเล่มเล่า พร้อมๆ กับความพยายามอ่านหนังสือทุกเล่มที่เขาขโมย (ฮัลจาเรียกการกระทำนี้ว่าการกู้ชีพหนังสือ) กลับห้องพักที่อัดแน่นไปด้วยหนังสือ โดยเขาบรรยายไว้ว่าการทำงานบดขยี้หนังสือตลอดระยะเวลา 35 ปีของเขา อาจถูกเอาคืน ล้างแค้นจากบรรดาหนังสือในห้องพักที่อาจล้มมาทับหัวเขาตายได้
ภายในเรื่อง เราจะเห็นถึงผลเสียของระบอบเบ็ดเสร็จนิยมในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการเซ็นเซอร์ ควบคุม กำหนดทิศทางความรู้หลักของสังคม ที่ความคิดใดขัดแย้ง สวนทางกับรัฐก็จะถูกขจัดทิ้งให้สิ้นซาก
ฟังดูละม้ายคล้ายคลึงกับสถานการณ์ในประเทศไทยบ้างหรือเปล่า? เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบภาพการรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อปี 2557 ต่างหลั่งไหลเข้ามา ในช่วงที่ประชาชนต่างถูกปิดตา ถูกปิดกั้นเสรีภาพ และถูกจับกุมดำเนินคดี รวมไปถึงหนังสือหลายเล่มกลับถูกมองว่ามีเนื้อหา ‘เป็นภัยต่อความมั่นคง’
นอกจากหนังสือที่ถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐแล้ว จริงๆ เราถูกกำหนดทิศทางความรู้ในกระแสหลักอยู่เสมอมา หากยกตัวอย่างง่ายๆ คือ ตำรับตำราประวัติศาสตร์ของไทย ที่มีการเลือก ‘จำ’ และเลือก ‘ลืม’ ความทรงจำใดที่เป็นปฏิปักษ์ต่อโครงสร้างอำนาจมาโดยตลอด
พูดให้ตรงคือ แม้หนังสือเรื่องความเปลี่ยวดายอันกึกก้องเกินต้าน จะแต่งขึ้นในบริบทสังคมที่โคตรจะ ‘เช็ก’ แต่กลับช่วยฉายภาพของสังคมที่ถูกปิดหู ปิดตา ปิดปากได้ดี ผ่านตัวละครสามัญธรรมดาที่ทำอะไรไม่ได้ นอกจากความพยายามกู้ชีพหนังสือเท่าที่ประชาชนคนหนึ่งจะทำได้ ซึ่งหนังสือส่วนใหญ่ที่ฮัลจาอ่านระหว่างบดอัดหนังสือเป็นหนังสือปรัชญา ที่ส่งเสริมให้ตั้งคำถาม ไม่ว่าจะเป็นหนังสือของ ฟรีดริช นีทเชอ, อิมมานูเอล คานต์, อาร์ทัวร์ โชเพินเฮาเออร์, เฮเกล และโสเครตีส
การกล่าวถึงที่ว่าไม่ได้เป็นเพียงการกล่าวอ้างเท่านั้น แต่เราจะเห็นว่านักคิดหรือนักปรัชญาที่กล่าวมาข้างต้นล้วนมีข้อเสนอในแบบของตนและหลายครั้งมักขัดแย้งกันเอง สิ่งนี้แสดงให้เห็นผ่านตัวฮัลจาว่า เมื่อเราอ่านมาก การถูกครอบงำทางความคิดย่อมไม่เกิดขึ้นได้ง่าย เพราะหลายครั้งฮัลจาก็แสดงความเห็นว่า ไม่ได้เห็นด้วยกับข้อเสนอของนักคิดนักปรัชญาไปเสียทั้งหมด
อีกสิ่งที่ฮัลจาแสดงให้เราเห็นคือ ผลเสียของการถูกควบคุม ทำให้อัตราการอ่านหนังสือในประเทศลดน้อยลง ประชาชนเริ่มชินชากับหนังสือที่ถูกทำลายจำนวนมาก และคนเริ่มเชื่อฟังผู้มีอำนาจ ไม่รู้ว่าตัวเองถูกกดขี่ ส่งผลให้ละเลยการตั้งคำถาม แม้ว่าหนังสือจำนวนมากและงานศิลปะจะถูกทำลายก็ไม่ได้เกิดการตั้งคำถามใดๆ เลย
