“มึงจะไปทำเหี้ยอะไรอินเดีย”

ประโยคที่เหล่าเพื่อนพ้องของ ‘อินทรชัย พาณิชกุล’ ตั้งคำถามถึงการลาออกจากงานประจำที่สุดแสนจะมั่นคงและกำลังไปได้สวยในตำแหน่งผู้ช่วยบรรณาธิการข่าวออนไลน์ อ่านดูผิวเผิน ชีวิตของเขากำลังอยู่ในช่วง ‘ขาขึ้น’ บวกกับช่วงวัย 30 ต้น ควรจะเป็นช่วงเวลาของการสร้างเนื้อสร้างตัว เพื่อวางรากฐานความมั่นคงของชีวิต จึงทำให้ฟังดูน่าเสียดาย หากคิดจะออกจากงานประจำ เพียงเพื่อไปเรียนภาษาที่ต่างประเทศ 

เพราะในชีวิตของทุกคนล้วนมี ‘ปม’ ที่ต้องการเอาชนะ ปมที่ต้องใช้ความพยายามอย่างหนักเพื่อคลี่คลาย และสำหรับอินทรชัย ปมที่ว่าคือทักษะด้าน ‘ภาษาอังกฤษ’ ของตนเอง ซึ่งเขาอธิบายว่าเข้าขั้น ‘ง่อย’ ทั้งที่อาชีพนักข่าวจำเป็นต้องฟัง พูด อ่าน เขียน อยู่ตลอดเวลา ภาษาอังกฤษจึงมีความจำเป็นอย่างมากในสายงานนี้

แต่การเรียนภาษาอังกฤษอาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกคน โดยเฉพาะกับประเทศไทยที่ อินทรชัยเขียนในหนังสือว่า ผู้คนเข้มงวดต่อการ ‘จับผิด’ การใช้ภาษามากกว่าเจ้าของภาษาเสียอีก แกรมมาต้องเป๊ะ สำเนียงต้องได้ พูดติดๆ ขัดๆ ก็โดนติโดนว่า เขาจึงตัดสินใจอย่างเด็ดขาดว่าต้องไปเรียนภาษาในต่างประเทศ เพื่อเอาตัวเองไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่บีบบังคับให้ต้องใช้ภาษาอังกฤษ เพื่อหวังว่าจะช่วยทลายปมปัญหาทางด้านภาษาอังกฤษของตัวเขาเอง 

แน่นอนว่าการไปเรียนภาษาต่อที่ต่างประเทศอาจไม่ได้ฟังดูแปลกอะไร หาแต่จุดหมายปลายทางของอินทรชัยคือ ‘อินเดีย’ ดินแดนที่เลื่องชื่อระบือนาม ทั้งในด้านดี ด้านลบ และอบอวลไปด้วยกลิ่นของเครื่องแกง และเมืองที่เขาเลือกคือ ‘ปูเน่’ (Pune) เมืองที่มีอีกหนึ่งฉายาว่าเป็น ‘ออกซฟอร์ดแห่งตะวันออก’ เพราะอุดมไปด้วยสถาบันการศึกษาที่เปี่ยมด้วยคุณภาพ เขาลงเรียน Diploma Program ของสถาบันสอนภาษา ELTIS (English Language Teaching Institute of Symbiosis) ในมหาวิทยาลัยซิมไบโอซิส (Symbiosis) สถาบันที่มาตรฐานการศึกษาไม่ด้อยไปกว่ามหาลัยชื่อดังอื่นๆ แม้แต่น้อย

แม้พอจะเข้าใจแรงขับเคลื่อนที่เขาตัดสินใจไปเรียนภาษาต่อที่ต่างประเทศ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ‘ทำไมต้องเป็นอินเดีย’ ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องเล่ห์เหลี่ยมของผู้คน บ้านเมืองที่สกปรกและเต็มไปด้วยฝุ่นควัน ความวุ่นวายของความหลากหลายทางวัฒนธรรม หากไปถามใครที่เคยไปอินเดียมาแล้ว คำตอบที่ได้อาจมีตั้งแต่เกลียดเข้าไส้ไปยันประทับใจสุดขั้ว 

“ลูกพี่ของผมชื่อสุชานต์” 

