แม้อาจจะไม่โด่งดังเท่ากับสตีฟ จ็อบส์ หรือบิล เกตต์ แต่งานของเขาก็สร้างคุณูปการอย่างมากต่อวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์สมัยใหม่ แลร์รี่ เทสเลอร์เป็นผู้บุกเบิกหลักคิดของ ‘cut-copy-paste’ ในช่วงที่เขาทำงานให้กับศูนย์วิจัยซีร็อกซ์ ปาโล อัลโตในยุค 1970 จากนั้นในชีวิตการทำงานเกือบ 20 ปีที่แอปเปิล เขาเป็นหนึ่งในทีมออกแบบอินเทอร์เฟซของผู้ใช้ในระบบลิซ่า แมคอินทอช และนิวตัน ยุคก่อนที่จะกลายเป็นไอโฟน เทสเลอร์อายุ 74 ปีเสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา 

เทสเลอร์เกิดในปี 1945 ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เขาเรียนสาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ในมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดและหลังเรียนจบก็ได้ลองทำวิจัยเล่นๆ เกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ เขาเข้าร่วมกับขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามและการผูกขาดของบริษัทขนาดใหญ่ เช่น ไอบีเอ็ม 

ในปี 1973 เขาทำงานในศูนย์วิจัยซีร็อกซ์ ปาโล อัลโต  (PARC) ซึ่งมีชื่อเสียงจาการพัฒนาอินเทอร์เฟซสำหรับเมาส์ในงานกราฟิก จนถึงปี 1980 เทสเลอร์ทำงานในแล็บกับทิม ม็อตต์ เพื่อสร้างเวิร์ด โปรเซสเซอร์ที่ชื่อว่า ยิปซี (Gypsy) ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ใส่คำว่า “cut,” “copy,” และ “paste” เพื่อสั่งงานคอมพิวเตอร์ว่า ตัดออก ทำซ้ำ และวางตำแหน่งของข้อความใหม่

ตอนที่ยังอยู่ที่ PARC เทสเลอร์ได้รับมอบหมายให้นำสตีฟ จ็อบส์ และพนักงานแอปเปิลทัวร์บริษัท ตอนนั้นเองที่เขาโชว์ฟีเจอร์ไอคอน, วินโดวส์, โฟลเดอร์, เมาส์, ป็อบ-อัปเมนู, โปรแกรมแก้ไขข้อความ WYSIWYG (What You See Is What You Get), เครือข่ายอีเธอร์เน็ต แนวคิด cut, copy และ paste ก็ถูกนำเสนอด้วย เทสเลอร์ให้สัมภาษณ์ในปี 2011 ว่า สตีฟ จ็อบส์ ตื่นเต้นมาก และเดินไปรอบๆ ห้อง พูดกับเขาว่า “ตอนนี้คุณนั่งอยู่ในเหมืองทอง ทำไมไม่ทำอะไรกับเทคโนโลยีด้วย คุณเปลี่ยนโลกได้นะ”

ในปี 1980 เทสเลอร์ย้ายมาทำงานที่แอปเปิล คอมพิวเตอร์ และทำงานจนถึงปี 1997 เขาสร้างความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในบริษัท รวมทั้งเป็นรองประธานแอปเปิลเน็ต ระบบเครือข่ายภายในของแอปเปิลที่สุดท้ายถูกยกเลิก รวมทั้งเป็นหัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของแอปเปิล เทสเลอร์พยายามอย่างยิ่งที่จะสร้างซอฟต์แวร์และอินเทอร์เฟซที่ทำให้เข้าถึงได้ง่าย รวมทั้งคำสั่ง  “cut,” “copy,” และ “paste” 

คติเรื่องการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับคอมพิวเตอร์ของเทสเลอร์คือ “ไร้โหมด” (no modes)  เขาเป็นผู้เรียกร้องให้ออกแบบ UI คอมพิวเตอร์แบบ modeless computing ที่ทำให้ผู้ใช้ทำงานผ่านฟังก์ชันที่หลากหลายของระบบปฏิบัติการและแอปได้อย่างคงเส้นคงวา ยกตัวอย่างเช่น ตอนนี้ เวลาผู้ใช้เปิดโปรแกรมเวิร์ดโปรเซสเซอร์ ผู้ใช้รู้โดยอัตโนมัติว่าการกดปุ่มบนแป้นพิมพ์ใดๆ ก็จะเป็นตัวที่อยู่บนหน้าจอเลย ณ ตำแหน่งที่เคอร์เซอร์อยู่ ก่อนหน้านี้ โปรแกรมเวิร์ดโปรเซสเซอร์สามารถเปลี่ยนระหว่างโหมดได้หลายแบบ เมื่อกดปุ่มบนแป้นพิมพ์ก็อาจจะหมายความได้ว่าพิมพ์เอกสารตามตัวอักษร หรือเป็นฟังก์ชันคำสั่งก็ได้

ตอนนี้มีซอฟต์แวร์หลายอย่างที่เครื่องมือและฟังก์ชันของมันเปลี่ยนไปได้ โดยขึ้นอยู่กับโหมดที่มันอยู่ แต่สำหรับระบบปฏิบัติการสมัยใหม่ส่วนใหญ่ เช่น ระบบแมคโอเอส หรือไมโครซอฟต์ ต่างก็ใช้แนวทาง modeless ที่เป็นมิตรต่อผู้ใช้และซับซ้อนน้อยกว่า

หลังจากออกจากแอปเปิลปี 1997 เทสเลอร์ก่อตั้งบริษัทที่ชื่อสเตจคาสต์ ซอฟต์แวร์ ซึ่งพัฒนาแอปพลิเคชันที่ทำให้เด็กๆ เข้าถึงได้ง่ายเพื่อเรียนรู้หลักการโปรแกรมมิ่ง ในปี 2001 เขาทำงานกับแอมะซอน ซึ่งต่อมาเขาก็ดำรงตำแหน่งรองประธานฝ่ายประสบการณ์ซื้อของ (Shopping Experience) จากนั้นเทสเลอร์ย้ายไปทำงานในฝ่ายออกแบบและประสบการณ์ผู้ใช้ของยาฮู จนปี 2008 เขาทำงานที่ 23andMe เป็นแห่งสุดท้าย ก่อนจะเปลี่ยนไปทำงานที่ปรึกษา

 

ที่มา:

https://gizmodo.com/larry-tessler-modeless-computing-advocate-has-passed-1841787408

https://www.theverge.com/2020/2/19/21144516/larry-tesler-cut-copy-paste-dies-at-74-apple-xerox-amazon-obituary

https://www.cnet.com/news/larry-tesler-apple-employee-who-created-cut-and-paste-dies-at-74/

 

Tags: , , ,