เวลาประมาณบ่ายโมงของวันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม ปี 1983 เบนิกโน อากีโน จูเนียร์ หรือ ‘นินอย’ อดีตวุฒิสมาชิกชาวฟิลิปปินส์ ผู้นำในการต่อต้าน เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ในขณะนั้น ได้เดินทางกลับจากพักรักษาตัวในสหรัฐอเมริกา ด้วยความตั้งใจที่จะกลับมาต่อสู้เคียงข้างประชาชนที่อยู่ภายใต้การปกครองของผู้นำเผด็จการมาหลายปี ทั้งที่เขามีทางเลือกที่จะหลบภัยทางการเมืองที่นั่นต่อไปได้ แลกกับการไม่กลับมาเหยียบแผ่นดินเกิดของตัวเอง

แต่เพียงไม่กี่นาทีหลังจากเครื่องบินของเขาลงจอดที่สนามบินในมะนิลา เสียงปืนดังขึ้น! ร่างของนินอยล้มลง ก่อนที่การต่อสู้ของเขาจะมีโอกาสเริ่มต้น- –

นี่คือหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองที่เกิดขึ้นในฟิลิปปินส์เมื่อกว่าสามทศวรรษก่อนนี้ และเป็นเรื่องราวหนึ่งในอีกหลายๆ เรื่องที่ ลอรีนา มาปา (Lorina Mapa) ศิลปินและนักเขียนการ์ตูนจากแคนาดา ผู้เกิดและโตในฟิลิปปินส์ช่วงเวลานั้น ได้เล่าไว้ในหนังสือแนว graphic memoir เรื่อง Duran Duran, Imelda Marcos, and Me

ลอรีนาบอกว่า สำหรับเธอแล้ว หนังสือเรื่องนี้ไม่ได้เป็นแค่เพียงผลงานอีกชิ้นหนึ่งที่เล่าเรื่องย้อนยุคช่วงทศวรรษ 80s เท่านั้น แต่เป็นเครื่องมือในการช่วยเยียวยาจิตใจให้ก้าวข้ามความโศกเศร้าจากการที่พ่อของเธอเสียชีวิตโดยอุบัติเหตุอย่างกะทันหัน เมื่อปี 2005 และเป็นสื่อที่เธอใช้ถ่ายทอดสารที่อยากส่งถึงทุกคนว่า อย่าเหมารวมหรือตัดสินใครจากสิ่งที่เห็นเพียงผิวเผิน

เช่นเดียวกับที่ถ้ามองเธอจากภาพลักษณ์ภายนอก ก็คงไม่มีใครคิดว่า คุณแม่ลูกสี่ วัยสี่สิบกลางๆ ที่ตัดผมบ๊อบสั้น ท่าทางสุภาพ และแต่งตัวเรียบร้อยอย่างเธอ จะเป็นคนที่สามารถคุยเรื่องซูเปอร์ฮีโรต่างๆ ได้เป็นชั่วโมง และวาดรูปคาแร็กเตอร์เหล่านั้นได้โดยที่ไม่ต้องดูต้นแบบแม้แต่น้อย

การ์ตูนเริ่มเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคุณตั้งแต่เมื่อไร

ฉันโตมากับการอ่านการ์ตูนตั้งแต่เด็ก แม่เองก็สนับสนุนเรื่องนี้เพราะเป็นคนซื้อหนังสือมาให้ตลอด อย่างเช่นเรื่อง The Adventures of Tintin หรือ Mad Magazine ที่ชอบมากก็คือพวกการ์ตูนซูเปอร์ฮีโรทั้งหลาย โดยเฉพาะซูเปอร์แมนกับแบทแมน

ความชอบการ์ตูนอาจจะอยู่ในสายเลือดของครอบครัวเราด้วย เพราะลุงของฉันก็เป็นนักเขียนการ์ตูนที่มีชื่อเสียงในฟิลิปปินส์ ก่อนจะย้ายไปอยู่ฮาวายและวาดการ์ตูนลงใน Honolulu Star-Bulletin ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ขนาดใหญ่ของที่นั่น ถ้าเข้าใจไม่ผิด ลุงน่าจะเป็นคนเอเชียคนแรกที่ได้เขียนการ์ตูนล้อการเมืองลงในหนังสือพิมพ์อเมริกัน

นอกจากการ์ตูนแล้ว มีอะไรอีกที่คุณชอบตอนเป็นเด็ก

ชอบกีฬามาก (เน้นเสียง) ฉันชอบเล่นกีฬาเหมือนเด็กผู้ชายเลย ชอบเตะฟุตบอลแล้วก็เล่นบาสเก็ตบอล เรียกว่าสมัยนั้นเป็นทอมบอยเลยล่ะ แล้วก็ไม่ชอบใส่กระโปรงด้วย ถ้าเลือกได้ก็จะขอใส่กางเกงยีนส์กับรองเท้าผ้าใบมากกว่า