อินทรชัยบอกในหนังสืออยู่เสมอว่า ก่อนที่จะ ‘ด่าอินเดีย’ ให้พยายามทำความเข้าใจคนอินเดียเสียก่อน ภายใต้ความดิบเถื่อนที่ดูไม่เป็นมิตรกับคนต่างถิ่นนั้น หากปรับตัวให้เข้ากับความมหัศจรรย์ของอินเดียได้เมื่อไร ก็จะเข้าใจว่าทำไมหนังสือเล่มนี้ถึงชื่อว่า อย่าด่าอินเดีย

อย่าด่าอินเดีย บรรจุไปด้วยประสบการณ์ที่น่าประทับใจมากมาย หนึ่งในนั้นคือเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างเขากับเทรนเนอร์ฟิตเนสที่ชื่อ ‘สุชานต์’ หนุ่มกล้ามโตหนวดงาม ที่อินทรชัยเขียนบรรยายไว้ว่า ร่างกายของเขาแข็งแรงกำยำ และอุดมไปด้วยกล้ามเนื้อ ราวกับดาราบอลลีวูด และผู้เขียนได้บรรยายความรู้สึกแรกที่ได้เจอกับ ‘สุชานต์’ ไว้ว่า “เห็นหน้าเขาแล้วนึกถึง เฟรดดี เมอร์คิวรี นักร้องนำวงควีน”

อินทรชัยเขียนไว้ว่า อีกหนึ่งเป้าหมายของเขาคือการมีรูปร่างที่ดีและสุขภาพที่แข็งแรง ประจวบเหมาะกับการได้เจอยิมฟิตเนสใกล้เคียงกับที่พักในราคาที่ย่อมเยาเพียงแค่ 9,500 รูปีต่อปี (4,750 บาท) และค่าเทรนเนอร์อีก 5,000 รูปีต่อเดือน (2,500 บาท) โดยไม่จำกัดชั่วโมง ก็เพียงพอที่จะทำให้เขาตัดสินใจสมัครสมาชิกทันที และเป็นสุชานต์ผู้นี้เองที่เป็นสถาปนิกที่คอยเขียนแบบสร้างร่างกายที่แข็งแรงให้กับเขาจนถึงทุกวันนี้

“สุชานต์เป็นคนอินเดียที่ผมสนิทด้วยมากที่สุด และผมนับถือเขาเหมือนกับพี่ชาย”

อินทรชัยเล่าถึงความแน่นแฟ้นระหว่างความสัมพันธ์ของเขาและเทรนเนอร์หนวดงามที่มีความผูกพันกันมาก นอกจากคำแนะนำในการออกกำลังกายและการเลือกอาหารการกิน เขายังเป็นเหมือนพี่ใหญ่ที่คอยช่วยเหลืออินทรชัยในยามลำบาก ตั้งแต่รถเสีย น้ำไม่ไหล ไฟดับ ยันกุญแจรถหาย ก็เป็นพ่อหนวดกล้ามโตคนนี้เองที่คอยช่วยเหลือไว้ 

ด้วยความที่เป็นเทรนเนอร์ฟิตเนส สุชานต์จึงไม่ดิ่มเหล้าและสูบบุหรี่ แต่เขากลับเป็นนักเต้นเท้าไฟที่ส่งสายตาเจ้าชู้ให้กับสาวๆ ในผับอยู่เสมอ หากอินทรชัยมีโอกาสได้เดินทางไปปูเน่ ก็อยากที่จะไปพบเจอกับพี่ชายของเขาอีกครั้ง

มิตรภาพต่างแดน ผู้เติมเต็มรสชาติชีวิตในต่างแดน

การอาศัยอยู่ต่างประเทศโดยไร้ญาติสนิทมิตรสหายเป็นเรื่องที่ยากลำบาก ชีวิตในอินเดียของอินทรชัยใน อย่าด่าอินเดีย จึงมีการพูดถึงเหล่าเพื่อนพ้องของเขาอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นประธานสมาคมนักศึกษาไทยในอินเดียอย่างหลวงพี่พิชัย, คัง จุนกุก สหายสายดื่มจากแดนเกาหลี, ทินเลย์ หัวหน้าไกด์นำเที่ยวผู้อบอุ่น และอีกหลายคน

นอกเหนือจากบรรยากาศความเป็นอินเดียภายในหนังสือ บุคคลรอบตัวของอินทรชัยเหล่านี้เองที่ถูกพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง จนทำให้อดคิดไม่ได้ว่า หากได้พบเจอบุคคลเหล่านี้ในชีวิตจริงสักครั้ง พวกเขาจะเป็นคนที่สนุกสนานเหมือนในหนังสือไหม 

