“ทำไมครอบครัวของฉันไม่เหมือนครอบครัวของเพื่อน บ้านเพื่อนมีคุณพ่อคุณแม่ ขณะที่บ้านเรามีแค่คุณแม่กับฉัน บ้านเพื่อนเลี้ยงแมวแต่บ้านเราห้ามเลี้ยงสัตว์ ทุกสุดสัปดาห์ครอบครัวของเพื่อนไปเที่ยวภูเขา ทะเล น้ำตก สำหรับครอบครัวของเราคือการจัดโฮมปาร์ตี้ เราชวนคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยายมาทุกสุดสัปดาห์ รวมทั้งคุณพ่อและแฟนใหม่ของคุณพ่อ คุณแม่บอกว่าถึงจะแยกทางกันแต่พวกเขายังคงรักฉันเสมอ”

ครอบครัวต้องประกอบด้วยพ่อแม่ลูกถึงเรียกว่าครอบครัวใช่หรือไม่ ถ้าครอบครัวเราไม่ใช่แบบนั้น นั่นคือเรื่องผิดปกติหรือเปล่า แท้จริงแล้วความหมายของคำว่าครอบครัวคืออะไร?

แด่ทุกครอบครัว (Alles Familie!) คือหนังสือประกอบภาพประเภทสารคดีสำหรับเด็ก ที่จูงมือนักอ่านตัวน้อยทำความรู้จักความหลากหลายของสถาบันครอบครัว นำเสนอผ่านโครงสร้างครอบครัวในรูปแบบต่างๆ ทั้งครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวสีรุ้ง ครอบครัวปะติดปะต่อ 

หนังสือเล่มนี้ถือเป็นสื่อที่เหมาะสำหรับทุกครอบครัว ทั้งครอบครัวตามต้นแบบหรือครอบครัวตามแบบฉบับของตัวเอง ด้วยลีลาการใช้ภาษาบอกเล่าเรื่องซับซ้อนให้กลายเป็นเรื่องง่ายๆ จากนักเขียน อเล็กซานดรา มักซ์ไอเนอร์ พร้อมภาพประกอบสุดน่ารักจากฝีมือ อังเคอ คูห์ล และได้รับรางวัลหนังสือสำหรับเยาวชนดีเด่นจากประเทศเยอรมนี ขณะนี้ได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษาไทยจากสำนักพิมพ์แซนด์คล็อคบุ๊คส์ (SandClock Books) แปลโดย โสภาพร ควร์ซ คุณแม่ลูกสองและเจ้าของแฟนเพจเฟซบุ๊กเรื่องเล่าจากหย่งศรี

ปัจจุบันครอบครัวต้นแบบของพ่อแม่ลูกขยับขยายเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวมีจำนวนมากขึ้น รวมถึงครอบครัวข้ามรุ่น (ปู่ย่าตายายเลี้ยงหลาน) ครอบครัวสีรุ้ง หรือบางครอบครัวที่อยู่ด้วยกันซึ่งจะมีหรือไม่มีลูกก็ได้ เหล่านี้ก็นับเป็นครอบครัว

คำว่า ครอบครัว จึงมีความหมายมากกว่าการนับจำนวนสมาชิกตามสูตรสำเร็จ แต่คือการถ่ายทอดความรู้สึกผ่านภาษาลับๆ พฤติกรรมแปลกๆ รวมถึงวัฒนธรรมภายในบ้าน ซึ่งมีเพียงแค่สมาชิกภายในครอบครัวเท่านั้นที่รู้จักความหมายของมัน

1

ครอบครัวต้องประกอบด้วยพ่อแม่ลูกเท่านั้น ‘อื่นๆ’ หมายถึง บ้านแตกสาแหรกขาด เหล่านี้เป็นความเชื่อผิดๆ และล้าหลัง นอกจากนี้ยังไม่มีงานวิจัยใดบ่งชี้ว่า ต้องเป็นครอบครัวตามแบบพ่อแม่ลูกเท่านั้นที่เลี้ยงลูกออกมาดี

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่บางครอบครัวเป็นครอบครัวข้ามรุ่น มีปู่ย่าตายายเป็นคนเลี้ยงหลาน ขณะที่พ่อแม่ออกไปทำงานนอกบ้าน ไม่ใช่เรื่องแปลกที่บางครอบครัวมีแม่ 2 คนหรือพ่อ 2 คน ไม่ใช่เรื่องแปลกที่บางครอบครัวเป็นครอบครัวพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว และไม่ใช่เรื่องแปลกที่บางครอบครัวเป็นครอบครัวอุปถัมภ์

