หมายเหตุ: บทความนี้ปรับปรุงขึ้นจากสเตตัสของผู้เขียนที่บันทึกความรู้สึกนึกคิดถึงละครเรื่องนี้ในหน้าเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยครอบครอบคลุมเนื้อหาเฉพาะ EP 1 – 5 ของละครเท่านั้น
โดยเรื่องของ กรงกรรม ทำหน้าที่เป็นเหมือนภาคแยกหรือภาคต้นของนิยายที่กลายเป็นละครสุดดังในปี 2015 อย่าง สุดแค้นแสนรัก ที่เขียนโดย ‘จุฬามณี’
โดยสุดแค้นแสนรักนั้นดำเนินเรื่องเป็นสามช่วง ช่วงแรกอยู่ในปี พ.ศ. 2515 ตามด้วยช่วง พ.ศ. 2532 – 2534 ก่อนจะไปจบลงในปี พ.ศ. 2544 เรื่องราวรักแค้นของคนรุ่นย่า ชาวนาโดยสายเลือดรุ่นสุดท้ายอย่างย่าแย้มที่มีความแค้นต่อครอบครัวของลูกสะใภ้ที่เป็นชาวนาเช่นกัน ส่งผลให้เกิดการพรากผัวพรากเมียยุแยงตะแคงรั่ว ทำให้คนรักต้องพลัดพราก แม่ลูกต้องแยกจากกัน จนคนรุ่นแม่ที่เริ่มตั้งตัวเป็นชนชั้นกลางอย่างอัมพรลูกสะใภ้ และอุไรน้องสาวอัมพร ที่ตั้งตัวผ่านการสมรสกับข้าราชการแล้วย้ายไปทำการค้าในเมือง หากผลพวงของความคับแค้นยังส่งผลมาถึงรุ่นหลานที่เติบโตขึ้นในช่วงหลังปี พ.ศ. 2530 ที่ความเป็นชนชั้นกลางเบ่งบานเต็มที่ก่อนจะไปจบเรื่องลงในอีกสิบปีต่อมา
สุดแค้นแสนรักครอบคลุมเวลายาวนานนับจากยุคสมัยของ จอมพลถนอม กิตติขจร ไล่มาจนถึงยุคของทักษิณ ชินวัตร เรื่องรักเรื่องแค้นที่ดูประโลมโลกย์เรื่องนี้ แม้จะเป็นเรื่องชิงรักหักสวาท แต่ด้วยปูมหลังตัวละครที่แข็งแรง ทั้งประวัติศาสตร์ และโลกทัศน์ กลายเป็นว่านี่คือละครบันทึก อธิบายการก่อกำเนิดและดำรงคงอยู่ ของพลวัตรและพัฒนาการของชนชั้นกลางไทย จากครอบครัวชาวนาไปสู่ครอบครัวพ่อค้า และสู่คนรุ่นที่ได้เรียนมหาวิทยาลัยทำงานเป็นหมอ เป็นครู เป็นดารานักร้อง เป็นคนที่มีสิทธิ์มีอำนาจในบ้านเมือง
กรงกรรมพาผู้ชม/ผู้อ่านย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นห้าปี ย้อนจากยุคจอมพลถนอมขึ้นไปในช่วงปลายของยุคจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ย้อนกลับไปในปี พ.ศ.2510
เล่าเรื่องคร่าวๆ จากต้นจนถึงตอนล่าสุด เริ่มจากที่ ‘ใช้’ บุตรชายคนโตของบ้านแบ้ ตระกูลโรงสีร้านชำเจ้าใหญ่ในเมืองชุมแสง ติดทหารไปประจำการที่ตาคลีแล้วได้เมียคนหนึ่งกลับมา นั่นคือ ‘เรณู’ โสเภณีจากบาร์ที่เปิดไว้เป็นแหล่งบันเทิงรองรับทหารอเมริกัน ทั้งคู่เดินทางกลับบ้านที่ชุมแสงเพราะเรณูท้องลูกของใช้ ที่ชุมแสง ‘ย้อย’ (พี่สาวของ ‘แย้ม’ แห่งสุดแค้นแสนรัก) ผู้เป็นแม่ของใช้ ไม่ยอมรับสะใภ้โสเภณีโดยสิ้นเชิง ประกาศตัดขาดกับลูกชายหัวปีที่รักสุดใจ คนที่ตั้งจะให้หมั้นหมายแต่งงานกับ ‘พิไล’ ลูกสาวพิกุล เพื่อนสาวคนไทยที่แต่งงานไปกับคนจีนในตัวเมืองทับกฤช