สิ่งที่อนุญาตให้ด่าอินเดียได้คือ ‘การจราจร’

ใช่ว่าอินทรชัยจะหลงใหลทุกอย่างที่เป็นอินเดีย เพราะสิ่งที่สร้างความอึดอัดใจให้กับเขานับตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้ายในอินเดียคือ ‘การขับขี่บนท้องถนน’ เขาตัดสินใจซื้อมอเตอร์ไซค์มาใช้เป็นยานพาหนะขณะที่อาศัยอยู่ที่ปูเน่ อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาได้รับประสบการณ์ที่น่าสะเทือนขวัญ ที่กระทั่งอ่านผ่านตัวหนังสือก็ยังสัมผัสได้ถึงความอันตรายบนท้องถนนของอินเดีย 

เมืองปูเน่เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยมอเตอร์ไซค์บนถนน และทุกคนมาพร้อมกับความเอาแต่ใจ อยากจะเบรกเมื่อไรก็เบรก กลับรถตรงไหนก็ทำ ทั้งเบียด แทรก แซง ย้อนศร และปาดกันไปปาดกันมา ทำให้การขับขี่ในปูเน่เรียกร้องการมีสติและสมาธิตลอดเวลา แต่ครั้นจะให้มีสมาธิกับการขับขี่ก็ยังเป็นเรื่องยาก เพราะการบีบแตรในวัฒนธรรมของอินเดียถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา ทำให้นอกจากจะต้องมีสมาธิกับการดูรถบนท้องถนนแล้ว หูก็ยังคงต้องแยกประสาทว่าเสียงแตรที่ดังขึ้นมานั้นมาจากรถคันไหนกันแน่

แต่ภายใต้ความโกลาหลบนท้องถนนก็ยังคงมีความ ‘เซอร์เรียล’ ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวอินเดียอยู่คือ การที่มี วัว ควาย ม้า แพะ แกะ เดินเพ่นผ่านอยู่ตามถนนสายรองอยู่เสมอ และทำให้ชาวอินเดียที่ขับรถกันอย่างเอาแต่ใจ ต้องกลายเป็นคนที่ใจเย็นลงเวลาต้องรอคนเลี้ยงจูงสัตว์เหล่านี้ข้ามถนน จะไม่มีการขับรถผ่านไปขณะที่วัวกำลังข้ามถนนเด็ดขาด เพราะที่นี่วัวถือว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งดูเหมือนว่าจะศักดิ์สิทธิ์กว่ากฎจราจรเสียอีก

ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่ไม่ได้ถูกบอกเล่าผ่านบทความชิ้นนี้ ทั้งการไปเที่ยวทะเลคนเดียวที่ ‘กัว’ ไจปูร์สีชมพูของอินทรชัย เหตุการณ์ปะทะระหว่างม็อบชาวพุทธและชาวฮินดู หรือเหตุการณ์เมาแล้วขับ ที่เกือบทำให้หนังสือเล่มนี้เป็นเพียงความฝัน

จากการอ่านประสบการณ์ผ่านตัวหนังสือใน อย่าด่าอินเดีย ทำให้รับรู้ว่าตลอด 1 ปีของการอาศัยอยู่ในเมืองปูเน่ เป็นรสชาติที่ ‘ครบ’ ทั้งความสนุก ความลำบาก ความเศร้า และทำให้เรื่องราวในอินเดียของผู้เขียนมีความกลมกล่อมมากขึ้นและน่าจดจำ ดังประโยคปิดท้ายของหนังสือที่บอกว่า 

“หากผ่านอินเดียมาได้ ชีวิตก็ไม่มีอะไรที่ต้องน่าหวาดหวั่นอีกแล้ว” 

เชื่อเหลือเกินว่า บันทึกเรื่องราวใน อย่าด่าอินเดีย เล่มนี้ จะช่วยจุดประกายให้หลายคนอยากจะไปสัมผัสประสบการณ์อินเดียในฉบับของตัวเอง มากกว่าสิ่งที่ผู้อื่นเล่าอย่างแน่นอน 

รวมถึงตัวผมเองด้วย

Fact Box

อย่าด่าอินเดีย, ผู้เขียน อินทรชัย พาณิชกุล, บรรณาธิการ วรพจน์ พันธุ์พงศ์, ออกแบบปก พงศ์ศิริ ลินิฐฎา, สำนักพิมพ์ แมวจร จำนวนหน้า 240 หน้า, ราคา 300 บาท

Tags: , , ,