ครั้งหนึ่งมีงานแต่งงานญาติแล้วแม่บังคับให้ใส่ชุดเดรส ไอ้เราก็รวนมากจนทำหน้าบึ้งหน้าบูดตลอดงาน หน้าบึ้งถึงขนาดที่พอโตเป็นผู้ใหญ่แล้วย้อนกลับไปดูรูปในงานนั้นแล้วก็รู้สึกผิดต่อเจ้าบ่าวเจ้าสาวเลยล่ะที่เราทำรูปเขาเสียหมด เพราะในขณะที่ทุกคนในรูปยิ้ม ก็จะมีแต่เราที่หน้าตาไม่รับแขกอยู่คนเดียวทุกรูป

แต่ทั้งที่ลูกสาวเป็นทอมบอยขนาดนั้น พ่อก็ยังเรียกคุณว่า ‘Princess’

ใช่ ตลกไหม (ยิ้ม) Princess เป็นชื่อเล่นที่พ่อเรียกมาตั้งแต่ฉันยังเป็นทารกจนกระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ตาม

ตอนที่อายุ 6 ขวบ น้องสาวคนแรกคลอดแล้วพ่อก็เรียกน้องว่า Princess พอได้ยินอย่างนั้นก็เลยถามพ่อทันทีว่า “อ้าว หนูนึกว่าหนูเป็นเจ้าหญิงของพ่อคนเดียวเสียอีก” พ่อเลยตอบกลับมาว่า “ลูกคือ ‘Original Princess’ ของพ่อ แล้วคำว่า ‘original’ ก็หมายความว่าเป็นทั้ง the first และ the best” พอได้ยินพ่อบอกมาอย่างนั้นก็เลยไม่งอแงเรื่องนี้อีก หลังจากนั้นเป็นต้นมาเวลาเขียนการ์ดหรือเขียนจดหมายถึงพ่อ ฉันก็จะลงชื่อว่า O.P. ซึ่งย่อมาจาก Original Princess

เดิมทีฉันตั้งใจจะใช้ชื่อ Original Princess เป็นชื่อหนังสือ ทางสำนักพิมพ์เองก็ชอบไอเดีย แต่ก็รู้สึกว่าถ้าใช้ชื่อนั้นอาจจะทำให้คนอ่านเข้าใจผิดว่า หนังสือเล่มนี้น่าจะเป็นเรื่องที่ผู้หญิงมากๆ ซึ่งห่างไกลจากเรื่องของทอมบอยที่ชอบอ่านการ์ตูนและเตะฟุตบอล ก็เลยเปลี่ยนชื่อใหม่และสรุปออกมาเป็น Duran Duran, Imelda Marcos, and Me

ทำไมคุณถึงเลือกชื่อนี้

ที่ตั้งชื่อแบบนี้เพราะอยากได้ชื่อที่คนเห็นแล้วรู้ว่าตัวหนังสือจะพูดเรื่องอะไรในช่วงไหน เนื่องจากเนื้อหาส่วนใหญ่จะเป็นการแคปเจอร์โมเมนต์สำคัญหลายอย่างที่เกิดขึ้นในฟิลิปปินส์ช่วงปี 1980s ร้อยเรียงไปกับบันทึกความทรงจำส่วนตัว ทศวรรษนั้นเป็นช่วงเดียวกับที่เริ่มมี MTV ซึ่งเป็นผู้นำกระแสป็อปคัลเจอร์ การมาของ MTV ทำให้ฉันได้ฟังเพลงเยอะขึ้น และได้รู้จักกับวงจากอังกฤษวงหนึ่งที่กรี๊ดมากตอนนั้นคือ Duran Duran กรี๊ดแบบคลั่งไคล้เลยนะ ฟังเพลงวงนี้ทั้งวันทั้งคืน แล้วก็มองว่าแต่ละคนในวงหล่อมาก เซ็กซี่มาก ซึ่งถ้าเทียบความดังก็น่าจะเหมือนที่วัยรุ่นเดี๋ยวนี้เขากรี๊ด One Direction หรือคลั่งไคล้จัสติน บีเบอร์ กันนี่ล่ะ เลยมองว่า Duran Duran  ก็น่าจะเป็นอะไรที่บอกถึงยุคสมัยได้อย่างหนึ่งในแง่ของความเป็นป็อปคัลเจอร์

ส่วน อิเมลดา มาร์กอส เป็นชื่อที่พอพูดออกไป คนต่างชาติก็จะสามารถเชื่อมโยงกับฟิลิปปินส์ได้ทันที ถึงแม้ว่าเรื่องที่นึกถึงอาจจะไม่ได้เป็นเรื่องดีๆ ก็ตาม และในหนังสือเรื่องนี้ก็มีเนื้อหาส่วนที่พูดถึงเธอด้วย นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ฉันตั้งชื่อหนังสือแบบนี้

