เมื่อพูดถึง ‘ผู้ชายในฝัน’ คุณจะนึกถึงใคร?

ผู้ชายที่คล้ายคลึงกับพ่อ

เพื่อนสมัยเรียน

รุ่นพี่ในมหาวิทยาลัย

ดารา-ศิลปิน-นักกีฬา

หรือตัวละครที่ไม่มีจริง

แต่ไม่ว่าผู้ชายในฝันของคุณจะเป็นใคร มาจากไหน หรือแม้กระทั่งมีกี่คน สิ่งเหล่านี้มิได้มีความหมายอะไร แต่เพราะเหตุใดเขาจึงเป็นชายในฝัน ณ ช่วงชีวิตนั้นของคุณต่างหากที่สลักสำคัญ เพราะการดำรงอยู่ของเขาทั้งในห้วงคำนึง หรือแม้แต่ชีวิตจริงของคุณ ล้วนแล้วแต่ประกอบสร้างให้คุณเป็นคุณอย่างเช่นทุกวันนี้

‘อุรุดา โควินท์’ เจ้าของหนังสือเรื่อง ผู้ชายในฝัน หนังสือซึ่งเปรียบเสมือนสมุดบันทึกเรื่องราวของเหล่าผู้ชายที่เธอใฝ่ฝัน บางคนเป็นเพียงฝันลมๆ แล้งๆ บางคนเคยเกือบเป็นมากกว่าฝัน และบางคนก็ทำให้เธอตื่นจากฝันมาพบกับความเป็นจริง แต่อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่า หนังสือเล่มนี้เป็นนวนิยายรักแสนหวานที่ถูกเขียนโดยหญิงสาวผู้ไม่ประสีประสาในความรัก เพราะหนังสือเล่มนี้ไม่ได้เป็นเช่นนั้น (แม้อุรุดาในวัยเยาว์จะเคยเป็นเช่นนั้นก็ตาม)

อุรุดาเล่าถึงชายที่เธอชื่นชอบอย่างออกรส บ้างก็เพราะรูปลักษณ์ภายนอก บ้างก็เพราะนิสัยใจคอและตัวตน หรือแม้กระทั่งเพราะเธอกับเขามีความฝันแบบเดียวกัน ตามประสาคนที่ใช้ชีวิตมาไม่น้อย ผ่านโลก และผ่านความสัมพันธ์มาหลากหลาย 

ฉันทำความรู้จักกับอุรุดาผ่านตัวอักษรและหนังสือที่เธอสร้างขึ้นมา อุรุดาในสายตาฉัน เธอเป็นผู้หญิงธรรมดาที่น่าสนใจ เพราะวิธีคิด การพูด และสิ่งที่เธอทำนั้นดูมีความหมาย ซับซ้อน อ่อนไหว ทว่าหนักแน่น บางครั้งก็เรียบง่าย และตรงไปตรงมา ส่วนผสมในตัวเธอมีหลายอย่างที่ขัดแย้งกันเช่นนั้น เหมือนที่เธอเพ้อฝันสุดๆ แต่ก็น่าเชื่อถือในคราวเดียวกัน ยิ่งเปิดหน้าหนังสือมากเท่าไร ฉันก็ยิ่งรู้สึกสนิท (ใจ) กับเธอมากขึ้นเท่านั้น

ประสบการณ์ที่เธอเคยผ่านมา บางความสัมพันธ์ บางเหตุการณ์ และบางความรู้สึกนั้นซ้อนทับกับความทรงจำในอดีต รวมถึงตอกย้ำความต้องการ ณ ปัจจุบันให้ชัดเจนขึ้น และไม่แน่มันอาจจะกลายเป็นภาพอนาคตของฉันในสักวันหนึ่ง