“กิจการของหนังสือทั้งหมด หนังสือเล่มหนึ่งๆ นั้นถูกเคลื่อนลงไปกองอยู่ในเครื่องคั้นโหดเครื่องนี้ก่อนที่ดวงตามนุษย์ สมองมนุษย์ หรือหัวใจมนุษย์ผู้ใดจะสามารถสัมผัสหน้าหนังสือแม้แต่หน้าเดียวให้หม่นหมองเปื้อนมลทิน […] ไม่สำคัญหรอกว่าพวกนี้จะเปิดไปเจอหน้าไหนไม่มีใครก้มมองหน้าหนังสืออยู่แล้ว ไม่มีแม้แต่การเฝ้าฝันหาการได้อ่านเนื้อความในกระดาษ […] กิจการที่บุบนีเป็นการทำงานที่ไร้มนุษยธรรมโดยสิ้นเชิง เทียบเท่ากับการจับปลาด้วยอวนตาถี่ พอลากอวนเข้ามาคนงานก็เหมือนชาวประมงที่พากันเข้ามาแยกปลาใหญ่ออกจากปลาเล็ก โยนหนังสือปลาใหญ่เล็กลงบนสายพานที่มุ่งสู่เครื่องอัดกระป๋องตรงท้องเรือ ปลาตัวแล้วตัวเล่า หนังสือเล่มแล้วเล่มเล่าต้องประสบชะตากรรมดังกล่าว”
ฮัลจาอธิบายหลังเดินทางไปดูการสร้างเครื่องไฮดรอลิกขนาดใหญ่สำหรับบดอัดขยะในย่านบุบนีแถวเขตปราก 7 เครื่องที่มีแสนยานุภาพเทียบเท่าเครื่องอัดธรรมดาถึงยี่สิบเครื่อง
วรรณกรรมเรื่องนี้ยังแสดงความกังวลต่อเด็กและเยาวชนที่อาจถูกล้างสมอง ผ่านฉากที่เด็กนักเรียนช่วยกันฉีกรื้อทำลายหนังสืออย่างขะมักเขม้น และโยนเข้าเครื่องอัดไฮดรอลิกขนาดยักษ์ โดยไม่แม้แต่จะอ่านชื่อหนังสือที่ตัวเองกำลังทำลายด้วยซ้ำ
อีกสิ่งที่ฮราบัลได้สอดแทรกมากับนิยายเรื่องนี้คือ เสรีภาพ และการเติบโตทางศิลปะ เมื่อไร้เสรีภาพแล้วศิลปะก็ย่อมถูกทำลายด้วย แม้ว่าฮัลจาจะทำหน้าที่บดขยี้หนังสือ แต่อีกแง่หนึ่งเขามองหนังสือที่ถูกบีบอัดเหล่านั้นเป็นงานศิลปะที่เขาคอยสรรค์สร้างในทุกๆ ชิ้น เช่น
งานศิลปะผลิตซ้ำของโกแกง ฮัลจาก็ออกแบบให้ก้อนขยะด้านข้างของเขาเป็นรูปภาพของโกแกง หรือภาพผลิตซ้ำรูปทานตะวันของวินเซนต์ แวนโกะห์ ที่เขาออกแบบให้ด้านข้างของกองขยะเป็นรูปดอกทานตะวันสีทองและสีส้มตัดกับสีฟ้า
เรียกได้ว่าฮัลจาใส่ใจและสรรค์สร้างกองขยะของเขาเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกสรรค์ปรัชญามาวางไว้บนกองขยะก่อนบีบอัด หรือบางทีก็มาในแง่ความรู้สึกส่วนตัว เช่น “กูรู้สึกสะใจเป็นพิเศษเมื่อยัดรูปฮิตเลอร์ในงานรื่นเริงและพวกพ้องสวนสนามเข้าเมืองคานซิกลงไปในแท่นอัดขยะ”
นี่เป็นเพียงเรื่องราวของชายคนธรรมดาที่อยู่ในประเทศที่ไร้เสรีภาพ และเขาไร้อำนาจที่จะต่อต้านและต่อรอง นอกจากผลเสียของการควบคุมกำกับดูแลเนื้อหาแล้ว อีกสิ่งทีฮราบัลให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือ ความสำคัญของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับหนังสือ ทุกคนตั้งแต่คนเขียน คนบรรณาธิการ คนออกแบบปก คนพิสูจน์อักษร บัญชี คนตรวจเลขหน้า คนบรรจุหนังสือ รวมไปถึงคนขนหนังสือ
หากใครมีโอกาสได้อ่านความเปลี่ยวดายอันกึกก้องเกินต้าน ก็อย่าลืมมาแลกเปลี่ยนกันว่า หนังสือวรรณกรรมที่โคตรจะ ‘เช็ก’ เล่มนี้ให้ความรู้สึกละม้ายคล้ายคลึงสิ่งที่เกิดในประเทศแห่งนี้หรือไม่
Fact Box
ความเปลี่ยวดายอันกึกก้องเกินต้าน (Příliš hlučná samota)
ผู้เขียน: โบฮุมิล ฮราบัลBohumil Hrabal
ผู้แปล: วริตตา ศรีรัตนา
ราคา: 200 บาท