แล้วตัวคุณเองล่ะ มีภาพจำเกี่ยวกับ อิเมลดา มาร์กอส อย่างไรบ้าง

ถึงแม้ว่าฉันจะโชคดีตรงที่ครอบครัวของเราไม่ได้อยู่ในสถานะที่โดนกดขี่หรือใช้ชีวิตอย่างยากลำบากเพราะการเอาเปรียบคนจนของรัฐบาลเผด็จการในตอนนั้น แต่พ่อและแม่ของฉันต่อต้านความเป็นเผด็จการสุดตัว เพราะฉะนั้นฉันจึงโตมาด้วยความรู้สึกต่อต้านสิ่งเหล่านี้เช่นกัน

ฉันยังจำวันที่ เบนิกโน อากีโน จูเนียร์ หรือที่คนฟิลิปปินส์เรียกกันว่า ‘นินอย’ เดินทางกลับมาฟิลิปปินส์ได้ วันนั้นฉันอยู่ที่บ้านญาติ ในขณะที่พ่อกับแม่ไปที่สนามบินพร้อมกับผู้สนับสนุนคนอื่นๆ เพื่อรอต้อนรับนินอยกลับประเทศ บ่ายวันเดียวกันนั้น ฉันก็ได้ยินจากพวกผู้ใหญ่ว่า นินอยถูกยิงเสียชีวิตที่สนามบิน และเชื่อกันว่า เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส อยู่เบื้องหลังการลอบสังหารครั้งนี้

การตายของนินอยเหมือนเป็นการปลุกทั้งประเทศขึ้นจากการอดทนยอมรับในระบอบเผด็จการแบบไม่มีทางเลือก และลุกขึ้นต่อสู้กับอำนาจที่กดขี่มาอย่างยาวนาน ช่วงสามปีหลังจากนั้น มีการเดินขบวนประท้วงอีกหลายครั้ง ตัวฉันเองที่อายุประมาณ 14-15 ก็ไปร่วมเดินขบวนกับเขาด้วย

การประท้วงอย่างต่อเนื่องในช่วงนั้นนำไปสู่ People Power Revolution การปฏิวัติครั้งใหญ่ในปี 1986 ที่พลังประชาชนสามารถโค่นล้มผู้นำในระบอบเผด็จการลงได้ ซึ่งในช่วงปลายยุค 1980s นี้มีการเปลี่ยนแปลงที่มาจากพลังประชาชนหลายแห่งทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติในโปแลนด์หรือการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน แต่การปฏิวัติในฟิลิปปินส์เป็นการเปลี่ยนแปลงแรกๆ ที่เกิดขึ้นช่วงทศวรรษนั้น

ผลจากการปฏิวัติครั้งนี้ที่มีต่อครอบครัวของเราอย่างหนึ่งก็คือ หลังจากการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นปีนั้น พ่อได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติหน้าที่ทูตท่องเที่ยวและวัฒนธรรมที่สหรัฐอเมริกา ครอบครัวของเราจึงต้องย้ายไปอยู่ที่วอชิงตัน ดี.ซี. ตอนฉันอายุ 16

จากฟิลิปปินส์ไปอเมริกา มีเรื่องอะไรที่เป็นเหมือน culture shock สำหรับคุณบ้าง

เรื่องภาษาไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับฉัน เพราะฉันโตมากับภาษาอังกฤษอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ทำให้แปลกใจและตื่นเต้นคือสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่เราเคยเห็นในหนังมาก่อน แล้วก็คิดมาตลอดว่าเรื่องจริงคงไม่ใช่อย่างนั้นหรอก แต่พอมาเจอเองกับตัวถึงได้รู้ว่า มันเหมือนกับที่เห็นในหนังจริงๆ แต่ฉันมองว่ามันเป็นเรื่องตื่นเต้นมากกว่าจะตกใจ

ที่ชอบมากๆ คือเรื่องของอิสระเสรีภาพในชีวิตประจำวัน เพราะตอนอยู่ที่ฟิลิปปินส์ เวลาจะไปไหนมาไหนก็ต้องใช้รถ ตัวเราตอนนั้นก็ยังเป็นเด็ก ยังขับรถเองไม่ได้ ต่างจากที่อเมริกาที่เวลาจะไปไหนก็นั่งรถไฟไปได้เอง มันอาจจะฟังดูเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่สำหรับเด็กอายุ 16 ที่โตในฟิลิปปินส์มาตลอด มันเป็นเรื่องแปลกใหม่ที่ทำให้ตื่นเต้นมาก อะไรๆ ในตอนนั้นก็ดูเป็นเรื่องใหม่และแตกต่างไปหมด

ครอบครัวของฉันอยู่ที่นั่นทั้งหมด 4 ปี ก่อนที่ทุกคนจะย้ายกลับไปฟิลิปปินส์ ยกเว้นฉันที่ยังเรียนหนังสือต่อที่นั่น

ตอนย้ายไปอยู่อเมริกาซึ่งเป็นประเทศต้นกำเนิดของซูเปอร์ฮีโรทั้งหลายที่คุณชอบอ่านและชอบวาดมาตั้งแต่เด็ก คิดไว้แต่แรกเลยหรือเปล่าว่าจะต้องเป็นนักเขียนการ์ตูน