แล้วคุณล่ะ…ไม่อยากรู้เหรอว่าผู้ชายในฝันของอุรุดาเป็นเช่นไร พวกเขาพิเศษขนาดไหนกันเชียวจึงได้เป็นถึงชายในฝัน หากคุณยังไม่แน่ใจ ฉันขอหยิบยกเรื่องราว 5 บทที่ไม่ได้มีความหมายต่ออุรุดาเพียงคนเดียว แต่น่าจดจำสำหรับฉันเช่นกัน

หมายเหตุ: มีเนื้อหาบางส่วนในหนังสือ

บทที่ 1 รักตูนดีกว่า ไม่เสียเวลากินกล้วย

“คำพูดเขาน่าเชื่อยิ่งกว่าเสียงร้องของตูน จมูกเขาอยู่ใกล้นิดเดียว ถ้าฉันเอียงหน้าไป เราย่อมกลายเป็นความจริง แต่ฉันพยายามเก็บแก้มไว้ เพื่อเรื่องแต่งของเราจะได้ดำเนินต่อไป

แน่นอนว่า ‘เขา’ ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงนักร้องบนเวทีอย่างตูน Bodyslam ซึ่งอุรุดาชื่นชอบและเพ้อฝันถึงในเวลากลางวัน แต่หมายถึงชายคนหนึ่งที่เธอฝันถึงใน ‘เวลากลางคืน’ ยามหลับใหล ชายผู้อยู่เบื้องลึกของจิตใต้สำนึก

เราฝันถึงดารา-ศิลปินมากมายโดยไม่คาดหวัง พวกเขาเป็นภาพฝันอันสวยงามที่ใครก็ต่างเฝ้าหา ต่างจากการฝันถึงคนที่มีตัวตนในชีวิตจริง แม้เขาจะไม่ได้สมบูรณ์แบบ และออกจะบุบเบี้ยว แต่เพราะเขาอยู่ใกล้ความเป็นจริงมากกว่า แรงปรารถนาที่มีต่อเขาจึงย่อมมากกว่า

ความฝันในเวลากลางคืนน่ะ ต่างจากฝันกลางวันอย่างลิบลับ

ถึงแม้จะชอบเขาแทบบ้า แต่เพราะไม่กล้าพอ เราจึงไม่คิดจะทำอะไรในชีวิตจริง…

ถ้าเราขยับกายเข้าไปหา เอื้อมมือไปจับกุมไว้ หรือเพียงเอ่ยความในใจ ทุกอย่างที่เคยเป็นแค่ฝันในเวลากลางคืนอาจกลายเป็นความจริง แต่เพราะเรากลัวความผิดหวัง และไม่พร้อมรับผลลัพธ์ที่อาจไม่เป็นดั่งใจ เราจึงเลือกที่จะแอบชอบเขาอยู่เงียบๆ คนเดียวภายในใจ ทุกคนต่างรู้วิธีการเดินออกจากรักข้างเดียว แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะลงมือทำมัน

อย่างที่อุรุดาเคยพูดไว้ในบทนี้ว่า “ความรักความเสน่หานั้นเรียบง่ายแสนธรรมดา แต่ความสัมพันธ์คือสิ่งมีชีวิต มันแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง” เพราะความรักเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย แต่การจะเริ่มต้นและประคับประคองความสัมพันธ์ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

หากพูดความในใจออกไป ความจริงที่ว่า ฉันรักคุณ คงไม่ใช่เพียงฝัน แต่ในขณะเดียวกัน ฉันก็อาจไม่เหลือแม้กระทั่งสิทธิ์ในการจะฝันว่ารักคุณต่อไป การปล่อยให้เรื่องแต่งของเรายังคงดำเนินต่อไปในความฝันของฉันจึงคือคำตอบ

บทที่ 2 ชายคนแรกได้รับการยกเว้น

“ว้าเหว่ เมื่อทุ่มเทหัวใจ สิ่งที่เธอเหลือให้ สุดท้ายคือรอยรักเก่า ใจเจ็บเก็บเป็นครูสอนเรา จะมีใจให้เขา ควรรักเขาเพียงครึ่งใจหนึ่งในประโยคที่ปรากฏในหนังสือ ซึ่งเป็นเนื้อเพลง ‘เพียงครึ่งใจ’ ของ The Innocent

