ฉันเป็นคนเดินทางที่ชอบไปซ้ำที่และอยู่นาน เคยลองวางแผนเที่ยวเส้นทางใหม่ๆ แต่บ่อยครั้งใจก็พาวกกลับไปถนน โค้งเขา หรือร้านชาเจ้าเก่า ชีวิตหลายปีในอินเดียจึงแทบไม่ได้ช่วยเติมชื่อเมืองใหม่ๆ ไว้คุยฟุ้งกับใคร แต่ก็ทำให้มีสถานที่หลายแห่งที่คุ้นเคยเหมือนบ้าน มีคนรู้จักตามที่ต่างๆ ที่เรียกได้เต็มปากว่าเพื่อน และหนึ่งในที่ทางเหล่านั้นคือ ‘ลาดัก’
ลาดัก (Ladakh) ལ་དྭགས เป็นภาษาทิเบต แปลว่าดินแดนแห่งทางด่านและช่องเขา ตั้งอยู่ในเทือกเขาหิมาลัยทางตอนเหนือของอินเดียในรัฐจัมมูแคชเมียร์ ทั้งรู้จักกันในชื่อ ‘ทิเบตน้อย’ ด้วยมีสายวัฒนธรรมใกล้ชิดเสมือนบ้านพี่เมืองน้องกับทิเบต สำหรับฉัน ลาดักคือดินแดนแห่งความสุดขั้ว เพราะตั้งอยู่บนความสูง 3,000-3,500 เมตร และอยู่ในเขตเงาฝนของหิมาลัย จึงมีสภาพเป็นทะเลทรายบนเทือกเขาสูง หน้าร้อนอุณหภูมิสูงราว 38 องศา และร่วงหล่นได้ถึงลบ 38-45 องศาในหน้าหนาว
ฉันไปลาดักครั้งแรกในปี1996 และกลับไปอีกครั้งในหน้าร้อนถัดมา สิบปีผ่านไปเหมือนติดปีก ภาพภูเขาหินสีน้ำตาลต่างเฉดย้อนกลับมากวนใจ กลางฤดูใบไม้ผลิ 2007 จึงเป็นอีกครั้งที่ฉันกลับไปเยี่ยมหิมาลัยและเพื่อนเก่า
การเดินทางเข้าลาดักด้วยรถประจำทางทำได้ 2 เส้นทาง คือจากมานาลีในรัฐหิมาชัลประเทศและจากศรีนาการ์ในรัฐจัมมูแคชเมียร์ ถนนทั้งสองเส้นจะเปิดในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม ขึ้นกับสภาพอากาศ สองครั้งก่อนหน้าฉันเข้าลาดักทางมานาลี ใช้เวลาเดินทางสองวัน โดยพักค้างคืนขาไปที่ดาร์ชาและขากลับที่เคย์ลอง แต่หนนี้ฉันเลือกชิมลางเส้นทางใหม่โดยเข้าทางศรีนาการ์ จากต้นเดือนพฤษภาคม ฉันเพียรถามข่าวสภาพเส้นทางอย่างใจจดใจจ่อ
“เขาเคลียร์หิมะโล่งแล้ว รถเล็กวิ่งได้ตั้งแต่กลางเดือนเมษายน รถใหญ่เริ่มวิ่งเมื่อวันที่หนึ่ง” คนที่ท่ารถยืนยัน
หิมาลัยเปิดแล้ว เมื่อวัฒน์-ผู้ร่วมทางจากเมืองไทยบินมาสมทบ เราก็เหวี่ยงเป้ขึ้นหลังและออกเดินทาง
รถประจำทางออกจากศรีนาการ์ราวแปดโมงเช้า แวะพักกินข้าวเที่ยงที่โซนามาร์ก ก่อนไต่ระดับขึ้นโซจิลา ช่องเขาสูง 3,850 เมตร ซึ่งยังมีหิมะจับเป็นกำแพงน้ำแข็งอยู่ตลอดสองข้างทาง ช่วงบ่ายรถแวะพักอีกครั้งที่ดราสส์เมืองเล็กๆ ในหุบเขา ที่ขึ้นชื่อว่าในฤดูหนาวอุณหภูมิจะดิ่งต่ำเป็นรองก็แต่ไซบีเรีย ราวสองทุ่มเรามาถึงคาร์กิล ซึ่งรถจะแวะพักค้างคืน