ไม่เลย ตอนแรกคิดไว้ว่าอยากเป็นนักข่าว เพราะเป็นคนชอบอ่านมากๆ แล้วก็สมัครเรียนด้านนี้ไปด้วย แต่บังเอิญมหาวิทยาลัยที่สมัครทำเรื่องเอกสารผิดพลาด ทำให้ฉันได้เข้าไปเรียนในสาขาที่ไม่ได้สมัครและไม่ใช่แคมปัสที่สมัครไปอีกต่างหาก ซึ่งถ้าจะให้เป็นเหมือนที่สมัครก็ต้องรอเวลาหลายเดือน ฉันเลยเริ่มมีความคิดว่าถ้าอย่างนั้นกลับไปเรียนที่ฟิลิปปินส์ก็ได้ เพราะไหนๆ ครอบครัวก็จะย้ายกลับไปอยู่แล้ว ส่วนมหาวิทยาลัยอื่นก็ไม่ได้สมัครไว้ทั้งที่ตอนนั้นครูที่โรงเรียนมัธยมฯ เชียร์ให้ฉันสมัครมหาวิทยาลัยดังๆ อย่าง Princeton เพราะเห็นว่าเกรดเราดี ส่วนฉันมองว่าเกรดตัวเองดีก็จริง แต่ไม่ได้ดีถึงขั้นที่จะได้ทุน ก็เลยไม่ได้สมัคร เพราะฉันมองโลกตามความเป็นจริงว่า มันไม่มีเหตุผลที่จะเรียนมหาวิทยาลัยดังๆ เพื่อแค่ให้ได้ชื่อว่าเรียนที่นี่ที่นั่น ทั้งที่ค่าเรียนแพงลิบลิ่วจนแทบจะจ่ายไม่ไหว

แต่บังเอิญว่าตอนนั้นฉันทำงานพิเศษอยู่ที่ร้านขายการ์ตูน แล้วคนที่ทำงานด้วยกันเห็นรูปซูเปอร์ฮีโรทั้งหลายที่ฉันวาดไว้เล่นๆ เป็นงานอดิเรก ก็เลยแนะนำให้สมัครเรียนที่ Joe Kubert School of Cartooning and Graphic Art (ชื่อปัจจุบันคือ Kubert School) ในนิวเจอร์ซีย์ คือเชียร์ถึงขนาดเป็นคนช่วยเตรียมเอกสารที่ต้องใช้ในการสมัครให้เลยน่ะ

พอสมัครไป ทางโรงเรียนก็ตอบรับ จากที่คิดว่าจะไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัยที่อเมริกาแล้ว ก็กลายเป็นได้เรียนโรงเรียนที่เน้นเรื่องการ์ตูนโดยเฉพาะ

ด้วยลุคภายนอกที่ถ้าไม่บอกก็คงไม่รู้ว่าคุณเป็นเนิร์ดการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร พอเข้าไปเรียนในโรงเรียนเฉพาะทางแล้ว มีคนไม่เชื่อบ้างไหมว่าคุณน่ะมาแนวนี้จริงๆ

มีตั้งแต่วันแรกที่ไปสมัครเลย (หัวเราะ) วันนั้นได้เจอกับ โจ คูเบิร์ต (Joe Kubert) ซึ่งเป็นเจ้าของโรงเรียนและเป็นนักวาดการ์ตูนที่มีชื่อเสียงมากมาก่อน เขาเป็นนักวาดการ์ตูนของ DC Comics วาดเรื่อง Sgt. Rock และ Hawkman วันนั้นฉันไปแบบใส่ชุดกระโปรงเรียบร้อย พร้อมกับหอบเอาพอร์ตโฟลิโอไปด้วย พอเจ้าของโรงเรียนเห็นแล้วก็บอกว่า “ดีใจที่เธอมาสมัครเรียนที่นี่ แต่ในนิวยอร์กยังมีโรงเรียนศิลปะที่เน้นเรื่องแฟชั่นอีกหลายที่นะ” เดาว่าเขาคงไม่คิดว่าคนลุคประมาณนี้จะอยากเข้าที่นี่จริงๆ ก็เลยบอกไปว่า “ไม่ได้อยากไปเรียนที่อื่น อยากเรียนที่นี่ เพราะชอบวาดการ์ตูนมากจริงๆ” เสร็จแล้วก็โชว์ผลงานให้เขาดู ซึ่งมีรูปซูเปอร์แมนกับแบทแมนเต็มไปหมด พอเขาเห็นงานก็เข้าใจว่าเรามาที่นี่ทำไม และรับเข้าเรียน

ในยุคนั้น ผู้หญิงที่วาดการ์ตูนอย่างจริงจังยังมีไม่เยอะ ทั้งโรงเรียนที่มีนักเรียนทั้งหมดประมาณ 300 กว่าคน น่าจะมีผู้หญิงอยู่สักห้าคนได้ เพราะฉะนั้นเลยมีหลายคลาสมากที่ฉันเป็นผู้หญิงคนเดียวในคลาส ซึ่งตอนแรกนักเรียนส่วนใหญ่ก็จะฮือฮากัน เพราะนึกไม่ถึงว่าผู้หญิงอย่างฉัน แล้วก็ลุคอย่างนี้อีก จะอินกับเรื่องการวาดการ์ตูนขนาดนี้

