ผู้คนมากมายนิยามหรือเปรียบเปรยการเดินทางของตนไว้หลากหลายแตกต่างกัน บ้างเพื่อข้อมูล ประสบการณ์ หรือความรู้แปลกใหม่ ในวันที่โลกปัจจุบันสามารถค้นหาข้อมูลในโลกใบนี้ได้ง่ายขึ้นด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ นิยามต่างๆ จะต่างออกไปไหม ในเมื่อโลกใบใหญ่เท่าเดิม แต่ความง่ายในการท่องโลกง่ายขึ้นด้วยโลกอินเทอร์เน็ตมีมากขึ้น
ขณะที่เลื่อนไถหน้าฟีดของแพลตฟอร์มหนึ่ง ผมเจอเพื่อนเก่าที่อยู่ห่างกันกำลังเปิดพรีออร์เดอร์หนังสือภาพบันทึกการเดินทางครั้งล่าสุดของเขา ไม่รอช้าผมยกหูโทรศัพท์หา โก๊ะ-ชลิต สภาภักดิ์ เพื่อขอแบ่งปันเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางที่ทำให้เขารู้สึกว่า ตนเองเป็นเสมือนหินก้อนเล็กๆ ที่กลิ้งลงมาจากภูเขาสูงและแม่น้ำลำธาร เมื่อได้เจอกับธรรมชาติที่งดงามและยิ่งใหญ่เหลือเกิน
ชลิตเป็นช่างภาพวัยกลางคน อายุย่างเข้าสู่เลข 4 เขาเลือกหมุดหมายใหม่ของตนเองไปตามเส้นทางจากป่าสนในเมืองดารัมซาลา หรือธรรมศาลา (Dharamshala) รัฐหิมาจัลประเทศ ประเทศอินเดีย เดินทางด้วยเท้าสลับการนั่งรถบนเทือกเขาหิมาลัย เลาะเลียบแม่น้ำ 5 สายทางตอนเหนือของอินเดีย ได้แก่ แม่น้ำบีอัส, แม่น้ำเจนาบ, แม่น้ำบาก้า, แม่น้ำเซแทร็ป และแม่น้ำสินธุ ก่อนจบเส้นทางที่เมืองเลห์ (Leh)
ระหว่างการเดินทางเขาได้พบความยิ่งใหญ่อันแสนสงบงาม ชีวิตของผู้คนหลากหลาย และบททดสอบของธรรมชาติบนระดับความสูง 5,328 เมตรจากระดับน้ำทะเล ที่ซึ่งทำให้เขารู้สึกรักชีวิตเพิ่มมากขึ้น และย้อนกลับมามองตนเองว่า ไม่ต่างจากหินก้อนเล็กๆ ก้อนหนึ่งที่อยู่ต่อหน้าธรรมชาติอันยิ่งใหญ่
Lost in Thought สัปดาห์นี้ขอแนะนำหนังสือภาพ LIKE A STONE หนังสือบันทึกเรื่องราวระหว่างการเดินทางของชลิต สภาภักดิ์ ด้วยภาษาภาพผ่านกระบวนการแอนะล็อก บันทึกภาพด้วยฟิล์มขนาด 120 จำนวน 60 กว่าม้วน จากการเดินทางร่วม 2 เดือนบนถนนที่สูงที่สุดในโลก
บันทึกภาพระหว่างการเดินทางด้วยกล้องฟิล์ม
ชลิตเริ่มทำงานในยุคดิจิทัล ผ่านการทำงานมานานมากกว่า 10 ปี งานส่วนใหญ่ผลิตมาจากกล้องดิจิทัล (ขนาด 135) ซึ่งเป็นที่นิยมมากกว่าในประเทศไทย ทั้งจากคนจ้างงานและคนชมงาน แต่พอถึงจุดหนึ่ง เขาเริ่มรู้สึกว่า ภาพถ่ายของตัวเองออกแบบซ้ำเดิม สามารถหยุดทุกสิ่ง ถ่ายทุกอย่างได้ในทุกสภาพแสง เขาเลยอยากเปลี่ยนวิธีการคิดและการออกแบบภาพถ่าย โดยหาอุปกรณ์ที่จะช่วยให้ผลิตงานในคาแรกเตอร์ใหม่ ซึ่งการเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่ก็คือการเปลี่ยนนิสัยการถ่ายภาพของเขาด้วย
การเลือกใช้กล้องมีเดียมฟอร์แมตขนาด 6X7 ที่ใช้กันในสตูดิโอ ด้วยขนาดที่ใหญ่และมีน้ำหนักมากของมัน ทำให้ต้องค่อยๆ ถ่ายอย่างช้าๆ ดังนั้น วิธีการมองหาสิ่งที่จะถ่ายก็เปลี่ยนไป ภาพที่ได้ออกมาก็ดูนิ่งกว่า และทำให้เขาได้มองรายละเอียดของสถานที่และเฝ้ามองบางอย่างนานขึ้น โดยผลลัพธ์คือภาพถ่ายที่ดู ‘ช้าลง’ ซึ่งถือเป็นเป้าหมายแรกๆ ในการทำงานชุดนี้ของเขา แม้ในความจริงการใช้ชีวิตตอนนั้นของเขาออกจะยากลำบากก็ตาม