เมื่อลูกคนโตทำให้ผิดหวัง ย้อยก็เดินทางไปหา ‘ตง’ ลูกชายคนรองที่บวชพระอยู่ให้สึกมาแต่งงานกับพิไลแทน พิไลรู้สึกเสียหน้าและโกรธแค้นย้อย ยอมรับปากแต่งงานแต่เรียกสินสอดอย่างสาสม ก่อนหน้านั้น ตงชอบพออยู่กับ ‘จันตา’ ลูกจ้างร้านสังฆภัณฑ์ ที่มีหน้าที่คอยดูแลอาม่าเจ้าของร้าน แต่ตงก็ต้องยอมตามแม่ ขณะที่เรณูกับใช้ โดนเฉดไปอยู่บ้านในโรงเลี้ยงหมู ด้วยความรัก เรณูลงมือทำขนมขายรอสามีที่กลับไปค่ายทหาร
ย้อยรู้ความจริงอีกว่าก่อนจะมาเป็นโสเภณี เรณูเคยมีลูกผัวมาก่อน ลูกก็ให้แม่เลี้ยงเรียกเป็นน้อง ตัวหนีออกมาจากบ้านเพราะคนที่ทำให้ท้องคือพี่เขย มาขายตัวส่งเงินกลับไปให้ที่บ้าน จนแม่ตาย ‘วรรณา’ น้องสาวเลยมาตามเรณูกลับไปบ้าน และตอนที่วรรณาไปเรียนตัดเสื้ออยู่ปากน้ำโพ ก็บังเอิญเจอกับ ‘อาสี่’ ลูกชายคนสุดท้องของบ้านแบ้ที่ไปเรียนหนังสืออย่างไม่ค่อยได้เรื่องได้ราว
ระหว่างอยู่ที่ชุมแสง เรณูได้รับการดูแลอย่างดีจากพ่อผัวกับ ‘อาซา’ ลูกคนที่สามที่คอยช่วยพ่อที่โรงสีและสนใจในตัวจันตาเช่นเดียวกับพี่คนรอง เรณูทำขนมขายในตลาดสลับกับการต่อปากต่อคำกับแม่ผัวที่ต้องการทำอย่างไรก็ได้ เพื่อไล่สะใภ้ชั้นต่ำออกไปจากบ้าน จนกลายเป็นว่าในที่สุดทั้งสองฝ่ายต่างถูกดูดดึงเข้าสู่โลกของไสยศาสตร์ เรณูทำของให้ใช้มาหลงรัก ย้อยไปหาคนมาแก้ของ เพื่อนโสเภณีของเรณูที่เคยโดนย้อยยึดก็มาล้างแค้นด้วยการขอให้เรณูทำของใส่ย้อย เรื่องค่อยๆ ลุกลามออกไป ในขณะที่อาซา โดนจับคู่กับ ‘เพียงเพ็ญ’ ลูกสาวกำนันที่ฆะมัง ซึ่งหล่อนเองก็มีคนรักเป็นหนุ่มชาวนาไม่เอาถ่านที่แม่กำลังป่วย จนลักลอบได้เสียกันไปแล้ว
ในขณะที่ สุดแค้นแสนรัก พูดถึงการก่อร่างของชนชั้นกลางไทย กรงกรรมย้อนหลังกลับไปในช่วงต้นของการก่อร่างนี้ ย้ายจากครอบครัวชาวนาในที่ราบลุ่มภาคกลางมายังครอบครัวพ่อค้าไทยจีิน เรื่องราวเป็นเหมือนรอยต่อของโลกเก่ากับโลกใหม่ ด้วยเวลาก่อนหน้าเรื่องแรกห้าปี มันได้เสนอภาพรอยต่อของแม่ผัว-ลูกสะใภ้ที่มีโลกทัศน์ต่างกันโดยสิ้นเชิง คนรุ่นพิไลที่ถูกเลี้ยงมาแบบลูกคุณหนูที่มีคนรองมือรองเท้า กับคนรุ่นย้อยที่ถูกเลี้ยงมาอย่างยากลำบากและมองว่าลูกสะใภ้คือแรงงานขูดรีดฟรี กับถุงเงินถุงทองแบบเงินต่อเงิน