คาร์กิลเป็นเมืองหน้าด่านการค้าและชุมทางรถประจำทางระหว่างแคชเมียร์และลาดัก ผู้คนส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมเชื้อสายบัลติ เราได้ห้องพักราคาถูกบนชั้นสองของร้านอาหารแห่งหนึ่ง ในสนนราคา 200 รูปี (ราว 200 บาทในตอนนั้น) เมื่อได้ก๋วยเตี๋ยวผัดและชาอุ่นๆ เข้าไปรองท้อง เราตัดสินใจมุดเข้าถุงนอน เพื่อเติมแรงสำหรับการเดินทางวันที่สอง
ตีสี่ นักเดินทางต่างคว้าเป้ขึ้นหลัง คลำทางในแสงสลัวมายังท่ารถ ราวตีสี่ครึ่งเรากลับสู่ถนนอีกครั้ง
จากคาร์กิล ยิ่งรถไต่ระดับสู่แนวเขาทิศตะวันออกสูงขึ้นไปเท่าไร ภาพทะเลทรายของหิมาลัยก็ยิ่งปรากฏชัดแก่ตา รอบตัวคือภูเขาหินสีน้ำตาลต่างเฉด นานๆ ครั้งเมื่อรถเลาะเลียบลำน้ำสินธุสีฟ้าเทอร์คอยซ์ จึงจะเห็นหมู่บ้านในดงหลิวและทุ่งบาร์เลย์เขียวขจีอยู่ดั่งโอเอซิส
ที่มุลเบกห์ บนผาหินก่อนถึงตัวหมู่บ้านมีรูปจำหลักไมตรียะ (พระพุทธเจ้าแห่งอนาคต) อายุกว่า 1,300 ปี ตระหง่านง้ำ เสมือนสัญลักษณ์บอกให้รู้ว่า เรากำลังก้าวสู่ดินแดนแห่งพุทธศาสนาวัชรยาน จากนั้นถนนพาเราไต่ระดับเพื่อข้ามช่องเขาอีก 2 แห่ง คือนามิกะลา และโฟตูลา
หลังข้ามโฟตูลา รถเริ่มไต่ลงไปตามถนนคดเคี้ยวที่เต็มไปด้วยโค้งหักศอก ทุกโค้ง เรากลั้นหายใจอย่างลืมตัว ทั้งเสียวไส้ ทั้งตะลึงกับความงามที่หิมาลัยวาดไว้ตรงหน้า
ระหว่างทางรถแวะพักให้เราเหยียดแข้งขาและเติมพลังด้วยชาอุ่นอีก 2 จุด ที่คาลเซ่ และนิมมู ก่อนพาเรามาถึงเลห์เมืองหลวงของลาดักในเวลาบ่ายสามโมง
จากท่ารถ เราเหวี่ยงเป้ขึ้นหลังแล้วไต่เนินขึ้นไปยังเมนบาซาร์เพื่อหาที่พัก เราก้าวสั้นๆ เดินช้าๆ ไม่ผลีผลาม ด้วยรู้ดีว่าอาการแพ้ความสูง (altitude sickness) ไม่เข้าใครออกใคร คนกล้ามล่ำสันก็อาจคว่ำไปก่อนคนผอมกร่องแกร่งโดยไม่ทราบสาเหตุ เมื่อเดินมาถึงสถูปใหญ่และกำแพงมนต์ที่เป็นเสมือนประตูเมืองโดยไม่เหนื่อยหอบ ผิดกลับสองครั้งก่อนที่ต้องปลดเป้ลงกองนั่ง จนตั้งฉายาส่วนตัวให้กับสถูปนี้ว่าซัมแฮ่ก อาการนี้เป็นข้อพิสูจน์อย่างดีว่า ถนนเส้นศรีนาการ์-เลห์ลาดชันน้อยกว่า และช่วยให้รับมือกับความสูงได้ดีกว่าเส้นมานาลี
ที่เลห์ เราเข้าพักที่ลุงสกอร์ เกสต์เฮาส์เล็กๆ ในสวนร่มรื่นของครอบครัวชาวลาดักมุสลิม ซึ่งเปิดบ้านชั้นบนไว้รับนักท่องเที่ยวในช่วงฤดูร้อน เช่นเดียวกับอีกหลายครอบครัว ที่มีบ้านอยู่รายรอบเมนบาซาร์ สนนราคาช่วงต้นฤดูกาลท่องเที่ยวอย่างตอนนั้นอยู่ที่ 120-350 รูปี ขึ้นกับว่าเป็นห้องเดี่ยว ห้องคู่ ห้องน้ำในตัว หรือห้องน้ำรวม