คนส่วนมากก็คงจะเป็นอย่างนี้ คือตัดสินกันจากภาพที่มองเห็นภายนอก ทั้งที่คนจำนวนไม่น้อยนั้นภายนอกกับภายในเป็นคนละเรื่องกันเลย ฉันไม่ได้บอกว่าทุกคนเป็นแบบนั้นนะ แต่ก็เชื่อว่ามีหลายคนที่สิ่งที่เขาถนัดกับลุคที่คนอื่นเห็นเป็นคนละแบบกัน เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถและไม่ควรที่จะมี stereotype กับคนอื่น ข้อความหนึ่งที่ฉันอยากบอกผ่านหนังสือของฉันก็คือเรื่องการไม่ตัดสินใครจากภายนอกนี่ล่ะ

ฉันเองผ่านเรื่องนี้มาเยอะ เพราะคนอาจจะประเมินเราจากสไตล์การแต่งตัวของเรา แต่พอได้เห็นสิ่งที่เราวาด งานที่เราทำจริงๆ ถึงได้มองต่างไป หนังสือเล่มนี้เองก็เหมือนกัน ด้วยเนื้อหาที่มีการพูดถึงเรื่องการเมืองอยู่ไม่น้อย และการเขียนขึ้นจากชีวิตจริงอาจทำให้คนคิดว่าจะต้องซีเรียสจริงจัง แต่คนที่ได้อ่านแล้วหลายคนก็เซอร์ไพรส์ว่ามันมีส่วนที่ตลกอยู่ด้วยนะ ฉันถึงย้ำว่าเราจะตัดสินหรือคาดหวังไปก่อนไม่ได้เลยว่าอะไรจะเป็นแบบไหน ตราบเท่าที่ยังไม่ได้ทำความรู้จักกับสิ่งนั้นจริงๆ

หลังจากเรียนจบแล้ว คุณทำงานอะไรบ้าง

ฉันเริ่มจากงานวาดการ์ตูนรายเดือนชื่อ The Adventures of Big Boy ให้กับร้านอาหารที่มีสาขาหลายแห่งในอเมริกาที่ชื่อ Big Boy ก่อน หลังจากทำงานนั้นอยู่ห้าปี ก็เริ่มได้เป็นคนเขียนตัวอักษรในการ์ตูนของ Marvel และ DC แต่ทำได้ไม่นานอุตสาหกรรมการ์ตูนในอเมริกาก็เข้าสู่ขาลง ทำให้ต้องหาอย่างอื่นทำไปด้วย ทั้งพยายามเรียนเรื่อง HTML หัดเขียนโค้ดเองเพื่อทำเว็บดีไซน์ แล้วก็รับทำพวกกราฟิกดีไซน์ด้วย

ช่วงนั้นเองที่สังเกตว่าการ์ตูนญี่ปุ่นเริ่มตีตลาดในอเมริกา และแน่นอนว่าทุกเรื่องที่พิมพ์ออกมาก็ต้องการคนเขียนตัวอักษรภาษาอังกฤษที่แปลมาจากภาษาญี่ปุ่น ฉันเลยส่งตัวอย่างงานไป แล้วก็ได้งานเขียนตัวอักษรในการ์ตูนแปลตั้งแต่นั้น เป็นงานที่ทำมาประมาณ 15 ปีแล้ว เป็นงานที่สนุก เพราะทำให้ฉันได้อ่านและเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นไปด้วย หลายเรื่องเป็นการ์ตูนที่ดีมากๆ

การ์ตูนที่ฉันเป็นคนเขียนตัวอักษรก็อย่างเช่น Ponyo, Princess Mononoke และ Kiki’s Delivery Service แล้วก็มีอีกหลายเรื่องที่เป็นลิขสิทธิ์มาจากสำนักพิมพ์โคดันฉะ ก่อนหน้าที่ฉันจะบินมาทำงานที่เมืองไทย ครอบครัวของเราไปเที่ยวญี่ปุ่นกันก่อน และเราแวะไป Studio Ghibli Museum ด้วย ซึ่งไปแล้วก็แฮปปี้มาก เพราะตอนทำงานฉันได้อ่านการ์ตูนพวกนี้มาก่อนแล้ว

คุณเป็นมือปืนรับจ้างที่วาดการ์ตูนและเขียนตัวอักษรให้สำนักพิมพ์ต่างๆ มาหลายปี ความคิดที่จะเริ่มเขียน memoir ของตัวเองเล่มนี้เริ่มขึ้นมาอย่างไร