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เขาไม่เคยคิดว่าการถ่ายภาพด้วยฟิล์มจะดีกว่าระบบดิจิทัล ชลิตมองว่ามันเป็นแค่เรื่องรสนิยมและความเชื่อบางอย่างของแต่ละคนมากกว่า และสุดท้ายแล้ว ในปัจจุบันเราก็ต่างนำฟิล์มมาสแกนเป็นไฟล์ดิจิทัลก่อนพิมพ์อยู่ดี ดังนั้น เขามองว่ามันไม่ได้ยิ่งใหญ่กว่ากัน และสิ่งที่ควรสนใจมากกว่าอุปกรณ์ คือเนื้อหาและภาพรวมของการสื่อสาร ทั้งในแง่ของสาระหรืออารมณ์ร่วมในภาพถ่ายนั้นๆ
การเดินทางบนความสูง 5,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ทางตอนเหนือของอินเดีย
เกือบ 2 เดือนตลอดเส้นทางบนภูเขาหิมาลัย ครั้งนี้เขาตั้งใจเดินทางไต่ระดับขึ้นเหนือไปเรื่อยตามแผนที่วางว่าจะไปสุดสิ้นที่เมืองเลห์ การเดินทางครั้งนี้ของชลิตก็เหมือนก้อนหินที่กลิ้งลงจากภูเขาไปสู่แม่น้ำ ไหลตามแรงน้ำเชี่ยวไปหยุดนิ่งที่ไหนสักที่ พบเห็นชีวิตของผู้คนหลากหลายรูปแบบ เห็นภูมิประเทศที่ยิ่งใหญ่ และเห็นว่าตัวเขาไม่ต่างจากหินเล็กๆ ก้อนหนึ่ง
ภูมิประเทศและธรรมชาติระหว่างทางงดงามและยิ่งใหญ่ เขาลัดเลาะเส้นทางเดินตามทางของแพะบ้าง ถนนบ้าง ยิ่งระดับความสูงเพิ่มขึ้น ความเป็นเมืองก็ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นภาพน้ำตก เจอภูเขาสูงที่ปกคลุมด้วยหิมะ บางช่วงของเส้นทางอากาศแห้งเต็มไปด้วยฝุ่น บางช่วงผ่านสภาพอากาศแดดร้อน ลมแรง ฝนตก และหิมะ ใช้ชีวิตแบบนอนกลางดินกินกลางทราย บางคืนหนาวจนนอนไม่หลับ กลางวันต้องสู้กับแดดร้อนจนผิวไหม้ผิวเกรียม เป็นการเดินทางในระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่ต่ำกว่า 3,000-5,000 เมตร เพื่อแลกกับการได้เห็นภูมิประเทศที่งดงามราวกับภาพในความฝัน
ธรรมชาติทดสอบ
แม้จะออกกำลังกายก่อนเดินทางครั้งนี้ไปพอสมควร แต่ชลิตก็ถูกสภาพภูมิประเทศ อากาศ และอาหารการกินที่ต่างไปจากปกติทำให้ร่างกายอ่อนล้าลง การเดินทางไปในที่ที่ไม่คุ้นเคย นอกจากการเตรียมตัวไปให้ดีทั้งเครื่องนุ่งห่มและที่หลับที่นอนแล้ว สติเป็นเรื่องสำคัญ เพราะร่างกายของคนเรามีขีดจำกัดที่ต้องระวังเสมอ และอากาศที่เบาบางบนภูเขาสูง บวกกับอากาศหนาวต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส เป็นอันตรายต่อชีวิตอย่างยิ่ง
หนึ่งในเหตุการณ์ที่ชลิตถูกธรรมชาติสั่งสอน คือช่วงหนึ่งของการเดินทางบนเส้นทางภูเขาสูง ร่างกายเริ่มอ่อนล้าเพราะขาดน้ำและอาหาร กินอะไรไม่ค่อยได้จากความกังวล ร่างกายจึงอ่อนแอ จนถึงอาการที่แย่ที่สุด คือเกิดภาวะตะคริวขึ้นทั้งร่างกาย
อากาศหนาวเย็นทำให้ดื่มน้ำได้น้อยและน้ำดื่มก็หายากบนเทือกเขา การโหมทำงานโดยที่ไม่ระมัดระวังอาจทำให้ไม่มีโอกาสเดินทางต่อได้เลย ด้วยเหตุนี้สิ่งสำคัญขณะเดินคือต้องเรียนรู้เกี่ยวกับสถานที่ และมีสติในการทำงานตลอดเวลา ขณะเดียวกัน ต้องพยายามปรับตัวให้เข้ากับภูมิประเทศ สภาพอากาศ รวมทั้งอาหารการกินด้วย