เพื่อนเก่ารายแรกที่ฉันแวะไปทักทายคือ Dzomsa ร้านเล็กๆ ในคอนเซ็ปต์ Good for All ที่ตั้งอยู่ท้ายเมนบาซาร์ ทันทีที่โผล่หน้าเข้าไป โซนัม ดอร์เจ หรือ ‘โซโซ’ ก็ส่งเสียงทักทาย “จูเล” พร้อมเข้าตบหลังตบไหล่หนักๆ ตามสไตล์คนลาดัก แล้วเรียกให้กินโยเกิร์ตปั่นใส่น้ำแอปริคอตแก้ร้อน
ดฺซมซ่า ในภาษาลาดักแปลว่า จุดนัดพบ ริเริ่มในปี 1996 โดยโซนัม ช่างภาพและนักพัฒนาหัวก้าวหน้า อดีตแกนนำของ SECMOL (Student Educational and Cultural Movement of Ladakh) เอ็นจีโอท้องถิ่นที่เข้มแข็งที่สุดของลาดัก ตอนนั้นโซนัมเพิ่งกลับจากการตระเวนเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับลาดักในสวีเดน และเห็นปัญหาของเด็กผู้หญิงที่จบการศึกษาภาคบังคับ แต่เคว้งอยู่ระหว่างรอยต่อของสังคมเมืองและวิถีชีวิตดั้งเดิมในชนบท เขาจึงนำเงินก้อนเล็กที่ได้จากการแสดงนิทรรศการภาพถ่าย มาเป็นทุนตั้งต้นของร้านรับซักรีดเล็กๆ ที่บริหารและซักรีดเองโดยกลุ่มเด็กผู้หญิง 6 คน โดยตัวเขาทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง เสื้อผ้าทั้งหมดจะถูกขนไปซักนอกเมือง ที่มีการขุดบ่อบำบัดน้ำเสียไว้ โดยจะไม่ทิ้งตรงลงแหล่งน้ำสาธารณะเช่นร้านอื่นๆ นอกจากนี้ยังขายน้ำแอปริคอต และน้ำดื่มระบบ refill เพื่อลดปัญหาขยะพลาสติกจากการท่องเที่ยว ดฺซมซ่าเปิดกิจการเฉพาะช่วง 6 เดือนที่เป็นฤดูกาลท่องเที่ยว โดยในช่วงหน้าหนาวโซนัมจะเปิดชั้นเรียนพิเศษ เพื่อสอนภาษาอังกฤษและทักษะการบริหารจัดการแก่เด็กกลุ่มดังกล่าว
จากร้านเล็กๆ ดฺซมซ่าขยายกิจการออกเป็น 2 สาขา โดยสาขาเดิมขยายเป็นสองห้อง เปิดรับซักรีด ขายน้ำ น้ำผลไม้ โยเกิร์ตปั่น ผลไม้แห้ง แยมโฮมเมด งานฝีมือของชาวบ้าน และหนังสือมือสอง ส่วนอีกสาขาที่อยู่บนถนนเส้นถัดไป รับซักรีดและขายอาหารเช้าสไตล์ลาดัก ซึ่งเป็นขนมปังคัมเบียร์ น้ำผลไม้ ชาเนย และชาสมุนไพร
“ของทุกอย่างในร้านเป็นของที่เรากินใช้และผลิตเองในท้องถิ่น ไม่ใช่ของที่มากับรถบรรทุกพวกนั้น” โซนัมบอกราวจะย้ำถึงความสำคัญของวิถีพึ่งตนเองที่ควรจะเป็นของชุมชนลาดัก
เพื่อนหรือกัลยาณมิตรอีกท่านที่ฉันตั้งใจไปกราบในคราวนั้น คือ สามเณรี ดร.เชริง พัลโม แพทย์แผนทิเบตผู้ก่อตั้ง Ladakh Nuns Association (LNA) กลุ่มทำงานเพื่อยกระดับการศึกษา คุณภาพชีวิต และสถานภาพของแม่ชีและสามเณรี