อุรุดาและพ่อของเธอร้องเพลงนี้ด้วยกันบนรถระหว่างเดินทาง เนื้อเพลงนี้เป็นสิ่งที่พ่อของเธออยากบอกกับอุรุดาว่า หากจะรักใครก็ให้รักเพียงครึ่งใจ ฉันอ่านจบจึงไปเปิดฟังเพลงนี้บ้าง พลางคิดทบทวนกับตัวเองแล้วพบว่า มันก็ถูกแหละที่เราควรรักคนอื่นเพียงครึ่งใจ เพราะจิตใจมนุษย์ช่างยากแท้หยั่งถึง วันนี้รัก พรุ่งนี้อาจไม่รัก มนุษย์เปลี่ยนแปลงง่าย และเอาแน่เอานอนไม่ได้ขนาดนั้นเลยแหละ ดังนั้น ถ้าไม่อยากเจ็บหนัก ก็อย่าทุ่มเทใจให้ใครหมดทั้งหน้าตัก

แต่รักใครเพียงครึ่งใจน่ะ มันทำได้จริงเหรอ? หรือจริงๆ เราไม่เคยรักใครทั้งใจอยู่แล้ว…

บทที่ 3 ใครๆ ก็รักเด็กชาย

“ฉันไม่มีความเสน่หาในตัวเขา ไม่แม้แต่น้อย เขาคือเด็กชาย ไม่ใช่ผู้ชาย แต่ฉันชอบเขา เด็กชายผู้มีพรสวรรค์ ฉลาด กล้าหาญ ห่าม อ่อนหวาน เขามีทุกอย่างที่ควรค่าต่อการรัก

อุรุดาอธิบายความสัมพันธ์ของเธอกับโด่งได้อย่างชัดเจน เธอไม่ได้รักเขาในเชิงชู้สาว ไม่เลยแม้แต่น้อย แต่สรรพคุณและองค์ประกอบของโด่งนั้นช่างควรค่าต่อการรัก ใครบ้างเล่าที่จะไม่ตกหลุมรักความเป็นเด็ก

ความเป็นเด็กในที่นี้หมายถึง ‘ความไร้เดียงสา’ มันงดงามนะ ตอนเรายังเด็ก เรากล้าหาญมากกว่าตอนนี้เสียอีก เรายึดมั่นในความฝัน เรามีแรงกายและแรงใจในการใช้ชีวิต ทุกอย่างเคยง่ายดาย สนุก และสวยงามกว่านี้ เพราะเรายังไม่รู้ว่าโลกที่แท้จริงนั้นเป็นเช่นไร เมื่อเราโตขึ้น เราถึงรู้ว่าโลกมันกว้างและโหดร้ายกว่าที่เราคิด พลังแห่งความเป็นเด็กก็จะค่อยๆ หายไปทีละนิดโดยที่เราไม่ทันรู้ตัว รู้อีกทีก็เหลือเพียงกายหยาบที่พยายามเอาชีวิตรอดไปวันๆ

สำหรับฉัน อุรุดาไม่ได้รักโด่ง แต่เธอรักความเป็นเด็กของเขา ความเป็นเด็กที่จางหายไปจากตัวตนของเธอ ความเป็นเด็กที่ถูกพรากโดยกาลเวลา โด่งคือตัวแทนแห่งวัยเยาว์ของอุรุดา วัยเยาว์ที่ไม่อาจย้อนคืนกลับมา แต่โด่งทำให้เธอได้สัมผัสวัยเยาว์นั้นอีกครั้ง