มันเริ่มจากการเสียชีวิตของพ่อเมื่อ 13 ปีก่อน พ่อตายด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ ความที่ฉันใกล้ชิดกับพ่อมากแม้ว่าช่วงหลังเราจะอยู่กันคนละประเทศก็ตาม ฉันจึงจ่อมจมอยู่กับความเศร้าเป็นเวลานานเกินปี ถึงขนาดที่ไม่สามารถแม้แต่จะดูรูปที่ถ่ายกับพ่อได้เลย จนวันหนึ่งอยู่ดีๆ ฉันก็นึกอยากวาดรูปเกี่ยวกับเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ ที่เคยทำด้วยกันกับพ่อ จากนั้นก็เริ่มรู้สึกว่าพอได้วาดออกมาแล้วความเศร้ามันก็ค่อยๆ คลายลง และทำให้เรากล้าเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดมากขึ้น ก็เลยเริ่มวาดไปเรื่อยๆ เพื่อจะเก็บความทรงจำและความรู้สึกที่เกิดขึ้นในเวลานั้นก่อนที่มันจะถูกลืมไป

พอวาดออกมามากเข้าก็เริ่มรู้สึกว่า สิ่งที่วาด เรื่องที่เราเขียนน่าจะเป็นเหมือนกับประวัติชีวิตเราที่ลูกๆ จะได้รับรู้ด้วย และเมื่อถึงจุดหนึ่งก็เริ่มคิดว่า ไม่แน่ว่าอาจจะรวบรวมแล้วตีพิมพ์ออกมาเป็นเล่มได้ ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นในที่สุด

แต่จริงๆ แล้วการที่หนังสือได้ตีพิมพ์มันเป็นเหมือนแค่น้ำตาลไอซิงที่ตกแต่งบนหน้าเค้กเท่านั้น ไม่ใช่ปัจจัยใหญ่สุดในการเขียนหนังสือเล่มนี้ เพราะที่สุดแล้วความสุขของฉันอยู่ตรงที่ได้ทำมันออกมามากกว่า และเป็นการเยียวยาตัวเองให้ข้ามพ้นความเศร้าโศกเสียใจได้

สมัยที่พ่อของคุณยังมีชีวิตอยู่และอาศัยอยู่ในฟิลิปปินส์ ในขณะที่ตัวคุณเองแต่งงานและย้ายไปอยู่แคนาดาตั้งแต่ตอนอายุ 20 ต้นๆ คุณยังคงความใกล้ชิดกับพ่อได้ด้วยวิธีไหน

ตอนที่ฉันย้ายไปอยู่เมืองมอนทรีอัลเมื่อ 26 ปีก่อน การติดต่อสื่อสารไม่ได้มีอะไรเหมือนตอนนี้เลย ถ้าจะเขียนจดหมายถึงกัน ก็ต้องใช้เวลาประมาณสองสัปดาห์กว่าจดหมายจะถึงปลายทาง ค่าโทรศัพท์ก็แพงมาก พ่อเองก็ไม่ใช่คนฟุ่มเฟือย ส่วนฉันกับแดเนียล สามีของฉัน ก็พยายามประหยัดเงินทั้งคู่

แต่มีวิธีหนึ่งที่ฉันและแดเนียลใช้เสมอเวลาเราต้องอยู่กันคนละที่ เราตกลงกันว่าจะโทรศัพท์หากัน ปล่อยให้ดังหนึ่งครั้ง แล้วก็วางสาย โดยไม่ต้องรอให้อีกฝ่ายรับ วิธีนี้เราก็จะได้บอกกู๊ดไนท์กันทุกคืนโดยที่ไม่ต้องเสียเงินค่าโทรศัพท์ ซึ่งมีครั้งหนึ่งฉันอยู่ที่ฟิลิปปินส์แล้วแดเนียลโทรหา พ่อกับแม่ก็สงสัยว่าทำไมไม่รับสาย พอฉันอธิบายให้ฟังถึงวิธีสื่อสารกันของเรา พ่อบอกว่าวิธีนี้น่ารักจัง ส่วนแม่ฟังแล้วก็มองบนใส่เบาๆ (หัวเราะ)

หลังจากฉันกลับไปแคนาดาแล้ว มีอยู่วันหนึ่งเป็นวันที่ฝรั่งเศสกับบราซิลลงแข่งกันในฟุตบอลโลกรอบชิงชนะเลิศ คนส่วนใหญ่เก็งไว้ว่าบราซิลจะต้องเป็นฝ่ายชนะในแมตช์นั้น เพราะเป็นช่วงพีคของทีมบราซิล ก่อนหน้านั้นฉันกับพ่อคุยกันเรื่องนี้แล้วฉันก็บอกว่าฝรั่งเศสน่าจะชนะ พ่อก็เถียงว่าไม่มีทางเป็นไปได้หรอก บ่ายวันนั้นฉันนั่งเชียร์ฟุตบอลอยู่หน้าทีวี พอฝรั่งเศสทำประตูแรกได้ โทรศัพท์ก็ดังหนึ่งครั้งแล้วหายไป รับสายก็ไม่ทัน ก็เลยไม่รู้ว่าใครโทรมา