เรณู นอกจากจะเป็นภาพแทนของคนชั้นล่างชายขอบ ชาวนาไร้ที่ดินที่ครอบครัวแตกกระสานซ่านเซ็น เรณูในฐานะของโสเภณีตาคลีนั้นน่าสนใจอย่างยิ่ง ตาคลีในยุคสมัยนั้นเจริญเพราะประเทศไทยเป็นฐานทัพของอเมริกาในการส่งทหารเข้าร่วมสงครามเวียดนาม สงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ตามทฤษฎีโดมิโนที่อเมริกาเชื่อว่าถ้าไทยเป็นคอมมิวนิสต์ ทั้งแทบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้จะกลายเปนคอมมิวนิสต์ไปด้วย นำมาซึ่งการลงทุนอย่างมากของอเมริกาในไทย การออกแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 ในปี พ.ศ. 2503 (1960) และยังต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
การส่งทหารอเมริกันมาร่วมรบและมาสอนการรบให้ทหารไทย ทำให้ธุรกิจทางเพศเฟื่องฟูตลอดยุคสมัยนั้น และเรณูคือหนึ่งในภาพแทนของยุคสมัยที่คนชายขอบพยายามทำอย่างไรก็ได้ให้มีชีวิตรอดในสังคมที่ตัวเองถูกเบียดขับออกไปโดยไมได้ได้ตั้งใจ ช่วงเวลาในละครจึงเป็นการอธิบายโลกทัศน์ของสังคมไทยสมัยสงครามเย็นที่เราถูกปกครองโดยจอมพลเผด็จการน้ำไหลไฟสว่าง เป็นลูกไล่ของอเมริกัน สิ่งเล่านี้ส่งผลทั้งด้านบวกและลบอย่างเหลือแสน ในขณะเดียวกัน ฉากหลังของมันก็พอจะบอกได้ว่ามันฉายภาพรุ่นสุดท้ายของยุคคนจีนเสื่อผืนหมอนใบ ก่อนการก้าวขึ้นเรืองอำนาจของคนชั้นกลางใหม่ที่มีฐานมาแล้วจากคนรุ่นเตี่ย รุ่นแม่ย้อยกับความชายขอบสุดขีดของเรณู (โดยมีจันตาเป็นเหมือนกระจกของเรณู) เหล่านี้จึงน่าตื่นเต้นสุดขีด
มองย้อนกลับไปก่อนหน้าที่เรื่องราวในละครจะเริ่มขึ้น จีนกลายเป็นคอมมิวนิสต์เต็มตัวในปี พ.ศ. 2492 (ค.ศ.1949) รัฐไทยต้องเอาใจอเมริกาด้วยการควบคุมปราบปรามคนจีน จนเมื่องปี พ.ศ. 2501 (ค.ศ.1958) เกิดรัฐประหาร จอมพลสฤษดิ์ขึ้นดำรงตำแหน่งแทนภายใต้การสนับสนุนลับๆ โดยอเมริกา ตามมาด้วยการปราบปรามฝ่ายซ้ายและเสรีนิยมที่ต่อต้านรัฐบาล สองปีถัดมาเกิดสงครามกลางเมืองในลาว ยิ่งทำให้ไทยเป็นหัวหอกในการต่อต้านคอมมิวนิสต์และทำให้อเมริกาสนับสนุนไทยมากขึ้น ทั้งในแง่เงินช่วยเหลือด้านการทหารและด้านเศรษฐกิจ
รัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ ใช้การพัฒนาเป็นเครื่องมือในการจัดการกับภัยคอมมิวนิสต์และการสร้างความมั่งคั่งให้กับตนเอง ในสมัยนั้นเขาถึงกลับกล่าวว่า “งานสำคัญของเราในระยะปฏิวัตินี้คืองานพัฒนา ได้แก่งานพัฒนาเศรษฐกิจ การศึกษา การปกครอง และทุกสิ่งทุกอย่าง” และตั้งคำขวัญเช่น “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” ตามด้วยการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรฐกิจ (ที่ร่างโดยอเมริกา) ในปี พ.ศ.2504 (ค.ศ.1961) ซึ่งมีตั้งแต่การยกเลิกสหภาพแรงงาน การส่งคนไปเรียนต่ออเมริกา การสร้างถนนหนทาง ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะนักธุรกิจของอเมริกา แต่นักธุรกิจอเมริกันกลับไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก
คนที่ได้รับผลประโยชน์เต็มๆ จากแผนนี้จึงกลับกลายเป็นกลุ่มธุรกิจไทยจีนที่ตั้งตัวได้แล้ว ทั้งกลุ่มผู้ค้าข้าว พ่อค้าเหล็กและนายธนาคาร กล่าวให้ถูกต้องก็คือ คนแบบเตี่ยกับย้อยนี่เอง ที่ได้รับผลประโยชน์จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจ นี้โดยมี เรณูเป็นเหมือนผลข้างเคียง สิ่งชำรุดจากเหตุการณ์เดียวกัน การปะทะกันของเรณูกับย้อยจึงเป็นเรื่องที่มีการเมืองกำกับอยูไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม
แต่เลยพ้นไปจากการเมือง การปะทะกันของย้อยกับเรณูเอง ในฐานะผู้หญิงสองแบบก็น่าสนใจมากๆ เพราะมันคือการปะทะกันของสองบทบาทเหมารวมของผู้หญิงนั่นคือกะหรี่กับแม่พระ น่าตื่นเต้นที่ตัวละครทั้งสองถูกออกแบบอย่างละเอียดให้มีส่วนผสมของความเป็นแม่พระกับกะหรี่อย่างละเท่าๆ กัน ไม่มีมีแม่พระในคราบกะหรี่และกะหรี่ในคราบแม่พระ
ในขณะที่ย้อย มีความเป็นแม่-แม่พระ ชนิดที่สู้ยิบตาเพื่อลูก เธอก็มีความปากตลาด ความใจเค็ม ความเลือดเย็น เช่นเดียวกับเรณูที่เป็นกะหรี่ที่ไม่ได้เป็นหัวใจทองคำ เรณูมีปูมหลังดุเดือดที่สุดในรอบหลายปีของนางเอกละครไทย ทั้งเสียตัวแย่งผัวพี่ มีลูกแต่ไม่ได้เลี้ยง ไปขายตัวที่ตาคลี และทำคุณไสยให้ผู้ชายหลง ครบคุณสมบัตินางร้ายโดยสมบูรณ์ หากนี่กลับเป็นตัวละครที่มุ่งมั่น รักจริง และมีความเป็นมนุษย์มากพอที่จะไม่ยอมคน แรงมาแรงกลับ ความกะหรี่ของเรณู ความกะหรี่ของย้อย ความแม่พระของเรณู