ใครบ้างเล่าจะไม่ถวิลหาความเป็นเด็กที่จืดจางไป

บทที่ 4 หนึ่งเดียวคนนั้น

ฉันไม่รู้ว่า ผู้ชายในฝันคนโปรดของอุรุดาคือใคร แต่ฉันชอบเรื่องราวของ ‘หนึ่ง’ มากที่สุด เพราะมันเป็นเรื่องราวที่ไม่สมหวัง เรื่องราวที่ย้อนกลับมาฉายซ้ำในหัวเป็นพันๆ ครั้ง เรื่องราวที่ทำให้นึกเสียดายแล้วเสียดายเล่า เรื่องราวที่ว่าคือความสัมพันธ์แบบ What if ‘ถ้าวันนั้นฉันตัดสินใจเช่นนี้ เรื่องราวของเราจะเป็นอย่างไร’ เรื่องราวแบบนี้มันลืมไม่ลงจริงไหม? เพราะงั้นฉันถึงชอบไงล่ะ

“เพราะจำสิ ถึงอยากรู้ จะได้เข้าใจ และบางทีอาจเลิกจำไปเลย ตราบใดที่ฉันยังสัมผัสเขาไม่ได้ เขาย่อมเป็นชายคนนั้น คนที่ฉันเคยหลงรัก หนึ่งเดียวที่ฉันตามจีบ แต่ถ้าได้กินข้าวกันสักมื้อ ดื่มสักเมา เขาจะกลายเป็นพี่หนึ่งอีกคน คนซึ่งเป็นจริงกว่า ไม่รู้คนไหน แต่ฉันว่าคงดีกับฉัน และดีกับเขาด้วย”

อุรุดาอธิบายถึง ‘ความเสียดาย’ ในความสัมพันธ์แบบ What if ได้เป็นอย่างดี เพราะความสัมพันธ์นี้ไม่เคยเกิดขึ้นจริง มันจึงติดอยู่ในใจเรา ไม่หลุดออกไปเสียที เพราะอยากรู้คำตอบ แต่ไม่มีวันได้รับคำตอบนั้นอีกแล้ว ในสมองจึงจินตนาการไปต่างๆ นานาว่า ถ้าตอนนั้นตัดสินใจอีกแบบ เรื่องราวของเราจะเปลี่ยนไปไหม ความสัมพันธ์ของเราจะเป็นเช่นไร มีคนมากมายติดหล่มและจมปลักกับความเสียดาย จนไม่สามารถก้าวไปข้างหน้า

“นั่นสิ ข้าก็มัวแต่รอพรุ่งนี้ รอปีหน้า รอเรียนพายัพ ใครจะรู้ ระหว่างนั้นเกิดอะไร”

คำพูดนี้ อุรุดาไม่หมายถึงพี่หนึ่ง รุ่นพี่ที่เธอแอบชอบ แต่เธอหมายถึง ‘รักแรก’ ซึ่งไม่มีลมหายใจอยู่บนโลกนี้แล้ว เธอตามจีบพี่หนึ่ง เพราะเขาคล้ายคลึงกับรักแรกของเธอ อาจอนุมานได้ว่า แท้จริงแล้ว อุรุดาไม่ได้ชอบพี่หนึ่ง แต่เธอชอบผู้เป็นรักแรก ‘หนึ่งเดียว’ ของเธอต่างหาก

หากรักใครก็อย่ามัวแต่รอ เหมือนกาลครั้งหนึ่งของอุรุดา เพราะต่อให้เสียใจก็ยังดีกว่าต้องเสียดายไปตลอดชีวิต

บทที่ 5 บ้านแบบบาวา

“เขาอาจไม่เก่งเท่าเจฟฟรี่ บาวา แต่มีสิ่งหนึ่งที่ฉันแน่ใจ ต้อมเป็นสถาปนิกอย่างแท้จริง เป็นสถาปนิกที่เราสามารถวางใจและวางงบประมาณไว้ในมือเขา ด้วยความรู้สึกเชื่อมั่นว่ามันจะคุ้มค่า