พอฝรั่งเศสยิงประตูที่ 2 โทรศัพท์ก็ดังอีก พอถึงประตูที่ 3 โทรศัพท์ก็ดังขึ้นอีกครั้ง คราวนี้ฉันเดาได้แล้วว่าน่าจะเป็นพ่อที่ใช้วิธีนี้ และหลังจากวันนั้นถ้ามีเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เกี่ยวกับอะไรที่ฉันชอบอย่างเรื่องกีฬา ยกตัวอย่างเวลาไทเกอร์ วูดส์ ชนะทัวร์นาเมนต์ ที่บ้านของเราก็มักจะมีเสียงโทรศัพท์ดังขึ้นหนึ่งครั้งแล้วเงียบไป ฉันก็จะรู้ว่าพ่อนึกถึงลูกสาวคนโตของพ่ออยู่เสมอ ถึงจะไม่ได้สื่อสารแบบพูดคุยกันโดยตรง

บทเรียนเรื่องไหนที่คุณได้เรียนรู้จากพ่อมากที่สุด

น่าจะเป็นเรื่องความซื่อสัตย์และความสมถะที่พ่อสอนด้วยการทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง เดิมทีก่อนย้ายไปอเมริกา พ่อเป็นผู้บริหารในบริษัทมาก่อน ครอบครัวเราค่อนข้างจะเป็นที่รู้จักในฟิลิปปินส์ แต่ถ้าคุณไม่รู้จักพ่อมาก่อนก็จะดูไม่ออกเลย เพราะพ่อทำตัวสมถะมาก แต่งตัวเรียบๆ ไม่ได้ทำตัวโก้หรู ไม่เคยอวดเรื่องตัวเอง แล้วก็ไม่ได้สอนให้ลูกเป็นแบบนั้นด้วย

ส่วนเรื่องความซื่อสัตย์ พ่อเป็นคนประเภทที่เลือกบินชั้นประหยัด ทั้งที่คนอื่นที่ทำงานให้รัฐบาลในระดับเดียวกันจะเลือกบินชั้นธุรกิจ เพราะพ่อไม่อยากใช้อภิสิทธิ์และไม่อยากใช้เงินของรัฐไปกับความสบายส่วนตัว ฉันคิดว่าความซื่อสัตย์และตรงไปตรงมาของพ่อนั้นถ้าอยู่ในประเทศที่ให้ค่ากับเรื่องนี้สูงมากอย่างเช่นญี่ปุ่น จะทำให้พ่อมีความสุขในการทำงานมาก แต่กับประเทศบ้านเกิดของฉันนั้น มันทำให้พ่อผิดหวังเมื่อต้องอยู่ในวงล้อมของคนที่คิดคอร์รัปชั่น และตักตวงเพื่อประโยชน์ส่วนตัว

ลูกๆ ทั้งสี่คนของคุณได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วว่าอย่างไรกันบ้าง

ลูกๆ ทุกคนมีหนังสือเรื่องนี้คนละเล่ม พวกเขาอ่านจบแล้วตั้งแต่ตอนที่หนังสือออกมาเมื่อปีก่อนและทุกคนก็ภูมิใจในงานชิ้นนี้ของฉันมาก แต่จะมีลูกคนโตเท่านั้นที่มีความทรงจำโดยตรงเกี่ยวกับคุณตามากสุด เพราะอีกสองคนยังเล็กอยู่ตอนที่พ่อของฉันจากไป ส่วนอีกคนยังไม่เกิด

แต่ในความภูมิใจของลูกนั้น ก็จะมีความรู้สึกแปลกๆ อยู่นิดๆ เหมือนกัน เป็นเพราะฉันจริงใจในการถ่ายทอดเรื่องราวและความรู้สึกของตัวเองในหนังสือเล่มนี้มาก ซึ่งรวมถึงการสื่อสารให้คนอ่านรับรู้ถึงความรู้สึกเหงาที่ต้องจากครอบครัวมาอยู่ต่างเมือง ความรู้สึกโหวงๆ เวลาคลอดลูกแล้วก็นึกอยากให้ครอบครัวมาอยู่ใกล้ๆ ความอยากมีส่วนร่วมเวลาเห็นคนอื่นๆ ในครอบครัวได้อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา ยกเว้นตัวเราเอง เวลาลูกๆ อ่านเจอเนื้อหาเหล่านี้ เขาก็จะได้เห็นอีกมุมของแม่ที่พวกเขาไม่เคยรับรู้มาก่อน และเรียนรู้ว่าการเลือกที่จะมีครอบครัวในประเทศที่ไม่ใช่บ้านเกิดของตัวเองจะต้องแลกกับอะไรบ้าง ซึ่งฉันเองก็ไม่เคยเล่าให้เขาฟังเพราะไม่ได้อยากให้เขารู้เรื่องนี้กันสักเท่าไร แต่ตอนที่เขียนออกมาเป็นหนังสือก็ไม่อยากจะปิดบังความรู้สึกเหล่านี้

สามีของคุณเองก็เป็นนักวาดการ์ตูนเหมือนกัน ระหว่างที่เขียนหนังสือเล่มนี้ คุณเคยขอความเห็นจากเขาบ้างไหม