ทำให้ตัวละครที่ดูเหมือนจะผิวเปลือกมากๆ สำหรับผู้ชม โดยเฉพาะผู้ชมผู้หญิงที่สามารถเลือกข้างง่ายๆ กลับไม่ง่ายอย่างที่คิด ความมีเนื้อหนังของตัวละคร ความกลัว ความรัก ความอยากเอาชนะ ทำให้ตัวละครสองตัวนี้เป็นสงครามของผู้หญิงที่น่าตื่นเต้นมากๆ และการมาถึงของเส้าที่สามอย่างพิไลที่มาจากโลกใหม่ที่มีฐานความคิดจากคนรุ่นแม่แบบย้อย หากการเป็นรุ่นที่สอง เป็นรุ่นที่คาบช้อนเงินช้อนทอง เป็นคนที่อาจจะมองเห็นว่า ทั้งความเป็นเป็นแม่พระและกะหรี่เป็นเพียงข้ออ้างชนิดหนึ่งในฐานะผู้หญิงและเครื่องมือชั้นดีสำหรับทุนนิยม
การมาถึงของไสยศาสตร์ในเรื่องก็น่าสนใจมาก เพราะดูเหมือนละครจะไม่ได้มองเป็นเรื่องงมงายมากกว่าเครื่องมือชนิดหนึ่งในการควบคุมผู้คน เพราะกลายเป็นว่านี้ไสยศาสตร์กลับกลายเป็นทั้งที่พึ่งทางใจ และสิ่งควบคุมคนโลกเก่า เป็นมากกว่าวัด (ซึ่งมีไว้ในฐานะของการแก้บาปผิดติดตัวของย้อยในวิธีคิดแบบพุทธเศรษฐศาสตร์ฉบับชาวบ้าน เช่นถ้าโกงคนอื่นมากๆ ก็ให้ลูกชายบวชแก้กรรมแทนคงจะหักล้างกันได้ ไอ้แนวคิดนี้ในที่สุดจะถูกพัฒนาไปสู่สภาวะมือถือสากปากถือศีลของคนรุ่นต่อมา เช่นให้รวยก่อน เดี๋ยวพอรวยค่อยคืนกำไรให้สังคมและโลก) หรือรัฐ การมีอยู่แบบนี้ของไสยศาสตร์ในการควบคุมผู้คนพอๆ กับการเป็นเครื่องมือของผู้คน จึงเป็นเรื่องน่าสนใจที่ต้องติดตามกันต่อไป
ในตอนที่ห้า หนังเริ่มเปิดตัวและขยายความตัวละครของเพียงเพ็ญลูกสาวกำนัน และรักต้องห้ามของเธอกับก้าน หนุ่มลูกชาวนา ในขณะที่ไสยศาสตร์ของหนังก็นำไปสู่ความเข้มข้นขึ้นเรื่อย (อย่างไรก็ตามที่คือเรื่องที่มีความเป็นพุทธเข้มข้นตามชื่อ ‘กรงกรรม’ ดังนั้น เช่นเดียวกับสุดแค้นแสนรักเป็นไปได้สูงมากที่ศาสนาจะเอื้อมมือมากำกับผู้คนในท้ายที่สุด) เหล่านี้จึงเรื่องน่าสนใจอีกสองเรื่องที่เราจะเก็บไว้พูดถึงในครั้งต่อไป เมื่อละครเดินหน้าไปมากกว่านี้
อ้างอิง :
ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย : คริส เบเกอร์และผาสุก พงษ์ไพจิตร
สังคมไทยกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ คลิปเลคเชอร์โดย รศ. ดร. อภิชาติ สถิตนิรามัย
https://www.youtube.com/watch?v=QZ8GoAwNGjc&feature=share&fbclid=IwAR3eNrSm8u1ZoCAAxtUjn86t3qmwjCMG6pgGJ4A0KorKv07ARMeQ_ZqpHbk
Tags: กรงกรรม, ละคร, Filmsick