ลีลาชนแหลกแหกเข้าป้ายผลประโยชน์แห่งชาติของ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ทำเอาไมตรีที่สหรัฐฯ เคยมีกับเพื่อนมิตรบุบบู้บี้แตกพังไปอักโข ถึงคราว ‘โจ ไบเดน’ ต้องเก็บกวาด ทว่ากับชาติมหาอำนาจคู่แข่ง ว่าที่ประธานาธิบดีผู้คร่ำหวอดนโยบายต่างประเทศอาจเล่นแรงยิ่งกว่าก็เป็นได้

ด้วยจุดยืนนักเสรีนิยมที่เน้นความร่วมมือระหว่างประเทศ คาดกันว่า โจ ไบเดน จะพยายามกอบกู้ความน่าเชื่อถือของอเมริกาที่ทรุดฮวบในสายตาชาวโลก ภายใต้รัฐบาลทรัมป์ 

ไบเดน ซึ่งมีประสบการณ์ด้านวิเทศสัมพันธ์อย่างยาวนานในคณะกรรมาธิการต่างประเทศของวุฒิสภา และเคยมีส่วนดูแลนโยบายต่างประเทศเมื่อครั้งเป็นรองประธานาธิบดีสมัยรัฐบาลบารัค โอบามา อาจพบว่า แก้วที่แตกร้าวนั้น ยากประสานกลับคืนดังเดิม 

งานหินของผู้นำคนใหม่

นักสังเกตการณ์บอกว่า ในยุคทรัมป์ ความสัมพันธ์ข้ามแอตแลนติก ความสัมพันธ์ข้ามแปซิฟิกตกต่ำเป็นประวัติการณ์ ยุโรปกับเอเชียจะมองสหรัฐฯ ด้วยสายตาแคลงใจไปอีกนาน รอยร้าวอาจสมานได้ แต่ถึงอย่างไรก็คงไม่เหมือนเก่า

ไมเคิล แมคฟอล อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำรัสเซียในยุคโอบามา ปัจจุบันเป็นนักวิจัยอาวุโสของสถาบันฮูเวอร์ หน่วยงานคลังสมองของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด บอกว่า ไม่ว่าใคร คงไม่อาจกดปุ่มรีเซ็ท ย้อนเวลากลับไปก่อนหน้านี้สี่ปีได้ งานหินของไบเดนก็คือ ฟื้นฟูพันธมิตรให้กลับมาร่วมกันรับมือภัยคุกคาม โดยเฉพาะจากจีนและรัสเซีย

ไมเคิล โอ’แฮนลอน แห่งสถาบันบรุกกิงส์ หน่วยงานคลังสมองในวอชิงตัน บอกว่า ความทรงจำถึงทรัมป์จะตามหลอนผู้คน นานาประเทศจะมีความกังวลแฝงอยู่ตลอดเวลาว่า เมื่อสหรัฐฯ เปลี่ยนตัวประธานาธิบดีแต่ละครั้ง พันธะสัญญาทั้งหลายจะเอาแน่ได้หรือเปล่า

การทูตของไบเดน

ไบเดนจะฟื้นระบบพันธมิตรอย่างไร ยังต้องคอยดูกัน ที่ผ่านมา ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้นี้ เน้นย้ำเสมอว่า สหรัฐฯ ไม่อาจเผชิญความท้าทายใหม่ๆ ได้โดยปราศจากความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพันธมิตร และความร่วมมือกับสถาบันระหว่างประเทศ 

เขาบอกว่า การที่ทรัมป์ถอนตัวจากสนธิสัญญาหลายฉบับ เหยียดหยามมิตรประเทศ ทำให้อเมริกาหมดสิ้นสุ้มเสียงในกิจการโลก สหรัฐฯ จะเป็นเจ้าภาพจัดเวที ‘การประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย’ เพื่อต่อต้านคอร์รัปชั่น ต่อต้านอำนาจนิยม และส่งเสริมสิทธิมนุษยชน 

ในยุคของเขา การทูตจะเป็นเครื่องมือหลักของนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ  อเมริกาจะกลับไปสนับสนุนพันธมิตรนาโต้ หวนเข้าเป็นภาคีในสนธิสัญญาต่างๆ เช่น ข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน ข้อตกลงโลกร้อน 