ไม่เลย แดเนียลไม่อยากให้ฉันเอางานให้ดูด้วยซ้ำไประหว่างที่ยังทำไม่เสร็จ เหตุผลของเขาก็คืออยากให้งานชิ้นนี้เป็นงานที่ออกมาจากตัวฉันทุกรายละเอียด เขาไม่อยากให้ฉันต้องเขวเพราะฟีดแบ็กจากเขา

เขาทำหน้าที่เป็นฝ่ายสนับสนุนที่ดีมาก แม้แต่ในเวลาที่ฉันรู้สึกว่าเขียนไม่ออกหรือไม่อยากทำต่อ เขาก็จะเป็นคนเชียร์ให้เขียนออกมา อาสาดูแลเด็กๆ ให้เอง ทำทุกทางที่จะช่วยให้ฉันมีเวลาและทำหนังสือเล่มนี้เสร็จเรียบร้อย ต้องขอบคุณเขามากๆ ในเรื่องนี้

นอกเหนือจากงานวาดการ์ตูนและการเขียนตัวอักษรในการ์ตูนที่ทำเป็นประจำแล้ว ตอนนี้คุณทำอะไรอีก

ตอนนี้กำลังอยู่ในระหว่างเริ่มเตรียมงานสำหรับภาคต่อของเล่มนี้อยู่ ซึ่งคราวนี้จะเน้นเรื่องราวในช่วงที่ฉันเข้าเรียนในโรงเรียนศิลปะ คิดดูสิ โรงเรียนศิลปะที่สอนเรื่องการ์ตูนโดยเฉพาะ จะต้องเป็นแหล่งรวมของคนที่มีคาแรกเตอร์หลากหลายจนคาดไม่ถึงขนาดไหน

ส่วนการโปรโมทหนังสือเล่มนี้ก็ยังทำอยู่ แต่เริ่มมองถึงการโปรโมทในฟิลิปปินส์ เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองในฟิลิปปินส์ตอนนี้ ถ้ามองแง่หนึ่งก็มีความคล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงปี 1980s ฉันเลยรู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้น่าจะเหมาะกับบริบททางสังคมของที่นั่นในตอนนี้

นอกเหนือจากนี้ก็เป็นการทำหน้าที่แม่และแบ่งเวลาไปเล่นฟุตบอล สัปดาห์ละสองครั้ง…ถามว่าวัยนี้แล้วยังเล่นฟุตบอลกับใคร ก็เรียกว่าเล่นกันตามประสาลีกที่มีแต่หญิงแก่วัยเดียวกันนี่ล่ะ

Fact Box

ลอรีนา มาปา เกิดและโตที่ฟิลิปปินส์ ก่อนจะย้ายมาเรียนมัธยมปลายต่อที่อเมริกา เพราะ อันโตนิโอ มาปา พ่อของเธอ ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ผู้แทนด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมของฟิลิปปินส์ ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ก่อนหน้าที่จะมารับหน้าที่นี้ อันโตนิโอเคยเป็นผู้บริหารในบริษัทเอกชนและเป็นที่รู้จักในฐานะผู้บุกเบิกวงการมอเตอร์สปอร์ตของที่นั่น

ลอรีนาเรียนจบจาก Joe Kubert School of Cartooning and Graphic Art ในนิวเจอร์ซีย์ ซึ่งเป็นที่ที่ทำให้เธอได้เจอกับสามีของเธอซึ่งเป็นนักวาดการ์ตูนเช่นกัน นอกจากงานวาดการ์ตูนแล้ว ลอรีนายังรับงานเขียนตัวอักษรในการ์ตูนด้วย โดยเฉพาะการ์ตูนที่แปลจากภาษาต่างประเทศมาเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อขายในสหรัฐอเมริกา

เพราะเป็นทั้งนักวาดการ์ตูนและนักเขียนตัวอักษร ลายเส้นทั้งหมดที่เห็นใน Duran Duran, Imelda Marcos, and Me หนังสือเรื่องแรกของเธอ จึงมาจากปลายปากกาของเธอทั้งหมด แต่ด้วยความเชี่ยวชาญในการเขียนตัวอักษรนั้นทำให้ลายมือของเธอดูเนี้ยบถึงขนาดที่ในตอนแรกทางสำนักพิมพ์เข้าใจผิดว่า เธอใช้คอมพิวเตอร์ทำในส่วนที่เป็นตัวอักษรทั้งหมด จนเธอต้องกลับไปแก้ใหม่ให้ดูเรียบร้อยน้อยลง

ทุกวันนี้ นอกจากงานหลักที่เป็นเรื่องของการ์ตูนและงานอดิเรกอย่างฟุตบอลแล้ว ลอรีนายังเป็นคุณแม่ของลูกๆ วัย 12, 16, 20 และ 24 ปี ที่เธอเรียกพวกเขาว่า “World Cup babies” เพราะแต่ละคนอายุห่างกัน 4 ปีพอดี

ติดตามผลงานอื่นๆ ของเธอได้ที่ http://lorinamapa.com