เรื่องนี้เป็นคดีความระหว่างยูทูบกับ PragerU ช่องยูทูบของสื่อฝ่ายอนุรักษ์นิยม โดยเมื่อเดือนตุลาคม 2017 PragerU ฟ้องร้องต่อศาลว่า ตนเองถูกยูทูบละเมิดสิทธิด้วยการ ‘เซ็นเซอร์’ ซึ่งเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา หลังจากที่ยูทูบลบโฆษณาออกจากวิดีโอของช่องดังกล่าว ซึ่งวิดีโอเหล่านั้นมีเนื้อหาที่แสดงถึงมุมมองของฝ่ายขวา และตั้งค่าให้วิดีโอของช่องบางส่วนอยู่ในโหมดจำกัดไว้เฉพาะผู้ชมที่เป็นผู้ใหญ่เท่านั้น ซึ่งต่อมาศาลท้องถิ่นได้พิพากษายกฟ้อง
จนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ผู้พิพากษาแห่งศาลอุทธรณ์เขต 9 แห่งซานฟรานซิสโก มีคำสั่งว่า สิทธิตามรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ ไม่ได้บังคับใช้กับบริษัทเอกชนอย่างยูทูบ ซึ่งคำตัดสินนี้นับเป็นหมุดหมายสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อคดีที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพการแสดงออกทางออนไลน์ในอนาคต
จากคำตัดสินดังกล่าว PragerU กล่าวว่า ผิดหวังกับคำตัดสิน แต่การต่อสู้เพื่อเสรีภาพการแสดงออกครั้งนี้ยังไม่จบ และสิ่งที่ศาลอุทธรณ์ทำนั้นไม่ถูกต้อง โดยจากนี้ไปจะทำให้สังคมตระหนักรู้ว่า บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่นี้เลือกปฏิบัติ โดยเลือกที่จะปิดกั้นแนวความคิดอนุรักษ์นิยม
PragerU เป็นช่องยูทูบขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ก่อตั้งโดย เดนนิส เพรเกอร์ ผู้ดำเนินรายการวิทยุสายอนุรักษ์นิยม ซึ่งมีผู้ติดตามเกือบ 2.5 ล้านยูสเซอร์ ได้ฟ้องยูทูบในฐานะที่เป็นแพลตฟอร์มวิดีโอที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่ส่งผลต่อสาธารณะ และยูทูบก็เลือกที่จะเซนเซอร์เนื้อหาของฝ่ายขวา
ด้านจิม คิลล็อค จากกลุ่ม Open Rights Group กล่าวว่า คำตัดสินนี้ ‘ไม่มีข้อโต้แย้งใด’ และเป็นไปตามกรอบการตีความของกฎหมายเสรีภาพการแสดงออก แต่มันก็ทำให้คนกลุ่มหนึ่งไม่พอใจ และน่าคิดว่า เมื่อแพลตฟอร์มที่เหมือนจะสาธารณะนี้ทำไมถึงมีเนื้อหาบางเนื้อหาเท่านั้นที่ถูกจำกัด และทำไมคนที่มีอำนาจตัดสินใจเซนเซอร์เนื้อหาใดๆ จึงเป็นบริษัท นอกจากนี้ ความที่ยูทูบเป็นแพลตฟอร์มที่ใหญ่มาก เมื่อเนื้อหาใดเนื้อหาหนึ่งถูกจำกัด มันก็ส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมาก
ที่มา
https://www.bbc.com/news/technology-51658341
https://arstechnica.com/tech-policy/2020/02/first-amendment-doesnt-apply-on-youtube-judges-reject-prageru-lawsuit/
ภาพ : PragerU
Tags: ยูทูบ, เสรีภาพในการแสดงออก, ฟรีสปีช, PrageU, สหรัฐอเมริกา