สถาบันครอบครัวคือความหลากหลายแรกที่เด็กๆ ต้องเผชิญ แด่ทุกครอบครัวสอนให้เด็กๆ รวมถึงผู้ใหญ่ หลีกเลี่ยงการมองโลกแบบเหมารวม มองโลกแค่สีขาวหรือดำ ส่งเสริมให้เกิดการหลุดจากกรอบแนวคิดตามขนบเดิม ฉีกทุกบรรทัดฐานทางสังคมที่เคยมัดรวมทุกอย่างให้กลายเป็นเส้นตรง หรือนิยามที่บ่งบอกอะไรคือความถูกต้อง ความเรียบร้อย ความปกติ

ทั้งยังเปิดมุมมองให้เด็กๆ รู้จักมองความสัมพันธ์ผ่านสายตาคนนอก ซึ่งเราอาจจะไม่เข้าใจในทุกรูปแบบสายสัมพันธ์ บางครั้งมันอาจจะผิดแปลกไปจากการรับรู้ของเรา หนังสือเล่มนี้จึงเสนอความปกติให้ทุกเส้นสายใยสัมพันธ์เหล่านั้น เพื่อส่งต่อกรอบความคิดและสร้างทัศนคติที่ดีให้เด็กๆ เรียนรู้ว่า เราสามารถพบเจอความหลากหลายได้ไม่ไกลตัว

หลักฐานทางวิชาการระบุว่า ช่วงวัย 0-5 ปี คือช่วงอายุสำคัญที่สุด เป็นโอกาสทองของการพัฒนาทักษะ เพราะสมองกำลังเจริญเติบโตเต็มที่ พร้อมเรียนรู้สิ่งต่างๆ ทั้งด้านการมองเห็น การเคลื่อนไหว การควบคุมอารมณ์ และทักษะด้านภาษา ดังนั้นแด่ทุกครอบครัวจึงเหมาะสำหรับเด็ก 4 ขวบขึ้นไป ซึ่งเป็นช่วงวัยที่กำลังเตรียมตัวเข้าสู่รั้วโรงเรียน เริ่มเจอสังคมใหม่ๆ เด็กวัยนี้จะเริ่มรู้จักตั้งคำถามต่อสิ่งแปลกใหม่ เป็นช่วงเวลาเหมาะสำหรับบ่มเพาะพัฒนาการทางสังคม อารมณ์ และความคิด

ขณเดียวกันผู้ปกครองสามารถส่งเสริมพัฒนาการด้วยการพาตั้งคำถามและหาคำตอบเพื่อเปิดโลกทางความคิด ชวนทำความรู้จักความหลากหลายที่รายล้อมอยู่ในชีวิตประจำวัน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมทักษะทางสังคม พร้อมเป็นรากฐานสำคัญต่อการเรียนรู้และการเติบโตในอนาคต

2

สิ่งประกอบสร้างแต่ละอย่างทำให้แต่ละบ้านมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่ใช่เด็กทุกคนที่เรียกพ่อแม่ว่า แม่ หม่าม้า หม่ามี้ พ่อ ปาป๊า หรือปาปี๊ บางครอบครัวให้ลูกเรียกพ่อแม่ด้วยคำสรรพนามเธอและฉัน พ่อแม่บางครอบครัวก็ไม่ได้เรียกลูกด้วยชื่อเล่น แต่มีชื่อเรียกที่ตั้งไว้สำหรับเรียกลูกภายในครอบครัวโดยเฉพาะ เบบี๋ ลูกหมาน้อยของแม่ สุดหล่อของพ่อ คุณนายน้อย หมูอ้วน ชื่อเล่นพิเศษมีไว้ใช้เรียกสำหรับคนที่รักมากๆ จึงตั้งอีกชื่อไว้เรียกด้วยความรักความเอ็นดู มีแค่สมาชิกภายในครอบครัวเท่านั้นที่เข้าใจว่า ชื่อเรียกเหล่านี้เรียกแทนใคร 

นอกจากชื่อเรียกยังมีภาษาลับๆ ที่มีเฉพาะคนในครอบครัวเท่านั้นที่เข้าใจ จากตัวอย่างในหนังสือยกบทสนทนาระหว่างพ่อกับลูกที่สื่อสารเข้าใจกันอยู่ 2 คน ขณะที่คนภายนอกงงงวยว่า ทั้งสองพูดถึงเรื่องอะไร