ค้าเสรีอย่างมีเงื่อนไข

ไบเดนสนับสนุนการค้าเสรี คัดค้านนโยบายกำแพงภาษีของทรัมป์ เขาเห็นว่า วอชิงตันควรมีบทบาทนำในการสร้างกติกาการค้าของโลก ลดอุปสรรคทางการค้าทุกรูปแบบ 

การค้าเสรีในความหมายของเขา ต้องมีเงื่อนไขด้านการคุ้มครองแรงงาน ปกป้องสภาพแวดล้อม ไบเดนบอกว่า เขาจะไม่ลงนามข้อตกลงการค้าที่ปราศจากการลงทุนอย่างมโหฬารในเรื่องการมีงานทำและสาธารณูปโภค หรือลงนามข้อตกลงที่ไม่มีหลักประกันในเรื่องสิทธิแรงงานและผลกระทบสิ่งแวดล้อม 

สำหรับการค้ากับคู่ค้ามหาอำนาจเกิดใหม่อย่างจีน ถึงแม้ไบเดนไม่เห็นด้วยกับการทำสงครามการค้าของทรัมป์  เพราะเป็นกลยุทธ์ที่หยิกเล็บเจ็บเนื้อ ฝ่ายที่ต้องแบกรับต้นทุน ก็คือคนอเมริกัน แต่เขาก็ไม่ได้มองจีนเป็นหุ้นส่วนเช่นกัน 

ไบเดนเห็นว่า อเมริกาต้องตอบโต้จีนที่ละเมิดกติกาการค้าด้วยการอุดหนุนบริษัทจีนให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน และฉกฉวยทรัพย์สินทางปัญญาของอเมริกัน แนวทางแก้เผ็ดของเขา คือผลักดันให้มีการบังคับใช้กฎกติกาการค้าอย่างจริงจัง และระดมพรรคพวกมาช่วยกันเอาคืนจีน 

อินทรีย์ยักษ์กับพญามังกร

นอกจากปมใหญ่อย่างเรื่องการค้า ไบเดนยังคิดที่จะงัดข้อกับปักกิ่งในอีกหลายประเด็น 

กรณีจีนใช้กฎหมายความมั่นคงปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของชาวฮ่องกง ดำเนินนโยบายหลายอย่างที่บั่นทอนความมีอิสระของฮ่องกง ละเมิดหลักการหนึ่งประเทศ-สองระบบ ไบเดนบอกว่า ทรัมป์ยังเล่นงานจีนน้อยไป เขาจะคว่ำบาตรพวกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้หนักยิ่งขึ้น

กรณีจีนส่งชาวมุสลิมอุยกูร์นับล้านคนเข้าค่ายกักกัน เขาบอกว่า เป็นเรื่องที่ “ไม่อาจเข้าใจได้” ดังนั้น สหรัฐฯ ต้องส่งเสียงคัดค้าน เขาจะคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่หรือนิติบุคคลที่มีส่วนเกี่ยงข้อง และขอให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติประณามการกระทำนี้

กรณีจีนเสริมสร้างขีดความสามารถทางนาวี บีบคั้นประเทศคู่พิพาทในทะเลจีนใต้ ไบเดนบอกว่า เขาจะฟื้นความเป็นมหาอำนาจย่านเอเชีย-แปซิฟิกของสหรัฐฯ ระดมพลังจากออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สำแดงพลังให้ปักกิ่งตระหนักว่า วอชิงตันจะไม่ยอมถอย

กรณีจีนพัฒนาเทคโนโลยีไฮ-เทค กวดกระชั้นอเมริกายิ่งขึ้นทุกที เขาบอกว่า สหรัฐฯต้องผลักดันให้โลกมีกฎกติกา บรรทัดฐาน และกลไกสถาบัน สำหรับกำกับดูแลการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์   

ข้อท้าทายสำหรับไบเดนยังมีเรื่องภัยคุกคามอื่นๆ อีก เช่น นิวเคลียร์อิหร่าน นิวเคลียร์และขีปนาวุธเกาหลีเหนือ ปัญหาก่อการร้าย เป็นต้น  

ภารกิจเฉพาะหน้าในด้านการต่างประเทศของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งจะเข้ารับตำแหน่งเป็นคนที่ 46 ในวันที่ 20 มกราคม 2021 ก็คือ ฟื้นคืนความไว้เนื้อเชื่อใจในมหามิตรอเมริกา

ที่มา :

Council on Foreign Relations, 4 November 2020

New York Times, 7 November 2020

Reuters, 8 November 2020

Tags: , ,