นั่นล่ะ ต้อมที่ฉันรู้จัก อยู่ด้วยกันมาหลายปี ฉันรู้จักเขาเท่านี้…

ในบทนี้อุรุดาเล่าถึงความสัมพันธ์ของเธอและอดีตสามี ทั้งคู่ชื่นชอบเจฟฟรี่ บาวา นั่นคือจุดเริ่มต้นของเรื่องราวในบทนี้ พวกเขาเคยคิดว่าเป็นคนที่ใช่ของกันและกัน เคยคิดว่ามีความฝันเหมือนกัน เพราะบ้านที่บาวาเป็นผู้ออกแบบคือบ้านในฝันของพวกเขา

“น่าเสียดายที่คำว่า เรา ปลิวหายไป ก่อนบาวาตายไม่กี่ปี ฉันจึงเลิกฝันถึงบ้านหลังนั้น”

แต่เมื่อแต่งงานและใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันจริงๆ อุรุดาจึงได้รู้ว่าเธอคิดผิด เธอไม่ได้รักตัวตนของต้อม แต่รักในสิ่งที่ต้อมโปรดปรานเฉกเช่นเดียวกับเธอ เธอหลงรักเจฟฟรี่ บาวาที่เป็นส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ตัวตนทั้งหมดของเขา

ทั้งคู่ด่วนตัดสินใจแต่งงานกัน โดยไม่ได้ไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนว่า ความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้นคือ ‘ความรัก’ จริงๆ หรือเปล่า?

แต่คำกล่าวข้างต้นซึ่งอยู่ในตอนท้ายของบทนี้ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ความรู้สึกระหว่างอุรุดาและต้อมไม่ใช่ความรักอย่างที่เธอเคยคิด เพราะไม่มีคนที่รักกันคนใดหรอกที่รู้จักอีกฝ่ายเพียงผิวเผินเช่นนั้น

ความใกล้ชิดในฐานะสามีภรรยา มิได้ทำให้เธอกับเขารู้จักกันมากขึ้นเลย พวกเขาเป็นเพียงคน (เคย) แปลกหน้าที่บังเอิญชอบ ‘เจฟฟรี่ บาวา’ เหมือนกันก็เท่านั้น

เรื่องราวทั้ง 5 บทถูกถ่ายทอดอีกครั้งหนึ่งผ่านมุมมองของฉัน อุรุดาอาจไม่ได้คิดเห็นเช่นเดียวกัน คุณจึงควรเปิดอ่านหนังสือเล่มนี้เพื่อหาคำตอบที่แท้จริงด้วยตัวคุณเอง ว่า ‘ผู้ชายในฝัน’ ของอุรุดาเป็นเช่นไร

และฉันก็ไม่กล้าบอกหรอกว่า เรื่องราวของผู้ชายในหน้ากระดาษเหล่านั้นเป็นเรื่องจริง เพราะอุรุดาเคยกล่าวไว้ “แกเป็นนักเขียน ต้องเข้าใจความแตกต่างระหว่างความจริงในเรื่องแต่งกับการแต่งเรื่องบนความจริง” ในฐานะนักอ่าน ฉันไม่รู้ว่าเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้เป็นความจริงหรือไม่

แต่ใครจะสนกันล่ะว่า ‘ผู้ชายในฝัน’ นั้นมีตัวตนจริงหรือเปล่า

เพราะพวกเขาเป็น ‘ส่วนหนึ่งส่วนใด’ ของฉันต่างหากที่สำคัญ

Fact Box

ผู้ชายในฝัน เขียนโดย ‘อุรุดา โควินท์’ สมาชิกทีมคอลัมนิสต์ขบวนแรกของสำนักพิมพ์ไรท์เตอร์ และภาพประกอบเรื่องวาดโดย ‘ตะวัน วัตุยา’ หนึ่งใน ผู้ชายในฝัน ของอุรุดา ซึ่งเรื่องราวของเขาปรากฏอยู่ในบท เมื่อไรจะเห็นตะวัน ของหนังสือเล่มนี้

Tags: , ,