ระหว่างนั่งรถไปยังสำนักงานของแอลเอ็นเอ ซึ่งตั้งอยู่บนถนนสายนอกเมือง ฉันตั้งข้อสังเกตว่าในช่วงสิบปี เลห์ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ตึกรามและอาคารใหม่ๆ ดูจะแผ่ออกไปทุกทิศ
ดร.พัลโมบอกว่าเห็นด้วย “แต่เราไม่แน่ใจว่าการพัฒนาในทิศทางนี้เป็นสิ่งที่ดีจริงหรือไม่ เพราะเราเป็นเมืองชายแดน เกิดมีปัญหาอะไรขึ้นมา การท่องเที่ยวจะหยุดชะงักทันที คนส่วนใหญ่ในเลห์และชาวบ้านที่ใช้พื้นที่เพาะปลูกของตัวมาสร้างเกสต์เฮาส์จะทำอย่างไร”
ท่านเสริมอีกว่า หลัง Kargil War ในปี 1998 กองทัพอินเดียซึ่งเดิมมีค่ายฝึกและฐานทัพอยู่ทั่วลาดัก ยิ่งเสริมกองกำลังเข้ามาประจำการมากขึ้น ชาวลาดักจำนวนไม่น้อยจึงมีรายได้จากการทำงานและธุรกิจกับกองทัพ ขณะเดียวกันกองทัพก็ให้เงินสนับสนุน ในการสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล และสาธารณูปโภคอื่นๆ มากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องดี “แต่สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องทางยุทธศาสตร์ ซึ่งเราไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนเมื่อไร การพึ่งพิงและฝากอนาคตไว้กับกองทัพและการท่องเที่ยว มีแต่ความไม่แน่นอน”
งานของแอลเอ็นเอ มุ่งที่เรื่องการศึกษา และฟื้นฟูสำนักปฏิบัติธรรมในพื้นที่ต่างๆ ด้วยความคาดหวังว่าในอนาคต แม่ชีนอกจากจะมีโอกาสศึกษาและปฏิบัติธรรมได้อย่างเต็มที่ ยังอาจมีส่วนช่วยงานชุมชนในฐานะแพทย์แผนโบราณ ครู และผู้เผยแผ่พุทธศาสนา ในตอนนั้น แอลเอ็นเอเพิ่งได้รับบริจาคที่ดินผืนใหญ่ และอยู่ระหว่างการระดมทุนเพื่อสร้างสถานศึกษาและศูนย์ฝึกอบรม แต่ดร.พัลโมกล่าวว่ายังไม่ใช่เรื่องเร่งร้อน เพราะต้องการรอให้สามเณรีรุ่นใหม่ๆ ที่รับทุนไปเรียนในสาขาต่างๆ กลับมาเป็นทีมบุกเบิก
“อาจารย์ของเราสอนว่าจงโตช้าๆ แต่งดงาม” ดร.พัลโมย้ำ
เช้าตรู่วันที่ 5 มิถุนายน ถึงเวลาที่ต้องบอกลาลาดักอีกครั้ง ระหว่างเดินลงเนินไปยังท่ารถ ฉันหมุนกงล้อมนต์ไปตลอดแนวกำแพงมนต์แทนคำกล่าวลา
เมื่อรถบ่ายหน้าสู่แนวเขาทิศตะวันตก ที่ฉาบเรื่อด้วยแสงสีทองลำแรกของวัน เสียงภาวนาผุดขึ้นในใจโดยไม่รู้ตัว
“โอม…มนี ปัทเม หุม”
ลาดัก-แล้วฉันจะกลับมาอีก
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2550 นามปากกา ติฟาฮา มุกตาร์
Tags: เลห์, ดร.เชริง พัลโม, Ladakh, Dzomsa, ลาดัก