รวมไปถึงวัฒนธรรมภายในบ้านหล่อหลอมให้แต่ละคนมีสามัญสำนึก (Common Sense) แตกต่างกัน จากกรณีนี้สามารถเห็นชัดเจนขึ้นเมื่อเด็กๆ เติบโตจนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เด็กบางคนมีปัญหากับเพื่อนร่วมห้องจนมิตรภาพแตกหัก เพราะมีความเข้าใจต่างกัน ได้รับการถ่ายทอดเรื่องพื้นฐานมาคนละแบบ เช่น เด็กบางคนไม่เข้าใจว่า ทำไมเพื่อนร่วมห้องถึงมีกฎห้ามผายลมภายในห้อง เพราะภายในครอบครัวของเขามองการผายลมและการเรอเป็นเรื่องธรรมชาติ หรือบางครอบครัวห้ามพูดคุยขณะรับประทานอาหาร ขณะที่บางครอบครัวแบ่งปันเรื่องราวชีวิตประจำวันบนโต๊ะอาหาร

ในทางกลับกันทุกครอบครัวย่อมมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง หรือเผลอพูดอะไรออกไปโดยไม่ตั้งใจ ทั้งหมดคือเรื่องปกติ สิ่งสำคัญคือ ต้องรู้จักเผชิญหน้าพูดคุยเพื่อปรับความเข้าใจให้ตรงกัน แด่ทุกครอบครัวนำเสนอให้เด็กๆ และผู้ใหญ่รู้จักพูดขอโทษและกลับมาคืนดีกัน ขณะเดียวกันก็พยายามหาเหตุผลบางประการเพื่ออธิบายให้เด็กๆ เข้าใจว่า บางครอบครัวก็ไม่สามารถกลับมาคืนดีกันได้ บางคนไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับคนในครอบครัวอาจเป็นเรื่องแบ่งมรดกไม่เท่ากัน หรือพวกเขาอาจจะไม่มีอะไรให้พูดคุยกันอีกต่อไป

แด่ทุกครอบครัวพยายามนำเสนอความหลากหลายของครอบครัวแต่ละบ้าน ที่บางครั้งก็ยุ่งเหยิง โกรธ จนไม่พูดไม่จา บางครั้งอาจมีทะเลาะเบาะแว้งกันบ้าง บางเวลาก็กลับมาหัวเราะและสังสรรค์กันต่อไป ขณะเดียวกันก็เน้นย้ำว่า ถึงแม้จะทะเลาะกันหนักหนาแค่ไหน แต่พ่อแม่ไม่มีสิทธิตวาด ตะคอก และทำร้ายร่างกายลูก 

ท้ายที่สุดหนังสือก็ไม่มีบทสรุปให้ชัดเจนว่า ‘ครอบครัวคืออะไร’ เพราะในหน้าสุดท้ายคือ หน้าที่ของเด็กๆ แต่งแต้มเติมนิยามครอบครัวตามเอกลักษณ์ของเฉพาะตัว ครอบครัวของเราประกอบด้วยใครบ้าง แต่ละคนมีหน้าตาเป็นอย่างไร คำพิเศษของครอบครัวที่มีแต่เราเท่านั้นที่เข้าใจมีคำว่าอะไรบ้าง สิ่งที่เราชอบทำด้วยกันคืออะไร สิ่งที่เราเหมือนกัน สิ่งที่เราต่างกัน และเรื่องไหนที่สมกับเป็นบ้านของเรา 

แด่ทุกครอบครัวจึงเป็นหนังสือภาพสำหรับเด็ก ที่อุทิศแด่ทุกครอบครัวไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเชื้อชาติหรือเพศอะไร ทุกคนสามารถร่วมสร้างความเข้าใจเรื่องความหลากหลายซึ่งสะท้อนผ่านสถาบันหลักในรูปแบบครอบครัวประเภทต่างๆ ปลูกฝังให้รู้จักความหลากหลายตั้งแต่เด็กๆ เพื่อเป็นรากฐานอันทรงพลังสำหรับใช้ชีวิต อยู่ภายในสังคมที่อุดมด้วยความแตกต่างต่อไป 

Fact Box

แด่ทุกครอบครัว (Alles Familie!) แปลจากภาษาเยอรมัน, อเล็กซานดรา มักซ์ไอเนอร์ เขียน, โสภาพร ควร์ซ แปล, จำนวน 40 หน้า (ปกแข็ง), สำนักพิมพ์ SandClock, ราคา 290 บาท

Tags: , , , ,