สำหรับบางจุด การเดินอย่างช้าๆ ค่อยๆ หายใจ คือสิ่งที่ปลอดภัยที่สุด และต้องลืมเรื่องการถ่ายภาพไปก่อน เพื่อรักษาชีวิตให้เดินทางไปถึงจุดหมาย
6 ภาพที่ชลิตอยากบรรยาย
“หากคุณดูแล้วคุณรู้สึกอยากเดินทาง คุณดูแล้วคุณรู้สึกสงบ คุณดูแล้วคุณสืบค้นต่อว่าสถานที่ในภาพคือที่ไหน คุณดูแล้วคุณรู้สึกอะไรบางอย่าง เราว่าตรงนี้สำคัญมากกว่าอุปกรณ์และวิธีการ” ชลิตกล่าว
1. เด็กเลี้ยงแกะ
“ระหว่างที่พักเหนื่อยอยู่ในศาสนสถานฮินดูก่อนขึ้นโรงตังพาส เด็กชายคนนี้ก็อุ้มลูกแกะที่เพิ่งเกิดมานั่งใกล้ๆ มันเป็นภาพของสัมพันธภาพระหว่างคนกับสัตว์ ลูกแกะที่ยังดูแลตัวเองได้ไม่ดีนักมักถูกนักล่าอย่างหมาป่ามาล่าไปกินได้ การดูแลอย่างใกล้ชิดจากคนเลี้ยงทำให้มันมีโอกาสรอดสูงกว่า และทำให้คนเลี้ยงได้ผลผลิตเป็นน้ำนมไว้บริโภคหรือขาย”
2. แม่น้ำบีอัสยามเช้า
“ความหนาวเย็นมักทำให้ผมลุกออกมาจากเต็นท์ในช่วงเช้าอยู่เสมอ ในช่วงที่เราเดินเลาะเลียบแม่น้ำบีบาสนั้นเป็นช่วงที่ผมชอบมาก ในยามเช้าแม่น้ำที่เย็นจัดพบกับอุณหภูมิอบอุ่นตอนพระอาทิตย์ขึ้นทำให้ผืนน้ำปกคลุมไปด้วยไอหมอก ผมมักเดินลัดเลาะหาที่นั่งมองสายน้ำไหลรุนแรงกระทบหินปลดปล่อยหมอกอ้อยอิ่งลอยขึ้นเหนือผิวน้ำ”
3. หนุ่มแรงงานกำลังดื่มน้ำ
“หนุ่มแรงงานก่อสร้างดื่มน้ำที่เราให้ไปอย่างคนหิวกระหาย น้ำดื่มเป็นสิ่งหายากบนเทือกเขาสูงนี้ จนเคยมีคนอดน้ำตาย”
4. ก้าวผ่านการทดสอบ
“ตังลังล่า พาส อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลที่ 5,328 เมตร ตรงจุดนี้คือจุดที่ชีวิตผมอยู่ใกล้ความตายที่สุดในชีวิต หลังการเดินทางอันยาวนานหลายวัน ร่างกายผมอ่อนแอและขาดน้ำ เมื่อขึ้นมาถึงจุดสูงสุดของถนนได้ไม่นาน ร่างกายของผมก็เป็นตะคริวทั้งตัวเริ่มจากหน้าท้อง และลามไปแขนขาจนทั่วร่างกาย ผมหายใจได้เพียงแผ่วเบา พูดและสื่อสารได้ แต่ไม่สามารถขยับตัวได้ ผมรู้สึกเหมือนเป็นก้อนหินก้อนหนึ่งที่ถูกปกคลุมด้วยหิมะอันหนาวเย็น”
5. ดังโอเอซิส
“หลังจากลงมาจากตังลังล่า พาส ได้พบกับหมู่บ้านที่ทำให้ผมได้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง เมื่อเห็นสีเขียวของต้นหญ้าและต้นไม้ผมจึงคิดว่ารอดชีวิตแล้วเพราะที่นี่มีออกซิเจนแน่ๆ หมู่บ้านในหุบเขาเหล่านี้เป็นชุมชนโบราณของชาวาดักกี มีความเก่าแก่และเป็นธรรมชาติมาก เป็นภาพหมู่บ้านในความฝัน เหมือนโอเอซิสกลางทะเลทราย”
6. ภาพฝันปรากฏ
“สายรุ้งพาดผ่านแม่น้ำสินธุในเมืองเลห์ เป็นภาพฝันของผมที่ได้บันทึกภาพของแม่น้ำที่ยิ่งใหญ่และมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน เมืองเลห์เป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เพราะภูมิประเทศที่มีเอกลักษณ์และสวยงาม แต่สิ่งหนึ่งที่ผมจะจดจำไปไม่มีวันลืมคือมิตรภาพจากเพื่อนต่างวัยชาวลาดักกี 2 คนที่ดูแลเราตลอดการอาศัยอยู่ที่เลห์ ลาดักห์”
Fact Box
LIKE A STONE, โดย ชลิต สภาภักดิ์, จำนวน 128 หน้า, พิมพ์จำนวน 70 เล่ม, ราคา 1,590 บาท จำหน่ายที่ร้าน Valicando และติดต่อซื้อได้ทางเฟซบุ๊ก Chalit Saphapak